Loading

 

ระวังลิ้นเถิด

ระวังลิ้นกันเถิด

 

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...

            พี่น้องที่รักทุกท่าน ความโปรดปรานอย่างหนึ่งที่มนุษย์เราได้รับจากอัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลาอย่างล้นเหลือ นั่นก็คือ “ลิ้น” ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัล-บะลัดว่า

﴿ أَلَمۡ نَجۡعَل لَّهُۥ عَيۡنَيۡنِ ٨ وَلِسَانٗا وَشَفَتَيۡنِ ٩ ﴾  [البلد : 8-9]

ความว่า “เรามิได้ทำให้เขามีดวงตาทั้งสองดอกหรือ และลิ้นและริมฝีปากทั้งสองด้วย” (อัล-บะลัด : 8-9)

           

            หากใครมิได้ใช้ลิ้นไปในหนทางแห่งการภักดีต่ออัลลอฮฺ แน่นอนว่าจะเป็นความหายนะอย่างร้ายแรงต่อเจ้าของ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ يَوۡمَ تَشۡهَدُ عَلَيۡهِمۡ أَلۡسِنَتُهُمۡ وَأَيۡدِيهِمۡ وَأَرۡجُلُهُم بِمَا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ٢٤ ﴾  [النور : 24]

ความว่า “วันที่ลิ้น มือ และเท้าของพวกเขาจะเป็นสักขีพยานต่อพวกเขา ตามที่พวกเขาได้กระทำไว้” (อัล-นูร : 24)

            และยังมีหลักฐานอีกมากมายที่ส่งเสริมให้ระวังรักษาลิ้น ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ مَّا يَلۡفِظُ مِن قَوۡلٍ إِلَّا لَدَيۡهِ رَقِيبٌ عَتِيدٞ ١٨  ﴾   [ق : 18]

ความว่า “ไม่มีคำพูดใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่จะมีมะลัก(เทวฑูต)ผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อมที่จะบันทึก” (กอฟ : 18)

และพระองค์ยังตรัสอีกว่า

﴿ وَلَا تَقُولُواْ لِمَا تَصِفُ أَلۡسِنَتُكُمُ ٱلۡكَذِبَ هَٰذَا حَلَٰلٞ وَهَٰذَا حَرَامٞ لِّتَفۡتَرُواْ عَلَى ٱللَّهِ ٱلۡكَذِبَۚ إِنَّ ٱلَّذِينَ يَفۡتَرُونَ عَلَى ٱللَّهِ ٱلۡكَذِبَ لَا يُفۡلِحُونَ ١١٦ ﴾  [النحل : 116]

ความว่า “และพวกเจ้าอย่าได้กล่าวเท็จตามที่ลิ้นของพวกเจ้าต้องการ ว่าสิ่งนี้หะลาลและสิ่งนี้หะรอม เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ แท้จริงบรรดาผู้กล่าวเท็จต่ออัลลฮฺจะไม่ประสบผลสำเร็จ” (อัล-นะหฺลฺ : 116)

สำหรับหะดีษมีด้วยกันหลายบท อาทิเช่น

หะดีษที่รายงานโดยมุอ๊าซฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า เขาได้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับการงานที่นำไปสู่สวรรค์และห่างไกลจากไฟนรก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้บอกเขาเกี่ยวกับเรื่องหลักๆ ของกิจการนี้ คืออิสลาม รวมทั้งละหมาดที่เป็นเสาหลัก และการญิฮาดที่ถือว่าเป็นจุดสุดยอดของมัน แล้วท่านจึงกล่าวถามมุอ๊าซฺว่า

«أَلَا أُخْبِرُكَ بِمَلَاكِ ذَلِكَ كُلِّهِ؟» قُلْتُ: بَلَى يَا نَبِيَّ اللَّهِ، فَأَخَذَ بِلِسَانِهِ، قَالَ: «كُفَّ عَلَيْكَ هَذَا»، فَقُلْتُ: يَا نَبِيَّ اللَّهِ وَإِنَّا لَمُؤَاخَذُونَ بِمَا نَتَكَلَّمُ بِهِ؟، فَقَالَ : «ثَكِلَتْكَ أُمُّكَ يَا مُعَاذُ، وَهَلْ يَكُبُّ النَّاسَ فِي النَّارِ عَلَى وُجُوهِهِمْ أَوْ عَلَى مَنَاخِرِهِمْ إِلَّا حَصَائِدُ أَلْسِنَتِهِمْ» [رواه الترمذي برقم 2616، وقال : هذا حديث حسن صحيح]

ความว่า “เอาไหมล่ะ หากฉันจะบอกเจ้าซึ่งสิ่งที่ครอบคลุมทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด?” ฉัน(มุอ๊าซฺ)ตอบว่า “เอาครับ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ” แล้วท่านก็จับลิ้นของท่าน และกล่าวว่า “ท่านจงระงับสิ่งนี้” ฉันจึงกล่าวว่า “โอ้นบีของอัลลอฮฺ พวกเราจะถูกสอบสวนในสิ่งที่เราได้พูดด้วยกระนั้นหรือ ?” ท่านตอบว่า “แม่ของท่านได้เสียท่านแล้ว โอ้ มุอ๊าซฺเอ๋ย (เป็นสำนวนพูดในภาษาอาหรับที่กล่าวออกมาเพื่อเป็นการเตือนหรือติงคู่สนทนา) แล้วที่มนุษย์ต้องถลำหน้าหรือจมูกเข้าไปในไฟนรกมิใช่เพราะผลพวงมาจากลิ้นดอกหรือ?”(บันทึกโดย อัต-ติรฺมิซียฺ  : 2616)

จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

«إِنَّ الْعَبْدَ لَيَتَكَلَّمُ بِالْكَلِمَةِ مَا يَتَبَيَّنُ مَا فِيهَا، يَهْوِي بِهَا فِي النَّارِ أَبْعَدَ مَا بَيْنَ الْمَشْرِقِ وَالْمَغْرِبِ» [رواه البخاري برقم 6477، ومسلم برقم 2988]

ความว่า  “บ่าวผู้หนึ่งอาจจะพูดจาด้วยคำพูด โดยที่เขาไม่ทราบว่าอัลลอฮฺทรงกริ้วหรือไม่ แต่แล้วมันกลับเป็นเหตุทำให้เขาตกไปในหุบเหวแห่งไฟนรก ที่มีความลึกเฉกเช่นความห่างของทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 6477 และมุสลิม : 2988)

จากสะฮ์ลฺ อิบนุ สะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ يَضْمَنْ لِي مَا بَيْنَ لَحْيَيْهِ وَمَا بَيْنَ رِجْلَيْهِ، أَضْمَنْ لَهُ الْجَنَّةَ» [رواه البخاري برقم 6474]

ความว่า  “ผู้ใดที่ประกันตนเองได้ว่าจะรักษาลิ้นและอวัยวะเพศของเขาจากการละเมิดได้ แน่นอนฉันจะรับประกันสวรรค์ให้แก่เขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 6474)

            จากอุกบะฮฺ อิบนุ อามิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า

قُلْتُ : يَا رَسُولَ اللَّهِ مَا النَّجَاةُ؟، قَالَ: «أَمْسِكْ عَلَيْكَ لِسَانَكَ، وَلْيَسَعْكَ بَيْتُكَ، وَابْكِ عَلَى خَطِيئَتِكَ» [رواه الترمذي برقم 2406]

ความว่า  ฉันได้ถามท่านเราะสูลว่าสิ่งใดที่จะทำให้รอดพ้นจากไฟนรก ท่านตอบว่า “จงจับลิ้นของท่านให้ดี(ระมัดระวังคำพูด หยุดพูดในสิ่งที่ไม่ดี) และให้บ้านของท่านเป็นที่ปลอดภัยสำหรับท่าน และจงร้องไห้ต่อความผิดของท่าน” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ  : 2406)

จากสุฟยาน อัษ-ษะเกาะฟีย์ เล่าว่า เขาได้พูดกับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในวันหนึ่งว่า

قُلْتُ : يَا رَسُولَ اللَّهِ حَدِّثْنِي بِأَمْرٍ أَعْتَصِمُ بِهِ، قَالَ : «قُلْ رَبِّيَ اللَّهُ ثُمَّ اسْتَقِمْ»، قُلْتُ : يَا رَسُولَ اللَّهِ مَا أَخْوَفُ مَا تَخَافُ عَلَيَّ؟، فَأَخَذَ بِلِسَانِ نَفْسِهِ ثُمَّ قَالَ : «هَذَا» [رواه الترمذي برقم 2410]

ความว่า ท่านกรุณาสอนฉันสักเรื่องหนึ่งเพื่อที่ฉันจะได้ถือปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ท่านเราะสูลจึงตอบว่า  “เจ้าจงกล่าวว่าพระเจ้าของฉันคืออัลลอฮฺ แล้วจงยืนหยัดอย่างมั่นคงในศาสนา” ต่อมาฉันถามท่านอีกว่า สิ่งใดที่ท่านคิดว่าน่ากลัวที่สุดสำหรับฉัน? ท่านได้ชี้ไปที่ลิ้นของท่านแล้วบอกว่า “สิ่งนี้แหล่ะ” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซียฺ  : 2410)

จากอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า “ฉันขอเตือนท่านทั้งหลายว่าอย่าได้พูดมากอย่างพร่ำเพรื่อ ให้พูดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น” (หนังสืออัศ-ศ็อมตฺ) ของอิบนุ อะบิดดุนยา หน้า 241 )

มีรายงานว่ามุฮัมหมัด อิบนุ วาสิอฺ พูดกับมาลิก อิบนุ ดีนารฺ ว่า “โอ้ อบู ยะหฺยา  การรักษาลิ้นเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้คนมากทีเดียว และยากยิ่งมากกว่าการรักษาทรัพย์สินเสียอีก” (อิห์ยาอ์ อุลูมิดดีน เล่ม 3  หน้า 120)

            อัล-เอาซาอีย์กล่าวว่า “ ท่านเคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดุลอะซีซ ได้ส่งสาส์นมาให้แก่พวกเรา ซึ่งไม่มีใครท่องจำได้นอกจากฉันกับมักหูลเท่านั้น จดหมายดังกล่าวมีใจความว่า ใครก็แล้วแต่ที่เขานึกถึงความตาย เขาจะพอใจกับสิ่งน้อยนิดที่เขาครอบครองอยู่ในโลกนี้ และใครก็ตามที่เขาเอาคำพูดของเขามาเทียบชั่งกับการกระทำของตัวเอง เขาก็จะลดการพูดในสิ่งที่ไร้สาระ” (อิห์ยาอ์ อุลูมิดดีน เล่ม 3  หน้า 112)

อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า "ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าไม่มีสิ่งใดที่ควรค่าแก่การกักขัง(ขังลืม)มากไปกว่าลิ้น” (อิห์ยาอ์ อุลูมิดดีน เล่ม 3  หน้า 200)

            อิหม่าม อัน-นะวาวีย์ กล่าวว่า “พึงรู้เถิดว่า...เป็นการสมควรอย่างยิ่งแก่มุกัลลัฟ(ผู้ที่บรรลุนิติภาวะ)ทุกคนจะต้องรักษาลิ้นของเขาจากคำพูดที่ไร้สาระ แต่ต้องพูดในสิ่งที่เกิดประโยชน์ หากเห็นว่าประโยชน์กับโทษเท่ากันก็ให้นิ่งเงียบจะดีกว่า เพราะมันอาจจะชักนำไปสู่คำพูดที่หะรอมหรือมักรูฮฺได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น และยากที่จะหยุดยั้งไว้ได้” (ชัรหฺ เศาะฮีหฺมุสลิม เล่ม 2  หน้า 19)

            การเคลื่อนไหวของลิ้นนับได้ว่าชั่วช้าที่สุดในบรรดาการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย และเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดของคนเรา

            อิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า “ช่างน่าฉงนเหลือเกินที่ผู้คนต่างพยายามที่จะปกปักษ์ตัวเองจากการกินทรัพย์สินที่หะรอม การอธรรม การผิดประเวณี การลักขโมย การดื่มเหล้า และการมองสิ่งที่หะรอม เป็นต้น แต่เป็นเรื่องยากเอามากๆ ที่เขาจะรักษาลิ้นของเขาได้ คนบางคนเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นว่าเป็นผู้ดีมีศาสนา แต่เขากลับพูดในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกริ้วโดยไม่แยแส อันเป็นเหตุทำให้ตกนรกได้ด้วยคำพูดเพียงคำเดียว ในบางครั้งท่านเจอคนที่ดูเลื่อมใสในศาสนา ไม่ยุ่งเรื่องชั่วช้าลามก แต่วาจาของเขาชอบถากถางและเชือดเฉือนเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้อื่นทั้งที่ยังมีวิตอยู่และที่ตายไปแล้ว โดยที่เขาไม่แยแสว่าพูดอะไรออกไป” (อัล-ญะวาบ อัล-กาฟี ลิมัน สะอะละ อัน อัด-ดะวาอ์ อัช-ชาฟี  หน้า 140)

            หากท่านต้องการทราบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ขอให้ทบทวนหะดีษที่รายงานโดยญุนดุบ อิบนุ อับดิลลาฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮู เล่าว่า

أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَدَّثَ أَنَّ رَجُلًا قَالَ : «وَاللَّهِ لَا يَغْفِرُ اللَّهُ لِفُلَانٍ. وَإِنَّ اللَّهَ تَعَالَى قَالَ : مَنْ ذَا الَّذِي يَتَأَلَّى عَلَيَّ أَنْ لَا أَغْفِرَ لِفُلَانٍ، فَإِنِّي قَدْ غَفَرْتُ لِفُلَانٍ وَأَحْبَطْتُ عَمَلَكَ» [رواه مسلم برقم 2621]

ความว่า  ท่านเราะสูลได้กล่าวถึงชายผู้หนึ่งที่เขาพูดว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าอัลลอฮฺจะไม่ให้อภัยแก่คนนั้นคนนี้ อัลลอฮฺจึงกล่าวว่า ใครนะที่บังอาจพูดว่าฉันจะไม่ให้อภัยแก่คนนั้นคนนี้ อันแท้จริงฉันได้ให้อภัยแก่เขาแล้ว และได้ทำให้การงานของเจ้าเสียหายไม่มีภาคผลใดๆ ทั้งสิ้น” (บันทึกโดยมุสลิม  : 2621)

            อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “เพราะเขาได้พูดคำๆ หนึ่งที่ทำลายดุนยาและอาคิเราะฮฺของเขา และชายผู้หนึ่งได้ใส่ร้ายผู้อื่น เพื่อนของเขาจึงถามเขาว่า คุณได้เคยออกรบกับชาวโรมันแล้วหรือเปล่า? เขาตอบว่า ไม่เคยครับ เขาจึงกล่าวกับเพื่อนว่า แปลกน่ะที่ชาวนะศอรอ(คริสเตียน)รอดพ้นจากเงื้อมมือคุณ แต่พี่น้องของคุณกลับไม่รอดพ้นจากปลายลิ้นของคุณ”

            อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า “ความผิด( บาป )ถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นเกิดจากลิ้น (หรือเก้าส่วนสิบ)”

นักกวีผู้หนึ่งกล่าวว่า

            ลิ้นของเจ้าพึงรักษาโอ้มนุษย์                    

อย่าปล่อยให้มันฉกเจ้า เพราะแท้จริงมันอสรพิษ

            กี่มากน้อยในกุโบร์ที่กลายเป็นเหยื่อของลิ้นตัวเอง

แม้แต่เหล่าผู้กล้าก็ไม่อาจหาญจะเผชิญมัน

 

อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า “ภัยอันตรายจากปลายลิ้นมีสองประการใหญ่ๆ หากเขารอดพ้นจากประการหนึ่งประการใดยากที่เขาจะรอดพ้นจากอีกประการ นั่นคือ 1) ไม่กล้าพูดความจริง และ 2) กล้าที่จะพูดความเท็จและอุปโลกน์ความชั่ว ความเลวร้ายของทั้งสองอาจเลื่อมล้ำกันตามสภาพและเวลา ดังนั้น ผู้ใดที่ไม่กล้าพูดความจริงถือได้ว่าเป็นชัยฏอนใบ้ ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ชอบโต้เถียง ชอบต่อรอง หากเขาไม่กลัวว่าตัวเองจะเจอกับจุดจบ ตัวอย่างก็คือผู้ที่สามารถจะยับยั้งความชั่วต่อหน้าเขาได้ แต่เขากลับไม่ทำ

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرًا فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ، وَذَلِكَ أَضْعَفُ الْإِيمَانِ» [رواه مسلم برقم 49]

ความว่า  “ผู้ใดที่พบเห็นความชั่วก็จงยับยั้งด้วยอำนาจที่เขามี หากไม่มีอำนาจก็ให้ยับยั้งด้วยวาจา แต่หากไม่สามารถทำได้อีกก็ให้นิ่งเงียบเถิด และการนิ่งเงียบถือว่าการมีอีหม่านที่อ่อนที่สุดแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม  : 49)

 

สำหรับผู้ที่กล้าจะพูดความเท็จ และอุปโลกน์ความชั่ว เขาคือมารร้ายพูดเก่งที่ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ มีผู้คนจำนวนมากที่งมงายโดยการโน้มน้าวหรือการนิ่งเงียบของเขา

            แต่ผู้ที่อยู่ระหว่างเส้นทางทั้งสองนี้เป็นผู้ที่เดินบนเส้นทางอันเที่ยงตรง เขายับยั้งที่จะพูดความเท็จ หรือแม้แต่สิ่งที่ไร้สาระ และกล้าพูดความจริงที่จะเกิดประโยชน์แก่เขาในโลกอาคิเราะฮฺ บางครั้งเราเห็นว่าคนๆ หนึ่งทำความดีมากมายดั่งภูผา แต่เขากลับทำลายมันเพียงด้วยปลายลิ้นที่ไร้กระดูก และผู้หนึ่งทำความชั่วอย่างมากมาย แต่เขาได้ทำลายมันด้วยกับการกล่าวซิกรุลลอฮฺ – จบการอ้าง (อัล-ญะวาบ อัล-กาฟี ลิมัน สะอะละ อัน อัด-ดะวาอ์ อัช-ชาฟี หน้า 142)

ขอความช่วยเหลือและขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺผู้ทรงอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเถิด อามีน

 

 

...........................................................................................

 

แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน

ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/392386

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).