Loading

 

ความอดทน

ความอดทน

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการเจริญพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

            อัลลอฮฺสุบหานาฮู วะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱسۡتَعِينُواْ بِٱلصَّبۡرِ وَٱلصَّلَوٰةِۚ إِنَّ ٱللَّهَ مَعَ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٥٣ ﴾ [البقرة: ١٥٣]                               

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอาศัยความอดทนและการละหมาดในการขอความช่วยเหลือเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอยู่ร่วมกับผู้อดทนทั้งหลาย” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 153)

             

ท่านอิมามอิบนุ กะษีรฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวอธิบายอายะฮฺนี้ว่า  อัลลอฮฺสุบหานาฮู วะตะอาลาได้ชี้แจงว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเป็นสิ่งที่ช่วยในการแบกรับภาระการทดสอบต่างๆ จากอัลลอฮฺนั้นคือความอดทนและการละหมาด” (ตัฟซีร อิบนุ กะษีรฺ 1/196) 

            อัลลอฮฺสุบหานาฮู วะตะอาลาได้กล่าวถึงความอดทนไว้หลายๆ แห่งในคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮฺได้เพิ่มฐานันดรและความประเสิรฐอันมากมายสำหรับความอดทน และถือเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ที่อดทน ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “แท้จริง อัลลอฮฺได้ตรัสถึงความอดทนไว้ในอัลกุรอานมากกว่าเก้าสิบแห่ง และได้เชื่อมไว้กับการละหมาดในอายะฮฺที่ว่า

﴿ وَٱسۡتَعِينُواْ بِٱلصَّبۡرِ وَٱلصَّلَوٰةِۚ وَإِنَّهَا لَكَبِيرَةٌ إِلَّا عَلَى ٱلۡخَٰشِعِينَ ٤٥ ﴾ [البقرة: ٤٥] 

ความว่า “และพวกเจ้าจงอาศัยความอดทน และการละหมาดเถิดและแท้จริงการละหมาดนั้นเป็นสิ่งหนักหน่วงใหญ่โตนอกจากสำหรับบรรดาผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 45)

            อัลลอฮฺสุบหานาฮู วะตะอาลาได้กำหนดให้ การเป็นผู้นำในศาสนานั้นเป็นสิ่งตกทอดแก่ผู้ที่มีความอดทนและมีความยะกีน(ศรัทธามั่น) ด้วยอายะฮฺอัลกุรอานที่ว่า

﴿ وَجَعَلۡنَا مِنۡهُمۡ أَئِمَّةٗ يَهۡدُونَ بِأَمۡرِنَا لَمَّا صَبَرُواْۖ وَكَانُواْ بِ‍َٔايَٰتِنَا يُوقِنُونَ ٢٤ ﴾ [السجدة: ٢٤] 

ความว่า “และเราได้จัดให้มีหัวหน้าจากพวกเขา เพื่อจะได้ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องตามคำบัญชาของเรา ในเมื่อพวกเขามีความอดทนและพวกเขาเชื่อมั่นต่ออายาตทั้งหลายของเรา” (อัส-สัจญ์ดะฮฺ 24)

เพราะศาสนาก็คือการรู้สัจธรรมความจริง และการปฏิบัติตามสัจธรรมนั้น ซึ่งการปฏิบัตินั้นต้องอาศัยความอดทน เช่นเดียวกันการเรียนรู้สัจธรรมก็ต้องอาศัยความอดทนด้วย” (บะศออิรฺ ซะวิตตัมยีซฺ 3/376)

            อัลลอฮฺสุบหานาฮู วะตะอาลาตรัสว่า

﴿ وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣ ﴾ [العصر: ١-٣] 

ความว่า “ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน” (สูเราะฮฺ อัล-อัศรฺ)

 

หลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงความสำคัญของการอดทนคือการที่อัลลอฮฺสุบหานาฮู วะตะอาลาได้สั่งใช้ศาสนทูตของพระองค์ ด้วยวะหฺยูแรกที่สั่งให้ท่านตักเตือนผู้คน โดยตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلۡمُدَّثِّرُ ١ قُمۡ فَأَنذِرۡ ٢ وَرَبَّكَ فَكَبِّرۡ ٣ وَثِيَابَكَ فَطَهِّرۡ ٤ وَٱلرُّجۡزَ فَٱهۡجُرۡ ٥ وَلَا تَمۡنُن تَسۡتَكۡثِرُ ٦ وَلِرَبِّكَ فَٱصۡبِرۡ ٧ ﴾ [المدثر: ١-٧] 

ความว่า “โอ้ผู้ห่มกายอยู่เอ๋ย ! จงลุกขึ้น แล้วประกาศตักเตือน และแด่พระเจ้าของเจ้าจงให้ความเกียงไกร (ต่อพระองค์) และเสื้อผ้าของเจ้าจงทำให้สะอาด และสิ่งสกปรกก็จงหลบหลีกให้ห่างเสีย และอย่าทำคุณเพื่อหวังการตอบแทนอันมากมาย และเพื่อพระเจ้าของเจ้าเท่านั้นจงอดทน” (อัล-มุดดัษษิรฺ 1-7)

และในอายะฮฺส่วนที่ว่า “และเพื่อพระเจ้าของเจ้าเท่านั้นจงอดทน” นั้น เป็นสัญญานชี้ถึงการบริสุทธ์ใจเพื่ออัลลอฮฺในการอดทน ไม่ใช่เพื่อคำชมว่าเป็นผู้อดทน เหมือนกับอายะฮฺที่ว่า

﴿ وَٱلَّذِينَ صَبَرُواْ ٱبۡتِغَآءَ وَجۡهِ رَبِّهِمۡ﴾ [الرعد: ٢٢] 

ความว่า  “และบรรดาผู้อดทนโดยหวังพระพักตร์ (ความโปรดปราน) ของพระเจ้าของพวกเขา” (อัร-เราะอฺดุ 22)

 

นักปราชญ์ชาวสะลัฟ(กัลยาณชนรุ่นแรก)บางท่านกล่าวว่า “ความอดทนนั้นป็นสิ่งที่น่าฉงนอย่างมากเพราะสามารถรักษาได้หลายสิ่ง แต่ไม่มีสิ่งใดเยียวยารักษามันได้”

รายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«وَمَنْ يَتَصَبَّرْ يُصَبِّرْهُ اللَّهُ، وَمَنْ يَسْتَغْنِ يُغْنِهِ اللَّهُ، وَلَنْ تُعْطَوْا عَطَاءً خَيْرًا وَأَوْسَعَ مِنْ الصَّبْرِ» [البخاري برقم 6470، ومسلم برقم 1053]

ความว่า  “ผู้ใดที่พยายามทำตัวเป็นผู้อดทน อัลลอฮฺจะทำให้เขาสามารถอดทนได้ และผู้ใดที่ไม่ต้องการจะพึ่งพาใคร อัลลอฮฺก็จะให้เขาเพียงพอ และพวกเขาจะไม่ได้รับการให้สิ่งใดที่ดีไปกว่าและสะดวกกว่าการให้มีความอดทน”  (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 4/186 หมายเลข 6470, เศาะฮีหฺ มุสลิม 2/729 หมายเลข 1053)

           

ในหะดีษที่รายงานจากท่าน อบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«والصَّبْرُ ضِياءٌ» [رواه مسلم برقم 223]

ความว่า “ความอดทนนั้นเป็นรัศมี” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษที่รายงานโดยอิมามมุสลิม ในเศาะฮีหฺ มุสลิม 1/203  หมายเลข  223)

 

และรายงานจากท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านกล่าวว่า “เราพบกับชีวิตที่ดีที่สุดของเรานั้นก็ด้วยความอดทน” (อัด-ดุรรุล มันษูรฺ 1/163)

            ท่านอะลียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า “แท้จริงแล้ว ฐานะของความอดทนกับการศรัทธานั้น เปรียบได้ดังสถานะของศีรษะกับร่างกาย” แล้วท่านก็ยกเสียงให้ดังขึ้นแล้วกล่าวว่า “แท้จริงแล้วไม่มีความศรัทธาสำหรับผู้ที่ไม่มีความอดทน” (บะศออิรฺ ซะวิตตัมยีซ 3/376)

            ความอดทนนั้นคือการอดกลั้นตัวเองในการทำฏออะฮฺ (การภักดีต่างๆ ต่ออัลลอฮฺ) และห้ามมันจากการทำมะอฺศิยะฮฺ(บาปกรรมต่างๆ) และพึงพอใจกับสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดชะตากรรมต่างๆ ให้ตัวเอง โดยไม่มีการตีโพยตีพายในชะตากรรมนั้น หรือขณะที่โดนชะตากรรมนั้น

            ท่านอิบนุล ก็อยยิมกล่าวว่า “ความอดทนนั้นหากมองในแง่สิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยนั้นมีอยู่สามประเภทคือ 1) ความอดทนในการปฏิบัติตามคำสั่งและทำความดีชนิดต่างๆ 2) ความอดทนในการออกห่างสิ่งที่ต้องห้ามและเป็นบาปกรรม และสุดท้ายคือ 3) ความอดทนต่อชะตากรรมและการกำหนดต่างๆ ของอัลลอฮฺโดยไม่มีความโกรธและตัดพ้อตีโพยตีพาย” (มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 2/163)

           

ประเภทแรก ความอดทนในการภักดีต่ออัลลอฮฺนั้น เนื่องมาจากการที่ตัวตนของมนุษย์นั้นไม่อาจยืนหยัดในการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺได้อย่างง่ายดาย หากแต่ต้องมีการพยายามฝึกฝนและบังคับตน ดังนั้น จึงต้องอาศัยความอดทน อัลลอฮฺ สุบหานาฮู วะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ رَّبُّ ٱلسَّمَٰوَٰتِ وَٱلۡأَرۡضِ وَمَا بَيۡنَهُمَا فَٱعۡبُدۡهُ وَٱصۡطَبِرۡ لِعِبَٰدَتِهِۦۚ هَلۡ تَعۡلَمُ لَهُۥ سَمِيّٗا ٦٥ ﴾ [مريم: ٦٥] 

ความว่า “พระเจ้าแห่งบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินและสิ่งที่อยู่ระหว่างทั้งสอง ดังนั้น จงเคารพภักดีต่อพระองค์ และจงอดทนต่อการเคารพภักดีพระองค์ สูเจ้ารู้หรือว่ามีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์ ?” (มัรยัม 65)

 

และพระองค์ตรัสว่า

 ﴿ وَأۡمُرۡ أَهۡلَكَ بِٱلصَّلَوٰةِ وَٱصۡطَبِرۡ عَلَيۡهَاۖ لَا نَسۡ‍َٔلُكَ رِزۡقٗاۖ نَّحۡنُ نَرۡزُقُكَۗ وَٱلۡعَٰقِبَةُ لِلتَّقۡوَىٰ ١٣٢ ﴾ [طه: ١٣٢] 

ความว่า “และเจ้าจงสั่งใช้ครอบครัวของเจ้าให้ทำละหมาด และจงอดทนในการปฏิบัติมัน เรามิได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า เราต่างหากเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่เจ้าและบั้นปลายนั้นสำหรับผู้ที่มีความยำแกรง” (ฏอฮา 132)

 

 และพระองค์ตรัสว่า

 ﴿ وَٱصۡبِرۡ نَفۡسَكَ مَعَ ٱلَّذِينَ يَدۡعُونَ رَبَّهُم بِٱلۡغَدَوٰةِ وَٱلۡعَشِيِّ يُرِيدُونَ وَجۡهَهُۥۖ وَلَا تَعۡدُ عَيۡنَاكَ عَنۡهُمۡ تُرِيدُ زِينَةَ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۖ وَلَا تُطِعۡ مَنۡ أَغۡفَلۡنَا قَلۡبَهُۥ عَن ذِكۡرِنَا وَٱتَّبَعَ هَوَىٰهُ وَكَانَ أَمۡرُهُۥ فُرُطٗا ٢٨ ﴾ [الكهف: ٢٨] 

ความว่า “และจงอดทนต่อตัวของเจ้า ร่วมกับบรรดาผู้วิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ทั้งยามเช้าและยามเย็น โดยปรารถนาความโปรดปรานของพระองค์ และอย่าให้สายตาของเจ้าหันเหออกไปจากพวกเขาขณะที่เจ้าประสงค์ความสวยงามแห่งชีวิตของโลกนี้ และเจ้าอย่าเชื่อฟังผู้ที่เราทำให้หัวใจของเขาละเลยจากการรำลึกถึงเรา และปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของเขา และกิจการของเขาพินาศสูญหาย” (อัล-กะฮฺฟิ 28)

 

รายงานจากท่าน ษะอฺละบะฮฺ อัล-คุชะนีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อกล่าวถึงการสั่งใช้ในการทำความดีและการห้ามปรามกันในสิ่งที่ชั่ว ท่านกล่าวว่า

«فَإِنَّ مِنْ وَرَائِكُمْ أَيَّامَ الصَّبْرِ، الصَّبْرُ فِيهِ مِثْلُ قَبْضٍ عَلَى الْجَمْرِ،  لِلْعَامِلِ فِيهِمْ مِثْلُ أَجْرِ خَمْسِينَ رَجُلًا يَعْمَلُونَ مِثْلَ عَمَلِهِ»، وَزَادَنِي غَيْرُهُ قَالَ : يَا رَسُولَ اللَّهِ أَجْرُ خَمْسِينَ مِنْهُمْ؟ قَالَ : «أَجْرُ خَمْسِينَ مِنْكُمْ». [أبو داود برقم 4341]

ความว่า “ต่อไปหลังจากพวกท่าน จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ความอดทนในเวลานั้นเหมืนดังการกำถ่านไฟไว้ในมือ คนที่ทำดีในเวลานั้นผลบุญเทียบเท่ากับ(ผลบุญ)คนห้าสิบคนที่ทำเช่นเดียวกับเขา” และมีคนถามเพิ่มเติมว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ เป็นผลบุญห้าสิบคนในหมู่พวกเขาใช่ไหม? ท่านนบีตอบว่า “ห้าสิบคนในหมู่พวกท่าน” (สุนัน อบีดาวูด 4/123  หมายเลข 4341)

 

และสิ่งที่ถือเป็นการอดทนในการทำฏออะฮฺเช่นกัน คือ การอดทนในการทำสิ่งที่เป็นวาญิบต่างๆ การปฏิบัติสิ่งที่เป็นสุนัตต่างๆ การเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ การศึกษาหาความรู้และอื่นๆ

 

            ประเภทที่สอง การอดทนต่อการไม่ละเมิดคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ เพราะการอดทนต่อความชอบในความสุขต่างๆ ของดุนยา และตัณหาอารมณ์ที่ต้องห้ามต่างๆ นั้นต้องอาศัยความอดทน  อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَجَزَىٰهُم بِمَا صَبَرُواْ جَنَّةٗ وَحَرِيرٗا ١٢ ﴾ [الإنسان: ١٢] 

ความว่า “และพระองค์จะทรงตอบแทนแก่พวกเขาด้วยสวนสวรรค์ และอาภรณ์ไหมแพรเนื่องเพราะพวกเขาอดทน”(อัล-อินซาน 12)

นักอรรถาธิบายอัลกุรอานบางส่วน กล่าวว่า พวกเขาได้อดทนต่อการไม่ทำสิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ(ความผิดบาป)ต่ออัลลอฮฺ  (ตัฟซีร อิบนุ กะษีรฺ 4/455)

 

            ประเภทที่สาม อดทนต่อการกำหนดชะตากรรมของอัลลอฮฺ เช่นการจากไปของคนรัก ทรัพย์สินขาดทุน สุขภาพทรุดโทรมอ่อนแอ และการทดสอบด้วยความทุกข์ต่างๆ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَلَنَبۡلُوَنَّكُم بِشَيۡءٖ مِّنَ ٱلۡخَوۡفِ وَٱلۡجُوعِ وَنَقۡصٖ مِّنَ ٱلۡأَمۡوَٰلِ وَٱلۡأَنفُسِ وَٱلثَّمَرَٰتِۗ وَبَشِّرِ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٥٥ ٱلَّذِينَ إِذَآ أَصَٰبَتۡهُم مُّصِيبَةٞ قَالُوٓاْ إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّآ إِلَيۡهِ رَٰجِعُونَ ١٥٦ أُوْلَٰٓئِكَ عَلَيۡهِمۡ صَلَوَٰتٞ مِّن رَّبِّهِمۡ وَرَحۡمَةٞۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُهۡتَدُونَ ١٥٧ ﴾ [البقرة: ١٥٥-١٥٧]   

ความว่า “และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิวและด้วยความสูญเสีย(อย่างใดอย่างหนึ่ง)จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ร้ายมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์ ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชย และการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขาและชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 155-157)

 

            รายงานจากท่าน สะอัด บิน อบี วักกอศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านได้ถามท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า ใครคือผู้ที่ถูกทดสอบมากที่สุด? ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

«الْأَنْبِيَاءُ ثُمَّ الْأَمْثَلُ فَالْأَمْثَلُ، فَيُبْتَلَى الرَّجُلُ عَلَى حَسَبِ دِينِهِ، فَإِنْ كَانَ دِينُهُ صُلْبًا اشْتَدَّ بَلَاؤُهُ، وَإِنْ كَانَ فِي دِينِهِ رِقَّةٌ ابْتُلِيَ عَلَى حَسَبِ دِينِهِ، فَمَا يَبْرَحُ الْبَلَاءُ بِالْعَبْدِ حَتَّى يَتْرُكَهُ يَمْشِي عَلَى الْأَرْضِ مَا عَلَيْهِ خَطِيئَةٌ» [الترمذي برقم 2398، وقال الترمذي : حديث حسن صحيح]

ความว่า “คือบรรดานบีต่างๆ หลังจากนั้นก็คือผู้ที่ใกล้เคียงที่สุดกับบรรดานบี บุคคลหนึ่งจะถูกทดสอบตามระดับการยึดมั่นในศาสนาของเขา หากเขามีความเข้มแข้งในศาสนาเขาก็จะถูกทดสอบหนัก และหากการยึดมั่นของเขาอ่อนเขาก็จะถูกทดสอบตามระดับการยึดมั่นในศาสนาของเขา บะลาอ์การทดสอบจะประสบแก่มนุษย์จนทำให้เขาเดินอยู่บนหน้าแผ่นดินโดยไม่มีบาปกรรมใดเหลืออยู่อีก” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 4/602 หมายเลข 2398   อิมาม อัต-ตัรมิซีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษที่หะสันเศาะฮีหฺ)

 

นักกวีกล่าวว่า  “ความอดทนมีรสขมสมดังชื่อ  สุดท้ายคือรสหวานปานน้ำผึ้ง”

มุสลิมหากถูกบะลาอ์เขาจะต้องอดทนในครั้งแรกเลยที่ได้ยินบะลาอ์ และให้หวนกลับสู่อัลลอฮฺ และระลึกถึงการทดสอบด้วยการเสียชีวิตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِذَا أَصَابَ أَحَدَكُمْ مُصِيبَةٌ ، فَلْيَذْكُرْ مُصَابَهُ بِي ، فَإِنَّهَا مِنْ أَعْظَمِ الْمَصَائِبِ» [سنن الدارمي 1/53]

ความว่า “เมื่อคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านประสบกับการทดสอบ เขาก็จงระลึกถึงการทดสอบของเขาด้วยการต้องสูญเสียฉัน เพราะมันเป็นหนึ่งในการทดสอบที่ใหญ่ยิ่ง” (สุนัน อัด-ดาริมีย์ 1/53)

 

รายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

مَرَّ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِامْرَأَةٍ تَبْكِي عِنْدَ قَبْرٍ، فَقَالَ : «اتَّقِي اللَّهَ وَاصْبِرِي»، قَالَتْ: إِلَيْكَ عَنِّي، فَإِنَّكَ لَمْ تُصَبْ بِمُصِيبَتِي. وَلَمْ تَعْرِفْهُ، فَقِيلَ لَهَا : إِنَّهُ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَأَتَتْ بَابَ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَلَمْ تَجِدْ عِنْدَهُ بَوَّابِينَ، فَقَالَتْ : لَمْ أَعْرِفْكَ، فَقَالَ : «إِنَّمَا الصَّبْرُ عِنْدَ الصَّدْمَةِ الْأُولَى» [البخاري برقم 395، ومسلم برقم 926]

ความว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เดินผ่านหญิงนางหนึ่งที่กำลังร้องไห้หน้าหลุมฝังศพ ท่านนบีก็กล่าวว่า “เธอจงยำเกรงอัลลอฮฺและอดทน” นางกล่าวว่า จงไปไกลๆ จากฉัน ท่านไม่ได้ประสบเหมือนที่ฉันประสบนี่ (นางไม่ได้รู้จักนบี) แล้วมีคนบอกเธอว่านั้นคือนบีมุหัมมัด เธอจึงได้ไปหาท่านนบีและไม่ได้พบว่ามีคนเฝ้าประตูอยู่ เธอกล่าวกับท่านนบีว่า ฉันพูดอย่างนั้นเพราะฉันไม่รู้จักท่าน ท่านนบีก็กล่าวว่า “แท้จริงความอดทนนั้นก็คือเมื่อแรกเริ่มเผชิญ(การทดสอบ)” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/395 หมายเลข 1283 เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/397 หมายเลข  926)

           

รายงานจากท่านหญิงอุมมุ สะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่านางได้ยินท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَا مِنْ مُسْلِمٍ تُصِيبُهُ مُصِيبَةٌ فَيَقُولُ مَا أَمَرَهُ اللَّهُ : إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ، اللَّهُمَّ أْجُرْنِى فِى مُصِيبَتِي وَأَخْلِفْ لِى خَيْرًا مِنْهَا. إِلاَّ أَخْلَفَ اللَّهُ لَهُ خَيْرًا مِنْهَا»، قَالَتْ : فَلَمَّا مَاتَ أَبُو سَلَمَةَ قُلْتُ : أَيُّ الْمُسْلِمِينَ خَيْرٌ مِنْ أَبِى سَلَمَةَ أَوَّلُ بَيْتٍ هَاجَرَ إِلَى رَسُولِ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم-. ثُمَّ إِنِّى قُلْتُهَا فَأَخْلَفَ اللَّهُ لِى رَسُولَ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم. [مسلم برقم 918]

ความว่า “ไม่มีมุสลิมคนใดที่ประสบกับการทดสอบ(ภัย/บะลาอ์)แล้วกล่าวคำกล่าวที่อัลลอฮฺสั่งคือ อินนาลิลลาฮฺ วะ อินนา อิลัยฮิ รอญิอูน, อัลลอฮุมมะอ์ญุรฺนี ฟี มุศีบะตี วะ อัคลิฟ ลี ค็อยร็อน มินฮา” (คำแปล เราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และเราจะกลับไปสู่อัลลอฮฺ ขออัลลอฮฺจงให้ผลบุญแก่ฉันเนื่องจากบททดสอบนี้ของฉัน และขอจงทดแทนให้ฉันด้วยสิ่งที่ดีกว่า) อัลลอฮฺจะทำการทดแทนสิ่งที่ดีกว่าให้กับเขา”  ท่านหญิงอุมมุ สะละมะฮฺ กล่าวว่า เมื่ออบู สะละมะฮฺ(สามีเก่าของนาง)เสียชีวิต ฉันกล่าวว่าจะมีมุสลิมคนใดที่ดีกว่าอบู สะละมะห์อีกเล่า?(อบู สะละมะห์)เป็นบ้านแรกที่อพยพไปหาท่านเราะสูลที่มะดีนะฮฺ(ซึ่งถือเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่) แล้วฉันก็กล่าวคำดังกล่าว และแล้วอัลลอฮฺก็แทนอบู สะละมะฮฺ ด้วยท่านนบีให้กับฉัน (นางได้แต่งกับท่านนบีหลังจากอบู สะละมะฮฺเสียชีวิต)” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/632  หมายเลข  918)

            แต่ไม่มีการบัญญัติให้ขอความอดทนจากอัลลอฮฺก่อนที่จะมีการเกิดบะลาอ์ หากแต่ให้ขอความปลอดภัยและรอดพ้นจากภัยแทน

            รายงานจากท่านมุอาซฺ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ยินชายคนหนึ่งกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮฺฉันขอจากพระองค์โปรดประทานความอดทนให้ฉันด้วย” ท่านนบีก็กล่าวว่า

«سَأَلْتَ اللهَ البَلَاءَ فَسَلْهُ العَافِيَةَ» [الترمذي برقم 3527، وقال أبو عيس : هذا حديث حسن]

ความว่า “ท่านได้ขอบะลาอ์จากอัลลอฮฺแล้ว ท่านจงขอการมีสุภาพดีพ้นภัยแทนเถิด” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 5/541 หมายเลข 3527 อิมาม อัต-ติรมิซีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษที่หะซัน)

...........................................................................................

 

แปลโดย :อิสมาน จารง

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/388540

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).