Loading

 

ห้ามโกนเครา

ห้ามโกนเครา

 

มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

การโกนเคราเป็นการฝ่าฝืนประการหนึ่งที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมปัจจุบันได้กระทำกันอย่างแพร่หลาย

มีบันทึกในเศาะฮีหฺมุสลิมจากท่านตะมีม อัดดารียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า

أنَّ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم قال: الدِّيْنُ النَّصِيْحَةُ، قُلْنَا: لِمَنْ؟ قَالَ: «للهِ وَلِكِتَابِهِ وَلِرَسُوْلِهِ وَلأَئِمَّةِ الْمُسْلِمِيْنَ وَعَـامَّتِهِمْ» [مسلم برقم 55]

ความว่า: “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่าศาสนาคือการตักเตือน พวกเราจึงกล่าวถามว่า: เพื่อใครหรือครับ? ท่านตอบว่า: เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อเราะสูลของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของมวลมุสลิม และเพื่อมุสลิมโดยทั่วไป" (มุสลิม หะดีษเลขที่ 55)

และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านญะรีรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า:

«بَايَعْتُ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، عَلَى السَّمْعِ وَالطَّاعَةِ، فَلَقَّنَنِي : «فِيمَا اسْتَطَعْتَ» وَالنُّصْحِ لِكُلِّ مُسْلِمٍ. [مسلم برقم 56]

ความว่า: "ฉันได้ให้สัตยาบันต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าจะเชื่อฟังและทำตามท่าน ซึ่งท่านได้บอกให้ฉันเพิ่มว่า: ในสิ่งที่ฉันมีความสามารถ และ (ได้ให้สัตยาบันอีกเช่นกันว่า) จะตักเตือนมุสลิมทุกคน" (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 56)

            และเพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของท่านนบีในหะดีษข้างต้น ในที่นี้เราจะขอกล่าวตักเตือนเกี่ยวกับการโกนเครา

เคราในที่นี้คือนามที่ใช้เรียกขนที่ขึ้นตามแก้ม ขากรรไกรและคาง ซึ่งมีตัวบทหลักฐานมากมายที่ได้กล่าวถึงการห้ามโกนหรือตัดส่วนหนึ่งส่วนใดของเครา ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้:

            ประการแรก การโกนเคราถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างมา โดยพระองค์ได้ตรัสเล่าถึงคำพูดของอิบลีสผู้ถูกสาปแช่งว่า:

﴿وَلَأٓمُرَنَّهُمۡ فَلَيُبَتِّكُنَّ ءَاذَانَ ٱلۡأَنۡعَٰمِ وَلَأٓمُرَنَّهُمۡ فَلَيُغَيِّرُنَّ خَلۡقَ ٱللَّهِۚ ﴾ [النساء : ١١٩] 

ความว่า: "และแน่นอนยิ่งข้าพระองค์จะใช้พวกเขา แล้วแน่นอนพวกเขาก็จะผ่าหูปศุสัตว์ และแน่นอนยิ่งข้าพระองค์จะใช้พวกเขา แล้วแน่นอนพวกเขาก็จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้าง" (อันนิสาอ์: 119)

            ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิม ที่จะไม่กระทำการใดๆ ที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างมา นอกเสียจากว่าจะเป็นส่วนที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ เช่น เส้นผมบนศีรษะ หนวด ขนรักแร้ เล็บ หรืออื่นจากนี้ที่มีบทบัญญัติอนุมัติให้กระทำการเปลี่ยนแปลง

            และถ้าหากว่าสตรีที่กันคิ้วหรือดัดฟันเพื่อความสวยงาม ยังถูกท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม สาปแช่ง ดังที่มีบันทึกรายงานจากท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮูอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«لَعَنَ اللَّهُ الْوَاشِمَاتِ، وَالْمُسْتَوْشِمَاتِ، وَالْمُتَنَمِّصَاتِ، وَالْمُتَفَلِّجَاتِ لِلْحُسْنِ، الْمُغَيِّرَاتِ خَلْقَ اللَّهِ» [البخاري برقم 5943، ومسلم برقم 2125]

ความว่า: “อัลลอฮฺทรงสาปแช่งบรรดาหญิงที่ทำการสัก บรรดาหญิงที่ให้ผู้อื่นสักให้ บรรดาหญิงที่ให้ผู้อื่นถอนขนคิ้วให้ และบรรดาหญิงที่ให้ผู้อื่นทำฟันให้เพื่อความสวยงาม พวกนางเหล่านั้นคือผู้ที่เปลี่ยนแปลงการสร้างของอัลลอฮฺ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5943 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2125)

ซึ่งเหตุผลของการถูกสาปแช่งก็เพราะว่าการกระทำของพวกนาง เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างมา ทั้งที่พวกนางได้รับการอนุมัติให้เสริมแต่งความงามได้ ในกรณีของบุรุษจึงย่อมต้องเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างชัดเจนยิ่งกว่า!

            อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:

﴿فَأَقِمۡ وَجۡهَكَ لِلدِّينِ حَنِيفٗاۚ فِطۡرَتَ ٱللَّهِ ٱلَّتِي فَطَرَ ٱلنَّاسَ عَلَيۡهَاۚ لَا تَبۡدِيلَ لِخَلۡقِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ ٱلدِّينُ ٱلۡقَيِّمُ وَلَٰكِنَّ أَكۡثَرَ ٱلنَّاسِ لَا يَعۡلَمُونَ ٣٠ ﴾ [الروم: ٣٠] 

ความว่า: "ดังนั้น เจ้าจงผินหน้าของเจ้าสู่ศาสนาที่เที่ยงแท้ โดยเป็นธรรมชาติของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการสร้างของอัลลอฮฺ นั่นคือศาสนาอันเที่ยงตรง แต่ส่วนมากของมนุษย์ไม่รู้" (อัรรูม: 30)

            ประการที่สอง การไว้เครานั้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์โดยกมลสันดาน (ฟิฏเราะฮฺ) ดังมีบันทึกจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: "มีอยู่สิบอย่างที่เป็นสัญชาตญาณโดยกมลสันดานของมนุษย์..." ซึ่งบางส่วนจากที่ท่านกล่าวถึงก็คือ "การเล็มหนวดให้สั้น และไว้เครา" (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 261)

ประการที่สาม การโกนเคราถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่ปรากฏในหะดีษเศาะฮีหฺจำนวนมาก ที่สั่งใช้ให้ไว้เครา ซึ่งคำสั่งใช้นั้นโดยหลักแล้วต้องถือเป็นข้อบังคับวาญิบให้ปฏิบัติ ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนให้ตีความเป็นอย่างอื่นได้ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:

﴿فَلۡيَحۡذَرِ ٱلَّذِينَ يُخَالِفُونَ عَنۡ أَمۡرِهِۦٓ أَن تُصِيبَهُمۡ فِتۡنَةٌ أَوۡ يُصِيبَهُمۡ عَذَابٌ أَلِيمٌ ٦٣﴾ [النور : ٦٣] 

ความว่า: "ดังนั้นบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา (มุหัมมัด) จงระวังตัวเถิดว่าเคราะห์กรรมจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน" (อันนูร: 63)

และมีบันทึกในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺและมุสลิม จากท่านอิบนุอุมัร เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«أَنْهِكُوا الشَّوَارِبَ، وَاعْفُوا اللِّحَى» [البخاري برقم 5893، ومسلم برقم 259]

ความว่า: “พวกท่านจงเล็มหนวดให้สั้น และจงไว้เคราเถิด” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5893 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 259)

 

และมีบันทึกในเศาะฮีหฺมุสลิม จากหะดีษของท่านอิบนุอุมัร เล่าว่า "ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งใช้ให้ทำการเล็มหนวดและไว้เครา" (หะดีษเลขที่ 259) ท่านอันนะวะวียฺได้กล่าวว่า "หะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องการไว้เครานั้นมีอยู่ห้าสำนวนด้วยกัน และทุกๆสำนวนล้วนให้ความหมายไปในทางที่ว่าให้ปล่อยเคราให้ยาว โดยไม่ทำการโกน เล็ม หรือตัดส่วนหนึ่งส่วนใดทั้งสิ้น" (ดู ชัรหฺ อันนะวะวีย์ 2/151)

            ประการที่สี่ การโกนเครานั้นเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของพวกมุชริกีน มะญูสีย์ (โซโรอัสเตอร์) ยะฮูดี และพวกนะศอรอ ดังมีบันทึกในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺและมุสลิม จากหะดีษของท่านอิบนุอุมัร เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

‏«خَالِفُوا الْمُشْرِكِينَ، وَفِّرُوا اللِّحَى، وَأَحْفُوا الشَّوَارِبَ» [البخاري برقم 5892، ومسلم برقم 259]

ความว่า: "พวกท่านจงทำให้แตกต่างจากพวกมุชริกีนเถิด จงไว้เคราให้ยาว และจงเล็มหนวดของพวกท่านเสีย" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5892 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 259)

และมีบันทึกในเศาะฮีหฺมุสลิมจากท่านอิบนุมัร เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

«جُزُّوا الشَّوَارِبَ، وَأَرْخُوا اللِّحَى، خَالِفُوا الْمَجُوسَ» [مسلم برقم 260]

ความว่า: "พวกท่านจงเล็มหนวด และไว้เครา และจงทำให้แตกต่างจากพวกมะญูสีย์เถิด" (มุสลิม หะดีษเลขที่ 260)

            ทั้งนี้ ก็เพราะพวกมะญูสีย์นั้นจะไว้หนวดยาวและตัดเคราให้สั้น หรือบางคนก็โกนเคราออกทั้งหมด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงห้ามการกระทำที่เป็นการเลียนแบบชนกลุ่มนี้ มีหะดีษที่รายงานโดยอิบนุญะรีรฺ และอิบนุสะอัด ในหนังสืออัฏเฏาะบะกอต กล่าวถึงเรื่องราวของทูตสองคนของกษัตริย์กิสรอแห่งเปอร์เซีย โดยระบุว่าเมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เห็นคนทั้งสองต่างโกนเคราและไว้หนวดยาว ท่านก็เบี่ยงหน้าหนีด้วยความรู้สึกไม่พอใจ และกล่าวกับคนทั้งสองว่า:

«وَيْلَكُمَا، مَنْ أَمَرَكُمَا بِهَذَا؟»

ความว่า: "ความหายนะจงประสบแก่ท่านทั้งสอง! ผู้ใดใช้ให้ท่านทั้งสองทำแบบนี้?"

เขาทั้งสองตอบว่า "พระเจ้าของเราได้ใช้ให้เราทำ" (หมายถึงกษัตย์กิสรอ) ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวแก่คนทั้งสองว่า:

«وَلَكِنَّ رَبِّي أَمَرَنِيْ أَنْ أَعْفِيَ لِحْيَتِيْ وَأَنْ أَقُصَّ شَارِبِيْ» [أخرجه ابن جرير 2/266، وابن سعد في الطبقات 1/2/147، وهو حسن، انظر تخريج فقه السيرة (ص359) للألباني والعزو منه.

ความว่า: "แต่พระเจ้าของฉันใช้ให้ฉันไว้เคราและให้ตัดเล็มหนวด" (อิบนุญะรีรฺ 2/266 และอิบนุสะอัด 1/2/147 เป็นรายงานที่อยู่ในระดับหะสัน ดู ตัครีจญ์ ฟิกฮฺ อัส-สีเราะฮฺ ของอัล-อัลบานีย์ หน้า 359 การอ้างอิงข้างต้นหยิบยกมาจากที่นี่)

ซึ่งถ้าหากว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตำหนิการกระทำของชายสองคนนี้ ทั้งที่รู้ว่าเขาทั้งสองเป็นมะญูสีย์ผู้ปฏิเสธศรัทธา แน่นอนว่าในกรณีของมุสลิมนั้นย่อมสมควรจะต้องถูกตำหนิมากกว่า

นอกจากนี้ การไว้เคราก็ยังถือเป็นความสง่างามสำหรับบุรุษด้วยเช่นกัน

            ประการที่ห้า การโกนเครานั้นนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งใช้ของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้ว ยังเป็นพฤติกรรมที่แปลกแยกจากแนวทางของนบีท่านก่อนๆ ตลอดจนบรรดาเคาะลีฟะฮฺ และเศาะหาบะฮฺทั้งหลายด้วย

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:

﴿قَالَ يَبۡنَؤُمَّ لَا تَأۡخُذۡ بِلِحۡيَتِي وَلَا بِرَأۡسِيٓۖ إِنِّي خَشِيتُ أَن تَقُولَ فَرَّقۡتَ بَيۡنَ بَنِيٓ إِسۡرَٰٓءِيلَ وَلَمۡ تَرۡقُبۡ قَوۡلِي ٩٤ ﴾ [طه: ٩٤] 

ความว่า: "ฮารูนกล่าวว่า: โอ้ลูกของแม่ฉันเอ๋ย อย่าดึงเคราและศีรษะของฉันสิ แท้จริงฉันกลัวว่าท่านจะกล่าว (แก่ฉัน) ว่า ท่านได้ก่อการแตกแยกขึ้นในหมู่วงศ์วานอิสรออีล และท่านไม่ฟังคำสั่งของฉัน" (ฏอหา: 94)

อัชชันกีฏียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า: "ถ้านำอายะฮฺข้างต้นไปพิจารณาร่วมกับอายะฮฺในสูเราะฮฺอัลอันอาม ที่อัลลอฮฺได้ตรัสถึงนบีทั้งหลาย และหลังจากนั้นพระองค์ตรัสกับนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า:

﴿ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ هَدَى ٱللَّهُۖ فَبِهُدَىٰهُمُ ٱقۡتَدِهۡۗ ٩٠ ﴾ [الانعام: ٩٠]

ความว่า: "ชนเหล่านี้ คือผู้ที่อัลลอฮฺได้ทรงให้ทางนำแก่พวกเขา ดังนั้นเจ้าจงเจริญรอยตามพวกเขาเถิด" (อัลอันอาม: 90)

ก็จะเป็นข้อบ่งชี้ที่แสดงว่าการไว้เครานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ และนี่คือหลักฐานจากอัลกุรอาน

ซึ่งการไว้เครานั้นถือเป็นรูปลักษณ์อันสง่างามและเป็นคำสั่งใช้ที่มีระบุไว้ในอัลกุรอาน และยังเป็นรูปลักษณ์ของบรรดาเราะสูลทุกท่านด้วย

จึงเป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่รสนิยมของบรรดาบุรุษในสังคมสมัยนี้กลับผิดเพี้ยนตกต่ำไป โดยพวกเขาพยายามที่จะหลีกหนีออกห่างจากลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นชาย แล้วหันไปทำตัวเยี่ยงสตรีด้วยการโกนหนวดเคราจนใบหน้าดูเกลี้ยงเกลาสดใส ทำให้นับวันความแตกต่างระหว่างบุรุษและสตรีซึ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือเคราค่อยๆเลือนหายไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นเป็นผู้ที่มีเคราที่หนามาก และในขณะเดียวกันท่านก็ยังเป็นผู้ที่ดูดีและมีความหล่อเหลามากที่สุด นอกจากนี้เราจะเห็นว่าบรรดาบุรุษผู้กล้าซึ่งพิชิตเปอร์เซียและโรมได้สำเร็จ และเป็นผู้ที่ปกครองโลกตะวันออกและตะวันตกอย่างยิ่งใหญ่นั้น ก็ไม่มีผู้ใดโกนเคราเลย เราวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ให้ทรงชี้นำเราและพี่น้องผู้ศรัทธาสู่หนทางแห่งสัจธรรม และให้หลีกห่างจากความเท็จความบิดเบือนทั้งปวงด้วยเถิด" (ดู หนังสืออัฎวาอุลบะยาน 3/64)

มีบันทึกในเศาะฮีหฺมุสลิม จากท่านญาบิรฺ บิน สะมุเราะฮฺ กล่าวว่า: "ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นผู้ที่มีเคราหนามาก" (ส่วนหนึ่งจากหะดีษเลขที่ 2344)

และในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ จากท่านอบูมะอฺมัร เล่าว่า: พวกเราได้ถามท่านค็อบบาบว่า ในละหมาดดุฮรฺและอัศรฺ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อ่านอะไรหรือไม่? เขาตอบว่า: "ท่านอ่าน" เราจึงถามว่า: ท่านทราบได้อย่างไร? เขาตอบว่า: "เราทราบจากการที่เคราของท่านเคลื่อนไหว" (หะดีษเลขที่ 746)

และนี่ถือเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไว้เครายาวและไม่เคยตัดหรือโกนเคราเลย เช่นเดียวกับบรรดาเศาะหาบะฮฺในยุคนั้นทั้งหมดก็ไม่เคยมีผู้ใดโกนเครา

            อาจมีคนบางกลุ่มกล่าวกับเราเมื่อเราตักเตือนเขาในเรื่องการโกนเครา ว่าการศรัทธานั้นอยู่ที่ใจ ไม่เกี่ยวอะไรกับการไว้เคราเลย และก็มีผู้คนมากมายที่เขาไม่ได้ไว้เคราแต่เขาก็ทำงานรับใช้อิสลามและพี่น้องมุสลิม ตรงกันข้ามกับบางคนด้วยซ้ำที่ไว้เคราเสียยาว แต่กลับทำสิ่งที่บกพร่องมากมาย?

            ซึ่งเราก็อาจตอบได้ว่า แท้จริงผู้ศรัทธานั้นจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์

ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า:

﴿قُلۡ إِن كُنتُمۡ تُحِبُّونَ ٱللَّهَ فَٱتَّبِعُونِي يُحۡبِبۡكُمُ ٱللَّهُ وَيَغۡفِرۡ لَكُمۡ ذُنُوبَكُمۡۚ وَٱللَّهُ غَفُورٞ رَّحِيمٞ ٣١ ﴾ [آل عمران: ٣١] 

ความว่า: "จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" (อาลอิมรอน: 31)

และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَا نَهَيْتُكُمْ عَنْهُ فَاجْتَنِبُوهُ، وَمَا أَمَرْتُكُمْ بِهِ فَافْعَلُوْا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ» [البخاري برقم 7288، ومسلم برقم 1337]

ความว่า: "สิ่งใดที่ฉันได้ห้ามพวกท่าน พวกท่านก็จงออกห่างเถิด และสิ่งใดที่ฉันได้กำชับใช้พวกท่านนั้น พวกท่านก็จงปฏิบัติตามที่พวกท่านสามารถเถิด" (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 7288 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1337)

ซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยของพวกเขานี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยสิ้นเชิง และถ้าเราคิดโดยใช้ตรรกะเช่นนั้น ก็คงจะต้องละทิ้งคำสั่งใช้และข้อห้ามมากมายที่เป็นบทบัญญัติศาสนา

ทั้งนี้ แก่นแท้ของการศรัทธานั้นต้องประกอบด้วยการเปล่งวาจา การเชื่อมั่นด้วยใจ และการปฏิบัติด้วยร่างกาย ดังนั้น การเชื่อด้วยใจเพียงอย่างเดียวโดยจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการปฏิบัติด้วย

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:

﴿ وَقُلِ ٱعۡمَلُواْ فَسَيَرَى ٱللَّهُ عَمَلَكُمۡ وَرَسُولُهُۥ وَٱلۡمُؤۡمِنُونَۖ وَسَتُرَدُّونَ إِلَىٰ عَٰلِمِ ٱلۡغَيۡبِ وَٱلشَّهَٰدَةِ فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ١٠٥ ﴾ [التوبة: ١٠٥] 

ความว่า: "จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า: พวกท่านจงทำงานเถิด แล้วอัลลอฮฺจะทรงเห็นการงานของพวกท่าน และเราะสูลของพระองค์และบรรดามุอ์มินก็จะเห็นด้วย และพวกท่านจะถูกนำกลับไปยังพระผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกท่านในสิ่งที่พวกท่านทำไว้” (อัตเตาบะฮฺ: 105)

 

.........................................

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก http://IslamHouse.com/398237

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).