Loading

 

- ตั ว เ ลื อ ก ข อ ง ชี วิ ต -

 

- ตั ว เ ลื อ ก ข อ ง ชี วิ ต -

ถ้าได้รับรู้ว่ามุสลิมสักคนกินหมู เราคงรู้สึกแย่และฟันฉับได้แน่ว่าเขาทำความผิด แต่ถ้าพูดบริบทต่อว่า…ตอนนั้นเขาอยู่ในที่ ๆ หาอะไรกินอื่นไม่ได้เลยและกำลังจะอดตาย โอเค คราวนี้เราเก็ทละว่าทำไมเขาถึงเลือกทำแบบนั้น

ในแง่นี้ เห็นชัดว่าเมื่อบริบทเปลี่ยน ผลลัพธ์ก็เปลี่ยน

ในชีวิตของเรามีเรื่องต้องเลือกเยอะแยะตาแป๊ะ เราต้องเลือกทุกเรื่องจุกจิก นับตั้งแต่ จะใส่ชุดไหนดี (ถึงคุณเป็นคนไม่แยแสแคร์สื่อเรื่องนี้เลย แต่ขณะที่คุณหยิบเสื้อขึ้นมาตัวหนึ่งจากสองตัวที่แขวนไว้ในตู้ นั่นก็คือคุณได้ทำการเลือกแล้วโดยอัตโนมัติ) จะซื้อขนมเค้กชิ้นที่โชว์หน้าฉ่ำช็อกโกแลตยวนตานั่นหรือกลั้นใจเดินเชิดหน้าผ่านมันไป จะไปร่วมงานที่ศูนย์กลางฯหรืออยู่บ้านอ่านหนังสือ จะกดไลค์ให้ใครสักคนในเฟสบุ๊คหรือเพียงพยักหน้าเห็นด้วยแบบไม่ต้องมีใครเห็น  และอีกสารพัดสารพันสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวันที่เราจะขออนุญาตตัดมันออกไปเลยละกัน เอาเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ที่อาจนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิต หรืออย่างน้อยก็ส่งผลสะเทือนต่ออะไรบางอย่างที่เราพึงใส่ใจ

กลับไปอ่านเรื่องกินหมูอีกที สิ่งที่อยากจะพูดก็คือว่า เราไม่ควรตัดสินการเลือกของคนอื่นภายใต้บริบทของเราเอง (หรือบริบทที่เราสรุปความไปเอง) เพราะรายละเอียดของชีวิตและเหตุการณ์เฉพาะหน้าของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน (เว้นแต่เรารู้รายละเอียดของเขาแน่ชัด และคิดว่าเขาเลือกทำในสิ่งที่ผิดเห็นๆ เช่น…สมมติเรารู้ว่าอันที่จริงคนกินหมูคนนั้นไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่หาอย่างอื่นกินไม่ได้สักหน่อย มีตั้งหลายอย่างที่เขาเลือกหากินได้ แต่เขาก็ยังตัดสินใจทานของที่ไม่ฮะลาล พรรค์นั้นก็ต้องนะซีฮะฮฺกันตามอมานะฮฺระหว่างผู้ศรัทธาล่ะนะคะ)

คนเขียนเคยได้พบเจอพี่น้องมุสลิมะฮฺบางคนที่ถือทัศนะว่าเดินทางต้องมีมะฮฺรอม แต่เธอก็เลือกเดินทางโดยไม่มีมะฮฺรอม ใครเห็นต่างฉงนฉงายว่าเหตุใดเธอทำเยี่ยงนี้ แต่บริบทของชีวิตเธอก็คือว่า…ที่บ้านของเธอนั้นไม่ปลอดภัยยิ่งกว่าที่ ๆ เธอเดินทางไปสู่ อย่าทำเป็นเล่นไปกับความดราม่าของชีวิตจริง คนนี้เคยได้สัมผัสเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมะฮฺที่ผู้ชายบางคนซึ่งไม่ใช่มะฮฺรอมของเธอสามารถเข้านอก-ออกในบ้านเธอได้สบายเฉิบแม้ในยามวิกาล โดยที่ผู้ปกครองของเธอไม่สามารถทำอะไรได้ หรือไม่คิดจะทำก็ไม่ทราบ และมีแม้กระทั่งมุสลิมะฮฺที่ถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว แล้วเราจะไปบอกมุสลิมะฮฺแบบนี้ได้หรือว่า…เธอทำผิดนะ กลับไปบ้านซะ และอย่าเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวให้เห็นอีก

อีกตัวอย่างการเลือกที่อยากจะพูดถึงแม้สุ่มเสี่ยงอยู่บ้าง คือการตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน น้องบางคนที่มาปรึกษาข้าพเจ้าเรื่องนี้เคยต้องงงว่าทำไมพอมาคุยด้วยแล้วกลับไม่สนับสนุนให้ออก นั่นก็เพราะตัวเลือกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับคนที่เลือกระหว่างการเรียนที่มหาวิทยาลัยในสภาพที่บ่อนทำลายอีหม่านของตัวเองกับตารางเรียนที่เป็นแบบแผนของตนเองที่บ้านโดยที่เขาเป็นคนที่จัดการตัวเองได้และใฝ่รู้ ที่สำคัญท่านพ่อท่านแม่เขาก็ไม่ได้ ‘อาการหนัก’ นักหนาหากลูกจะตัดสินใจเดินทางที่คนอื่น ๆ เขาไม่เดินกัน ข้าพเจ้าจะแนะนำให้เขาออกถ้าอิสติคอเราะฮฺแล้วได้ผลออกมาทางนั้น แต่สำหรับคนที่เลือกระหว่างการเรียนมหาวิทยาลัยในสภาพที่เขารู้สึกไม่โอเคกับมัน กับการออกไปอยู่บ้านที่ไม่มีแบบแผนชีวิตประจำวันรองรับ มีแนวโน้มสูงว่าจะจัดการตัวเองและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ (บางบ้านนี่อาจทำลายอีหม่านได้มากกว่าอยู่มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เช่น ข้างบ้านเปิดเพลงดัง หรือผู้ใหญ่ในบ้านดูทีวีทั้งวัน) และบุพการีของเขาก็ ‘อาการเพียบ’ โคม่าเลยล่ะถ้าลูกตัดสินใจหันหลังให้มหาวิทยาลัย คนที่มีตัวเลือกแบบนี้  ข้าพเจ้าจะแนะนำให้เขาตัดช้อยส์การออกจากมหาวิทยาลัยทิ้งไปเลยนะ แล้วมุ่งหน้าไปยังโจทย์ว่า “จะอยู่อย่างไรให้ได้” ซึ่งจะประหยัดเวลากว่า และเซฟความรู้สึกตัวเองได้มากกว่า

นั่นก็คือว่าทุกคนมีตัวเลือกไม่เหมือนกัน และคุณต้องตัดสินใจตามตัวเลือกที่คุณมี ไม่ใช่ตัวเลือกของชาวบ้าน เท่า ๆ กับที่คุณไม่ควรจะตัดสินการเลือกของชาวบ้านจากตัวเลือกของคุณ การบอกว่า “ทุกคนต้องเรียนมหาวิทยาลัย” ก็ตลกเท่ากับการบอกว่า “ทุกคนต้องออกจากมหาวิทยาลัย” นั่นแหละ ฮิตเลอร์ชะมัดอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องการเลือกของปัจเจก แต่การพิจารณาตัวเลือกในท่วงทำนองแบบนี้ยังช่วยเราในการทำความเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ระดับที่ใหญ่ขึ้นไปด้วย อย่างการปฏิวัติที่อียิปต์

ก่อนอื่น…ไม่รู้ว่ามันเป็นวิธีคิดของตะวันตกหรือเปล่านะสำหรับความรู้สึกของคนนี้ว่า เพื่อจะให้สังคมมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามภาพที่มันเป็นจริง เราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านที่เราพอใจ (ข้าพเจ้ารู้สึกแบบนี้ตลอดมาตั้งแต่เคยเข้าไปนั่งเรียนในชั้นเรียนที่ก็อปปี้วิธีการคิด/การศึกษาของตะวันตกมา อย่างไรก็ตามตัวเองกลับเชื่อเสมอว่า แท้จริงแล้ววิธีคิดที่พยายามตั้งคำถามและลงลึกไปถึงรายละเอียดอย่างรอบด้าน เป็นวิธีที่ถูกใช้ในการศึกษาของอิสลามมาก่อนตะวันตกเสียอีก)  สังคมมุสลิมเรานำเสนอแต่มุมที่อิสลามิคมาก ๆ ของการปฏิวัติ ซึ่งน่าชื่นชมและเกือบจะเป็นวาญิบที่ต้องทำ เพราะเราจะไม่พบการนำเสนอมุมนี้ในสื่ออื่น ๆ แต่ไม่รู้ตัวเองคิดไปเองหรือเปล่า ว่าสังคมมุสลิมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะมองไปยังมุมอื่น ๆ ของการปฏิวัติ มุมที่มีเสียงเรียกร้องประชาธิปไตย โหยหาการเลือกตั้ง และเครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่และไม่มีวันใช่แนวทางของอิสลาม (เอาจริง ๆ แล้ว นอกจากอุละมาอฺที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เป็นการเฉพาะกิจ ยังไม่เห็นแกนนำมวลชนคนไหน และ/หรือ กลุ่มไหนพูดเรื่องระบอบการปกครองอิสลาม หรือคำที่เฉียด ๆ คำนี้ออกมาเลย ถ้าใครมีข้อมูลก็วานช่วยบอกด้วย)

อย่าเพิ่งเขม่นตามองมาอย่างนั้น ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรสนับสนุนขบวนการปฏิวัตินี้ ตรงข้าม เราควรสนับสนุนทุกทางเท่าที่ทำได้ แต่การสนับสนุนนั้นก็สามารถดำเนินไปแม้เรามองการปฏิวัติตามที่มันเป็นจริงนี่ โดยใช้เรื่องตัวเลือกที่ว่าไปนั่นแหละมาช่วยวางจุดยืนให้ตัวเรา คือถึงแม้ขบวนการปฏิวัตินี้จะมีอุดมการณ์อันหลากหลายอุ้มชูมันอยู่ และทิศทางที่มันจะเดินไปสู่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเป็นทิศทางเดียวกับที่นักเคลื่อนไหวอิสลามทั้งโลกปรารถนา แต่ตัวเลือก ณ จุดที่เกิดเหตุการณ์ก็คือเลือกระหว่างระบอบมุบาร็อกซึ่งอธรรมสุด ๆ แบบที่มองเห็นชัดเจนแจ่มแจ๋วตรงหน้า กับระบอบใหม่ที่จะมาหลังความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรายังไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอะไร แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นระบอบที่สอดคล้อง-สอดคล้องมากขึ้นกับระบอบอิสลาม หรือต่อให้มันถูกเปลี่ยนเป็นระบอบอื่นที่ไม่มีอะไรใช่อิสลามอยู่ดี ก็ยังมีแนวโน้มสูงว่าขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามจะสามารถมีบทบาทได้มากขึ้นกว่าในระบอบมุบาร็อกที่จำกัดการเคลื่อนไหวนี้อย่างทารุณ

ดังนั้นด้วยตัวเลือกแบบนี้  มันก็ชัดเจนว่าทำไมเราถึงให้การสนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้ แม้ว่าเบื้องหลังของมันอาจมีสิ่งเจือปนหลายอย่างนอกเหนือไปจากอุดมการณ์อิสลาม

ไม่รู้นะ สำหรับตัวเอง ด้วยการมองอย่างนี้ มันทำให้เราชัดเจนขึ้นด้วยซ้ำกับจุดยืนและมุมมองที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเรามองแต่มุมว่าการปฏิวัตินี้คือการปฏิวัติที่มีอุดมการณ์อิสลามอยู่เบื้องหลังล้วนและเพียว เราจะต้องเป็นอันมึนงงก่งก๊งแน่ถ้าได้ฟังคำสัมภาษณ์ประชาธิปไตยจ๋าของผู้ชุมนุมระดับแกนนำบางคน และชีวิตคงเผชิญจุดจบที่แทรจิดี้เหลือรับถ้าเกิดว่าระบอบการปกครองที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงกับสิ่งที่เราใฝ่ฝันจะเห็นเลย (นะอูซุบิลลาฮิมินซาลิก)

..................

.................................................

 

คัดลอกจาก : https://peenud.wordpress.com/category/ มองเรา-แล้วมองโลก/

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).