Loading

 

ถิ่ น ที่ ข อ ง หั ว ใ จ

- ถิ่ น ที่ ข อ ง หั ว ใ จ -

                     ฉันมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าโดยธรรมชาติแล้วหัวใจของเราเป็นสิ่งละมุน หมายถึงมันต้องการความละไม ต้องการความเอาใจใส่ที่ไม่ใช่แบบสุกเอาเผากิน ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงคิดว่าเราควรใช้ความสุภาพในกิจการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เอาล่ะ ถึงแม้ฉันจะไม่ใช้ผู้สุภาพชั้นดี แต่คิดว่าตัวเองกับหัวใจก็รู้ไต๋กันมากพอจะมาชวนคุยในประเด็นนี้ ไม่รู้ว่าจะคิดเหมือนกันไหม แต่สำหรับฉัน เมื่อนึกถึงอะไรที่ละมุนละไม ในขดสมองมักปรากฏภาพสิ่งต่าง ๆ ที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย เป็นต้นว่า ดอกไม้กลีบบางในป่าลึก (ไม่ใช่ในร้านจัดดอกไม้กรุ่นกลิ่นฟอร์มาลีนที่ปากคลองตลาด) รอยยิ้มใสกิ๊งของเด็ก ๆ (ไม่ใช่รอยยิ้มของนางงามจักรวาลหรือแม้แต่สุริยจักรวาล – ถ้าเผื่อว่ามันจะมีในอนาคต) ยามเช้าในสวนหลังบ้านกับเสียงนกร้อง (ไม่ใช่บนท้องถนนกับเสียงเครื่องยนต์ อ่อ อย่าลืมเด็กร้องขายพวกมาลัยกับนกหวีดจราจร) อะไรทำนองนั้น มันทำให้อยากจะรวบรัดสรุปไปโดยไม่รอเอแบคโพลทำวิจัยว่า…ก้อนเนื้อที่เต้นตุบอยู่ในอกของเราจะมีปฏิกิริยากับสิ่งที่มีการปรุงแต่งน้อยได้มากกว่าสิ่งที่ผ่านการปรุงแต่งให้ผิดจากธรรมชาติ หรือมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากเกินไป หัวใจเรารู้สึกสงบกับสีเขียวของธรรมชาติมากกว่าแสงไฟตระกาฬตาจากปราสาทราชวัง ทั้ง ๆ ที่อย่างหลังก็กล่าวได้ว่า ‘สวย’ หัวใจเรารู้สึกเย็นกับผู้หญิงที่ไม่แต่งหน้าแต่งตามากกว่าผู้หญิงที่ระบายสรรพสิ่งลงบนหน้าชนิดโจตันผู้ให้บริการทุกเฉดสียังต้องมาศึกษา แม้ว่าคนแบบหลังอาจดู ‘ดึงดูด’กว่า

                      หัวใจเรามักจดจำคำพูดซื่อ ๆ ง่าย ๆ ที่ออกมาจากใจของใครสักคนมากกว่าคำพูดคมกริบของนักพูดเจนเวที แม้ว่าคำพูดประเภทหลังจะทำให้บางเซลล์สมองนักคิดของเราปลาบปลื้มจนต้องจดใส่สมุด ไม่ต้องนับเรื่องอาหารการกินที่มีวิจัยเป็นล้านชิ้นยืนยันว่ายิ่งขั้นตอนระหว่างแหล่งกำเนิดอาหารทางธรรมชาติกับกระเพาะอาหารของเราน้อยขั้นลงเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อสุขภาพทั้งกาย-ใจมากขึ้นเท่านั้น และก่อนจะจบกระบวนการยกตัวอย่าง อย่าลืมเรื่องโลกจริง กับโลกเสมือน ไม่รู้ใครเป็นบ้างที่รู้สึกถึงใจกับการพูดคุยตัวเป็น ๆ มากกว่าแชทผ่านอินเตอร์เน็ต ดื่มด่ำกับเนื้อหาของหนังสือในมือมากกว่าบทความออนไลน์ และรู้สึกตื่นใจกับการเข้าร่วมกิจกรรมจริง ๆ มากกว่าดูคลิปผ่านหน้าจอ ทำไมอัลกุรอานถึงถูกขนานามว่า “ยาของหัวใจ” นั่นก็เพราะกุรอานไม่เคยผ่านการปรุงแต่งเลย มันบริสุทธิ์และบอกเล่าทุกเรื่องอย่างตรงไปตรงมา สัมผัสลงตรงเนื้อใจ ไม่เหมือนหนังสืออีกหลายเล่มที่หากไม่ทำท่าเฮฮาจนหาสาระไม่เจอ ก็อาจถึงขั้นซับซ้อนและปรัชญาเสียจนแทบต้องปีนบันไดขึ้นไปอ่าน ทำไมการละหมาดถึงถูกนับเป็น “การพักผ่อนของหัวใจ” ก็เพราะเราจะได้สื่อตรงถึงผู้ที่เราต้องการติดต่อพูดคุย ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุ่งยากอะไรเหมือนขอนัดพบคนใหญ่คนโตบางคนที่กว่าจะพบได้ก็เหนื่อยแทบหอบ แถมยังพูดได้เฉพาะเรื่องและแบบเกร็งๆ ตรงข้ามกับผู้ที่เราสื่อสารด้วยขณะละหมาดซึ่งสามารถเปิดเปลือยได้ทุกเรื่องในชีวิตและในหัวใจ หัวใจมีธรรมชาติของมัน หัวใจต้องการอาหาร และที่พัก อาจหลายครั้งที่เราหลายคนรู้สึกเหนื่อย ๆ ล้า ๆ กับชีวิต ทั้ง ที่ช่วงนั้นอาจเป็นวันหยุด นอนบ้า ๆ อยู่ในห้องแอร์แบบไม่แตะต้องงานอะไรเลยด้วยซ้ำ นั่นเพราะไม่ใช่ร่างกายเราที่เหนื่อย แต่เป็นหัวใจ มันสามารถส่งอาการอย่างที่ว่าได้ตราบที่เราไม่ได้ให้มันพักในถิ่นที่ที่เหมาะสมกับมัน ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่ในห้องแอร์ มันออกจะฟังดูลูกทุ่งไปหน่อยเนอะ ถ้าจะบอกว่าวิถีชีวิตแบบคนเมือง หาเช้ากินค่ำ หรือกินดึก หรือไม่ก็ไม่ได้กินเลย…ทำให้เราเหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น เหนื่อย…ทั้ง ๆ ที่เต็มไปด้วยสารพัดสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะที่เหนื่อยไม่ใช่ร่างกาย แต่เป็นหัวใจ (การนั่งในรถแอร์เย็น ๆ ที่นิ่งสนิทติดต่อกันเป็นชั่วโมง แทบจะไม่ต้องใช้พลังงานทางกายเลย แต่ถ้าวัดเป็นการเผาผลาญแคลอรี่ของใจ รับรองหัวใจของคนกรุงเทพฯนี่หุ่นดีเช้งวับ) วิถีชีวิตแบบนี้มันซับซ้อนและผ่านกระบวนการปรุงแต่งมากไปสำหรับสิ่งละมุนอย่างหัวใจ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่าทุก ๆ วันที่เราได้เฮือกเอาอ็อกซิเจนเข้าปอด เราได้เพิ่มอะไรที่จะเป็นพลังให้กับหัวใจที่ยังคงต้องเต้นต่อไปบนโลกซับซ้อนใบนี้บ้าง หัวใจของเราได้ทาน ‘ยา’ บ้างไหม และได้ ‘พักผ่อน’ บ้างหรือเปล่า จริง ๆ ก็อยากจะแนะนำอยู่เหมือนกันนะว่า ชีวิตเราสามารถเลือกทางเดินที่ดีต่อหัวใจของเราเองได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นทางที่ใคร ๆ เขาเดิน ถ้าเผื่อว่ามันไม่เหมาะกับธรรมชาติของใจเรา เพราะเมื่อหัวใจเราเจ็บไข้ ชีวิตก็ต้องได้ป่วยไปด้วยอย่างยากเลี่ยง และเชื่อขนมกินเถอะว่าไม่มีใครร่วมสัมผัสอาการเจ็บป่วยนั้นไปกับเราได้ มีแต่ตัวเราเองที่ทุกข์จะตายเอา แต่นั่นแล เรื่องการเลือกทางเดินมันออกจะแลดูสุ่มเสี่ยงอยู่สักหน่อย เอาเป็นว่าอยากเสนอแค่ อาการเบื่อ-เหนื่อย-เซ็งชีวิตท่ามกลางวิถีและปัจจัยรายรอบเราทุกวันนี้ มันเป็นอาการที่เขาใจได้ และไม่น่าพิศวงเลยสักนิด ทางออกของมันไม่ใช่การเปลี่ยนที่พำนักของกาย แต่ต้องเปลี่ยนที่พำนักของใจต่างหาก การอยู่ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยสารพัดสิ่งปรุงแต่งมันชวนให้หัวใจเจ็บป่วย แต่มันก็จะไม่เจ็บไม่ป่วยไปจนกว่าตัวเราเองนั่นแหละจะหลงไปกับสิ่งปรุงแต่งนั้น จึงไม่ใช่เพราะวิถีของชาวดุนยาที่ทำให้เราเหนื่อย แต่เพราะหัวใจเราไหลไปกับวิถีนั้นด้วยต่างหาก และเมื่อหัวใจเราเป็นสิ่งละมุนชวนละไมตามอย่างว่า ที่พำนักของมันจึงไม่ควรเป็นที่ที่เต็มไปด้วยสารพัดสิ่งปรุงแต่ง ลวงตา และอายุสั้น แต่มันควรเป็นสถานที่ที่เย็นรื่น บริสุทธิ์ และเป็นนิรันดร์ ถ้าเราวางหัวใจไว้ที่นั่น มันก็ไม่มีปัญหาหรอกไม่ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางตึกสูง หรือป่าเขา ทั้งหมดในโลกชั่วคราวมันไม่อาจสัมผัสใจที่ถูกวางไว้ยังที่พำนักนิรันดร์แล้ว

                    จงละไมกับสิ่งละมุน สงสารมันบ้างในยามที่เหนื่อยเกินไป และโปรดสุภาพกับทุกกิจการที่เกี่ยวข้อง หัวใจทุกดวงมีบ้านของมัน โปรดปลูกบ้านหลังนั้นอย่างใส่ใจ

 

................................................

 

 คัดลอกจาก :   http://peenud.wordpress.com/2011/01/19/home-of-heart/

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).