Loading

 

อันตรายจากการเย้นหยันในเรื่องศาสนา

อันตรายจากการเย้นหยันในเรื่องศาสนา

       มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิของอัลลอฮฺ ขอการประทานพรและความสันติมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ข้าขอปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

          แท้จริง บาปใหญ่อันหนึ่งที่อาจจะทำให้เจ้าของนั้นหลุดพ้นจากศาสนา และตกนรกอย่างถาวรได้นั้น คือการเย้ยหยันกับอัลลอฮฺ ศาสนทูตของพระองค์ คัมภีร์ของพระองค์ หรือบรรดาผู้ศรัทธา และเนื่องด้วยประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีรายละเอียดมากมาย จึงเห็นควรนำเสนอสั้นๆ ในประเด็นสำคัญๆ ต่อไปนี้เท่านั้น

1-     

นิยามความหมายของการเย้ยหยันและตัวอย่าง

2-     

หุก่มหรือข้อตัดสินของการเย้ยหยัน หลักฐานที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากศาสนา และทรรศนะของบรรดานักปราชญ์เกี่ยวกับเรื่องนี้

3-     

หุกมการเตาบะฮฺ/กลับตัวของผู้ที่เย้ยหยัน ว่าเป็นที่ตอบรับหรือไม่?

4-     

รูปแบบหรือลักษณะของการเย้ยหยันในปัจจุบัน

 

นิยามความหมายของการเย้ยหยัน

 ในทางภาษานั้น อัล-อิสติหซาอ์ (การเย้ยหยัน) นั้นเป็น อาการนามของกริยา (استهزأ) อิสตะห์ซะอ่า (يستهزئ) ยัสตะห์ซิอุ มาจากรากศัพท์ (هـ ـ ز ـ أ) ฮ่า-ซ่า-อ่า  มีความหมายแสดงถึงการเยาะเย้ย การหยอกล้อ ล้อเล่น (อัล-มะกอยีส ของ อิบนุ ฟาริส 6/52 และ อัล-มุฟเราะดาต ของ อัร-รอฆิบ หน้า 540)

          นักวิชาการบางส่วนได้กล่าวว่า การเย้ยหยันนั้นมีสองประเภท

1- การเย้ยหยันที่ชัดเจน  อย่างเช่นตัวอย่างที่อยู่ในอายะฮฺที่ถูกประทานในเรื่องนี้ นั้นคือ คำกล่าวที่ว่า “เราไม่เห็นใครเหมือนกับบรรดานักอ่านอัลกุรอ่านของพวกเราเหล่านั้นเลย พวกเขาท้องกินจุ” หรือคำกล่าวในลักษณะนี้ หรือตัวอย่างเช่นคำกล่าวของบางคนที่ว่า ศาสนาของพวกท่านเป็นศาสนาที่ห้า(มัซฮับที่ห้า) หรือ ศาสนาของท่านนั้นเป็นศาสนาที่เงอะงะโง่เง่า หรือกล่าวเย้ยหยันคนที่สั่งใช้ในความดีห้ามปรามในความชั่วว่า “พวกเคร่งศาสนามาแล้ว” หรือคำกล่าวอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน อาจจะหนักหนากว่าคำกล่าวที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อายะฮฺห้ามถูกประทานลงมาก็เป็นได้ (มัจญ์มูอะฮฺ อัต-เตาฮีด หน้า 409)

ท่านเชค ศอลิหฺ อัล-เฟาซาน หะฟิเซาะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า เช่นคำกล่าวของคนบางคนที่ว่า ศาสนาอิสลามไม่เหมาะกับศตวรรษที่ยี่สิบ แต่เหมาะกับยุคกลาง หรืออิสลามล้าหลัง ตกยุค เป็นศาสนาที่แข็งกร้าวรุนแรงในการลงโทษลงอาญา ไม่ยุติธรรมต่อผู้หญิงเพราะอนุญาตให้หย่าได้ หรือมีภรรยาได้หลายคน หรือกล่าวว่า กฎหมายที่มนุษย์ร่างขึ้นนั้นดีกว่า หรือกล่าวแก่คนที่เชิญชวนสู่เตาฮีดปฏิเสธการบูชาสุสานว่าเป็นพวกตกขอบออกนอกลู่นอกทาง ต้องการทำให้มุสลิมเกิดความแตกแยก พวกวะฮาบีย์ มัซฮับที่ห้า หรือศาสนาไม่ได้อยู่ที่เคราเป็นการเย้ยหยันคนที่ไว้เครา หรือคำกล่าวใกล้เคียงกับคำกล่าวต่างๆ เหล่านี้ที่มีเป้าหมายเย้ยหยันศาสนา เย้ยหยันมุสลิม หรือเย้ยหยันอากีดะฮฺความเชื่อที่ถูกต้อง (อัต-เตาฮีด ของเชคศอลิหฺ อัล-เฟาซาน  47)

          2- การเย้ยหยันที่ไม่ชัดเจน เป็นเนื้อหาที่กว้างมาก เช่นการหลิ่วตา แลบลิ้น ยื่นริมฝีปาก หรือส่งสัญญาณตำหนิด้วยมือเมื่อมีการอ่านอัลกุรอานหรือซุนนะฮฺของท่านนบี หรือเมื่อมีการสั่งใช้ให้ทำความดีหรือห้ามปรามการทำความชั่ว  (มัจญ์มูอะฮฺ อัต-เตาฮีด  409)

            ส่วนหุก่มการเย้ยหยันนั้น คือ กุฟรฺ เป็นหนึ่งในสิบอย่างสิ่งที่ทำให้ตกจากศาสนาที่นักวิชาการได้กล่าวไว้ มันเป็นคุณลักษณะเด่นของพวกมุนาฟิกผู้กลับกลอก โดยมีหลักฐานอันมากมาย อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿يَحۡلِفُونَ بِٱللَّهِ مَا قَالُواْ وَلَقَدۡ قَالُواْ كَلِمَةَ ٱلۡكُفۡرِ وَكَفَرُواْ بَعۡدَ إِسۡلَٰمِهِمۡ وَهَمُّواْ بِمَا لَمۡ يَنَالُواْۚ ﴾ [التوبة: ٧٤] 

ความว่า “พวกเขาสาบานต่ออัลลอฮฺว่า พวกเขามิได้พูด(คำเย้ยหยันเหล่านั้น) และแท้จริงนั้น พวกเขาได้พูดซึ่งถ้อยคำแห่งการปฏิเสธศรัทธา และพวกเขาได้ปฏิเสธศรัทธาแล้วหลังจากการเป็นมุสลิมของพวกเขา และพวกเขามุ่งกระทำในสิ่งที่พวกเขามิได้รับผล” (อัต-เตาบะฮฺ  74)

         

และอัลลอฮฺตรัสว่า

﴿إِنَّ ٱلَّذِينَ أَجۡرَمُواْ كَانُواْ مِنَ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ يَضۡحَكُونَ ٢٩ وَإِذَا مَرُّواْ بِهِمۡ يَتَغَامَزُونَ ٣٠ وَإِذَا ٱنقَلَبُوٓاْ إِلَىٰٓ أَهۡلِهِمُ ٱنقَلَبُواْ فَكِهِينَ ٣١ وَإِذَا رَأَوۡهُمۡ قَالُوٓاْ إِنَّ هَٰٓؤُلَآءِ لَضَآلُّونَ ٣٢ ﴾ [المطففين: ٢٩-٣٢] 

ความว่า  ”แท้จริง บรรดาผู้กระทำผิดนั้นเคยหัวเราะเยาะบรรดาผู้ศรัทธา และเมื่อบรรดาผู้ศรัทธาเดินผ่านพวกเขาไปพวกเขาจะหลิ่วตาเย้ยหยัน และเมื่อพวกเขากลับไปยังพวกพ้องของพวกเขา พวกเขาก็กลับไปอย่างตลกคะนองและเมื่อพวกเขาเห็นบรรดาผู้ศรัทธาพวกเขาก็กล่าวว่าแท้จริงชนเหล่านี้เป็นผู้หลงทางแน่นอน”  (อัล-มุฏ็อฟฟิฟีน 29-32)

 

และอัลลอฮฺตรัสว่า

﴿وَلَئِن سَأَلۡتَهُمۡ لَيَقُولُنَّ إِنَّمَا كُنَّا نَخُوضُ وَنَلۡعَبُۚ قُلۡ أَبِٱللَّهِ وَءَايَٰتِهِۦ وَرَسُولِهِۦ كُنتُمۡ تَسۡتَهۡزِءُونَ ٦٥﴾ [التوبة: ٦٥] 

ความว่า  “และถ้าหากเจ้าได้ถามพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นเพียงแต่พูดสนุกพูดเล่oเท่านั้น จงกล่าวเถิดมุหัมมัดว่า กับอัลลอฮฺและบรรดาโองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านเย้ยหยันกัน ?” (อัต-เตาบะฮฺ  65)

 

สาเหตุของการประทานอายะฮฺนี้ มีรายงานจากท่าน  อิบนุ อุมัรฺ, ท่านมุหัมมัด บิน กะอับ, ท่านซัยดฺ บิน อัสลัม และท่านเกาะตาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เป็นหะดีษของพวกท่านรวมกันว่า มีชายคนหนึ่งเข้าร่วมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสงครามตะบูก ชายคนนั้นกล่าวขึ้นว่า  เราไม่เคยเห็นใครเหมือนกับบรรดานักอ่านอัลกุรอานของพวกเรา ที่ชอบกินมากกว่าคนอื่น ลิ้นพูดโกหกมากกว่า และขี้ขลาดกว่าคนอื่นเมื่อพบกับศัตรู   ซึ่งเขาหมายถึงท่านนบีและเศาะหาบะฮฺของท่านที่เป็นนักอ่านอัลกุรอาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ปรากฏว่าท่านเอาฟฺ ได้ยินเรื่องนี้จึงได้ไปหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อบอกเรื่องนี้ให้ทราบ แต่เขาพบว่าอัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาบอกก่อนแล้ว แล้วชายคนนั้นก็มาหาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขณะที่ท่านได้ออกเดินทางและอยู่บนหลังอูฐ ชายคนนั้นกล่าวว่า โอ้ท่านเราะสูล แท้จริง เราเพียงแค่หยอกหล้อและพูดเล่น เราพูดแบบผู้เดินทางที่ต้องการฆ่าเวลาให้สั้นลงเท่านั้นเอง ท่านอิบนุ อุมัรฺ กล่าวว่า ฉันเห็นชายคนนั้นเกาะที่คออูฐของท่านนบีโดยที่เท้าทั้งสองข้างของเขาลากพลิกก้อนหินไป ขณะที่เขาก็กล่าวไปว่า แท้จริงเราเพียงหยอกล้อ และพูดเล่นเท่านั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวกับเขาว่า ด้วยอายะฮฺที่ว่า

﴿ أَبِٱللَّهِ وَءَايَٰتِهِۦ وَرَسُولِهِۦ كُنتُمۡ تَسۡتَهۡزِءُونَ ٦٥﴾ [التوبة: ٦٥] 

ความว่า “กับอัลลอฮฺ และบรรดาโองการของพระองค์ และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านเย้ยหยันกัน ?” (อัต-เตาบะฮฺ 65)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้หันไปดูเขา และไม่ได้กล่าวอะไรเพิ่มเติมเลย (ตัฟซีรฺ อิบนุ ญะรีรฺ 6/409) 

ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า การเย้ยหยันต่ออัลลอฮฺและบรรดาโองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์นั้นเป็นกุฟรฺ (ตกจากศาสนา) ทำให้ผู้เย้ยหยันนั้นออกจากศาสนาหลังจากที่เป็นผู้ศรัทธามาก่อน” (อัล-ฟะตาวา 7/273) 

            ท่านอิม่ามอันนะวาวีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวว่า  หากเขากล่าวขณะที่เขากำลังจับถ้วยเพื่อดื่มเหล้าหรือกำลังมุ่งสู่การทำซินา ด้วยคำว่า บิสมิลลาฮ์ (ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ) ด้วยเจตนาเย้ยหยันต่ออัลลอฮฺ แสดงเขานั้นตกจากศาสนาแล้ว” (เราเฎาะตุฏฏอลิบีน 10/67)

            ท่านเชคมุหัมมัด บิน อับดุลวะฮฺฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวในหนังสืออัต-เตาฮีดว่า เรื่องของผู้กล่าวเย้ยหยันกับสิ่งหนึ่งที่มีการกล่าวถึงอัลลอฮฺ คัมภีร์ของพระองค์ และศาสนทูตของพระองค์นั้น มีหลายประเด็น ประเด็นแรกนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้เย้ยหยันนั้นตกจากศาสนาเลย (อัต-เตาฮีดหน้า 85)

            ท่านเชคสุลัยมาน บิน อับดิลลาฮฺ บิน มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮฺฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ปวงปราชญ์มีมติเอกฉันท์ว่าผู้ที่ทำสิ่งดังกล่าวนั้นตกจากศาสนา ดังนั้น ผู้ใดที่เย้ยหยันกับอัลลอฮฺ ศาสนทูตของพระองค์ คัมภีร์ของพระองค์ หรือศาสนาของพระองค์ จะอยู่ในสภาพตกจากศาสนาแม้ผู้ที่เย้ยหยันจะไม่มีเจตนาเย้ยหยันอย่างแท้จริงก็ตามที (ตัยสีรฺ อัล-อะซีซ อัล-หะมีด หน้า 617)

            และมีผู้ถามเชค มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม เราะหมะฮุลลอฮฺ ว่า ผู้ที่เกลียดเคราและกล่าวว่าสกปรกเป็นมุรตัด(ตกจากศาสนา)หรือไม่? ท่านตอบว่า หากเขารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ชัดเจนจากท่านศาสนทูตแล้ว การเย้ยหยันกับสิ่งที่ท่านศาสนทูตนำมาสอนนั้นควรจะตัดสินว่าเป็นเช่นนั้น(ตกมุรตัด) (ดู ฟะตาวา เชค มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม เราะหิมะฮุลลอฮ์ 11/195)

และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่ทำให้ตกจากศาสนาของอัลลอฮฺนั้นคือสิ่งที่บรรดาลูกหลานของมุสลิมกล่าวด้วยคำกล่าวที่เป็นกุฟรฺทำให้ตกศาสนาโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

            รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّ الْعَبْدَ لَيَتَكَلَّمُ بِالْكَلِمَةِ مَا يَتَبَيَّنُ فِيهَا ، يَزِلُّ بِهَا فِي النَّارِ أَبْعَدَ مِمَّا بَيْنَ الْمَشْرِقِ» [البخاري برقم 6477، ومسلم برقم 2988]

 ความว่า “บ่าวคนหนึ่งจะพูดด้วยคำพูดหนึ่งโดยไม่หาข้อเท็จจริงในคำพูดนั้น(ไม่ได้ไตร่ตรองก่อนว่าคำพูดนั้นดีหรือชั่ว) มันทำให้เขาตกนรกที่ไกลยิ่งกว่าระยะระหว่างทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเสียอีก” (อัล-บุคอรีย์ 4/187หมายเลข  6477, มุสลิม 4/2290  หมายเลข  2988)

       ส่วนการเตาบะฮฺกลับตัวของผู้เย้ยหยันนั้น ท่านเชคอิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้ตอบในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า อัล-เกาลุลมุฟีด ฟี ชัรหฺ กิตาบ อัต-เตาฮีด ว่า “แท้จริง บรรดานักวิชาการได้เห็นแตกต่างกันในเรื่องผู้ที่ด่าทอ เหยียดหยาม อัลลอฮฺ เราะสูลหรือคัมภีร์ของพระองค์ ว่าการกลับตัวเตาบะฮฺของเขาจะถูกตอบรับหรือไม่ เป็นสองทรรศนะ คือ

ทรรศนะแรก มองว่าการกลับตัวเตาบะฮฺของเขาจะไม่ถูกตอบรับ ต้องประหารชีวิตในลักษณะที่เขาเป็นกาฟิรฺ และจะไม่ละหมาดศพให้เขา และไม่ดุอาอ์ขอความเมตตาให้กับเขา นี่คือทรรศนะที่มัชฮูรฺแพร่หลายในมัซฮับหัมบะลีย์

ทรรศนะที่สอง การกลับตัวเตาบะฮฺของเขาจะถูกตอบรับหากเรารู้ว่าเขานั้นจริงจังในการเตาบะฮฺและยอมรับความผิด และเขาได้ให้คุณลักษณะต่างๆ ที่คู่ควรแก่อัลลอฮฺ (ดู อัล-เกาลุลมุฟีด ฟี ชัรหฺ กิตาบ อัต-เตาฮีด 2/268)

ส่วนหนึ่งของรูปแบบการเย้ยหยันที่เราพบเห็นและได้ยินมาในทุกวันนี้ ซึ่งน่าสลดใจก็คือบทความที่ชั่วและภาพวาดที่ดูถูกเย้ยหยันต่างๆ ที่ถูกเขียนอยู่ในหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ โดยที่พวกเขาคิดไปว่ามันเป็นการสนุกสนานและผ่อนคลายในขณะที่มันทำให้ตกจากศาสนาและเป็นกาฟิรฺ

บางคนวาดรูปพ่อไก่และมีแม่ไก่สี่ตัวเดินตาม เป็นการเย้ยหยันการมีภรรยาหลายคน บางคนก็เขียนบทความโจมตีการใส่ฮิญาบว่าเป็นการล้าหลังและโบราณย้อนยุค และบางคนก็ถูกมารซัยฏอนหลอกลวงจนหลง เอาอัลกุรอานมาเป็นทำนองเพลงพร้อมเสียงดนตรี  เราขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ด้วย

 

พึงรู้ไว้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นวาญิบที่ต้องห้ามปรามและตักเตือนผู้ที่เย้ยหยันถึงความผิดและอันตรายของสิ่งที่เขาทำ หากเขาไม่รับฟัง เราก็ไม่สามารถอยู่ร่วมวงสนทนาเดียวกันกับเขาได้ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿وَقَدۡ نَزَّلَ عَلَيۡكُمۡ فِي ٱلۡكِتَٰبِ أَنۡ إِذَا سَمِعۡتُمۡ ءَايَٰتِ ٱللَّهِ يُكۡفَرُ بِهَا وَيُسۡتَهۡزَأُ بِهَا فَلَا تَقۡعُدُواْ مَعَهُمۡ حَتَّىٰ يَخُوضُواْ فِي حَدِيثٍ غَيۡرِهِۦٓ إِنَّكُمۡ إِذٗا مِّثۡلُهُمۡۗ إِنَّ ٱللَّهَ جَامِعُ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ وَٱلۡكَٰفِرِينَ فِي جَهَنَّمَ جَمِيعًا ١٤٠﴾ [النساء: ١٤٠] 

ความว่า “และแน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่พวกเจ้าแล้วในคัมภีร์นั้นว่า เมื่อพวกเจ้าได้ยินบรรดาโองการของอัลลอฮฺถูกปฏิเสธศรัทธาและถูกเย้ยหยัน(โดยพวกมุนาฟิก) ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่านั่งร่วมกับพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะพูดคุยกันในเรื่องอื่นจากนั้น แท้จริงพวกเจ้านั้น ถ้าหาก(ยังนั่งร่วมวงอยู่)เช่นนั้นแล้ว ก็ย่อมจะเหมือนพวกเขา แท้จริง อัลลอฮฺจะทรงรวบรวมบรรดามุนาฟิก และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไว้ในนรกญะฮันนัมทั้งหมด” (อัน-นิสาอ์ 140)

.................................

แปลโดย :อิสมาน จารง

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก http://IslamHouse.com/395660

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).