Loading

 

พัฒนาการของวัยรุ่น

วัยรุ่น คือ ช่วงวัยที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตของแต่ละคน อันเนื่องมาจากการปรับตัวที่สมบูรณ์ของพัฒนาการทางด้านร่างกาย เพศภาวะ สติปัญญา และอารมณ์ เป็นช่วงวัยที่บรรลุศาสนภาวะ และมีความใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่
ในด้านจิตวิทยา วัยรุ่น คือช่วงวัยที่เริ่มตั้งแต่การบรรลุเพศภาวะ(เช่น มีอาการฝันเปียกในเด็กผู้ชาย การเริ่มมีประจำเดือนในเด็กผู้หญิง) ไปจนถึงช่วงการเจริญเติบโตของกลไกทางเพศอย่างสมบูรณ์

โดยทั่วไป วัยนี้จะเริ่มตั้งแต่เมื่อเด็กมีอายุ 12 ปี ไปจนถึงอายุ 18 ปีโดยประมาณ สรุปแล้ว วัยรุ่น คือวัยที่เริ่มต้นเมื่อบรรลุเพศภาวะ ไปสิ้นสุดจนถึงวัยที่เริ่มมีพัฒนาการเป็นผู้ใหญ่

อันที่จริงเป็นการยากที่เราจะจำกัดอายุการเริ่มต้นที่แน่นอนของวัยรุ่น ทั้งนี้เพราะความแตกต่างของการเจริญวัยระหว่างเพศชายและเพศหญิง รวมถึงความแตกต่างของกลไกต่างๆ ในเพศเดียวกันเองอีกด้วย จุดของการเริ่มวัยที่แตกต่างเช่นนี้เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ หลายประการ เช่น ปริมาณอาหารที่แต่ละคนบริโภคโดยเฉลี่ย การได้รับโปรตีนในจำนวนมากจะทำให้การบรรลุวัยเร็วขึ้น ในขณะที่ถ้าหากได้รับคาร์โบไฮเดรตมากกว่าก็จะทำให้บรรลุวัยช้าลง การได้รับปริมาณอาหารที่ไม่เพียงพอ ก็มีส่วนทำให้การบรรลุวัยช้าลงและทำให้การพัฒนาของกลไกทางเพศช้าลง นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรมและภูมิอากาศก็มีส่วนเช่นเดียวกัน คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอากาศร้อนหรืออบอุ่นมักจะบรรลุวัยเร็วกว่าคนที่อาศัยอยู่ในแถบที่มีภูมิอากาศเย็นกว่า

ลักษณะเฉพาะของวัย

1. ความต้องการทางเพศ วัยรุ่นต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของอวัยวะต่างๆ ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ลักษณะเช่นนี้ จะสร้างภาวะความต้องการทางเพศให้เกิดขึ้น บทบัญญัติทางศาสนาได้จัดระบบให้กับการสนองความต้องการทางเพศด้วยสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและสังคม นั่นคือการแต่งงานอย่างถูกต้อง และได้ห้ามไม่ให้ตอบสนองความต้องการนี้ด้วยวิธีการเยี่ยงเดรัจฉาน เหมือนที่เป็นไปในสังคมของคนกาฟิร

2. การเลียนแบบตัวอย่าง สิ่งนี้เป็นลักษณะที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของช่วงวัยนี้ ลักษณะอาการที่ชื่นชอบเพื่อนที่เรียนเก่ง เล่นกีฬาเก่ง เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเด็กต้องการที่จะเป็นเช่นนั้น และพยายามที่จะทำให้ได้ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ตนสามารถทำได้ ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการชี้แนะเพื่อสนองความต้องการดังกล่าวให้เกิดผลดี เด็กอาจจะสนองธรรมชาติของวัยด้วยวิธีที่ผิดทาง เช่น การเลียนแบบดารานักร้อง หรือฮีโร่ในใจของเขา และอาจจะเบี่ยงเบนไปจนถึงการมีนิสัยไม่ดี และใช้กำลังเพื่อแสดงออกว่าตนใหญ่และต้องอยู่ข้างหน้าเพื่อนๆ เสมอ

3. การสังเกตและความต้องการที่จะแก้ไข ประสบการณ์และความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกค้านกับสิ่งต่างๆที่ตนมองว่าไม่ถูกต้อง จึงก่อให้เกิดแรงผลักดันอยากที่จะแก้ไข แต่ก็เป็นด้วยวิธีที่หุนหัน ขาดความยั้งคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่ สิ่งที่สำคัญคือต้องมีการแนะนำและให้การช่วยเหลือเพื่อให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยความรอบคอบและค่อยเป็นค่อยไป

4. การเพิ่มขึ้นของภาวะทางอารมณ์ วัยรุ่นมักจะมีอารมณ์ที่ไม่สมดุลกับเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้นๆ เรายังพบว่าวัยรุ่นยังมีความไม่คงที่ของอารมณ์ ความสับสน ลังเลในการเลือกระหว่างชอบกับเกลียด กล้าๆกลัวๆ รวมถึงการรู้สึกอาย อาการเหล่านี้มักจะมีผลต่อนิสัยและการแสดงออกของวัยรุ่นกับคนอื่น ตัวอย่างเช่น การอาย ถ้าใช้ไม่ถูกกาลเทศะ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการรับสิ่งดีๆ เพราะระแวงว่าจะทำผิดหรือกลัวคนอื่นติเตียนได้

5. อาการเหม่อลอย บางครั้งวัยรุ่นจะมีอาการวาดฝันอนาคต และคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ตนคิดว่าอาจจะต้องเจอต่อไปข้างหน้า จินตนาการเหล่านี้อาจจะมีทั้งที่เป็นไปได้ เช่นการคาดหวังในชีวิตการงานเมื่อเป็นผู้ใหญ่ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากความเป็นไปได้ที่จะทำ การจินตนาการที่ไร้ขอบเขตเช่นนี้บางทีจะนำไปสู่การคิดทำในสิ่งที่ผิด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครอบครัว และสถาบันต่างๆ ในสังคม ที่ต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้องด้วยวิธีการที่เหมาะสม

6. การเข้ากลุ่ม เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เด็กวัยรุ่นจะมีความต้องการเข้าสังคมที่มากขึ้น มีความรู้สึกอยากจะเป็นสมาชิกคนหนึ่ง ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขและทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน มิตรสหายที่มีอายุไล่เลี่ยกันจะเป็นที่ยอมรับของเด็กในวัยนี้มากกว่าที่จะคลุกคลีกับผู้ใหญ่ ถ้าหากกลุ่มเพื่อนที่คบหาเป็นกลุ่มที่ดี ไม่เหลวไหล ก็จะส่งผลให้เด็กมีนิสัยที่ดี ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยหนึ่งที่เป็นเหตุให้เด็กเหลวไหลและมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนก็คือกลุ่มเพื่อนที่นิสัยไม่ดีนั่นเอง

คำชี้แนะของอิสลาม

1. ด้านความต้องการทางเพศ ความต้องการทางเพศเป็นความต้องการตามธรรมชาติในตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวและสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไป อิสลามได้กำหนดวิถีที่งดงามที่จะใช้สนองความต้องการทางเพศให้ห่างไกลจากสิ่งที่สกปรกและต่ำทราม ด้วยการปิดช่องทางทุกอย่างที่เร้าให้เกิดความรู้สึก และนำไปสู่การคลุกคลีระหว่างชายหญิงสองต่อสอง และตกหลุมพรางที่ชัยตอนได้วางกับดักไว้ในที่สุด ท่าน รสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวไว้มีใจความว่า ((ผู้ชายห้ามอยู่กับหญิงที่แต่งงานได้สองต่อสอง นอกเสียจากนางต้องมีมะหฺรอม ผู้หญิงจะต้องไม่เดินทางนอกจากจะต้องมีมะหฺรอมอยู่ด้วย)) ชายผู้หนึ่งได้ลุกขึ้นยืนกล่าวแก่ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ว่า "แท้จริงภรรยาของฉันได้ออกไปทำฮัจญ์ ส่วนตัวฉันถูกเกณฑ์ให้ออกไปรบ" ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม สั่งว่า ((จงออกไปทำฮัจญ์กับภรรยาของท่าน)) รายงานโดยบุคอรี 5233
อิมามนะวะวีย์ได้กล่าวว่า ถ้าหากชายอื่นคลุกคลีกับหญิงอื่น โดยไม่มีใครเป็นคนที่สาม มันจะเป็นการหะรอมโดยการเห็นพ้องของอุละมาอฺ และมันก็เป็นหะรอมเช่นกัน ถ้าหากคนที่อยู่ด้วยนั้นเป็นคนที่ไม่มีผลให้ผู้ชายคนนั้นเกิดความละอาย เช่น คนที่อยู่ด้วยเป็นเด็กอายุสองถึงสามขวบ เพราะการที่เขาอยู่ด้วยเหมือนว่าเขาไม่ได้อยู่ การพบปะกันเฉยๆ ระหว่างชายหญิงก็ถือว่าหะรอมเช่นกัน ดู บทอธิบายซอเหียะหฺมุสลิม 9/109 ท่าน รสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ยังได้กล่าวอีกว่า ((จงรู้เถิดว่า ห้ามชายใดค้างในบ้านของหญิงที่แต่งงานแล้ว นอกเสียจากเขาเป็นสามีของนาง หรือเป็นผู้ที่แต่งงานกันไม่ได้)) (รายงานโดย มุสลิม บทการให้สลาม เรื่องที่ 8 )

อุละมาอฺได้อธิบายว่า ที่เจาะจงเฉพาะหญิงที่แต่งงานแล้ว เพราะโดยทั่วไปคนอื่นจะเข้าออกบ้านของนางเป็นปกติธรรมดา แต่ที่จริงหะดีษนี้รวมหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานด้วย และที่ไม่ได้กล่าวถึงเป็นเพราะโดยหลักเดิมแล้ว หญิงสาวต้องเก็บตัวห่างจากผู้ชายให้มากที่สุด จึงไม่จำเป็นที่ต้องกล่าวถึงในหะดีษ อีกทั้งหะดีษนี้เป็นการตักเตือนผู้ที่ชอบละเลยคำสั่งห้ามการเข้าออกบ้านหญิงหม้ายโดยคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ดังนั้นการเข้าบ้านของหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจึงย่อมต้องกำชับกว่าในการตักเตือนและระมัดระวัง
อิสลามยังได้ห้ามญาติมิตรของสามีคลุกคลีกับภรรยาของเขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟิตนะฮฺ ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวว่า ((พวกท่านจงระวังการเข้าหาผู้หญิง)) ชายอันศอรฺผู้หนึ่งถามว่า "แล้วญาติของสามีล่ะ?" ท่านรสูล ตอบว่า ((ญาติของสามีนั่นล่ะคือความตาย)) หมายถึงเป็นฟิตนะฮฺที่ร้ายแรงที่สามารถนำไปสู่ความพินาศได้

อิสลามยังได้สั่งให้ผู้หญิงคลุมหิญาบ ปกปิดร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการเย้ายวนผู้ชายที่มีจิตใจแปรปรวน (ดูซูเราะฮฺอัล นูร 31 และซูเราะฮฺ อัล อะหฺซาบ 59) และเพื่อให้มุสลิมมีมารยาททที่สูงส่งขึ้นไปอีก
อิสลามได้สั่งให้เราลดสายตาจากการดูสิ่งต่างๆที่ก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ (ดู ซูเราะฮฺ อัล นูร 30) ในจำนวนมารยาททั้งหลายที่ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้สอนไว้คือ ((พวกท่านจงระวังการนั่งอยู่ตามถนน)) ซอฮาบะฮฺถามว่า "มีเหตุใดที่จะเกิดขึ้นหรือกถ้าหากเรานั่งพูดคุยกันเฉยๆ?" ท่านตอบว่า ((ถ้าพวกท่านยังเลิกมันไม่ได้ ก็จงให้สิทธิแก่ผู้ที่เดินผ่านไปมา)) พวกเขาถามต่อว่า "อะไรคือสิทธินั้น?" ท่านตอบว่า ((ลดสายตา ไม่สร้างความเดือดร้อน ตอบรับสลาม ชักชวนในสิ่งที่ดี ห้ามปรามในสิ่งที่ผิด)) รายงานโดยบุคอรี 2465 มุสลิม 2121

อิสลามได้ห้ามไม่ให้ผู้หญิงใส่น้ำหอม และออกไปเดินท่ามกลางผู้ชาย เพื่อให้พวกเขาได้กลิ่นน้ำหอม และก่อให้เกิดฟิตนะฮฺหรือปลุกอารมณ์ของพวกเขา ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวไว้มีความว่า ((หญิงใดที่ใส่น้ำหอม และเดินผ่านกลุ่มผู้คนเพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสกลิ่นหอม หญิงคนนั้นผิดเหมือนผู้ที่ทำซินา)) รายงานโดย อบู ดาวูด 4173 ถ้าหากวัยรุ่นหญิงชายทั้งหลายประพฤติตามแบบอย่างที่ดีเหล่านี้ ย่อมส่งผลดีให้กับทุกคนให้สามารถจำกัดขอบเขตของความต้องการทางเพศได้ อินชาอัลลอฮฺ

2. ด้านพฤติกรรมการเลียนแบบ อิสลามได้ชี้แนะให้ประชาชาติมุสลิมประพฤติตามท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เพราะท่านคือแบบอย่างที่สูงส่ง และเป็นแม่บทที่ดีที่สุด อัลกุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮฺ อัล อะหฺซาบ 21 มีใจความว่า "ขอสาบาน แท้จริงในตัวท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺนั้นมีตัวอย่างที่ดีสำหรับพวกเจ้า ผู้ที่มอบความหวังให้อัลลอฮฺและวันแห่งโลกหน้า" โองการนี้เป็นรากฐานอันยิ่งใหญ่ที่ชี้ชัดให้เราตามแบบอย่างของท่าน รสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ทั้งในวาจา การกระทำและวิถีการดำรงตน
อัลลอฮฺได้ทรงใช้ให้เหล่ามุสลิมเอาอย่างท่านรสูลของพวกเขาในสงครามคู ซึ่งท่านได้แสดงให้เห็นตัวอย่างของการอดทน เข้มแข็ง เชื่อมั่น ต่อสู้อุปสรรค และหวังในการช่วยเหลือขององค์อภิบาล ชีวประวัติของท่านรสูลเป็นสุดยอดแห่งชีวประวัติที่ถูกบันทึก เพราะได้แสดงให้เห็นถึง จรรยามารยาทอันสูงส่งของท่าน บทบาทของบุรุษผู้กล้าหาญ อดทน เข้มแข็งในการต่อสู้และเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า เหล่านี้คือแบบอย่างของท่านซึ่งเราสามารถนำมาประพฤติตามได้โดยทันที เช่นเดียวกับที่เราสามารถเห็นได้ว่า เหล่านบีและรสูลทุกคนก็ได้ทำแบบอย่างที่ดีไว้ ถ้าหากเราศึกษาและค้นคว้าเพื่อมุ่งมั่นปฏิบัติตาม (ดู ซูเราะฮฺ อัล มุมตะหะนะฮฺ 6)
ผู้ปกครองและพี่เลี้ยงผู้สอนก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวอย่างให้กับวัยรุ่น เพราะพวกเขาต้องคลุกคลีอยู่กับเด็กๆเหล่านี้ทุกเวลา ทั้งยามทุกข์และสุข ในเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้าย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอนุชนรุ่นเยาว์ เพื่อปลูกฝังมารยาทและจริยธรรมอิสลามให้อยู่ในตัวของพวกเขาสืบไป

3. ด้านการชอบติเตียนและความต้องการที่จะแก้ไข เมื่ออายุย่างเข้าช่วงวัยรุ่น เด็กจะมีนิสัยโน้มเอียงที่จะวิจารณ์และมีส่วนร่วมในการแก้ไขสิ่งที่ตนมองว่าไม่ถูกหรือขัดหูขัดตา บัญญัติของอิสลามได้สนับสนุนในเรื่องนี้แต่อยู่ในกรอบที่เป็นไปอย่างรอบคอบ "จงให้มีในหมู่พวกเจ้าผู้ที่เรียกร้องไปสู่ความดี สั่งเสียในสิ่งที่ถูกต้อง และห้ามปรามในสิ่งที่ผิด" (ซูเราะฮฺ อาลิ อิมรอน 104) ในหะดีษหนึ่งมีใจความว่า ((ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่พบเห็นสิ่งที่มุงกัร(สิ่งที่อิสลามถือว่าผิด) ให้เขาแก้ไขมันด้วยมือของพวกเขา ถ้าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ให้เขาใช้คำพูด หรือไม่เช่นนั้นก็ให้เขานึกที่จะแก้ไขด้วยใจ และนั่นคือระดับอีหม่านที่อ่อนที่สุดแล้ว)) (โดย มุสลิม 78) ใครที่เราเห็นว่าละเลยต่อคำสั่งสอนของท่านนบีและไม่หยุดทำในสิ่งที่ท่านห้ามก็ควรที่จะต้องได้รับการชี้แนะหรือตักเตือน จากสมาชิกในสังคม
บัญญัติของอิสลามนั้นตรงต้องกับสัญชาติอันเป็นนิสัยเดิมของมนุษย์ที่ต้องการให้เขารู้สึกถึงหน้าที่ เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องการการฝึกฝนและการอบรมที่ดี เพื่อค่อยๆฝึกให้เด็กเรียนรู้อย่างถูกต้อง ณ ที่นี้ จึงเป็นบทบาทของครอบครัว โรงเรียน มัสยิด และสื่อต่างๆ ที่ต้องเอาใจใส่การสร้างคนรุ่นใหม่ไฟแรง ให้อยู่ในกรอบการชี้นำที่ไม่เบี่ยงเบน

4. ด้านการเพิ่มขึ้นของภาวะทางอารมณ์ วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังพัฒนาตัวเองให้พ้นจากวัยเด็ก เป็นวัยที่มีความการเรียนรู้มากกว่าวัยเด็ก เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นธรรมดาที่เราพบว่าวัยรุ่นจะมีอาการสับสนระหว่างรักและเกลียด กล้าๆกลัวๆ สิ่งนี้เป็นจุดสำคัญและง่ายต่อการ อบรมและชี้นำให้อยู่ในมารยาทอันประเสริฐ การปลูกฝังให้เกิดความรังเกียจต่อมารยาทอันเสื่อมทราม และทำให้เกิดสำนึกเมื่อพลาดพลั้งทำในสิ่งที่ผิด จะเห็นได้ว่าการโน้มน้าวจิตใจวัยรุ่นไปสู่จริยธรรมที่ดีงามเช่น ความซื่อสัตย์ การมีอะมานะฮฺ ความอิคลาส ความกล้า ใจกว้าง ให้รักในสิ่งที่ดี และรังเกียจในสิ่งที่ผิดนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้และถูกตอบรับได้ไม่ยากนัก เราอาจจะทำได้โดยการนำคำตักเตือนและคำสอนจากอัลกุรอานและหะดีษ มาใช้กับพวกเขา หรืออาจจะเป็นเรื่องราวของบรรดาซอฮาบะฮฺ ที่ใช้เป็นบทเรียนในการปลูกฝังเรื่องต่างๆเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรลืมที่จะใช้วิธีสร้างให้พวกเขาเกิดความเกลียดชังต่อนิสัยที่ไม่ดีเช่น การพูดปด การนินทา การหักหลัง ความขลาดกลัว นิสัยเหลวไหล ด้วยการพูดถึงการลงโทษของอัลลอฮฺและการทรมานที่เจ็บปวดสำหรับผู้คนที่กระทำบาปเช่นนั้น ความอายเป็นลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของวัยนี้ การใช้ความอายไม่ถูกที่อาจจะทำให้เกิดความอ่อนแอ หมดกำลังใจ ไม่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควรจะต้องบอกให้พวกเขาใช้ความอายให้ถูกกาลเทศะ ความอายที่ถูกต้องคือการอายจากการทำผิดบาปต่อ อัลลอฮฺ ความอายเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของอีหม่าน ในหะดีษมีว่า ((อีหม่านนั้นมีประมาณเจ็ดสิบกว่าแขนง ส่วนที่สูงที่สุดคือคำกล่าว ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ ที่ล่างที่สุดคือการขจัดสิ่งที่ก่อความเดือดร้อนให้พ้นทาง ความอายก็เป็นส่วนหนึ่งของอีหม่าน)) (รายงานโดยบุคอรี 9 มุสลิม 58) นอกจากนี้ต้องปรามพวกเขาไม่ให้อายในสิ่งที่ไม่ควรอายเช่น การพูดสิ่งที่ถูกต้อง การถามเมื่อไม่รู้ และการตักเตือนผู้อื่นให้ทำดี

5. ด้านพัฒนาการการเข้าสังคม มนุษย์เป็นผู้ที่ชอบคลุกคลีและเข้าสังคมโดยวิสัย ชอบที่จะมีเพื่อนฝูงและไม่อยากที่จะต้องโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่ในวัยรุ่นจะมีภาวะเช่นที่กล่าวนี้มากกว่าวัยที่ผ่านมา อิสลามสอนให้คบเพื่อนฝูงในรูปแบบของการเป็นพี่น้องกันเพื่ออัลลอฮฺ(เป็นความผูกพันที่ถูกมัดขึ้นภายใต้การมอบความภักดีของแต่ละคนให้กับพระผู้เป็นเจ้า) มันเป็นความรักแห่งอีหม่านที่มั่นคง เป็นความเข้มแข็งที่สามารถสร้างและปฏิรูปสังคมของเราให้เป็นปึกแผ่นและมีความยั่งยืนตลอดไป อัลลอฮฺทรงตรัสในซูเราะฮฺอาล อิมรอน อายะฮฺที่ 103 มีความว่า "และจงรำลึกถึงการประทานของอัลลอฮฺเถิด ในขณะที่พวกเจ้านั้นเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ก็ทรงทำให้หัวใจของพวกเจ้าประสานกันด้วยความอ่อนโยน และแล้วพวกเจ้าก็เป็นพี่น้องกันด้วยการประทานของพระองค์"

กิจกรรมอันเป็นรูปธรรม
ครอบครัวและองค์กรทางสังคมล้วนมีบทบาทสำคัญในการชักจูงเด็กวัยนี้ให้ดำเนินชีวิตอยู่ในครรลองที่ดีงามและสร้างประโยชน์ รวมทั้งให้หลีกพ้นจากความเลวทรามต่างๆในสังคม ในจำนวนคำแนะนำก็คือ ...

- ชี้นำวัยรุ่นให้มีส่วนร่วมในการทำความดีร่วมกันกับเพื่อนฝูงของพวกเขา เพื่อสร้างพัฒนาการทางด้านจิตใจที่ดีงาม ด้วยกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์

-สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนิสัยที่ไม่ดีและมารยาทที่เลวทรามอันจำเป็นต้องหลีกห่างและระวังตัวเองไม่ให้เข้ากับกลุ่มคนที่มีลักษณะเช่นนั้น พร้อมทั้งสร้างให้พวกเขามีบทบาทในการแก้ไขสิ่งเหล่านั้นด้วยการชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติดีและห้ามคนอื่นจากการทำผิด

-แสดงให้พวกเขาได้ซึมซับตัวอย่างที่ดีจากการศึกษาประวัติของท่านรสูลและบรรดาบรรพบุรุษอิสลามรุ่นเก่าก่อนเช่น บรรดาซอฮาบะฮฺ เหล่าอุลามาอฺ เพื่อให้พวกเขาได้เอาอย่างในการประพฤติตาม และป้องกันจากการหันเหไปเลียนแบบดารานักร้องและผู้คนที่กลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับหนุ่มสาวในสมัยนี้


แปลจากหนังสือ "การเจริญวัยของมนุษย์ในมุมมองของอิสลาม" โดย ศร.ดร.คอลิด บิน ฮามิด อัลฮาซิมีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์ อิสลาม คณะดะวะห์และอุซูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม นครมาดีนะห์

ผู้แปล : ซุฟอัม อุษมาน

AttachmentSize
_พัฒนาการของวัยรุ่น.doc_.doc52.5 KB

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).