Loading

 

คุณูปการของการถือศีลอด

คุณูปการของการถือศีลอด

 

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ การเศาะละวาตและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...

ส่วนหนึ่งจากการงานที่ดีงามซึ่งมีคุณูปการอย่างสูงส่ง ณ ที่พระองค์อัลลอฮฺ คือ การถือศีลอด ซึ่งบทบัญญัติทางศาสนาได้สนับสนุนส่งเสริมให้ยึดถือปฏิบัติ และเป็นหนึ่งจากหลักการอิสลามที่ยิ่งใหญ่ โดยที่พระองค์อัลลอฮฺได้บอกไว้ว่าสำหรับการถือศีลอดนั้นแม้แต่ประชาชาติอื่นก็ยังถูกบัญญัติเช่นกัน เพราะเป็นการอบรมจรรยามารยาท ซักฟอกจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ และสามารถแบกรับต่อความอดทนอดกลั้นได้ ดั่งที่พระองค์ตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ﴾ (البقرة : 183)

ความหมาย “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดสำหรับพวกสูเจ้า ดั่งที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาประชาชาติที่มาก่อนหน้าสูเจ้า เพื่อว่าพวกสูเจ้าจะได้ยำเกรง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 183)

 

พระองค์ตรัสอีกว่า

﴿وَأَن تَصُومُواْ خَيۡرٞ لَّكُمۡ إِن كُنتُمۡ تَعۡلَمُونَ﴾ (البقرة : 184)

ความหมาย “และการที่พวกเจ้าจะถือศีลอดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับพวกเจ้า หากว่าพวกเจ้ารู้” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 184)

 

และพระองค์ยังได้ตรัสหลังจากที่ได้กล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเร่งรีบไปสู่การประกอบคุณงามความดีไม่ว่าจะเป็นบรรดาผู้ชายหรือว่าบรรดาผู้หญิงว่า

﴿وَٱلصَّٰٓئِمِينَ وَٱلصَّٰٓئِمَٰتِ وَٱلۡحَٰفِظِينَ فُرُوجَهُمۡ وَٱلۡحَٰفِظَٰتِ وَٱلذَّٰكِرِينَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا وَٱلذَّٰكِرَٰتِ أَعَدَّ ٱللَّهُ لَهُم مَّغۡفِرَةٗ وَأَجۡرًا عَظِيمٗا﴾ (الأحزاب : 35)

ความหมาย “บรรดาผู้ถือศีลอดผู้ชายและบรรดาผู้ถือศีลอดผู้หญิง บรรดาผู้รักษาอวัยวะเพศของพวกเขาที่เป็นผู้ชายและผู้หญิง บรรดาผู้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากที่เป็นผู้ชายและผู้หญิงนั้น อัลลอฮฺได้ทรงจัดเตรียมการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวงไว้สำหรับพวกเขา” (อัล-อะหฺซาบ : 35)

 

มีรายงานจากอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«مَا مِنْ عَبْدٍ يَصُومُ يَوْمًا فِى سَبِيلِ اللَّهِ، إِلاَّ بَاعَدَ اللَّهُ بِذَلِكَ الْيَوْمِ وَجْهَهُ عَنِ النَّارِ سَبْعِينَ خَرِيفًا» (البخاري برقم 2840، ومسلم برقم 1153)

ความหมาย "ไม่มีบ่าวคนใดที่ถือศีลอดหนึ่งวันในหนทางของอัลลอฮฺ นอกจากว่า อัลลอฮฺจะทรงให้ใบหน้าของเขาห่างไกลจากไฟนรก(เป็นผลบุญ)ต่อการถือศีลอดหนึ่งวันดังกล่าวระยะห่างถึง 70 ปี" (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ (2/317) หมายเลขหะดีษ 2840 และเศาะฮีหฺ มุสลิม (2/808) หมายเลขหะดีษ 1153)

 

ส่วนหนึ่งจากคุณูปการที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการถือศีลอด อันได้แก่ การถือศีลอดจะช่วยปกป้องปวงบ่าวให้รอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺในวันปรโลก

รายงานจากญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّمَا الصِّيَامُ جُنَّةٌ يَسْتَجِنُّ بِهَا الْعَبْدُ مِنْ النَّارِ هُوَ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ» (مسند أحمد 3/396، قال المنذري في الترغيب والترهيب 2/9 : إسناده حسن)

ความหมาย “การถือศีลอดเป็นโล่ห์ที่บ่าวใช้เพื่อป้องกันให้รอดพ้นจากไฟนรก แท้จริงมันเป็นของฉัน(อัลลอฮฺ)และฉันจะเป็นผู้ตอบแทนมันด้วยตัวของฉันเอง" (มุสนัดอิมามอะหฺมัด (3/396) อัล-มุนซิรีย์ กล่าวในหนังสืออัต-ตัรฆีบ วัร-ตัรฮีบ (2/9) ว่าเป็นสายรายงานหะสัน)

 

การถือศีลอดเป็นหนทางสำคัญที่นำไปสู่การได้รับสวนสวรรค์เป็นการตอบแทน จากอบู อุมามะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู กล่าวว่า ฉันกล่าวแก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จงชี้แนะฉันถึงการงานที่จะทำให้ฉันได้เข้าสวนสวรรค์ ท่านตอบว่า

«عَلَيْكَ بِالصَّوْمِ فَإِنَّهُ لَا مِثْلَ لَهُ» (رواه ابن حبان 5/179-180، وانظر صحيح الجامع برقم 4044)

ความว่า “ท่านจงถือศีลอดเถิด เพราะว่าไม่มีสิ่งใดที่เท่าเทียมมัน” ผู้รายงานกล่าวว่า ปรากฏว่าที่บ้านของอบู อุมามะฮฺไม่เห็นว่ามีควันไฟขึ้นในตอนกลางวันเลย(เนื่องจากท่านจะถือศีลอดบ่อย)ยกเว้นในกรณีที่มีแขกมาเยี่ยมเยียนเท่านั้น (เศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน 5/179-180 หมายเลขหะดีษ 3416, 3417 ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 4044)

 

และมีรายงานจากสะฮ์ลฺ บิน สะอัด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ فِي الْجَنَّةِ بَابًا يُقَالُ لَهُ الرَّيَّانُ، يَدْخُلُ مِنْهُ الصَّائِمُونَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ، لَا يَدْخُلُ مِنْهُ أَحَدٌ غَيْرُهُمْ، فَإِذَا دَخَلُوا أُغْلِقَ فَلَمْ يَدْخُلْ مِنْهُ أَحَدٌ» (البخاري برقم 1896، ومسلم برقم 1152)

ความหมาย "แท้จริง ในสวนสวรรค์นั้นมีประตูหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่าอัร-ร็อยยานเป็นประตูทางเข้าในวันกิยามะฮฺของบรรดาผู้ที่ถือศีลอด ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าทางนั้นได้นอกจากพวกเขา ดังนั้นในเมื่อพวกเขาเข้าไปหมดแล้ว มันก็จะถูกปิด และจะไม่มีผู้ใดเข้าไปอีก" (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ (2/29) หมายเลขหะดีษ 1896 และเศาะฮีหฺ มุสลิม (2/808) หมายเลขหะดีษ 1152)

 

ในวันกิยามะฮฺการถือศีลอดจะช่วยขอไถ่โทษ(ชะฟาอะฮฺ)ให้แก่ผู้ที่ถือ จากอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«الصِّيَامُ وَالْقُرْآنُ يَشْفَعَانِ لِلْعَبْدِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ، يَقُولُ الصِّيَامُ : أَيْ رَبِّ مَنَعْتُهُ الطَّعَامَ وَالشَّهْوَةَ فَشَفِّعْنِي فِيهِ، وَيَقُولُ الْقُرْآنُ : مَنَعْتُهُ النَّوْمَ بِاللَّيْلِ فَشَفِّعْنِي فِيهِ، قَالَ : فَيُشَفَّعَانِ» (رواه أحمد 2/174، قال المنذري في الترغيب والترهيب 2/10 : رواه أحمد والطبراني في الكبير، ورجاله محتج بهم في الصحيح، وراه ابن أبي الدنيا في كتاب الجوع في إسناد حسن)

ความหมาย “ศีลอดและ(การอ่าน)อัลกุรอาน ในวันกิยามะฮฺจะขอไถ่โทษ (ชะฟาอะฮฺ) ให้แก่บ่าว โดยศีลอดจะกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ฉันได้หักห้ามเขาจากอาหารและอารมณ์ใคร่ ดังนั้นจงให้ฉันได้ขอไถ่โทษให้แก่เขา และอัลกุรอานจะกล่าวว่า ฉันได้หักห้ามเขามิให้นอนในยามค่ำคืน ดังนั้นจงให้ฉันได้ขอไถ่โทษให้แก่เขา ท่านนบีกล่าวว่า แล้วทั้งสองก็ได้ขอไถ่โทษให้แก่เจ้าของ” (มุสนัดอิมามอะหฺมัด (2/174) อัล-มุนซิรีย์ กล่าวในหนังสืออัต-ตัรฆีบ วัร-ตัรฮีบ (2/10) ว่า บันทึกโดยอะหฺมัด และ อัฏ-ฏ็อบรอนีย์ ในอัล-กะบีรฺโดยสายรายงานที่อ้างอิงได้ในตำราหะดีษเศาะฮีหฺ และบันทึกโดยอิบนุ อบี อัด-ดุนยา ในหนังสือ อัล-ญูอฺ ด้วยสายรายงานที่หะสัน)

 

ผู้ที่ถือศีลอดจะได้รับผลบุญเป็นการตอบแทนโดยไม่ต้องสอบสวน รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ يُضَاعَفُ، الْحَسَنَةُ عَشْرُ أَمْثَالِهَا إِلَى سَبْعِمِائَةِ ضِعْفٍ، قَالَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ إِلاَّ الصَّوْمَ فَإِنَّهُ لِى وَأَنَا أَجْزِى بِهِ، يَدَعُ شَهْوَتَهُ وَطَعَامَهُ مِنْ أَجْلِى، لِلصَّائِمِ فَرْحَتَانِ فَرْحَةٌ عِنْدَ فِطْرِهِ، وَفَرْحَةٌ عِنْدَ لِقَاءِ رَبِّهِ. وَلَخُلُوفُ فِيهِ أَطْيَبُ عِنْدَ اللَّهِ مِنْ رِيحِ الْمِسْكِ» (البخاري 1904، ومسلم 1151)

ความหมาย “การงานทั้งหมดของลูกหลานอาดัมจะได้รับภาคผลบุญทวีคูณจากสิบเท่าไปจนถึงเจ็ดร้อยเท่า โดยที่อัลลอฮฺตรัสว่า ยกเว้นการถือศีลอด แท้จริงมันเป็นของฉันและฉันจะเป็นผู้ตอบแทนมันด้วยตัวของฉันเอง เขาละเว้นจากอารมณ์ใคร่และอาหารอันเนื่องจากฉัน สำหรับผู้ถือศีลอดเขาจะได้รับความปีติยินดีสองครั้งด้วยกัน กล่าวคือ ครั้งแรก มีความปีติยินดีในขณะที่เขาละศีลอด(ในดุนยา) ครั้งที่สอง มีความปีติยินดีในขณะที่เขาได้พบกับพระผู้อภิบาลของเขา (ในวันอาคิเราะฮฺ) และกลิ่นปากของผู้ที่ถือศีลอด ณ อัลลอฮฺนั้นหอมยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียง” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ (2/31) หมายเลขหะดีษ 1904 และเศาะฮีหฺ มุสลิม (2/807) หมายเลขหะดีษ 1151)

 

การถือศีลอดจะช่วยลบล้าง(กัฟฟาเราะฮฺ)จากความผิดพลาดหลายประการด้วยกัน ส่วนหนึ่งจะลบล้างความผิดอันเนื่องจากการผิดคำสาบาน และการฆ่าสัตว์ในขณะที่ครองอิหฺรอม(เพื่อบำเพ็ญหัจญ์และอุมเราะฮฺ) ดังที่พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿لَا يُؤَاخِذُكُمُ ٱللَّهُ بِٱللَّغۡوِ فِيٓ أَيۡمَٰنِكُمۡ وَلَٰكِن يُؤَاخِذُكُم بِمَا عَقَّدتُّمُ ٱلۡأَيۡمَٰنَۖ فَكَفَّٰرَتُهُۥٓ إِطۡعَامُ عَشَرَةِ مَسَٰكِينَ مِنۡ أَوۡسَطِ مَا تُطۡعِمُونَ أَهۡلِيكُمۡ أَوۡ كِسۡوَتُهُمۡ  أَوۡ تَحۡرِيرُ رَقَبَةٖۖ فَمَن لَّمۡ يَجِدۡ فَصِيَامُ ثَلَٰثَةِ أَيَّامٖۚ  ذَٰلِكَ كَفَّٰرَةُ أَيۡمَٰنِكُمۡ إِذَا حَلَفۡتُمۡۚ وَٱحۡفَظُوٓاْ أَيۡمَٰنَكُمۡۚ كَذَٰلِكَ يُبَيِّنُ ٱللَّهُ لَكُمۡ ءَايَٰتِهِۦ لَعَلَّكُمۡ تَشۡكُرُونَ﴾ (المائدة : 89)

ความหมาย “อัลลอฮฺจะไม่ทรงเอาโทษแก่พวกเจ้าด้วยถ้อยคำที่ไร้สาระในการสาบานของพวกเจ้า แต่ทว่าพระองค์จะทรงเอาโทษแก่พวกเจ้าด้วยถ้อยคำที่พวกเจ้าปลงใจสาบาน แล้วสิ่งไถ่โทษมันนั้น คือการให้อาหารแก่คนยากจนจำนวนสิบคน จากอาหารปานกลางของสิ่งที่พวกเจ้าให้เป็นอาหารแก่ครอบครัวของพวกเจ้า หรือไม่ก็ให้เครื่องนุ่งห่มแก่พวกเขา หรือไถ่ทาสคนหนึ่งให้เป็นอิสระ ส่วนผู้ที่ไม่มีความสามารถก็ให้ถือศีลอดสามวัน นั่นแหละคือการไถ่โทษในการสาบานของพวกเจ้า เมื่อพวกเจ้าได้สาบานไว้ และจงรักษาการสาบานของพวกเจ้าเถิด ในทำนองเช่นนี้แหละอัลลอฮฺจะทรงแจกแจงบรรดาโองการของพระองค์แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจักได้ขอบคุณ” (อัล-มาอิดะฮฺ : 89)

 

และอัลลอฮฺตรัสว่า

﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا تَقۡتُلُواْ ٱلصَّيۡدَ وَأَنتُمۡ حُرُمٞۚ وَمَن قَتَلَهُۥمِنكُم مُّتَعَمِّدٗا فَجَزَآءٞ مِّثۡلُ مَا قَتَلَ مِنَ ٱلنَّعَمِ يَحۡكُمُ بِهِۦ ذَوَا عَدۡلٖ مِّنكُمۡ هَدۡيَۢا بَٰلِغَ ٱلۡكَعۡبَةِ أَوۡ كَفَّٰرَةٞ طَعَامُ مَسَٰكِينَ أَوۡ عَدۡلُ ذَٰلِكَ صِيَامٗا لِّيَذُوقَ وَبَالَ أَمۡرِهِۦۗ عَفَا ٱللَّهُ عَمَّا سَلَفَۚ وَمَنۡ عَادَ فَيَنتَقِمُ ٱللَّهُ مِنۡهُۚ وَٱللَّهُ عَزِيزٞ ذُو ٱنتِقَامٍ﴾ (المائدة : 95)

ความหมาย “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าฆ่าสัตว์ล่าในขณะที่พวกเจ้ากำลังครองอิหฺรอมอยู่ และผู้ใดในกลุ่มพวกเจ้าได้ฆ่ามันโดยเจตนาแล้วไซร้ การชดเชยก็คือ(จ่ายค่าชดใช้ในจำนวนที่เท่ากับสัตว์)ชนิดเดียวกับที่ถูกฆ่า (จากปศุสัตว์) โดยผู้ที่ยุติธรรมสองคนในกลุ่มพวกเจ้าจะกระทำการชี้ขาดมันในฐานะเป็นสัตว์พลีที่ไปถึง อัล-กะฮฺบะฮฺ หรือไม่ก็ให้มีการลงไถ่โทษ คือการให้อาหารแก่บรรดาคนยากจน หรือสิ่งที่เท่าเทียมสิ่งนั้นด้วยการถือศีลอด เพื่อที่เขาจะได้ลิ้มรสผลภัยจากการกระทำของเขา อัลลอฮฺได้ทรงอภัยให้จากสิ่งที่ได้ล่วงเลยมาแล้ว และผู้ใดกลับกระทำอีกอัลลอฮฺจะทรงลงโทษเขา และอัลลอฮฺคือผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงลงโทษ” (อัล-มาอิดะฮฺ : 95)

 

จากหุซัยฟะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«فِتْنَةُ الرَّجُلِ فِي أَهْلِهِ وَمَالِهِ تُكَفِّرُهَا الصَّلَاةُ وَالصِّيَامُ وَالصَّدَقَةُ» (البخاري برقم 1895)

ความหมาย “ความผิดของสามีที่มีต่อสมาชิกในครอบครัวและทรัพย์สินของเขา จะถูกลบล้างด้วยกับการละหมาด การถือศีลอด และการบริจาคทาน” (อัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 1895)

 

ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนและปฏิบัติศาสนกิจอื่นที่เป็นฟัรฎู เขาจะเป็นผู้หนึ่งในจำนวนของบรรดาผู้สัจจริง(ศิดดีกีน) และบรรดาผู้ตายในสมรภูมิ(ชุฮะดาอ์) จากอัมร์ บิน มุรเราะฮฺ อัล-ญุฮะนีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู กล่าวว่า มีชายคนหนึ่งได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วกล่าวว่าท่านมีความคิดเห็นว่าอย่างไร หากฉันปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และท่านเป็นเราะสูลของอัลลอฮฺ ฉันดำรงการละหมาดห้าเวลา ฉันจ่ายซะกาต ฉันถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน และฉันละหมาดกิยามในเดือนเราะมะฎอน ดังนั้น ฉันจะเป็นคนที่อยู่ในประเภทใด? ท่านนบีตอบว่า “ท่านเป็นหนึ่งจากบรรดาผู้สัจจริง(ศิดดีกีน)และบรรดาผู้ตายในสมรภูมิ(ชุฮะดาอ์)” (เศาะฮีหฺ อิบนิ หิบบาน (5/184) หมายเลขหะดีษ 3429, อัล-ฮัยษะมียฺ ได้กล่าวไว้ในมัจญ์มะฮฺ อัซ-ซะวาอิด ว่ารายงานโดย อัล-บัซซารฺ ผู้รายงานเป็นสายสืบเศาะฮีหฺ ยกเว้นอาจารย์สองท่านของอัล-บัซซารฺ ฉันหวังว่ามันจะเป็นรายงานที่หะสันหรือเศาะฮีหฺ)

และการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนจะช่วยลบล้างความผิดต่างๆ จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري 1901، ومسلم برقم 759)

ความหมาย "ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยความศรัทธา และมุ่งหวังในการตอบแทนจากอัลลอฮฺ ความผิดที่เขาเคยกระทำมาก่อนหน้านั้นจะได้รับการอภัยโทษ" (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ (2/31) หมายเลขหะดีษ 1901 และเศาะฮีหฺ มุสลิม (1/523) หมายเลขหะดีษ 759)

 

และในบางเวลาอัลลอฮฺได้ให้มีความเหลื่อมล้ำและเพิ่มพูนความดีงามมากกว่าอีกเวลาหนึ่ง เช่นดังตัวอย่างต่อไปนี้

การถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล จากอบู อัยยูบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ» (مسلم برقم 1164)

ความหมาย "ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ต่อจากนั้นเขาถืออีกหกวันในเดือนเชาวาล เสมือนกับเขาถือศีลอดตลอดทั้งปี” (เศาะฮีหฺ มุสลิม (2/822) หมายเลขหะดีษ 1164)

 

การถือศีลอดในเดือนมุหัรรอม โดยเฉพาะในวันที่ 10 จากอบีฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«أَفْضَلُ الصِّيَامِ بَعْدَ رَمَضَانَ شَهْرُ اللَّهِ الْمُحَرَّمُ، وَأَفْضَلُ الصَّلاَةِ بَعْدَ الْفَرِيضَةِ صَلاَةُ اللَّيْلِ» (مسلم برقم 1163)

ความหมาย "การถือศีลอดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากเดือนเราะมะฎอน คือการถือศีลอดในเดือน อัล-มุหัรร็อม ของอัลลอฮฺ และการละหมาดที่ประเสริฐที่สุดหลังจากละหมาดฟัรฎู คือการละหมาดในยามค่ำคืน" (เศาะฮีหฺ มุสลิม (2/821) หมายเลขหะดีษ 1163)

 

จากอบู เกาะตาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู เล่าว่า แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถูกถามถึงการถือศีลอดในวันอาชูรออ์(วันที่ 10 เดือนมุหัรร็อม) ท่านตอบว่า

«يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ» (مسلم برقم 1163)

ความหมาย "มันจะช่วยลบล้างความผิดในปีที่ผ่านมา” (เศาะฮีหฺ มุสลิม (2/821) หมายเลขหะดีษ 1163)

 

การถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ จากอบู เกาะตาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู กล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถูกถามถึงการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ท่านตอบว่า

«أَحْتَسِبُ عَلَى اللَّهِ أَنْ يُكَفِّرَ السَّنَةَ الَّتِى قَبْلَهُ، وَالسَّنَةَ الَّتِى بَعْدَهُ» (مسلم برقم 1162)

ความหมาย "ฉันคาดหวังจากอัลลอฮฺว่า มันจะช่วยลบล้างความผิดในปีที่ผ่านมาและในปีที่จะมาถึง” (เศาะฮีหฺ มุสลิม (2/819) หมายเลขหะดีษ 1162)

 

การถือศีลอดสามวันในแต่ละเดือน จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู กล่าวว่า

أَوْصَانِى خَلِيلِيْ صلى الله عليه وسلم بِثَلاَثٍ : صِيَامِ ثَلاَثَةِ أَيَّامٍ مِنْ كُلِّ شَهْرٍ وَرَكْعَتَىِ الضُّحَى وَأَنْ أُوتِرَ قَبْلَ أَنْ أَرْقُدَ. (البخاري برقم 1178، ومسلم برقم 721)

ความหมาย “เพื่อนซี้ของฉัน(ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สั่งเสียฉันสามประการ คือ การถือศีลอดสามวันในแต่ละเดือน การละหมาดฎุฮาสองร็อกอัต และให้ฉันละหมาดวิตรฺก่อนที่จะนอน” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ (1/364) หมายเลขหะดีษ 1178 และเศาะฮีหฺ มุสลิม (1/499) หมายเลขหะดีษ 721)

 

การถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮู จากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«تُعْرَضُ الْأَعْمَالُ على اللهِ يَوْمَ الِاثْنَيْنِ وَالْخَمِيسِ، فَأُحِبُّ أَنْ يُعْرَضَ عَمَلِي وَأَنَا صَائِمٌ» (رواه الترمذي برقم 747، وقال : حديث حسن غريب)

ความหมาย “การงานของปวงบ่าวจะถูกนำเสนอต่ออัลลอฮฺในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ดังนั้นฉันรักที่จะให้การงานของฉันถูกนำเสนอ ในขณะที่ฉันถือศีลอด” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ (3/122) หมายเลขหะดีษ 747 เขากล่าวว่า เป็นหะดีษหะซัน เฆาะรีบ)

 

.......................

แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม  อุษมาน

คัดลอกจาก http://IslamHouse.com/364680

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).