Loading

 

อัล-บิชาเราะฮฺ (การแจ้งข่าวดี)

อัล-บิชาเราะฮฺ (การแจ้งข่าวดี)

 

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

            ในวันนี้เราจะพูดถึง "อัล-บิชาเราะฮฺ" (البشارة) ซึ่งหมายถึง "การแจ้งข่าวที่เป็นความจริง อันทำให้ผู้รับฟังมีสีหน้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะใช้กับข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะใช้กับข่าวดี" (อัต-ตะอฺรีฟาต ของ อัล-ญัรญานียฺ หน้า 45)

            อัร-รอซียฺ กล่าวว่า "อัล-บิชาเราะฮฺนั้น โดยทั่วไปถือว่าเป็นการแจ้งข่าวดี แต่ถ้าใช้กับข่าวร้ายก็จะระบุเจาะจงลงไป ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ فَبَشِّرۡهُم بِعَذَابٍ أَلِيمٍ 3٤ ﴾ [التوبة : 34]

ความว่า “จงแจ้งข่าวแก่พวกเขาเถิด ว่าพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด” (อัต-เตาบะฮฺ: 34)"

มีตัวบทหลักฐานมากมายจากอัลกุรอานและสุนนะฮ ที่กล่าวถึงการแจ้งข่าวดีสำหรับผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

1) อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿ أَلَآ إِنَّ أَوۡلِيَآءَ ٱللَّهِ لَا خَوۡفٌ عَلَيۡهِمۡ وَلَا هُمۡ يَحۡزَنُونَ ٦٢ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَكَانُواْ يَتَّقُونَ ٦٣ لَهُمُ ٱلۡبُشۡرَىٰ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَفِي ٱلۡأٓخِرَةِۚ لَا تَبۡدِيلَ لِكَلِمَٰتِ ٱللَّهِۚ ذَٰلِكَ هُوَ ٱلۡفَوۡزُ ٱلۡعَظِيمُ ٦٤ ﴾ [يونس : 62-64]

ความว่า “พึงทราบเถิด! แท้จริง บรรดาคนที่อัลลอฮฺรักนั้น ไม่มีความหวาดกลัวใดๆแก่พวกเขา และพวกเขาจะไม่เศร้าโศกเสียใจ พวกเขาคือบรรดาผู้ศรัทธา และมีความยำเกรง สำหรับพวกเขาจะได้รับข่าวดีในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และในโลกหน้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในลิขิตของอัลลอฮฺ นั่นคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่” (ยูนุส: 62-64)

2) และพระองค์ตรัสว่า

﴿ وَبَشِّرِ ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ أَنَّ لَهُمۡ جَنَّٰتٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُۖ كُلَّمَا رُزِقُواْ مِنۡهَا مِن ثَمَرَةٖ رِّزۡقٗا قَالُواْ هَٰذَا ٱلَّذِي رُزِقۡنَا مِن قَبۡلُۖ وَأُتُواْ بِهِۦ مُتَشَٰبِهٗاۖ وَلَهُمۡ فِيهَآ أَزۡوَٰجٞ مُّطَهَّرَةٞۖ وَهُمۡ فِيهَا خَٰلِدُونَ ٢٥ ﴾ [البقرة : 25]  

ความว่า “และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบสิ่งที่ดีทั้งหลายว่า แน่นอนพวกเขาจะได้รับบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนสวรรค์เหล่านั้น คราใดที่พวกเขาได้รับผลไม้จากสวนสวรรค์นั้นเป็นเครื่องยังชีพ พวกเขาก็กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่เราได้รับเป็นปัจจัยยังชีพมาก่อนแล้ว และสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน และในสวรรค์นั้น พวกเขาจะได้รับคู่ครองที่บริสุทธิ์ และพวกเขาจะพำนักอยู่ในสวรรค์นั้นตลอดกาล” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 25)

3) ท่านอุบาดะฮฺ บิน อัศศอมิต เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ أَحَبَّ لِقَاءَ اللهِ أَحَبَّ اللهُ لِقَاءَهُ ، وَمَنْ كَرِهَ لِقَاءَ اللهِ كَرِهَ اللهُ لِقَاءَهُ» قَالَتْ عَائِشَةُ رضي الله عنها – أو بَعْضُ أَزْوَاجِهِ : إِنَّا لَنَكْرَهُ المَوْتَ ، قَالَ صلى الله عليه وسلم : «لَيْسَ ذَاكَ، وَلَكِنَّ المُؤْمِنَ إِذَا حَضَرَهُ المَوْتُ بُشِّرَ بِرِضْوَانِ اللهِ وَكَرَامَتِهِ ، فَلَيْسَ شَيْءٌ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِمَّا أَمَامَهُ ، فَأَحَبَّ لِقَاءَ اللهِ وَأَحَبَّ اللهُ لِقَاءَهُ ، وَإِنَّ الكاَفِرَ إِذَاحُضِرَ بُشِّرَ بِعَذَابِ اللهِ وَعُقُوْبَتِهِ ، فَلَيْسَ شَيْءٌ أَكْرَهَ إِلَيْهِ مِمَّا أَمَامَهُ ، كَرِهَ لِقَاءَ اللهِ وَكَرِهَ اللهُ لِقَاءَهُ» [البخاري برقم 6507، ومسلم برقم 2684]

ความว่า “ผู้ใดอยากพบอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงอยากพบเขา ส่วนผู้ใดที่ไม่อยากพบพระองค์ พระองค์ก็ไม่ทรงอยากพบเขา” ท่านหญิงอาอิชะฮฺ (หรือภริยาของท่านบางคน) เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า: พวกเราต่างก็รังเกียจการตายนี่คะ? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ฉันไม่ได้หมายถึงสิ่งนั้น ที่พูดถึงคือ มุอ์มินผู้ศรัทธานั้น เมื่อใดที่ความตายมาเยือน เขาจะได้รับการแจ้งข่าวดี ว่าอัลลอฮฺทรงพอพระทัยเขา และทรงเตรียมความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่เพื่อมอบให้แก่เขา ซึ่งไม่มีสิ่งใดที่เขาจะต้องการมากไปกว่านั้นอีกแล้ว เขาจึงอยากที่จะพบอัลลอฮฺ และพระองค์ก็ทรงอยากพบเขา ส่วนผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น เมื่อความตายมาถึง เขาจะได้รับการแจ้งข่าวร้าย ว่าเขาจะได้รับโทษอันแสนสาหัสจากอัลลอฮฺ ซึ่งก็ไม่มีสิ่งใดที่เขาจะรู้สึกรังเกียจได้มากไปกว่านั้น เขาจึงไม่อยากพบอัลลอฮฺ และพระองค์ก็ไม่ทรงอยากจะพบเขา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6507 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2684)

            และแน่นอนว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและผู้กลับกลอกทั้งหลาย จะได้รับการแจ้งข่าวร้ายด้วยการลงโทษจากอัลลอฮฺ พระองค์ตรัสว่า

﴿ بَشِّرِ ٱلۡمُنَٰفِقِينَ بِأَنَّ لَهُمۡ عَذَابًا أَلِيمًا ١٣٨ ﴾ [النساء : 138]

ความว่า “จงแจ้งข่าวแก่พวกมุนาฟิกเถิดว่า แท้จริงพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บแสบ” (อัน-นิสาอ์: 138)

และตรัสอีกว่า

﴿ وَبَشِّرِ الَّذِينَ كَفَرُوا بِعَذَابٍ أَلِيمٍ 3 ﴾ [التوبة : 3]

ความว่า “และจงแจ้งข่าวแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นเถิด ว่าพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บแสบ” (อัตเตาบะฮฺ: 3)

เมื่อมุสลิมเดินผ่านหลุมศพของผู้ปฏิเสธศรัทธา ก็ส่งเสริมให้แจ้งข่าวร้ายแก่เขา ว่าสิ่งที่เขาจะได้รับคือไฟนรก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่ชายชนบทคนหนึ่งว่า

«حَيْثُمَا مَرَرْتَ بِقَبْرِ مُشْرِكٍ فَبَشِّرْهُ بالنَّارِ » [ابن ماجه برقم 1573]

ความว่า “เมื่อใดที่ท่านเดินผ่านหลุมศพของพวกมุชริก ก็จงแจ้งข่าวร้ายแก่เขา ว่าสิ่งที่เขาจะได้รับคือไฟนรก” หลังจากนั้นชายคนดังกล่าวก็เข้ารับอิสลาม และกล่าวว่า "ท่านนบีได้สั่งใช้ฉันว่าทุกครั้งที่ฉันเดินผ่านหลุมศพของผู้ปฏิเสธศรัทธา ก็ให้ฉันแจ้งข่าวร้ายแก่เขาว่าสิ่งที่เขาจะได้รับคือไฟนรก" (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 1573)

            ชัยคฺ นาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "หะดีษข้างต้นเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงบทบัญญัติหนึ่งซึ่งตำราฟิกฮฺส่วนใหญ่มิได้กล่าวถึง นั่นก็คือบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแจ้งข่าวร้ายแก่ผู้ปฏิเสธศรัทธาขณะเดินผ่านหลุมศพของเขา ว่าสิ่งที่เขาจะได้รับคือไฟนรก ดังกล่าวนี้ก็เพื่อให้มุอ์มินผู้ศรัทธาตระหนักอยู่เสมอถึงความร้ายกาจและความชั่วร้ายที่ผู้ปฏิเสธได้กระทำ โดยที่พวกเขาเหล่านั้นได้กระทำความผิดบาปที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นก็คือการปฏิเสธศรัทธาพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา และการตั้งภาคีต่อพระองค์

            ผลจากการเพิกเฉยต่อบทบัญญัตินี้ ทำให้มุสลิมบางกลุ่มกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ อย่างที่เรารู้กันดีในสังคมปัจจุบัน ว่ามีมุสลิมจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนหรือไปทำธุระที่บ้านเมืองของผู้ปฏิเสธศรัทธา นอกเหนือไปกว่านั้นก็ยังมีเป้าหมายที่จะไปเยี่ยมเยียนหรือเคารพหลุมศพของผู้ที่พวกเขาเรียกกันว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือมีชื่อเสียงโด่งดัง และยังเอาดอกไม้ธูปเทียนไปวางหน้าศพ แล้วยืนไว้อาลัยด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ประหนึ่งว่าพวกเขาชื่นชมยินดีในตัวผู้ปฏิเสธเหล่านั้นและไม่ได้รู้สึกรังเกียจแต่อย่างใด" (อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ เล่ม 1 หน้า 57)

            4) อัลลอฮฺได้ทรงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ยำเกรงพระองค์ ว่าพวกเขานั้นจะได้รับการอภัยโทษและได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ตรัสว่า

﴿ إِنَّمَا تُنذِرُ مَنِ ٱتَّبَعَ ٱلذِّكۡرَ وَخَشِيَ ٱلرَّحۡمَٰنَ بِٱلۡغَيۡبِۖ فَبَشِّرۡهُ بِمَغۡفِرَةٖ وَأَجۡرٖ كَرِيمٍ ١١ ﴾ [يس : 11]

ความว่า “แท้จริงเจ้าเพียงแต่ตักเตือนผู้ที่ปฏิบัติตามข้อตักเตือน และเกรงกลัวพระผู้ทรงกรุณาปรานีเมื่ออยู่ในที่ลับ ดังนั้น จงแจ้งข่าวดีแก่เขา ว่าเขาจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันมีเกียรติ” (ยาสีน: 11)

5) และพระองค์ทรงแจ้งข่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่มีความอดทน ว่าพวกเขานั้นจะได้รับการประทานพรและความเมตตาจากพระองค์ พระองค์ตรัสว่า

﴿ وَبَشِّرِ ٱلصَّٰبِرِينَ ١٥٥ ٱلَّذِينَ إِذَآ أَصَٰبَتۡهُم مُّصِيبَةٞ قَالُوٓاْ إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّآ إِلَيۡهِ رَٰجِعُونَ ١٥٦ أُوْلَٰٓئِكَ عَلَيۡهِمۡ صَلَوَٰتٞ مِّن رَّبِّهِمۡ وَرَحۡمَةٞۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُهۡتَدُونَ ١٥٧ ﴾ [البقرة : 155-157]   

ความว่า “และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ร้ายมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์ ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชย และการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขา และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 155-157)

6) และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งใช้ให้เศาะหาบะฮฺของท่านแจ้งข่าวดีแก่ผู้อื่น ท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ส่งท่านและท่านมุอาซไปเยเมน โดยท่านกล่าวกำชับว่า

«يَسِّرَا وَلَا تُعَسِّرَا ، وَبَشِّرَا وَلَا تُنَفِّرَا» [البخاري برقم 3038، ومسلم برقم 1733]

ความว่า “ท่านทั้งสองจงทำให้เกิดความง่ายดาย อย่าทำให้เกิดความยากลำบาก และจงแจ้งสิ่งที่เป็นข่าวดีแก่ผู้คน อย่าทำให้พวกเขาหนีออกห่าง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3038 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1733)

            7) การงานที่ดีงามซึ่งผู้ศรัทธาได้ปฏิบัติ และได้รับการสรรเสริญจากผู้คนนั้น ก็ถือเป็นข่าวดีจากพระองค์อัลลอฮฺเช่นกัน ท่านอบูซัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า มีคนถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า: ท่านคิดอย่างไรกับชายคนหนึ่งที่ปฏิบัติคุณงามความดี แล้วผู้คนพากันสรรเสริญเขา ท่านตอบว่า

«تِلْكَ عَاجِلُ بُشْرَى المُؤْمِنِ» [مسلم برقم 2642]

ความว่า “นั่นถือเป็นข่าวดีล่วงหน้าสำหรับผู้ศรัทธา” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2642)

            8) และมุอ์มินผู้ศรัทธาซึ่งเดินไปละหมาดที่มัสยิด ท่ามกลางความมืดมิดของยามค่ำคืน ก็ได้รับแจ้งข่าวดีว่าในวันกิยามะฮฺนั้น เขาจะเป็นผู้ที่มีแสงรัศมีเปล่งปลั่งสว่างไสว ท่านบุร็อยดะฮฺ อัล-อัสละมียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«بَشِّرِ المَشَّائِيْنَ فِي الظُّلَمِ إِلَى الَمساجِدِ : بِالنُّوْرِ التَّامِ يَوْمَ القِيَامَةِ» [أبو داود برقم 561]

ความว่า “จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ที่เดินไปยังมัสยิดในเวลาค่ำคืน ว่าพวกเขาจะเปี่ยมไปด้วยรัศมีส่องแสงในวันกิยามะฮฺ” (บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษเลขที่ 561)

            9) และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้แจ้งข่าวดีแก่ผู้ที่เสียชีวิตโดยที่เขาไม่เคยตั้งภาคีกับอัลลอฮฺตะอาลา ว่าเขานั้นจะได้เข้าสวรรค์ ท่านอบูซัรฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«ذَاكَ جِبْرِيْلُ عَرَضَ لِي فِي جَانِبِ الحَرَّةِ ، فَقَالَ : بَشِّرْ أُمَّتَكَ أَنَّهُ مَنْ مَاتَ لَا يُشْرِكُ بِاللهِ شَيْئًا دَخَلَ الجَنَّةَ» [البخاري برقم 6443، ومسلم برقم 94]

ความว่า “ญิบรีลได้ปรากฏตัวต่อหน้าฉัน แล้วกล่าว่า: จงแจ้งข่าวดีแก่ประชาชาติของท่าน ว่าผู้ใดเสียชีวิตโดยที่เขามิได้ตั้งภาคีใดๆ ต่ออัลลอฮฺ เขาจะได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6443 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 94)

            10) ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แจ้งข่าวดีว่าชาวสวรรค์ส่วนใหญ่คือประชาชาติของท่าน ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า

قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: «يَقُوْلُ اللهُ تَعَالَى : يَا آدَمُ ، فَيَقُوْلُ : لَبَّيْكَ وَسَعْدَيْكَ وَالخَيْرُ فِيْ يَدَيْكَ ، فَيَقُوْلُ : أَخْرِجْ بَعْثَ النَّارِ ، قَالَ : وَمَا بَعْثُ النَّارِ؟ قَالَ: مِنْ كُلِّ أَلْفٍ تِسْعَ مِئَةٍ وَتِسْعَةً وَتِسْعِيْنَ ، فَذَاكَ حِيْنَ يَشِيْبُ الصَّغِيْرُ، ﴿وَتَضَعُ كُلُّ ذَاتِ حَمۡلٍ حَمۡلَهَا وَتَرَى ٱلنَّاسَ سُكَٰرَىٰ وَمَا هُم بِسُكَٰرَىٰ وَلَٰكِنَّ عَذَابَ ٱللَّهِ شَدِيدٞ ٢﴾ [الحج : ٢]»، فَاشَّتَدَّ ذَلِكَ عَلَيْهِمْ ، فَقَالُوْا : يَارَسُوْلَ اللهِ، أَيُّنَا ذَلِكَ الرَّجُلُ؟ قَالَ : «أَبْشِرُوْا فَإِنَّ مِنْ يَأْجُوْجَ وَمَأْجُوْجَ أَلْفًا ، وَمِنْكُمْ رَجُلٌ»، ثُمَّ قَالَ : «وَالَّذِيْ نَفْسِيْ بِيَدِهِ ، إِنَّي لَأَطْمَعُ أَنْ تَكُوْنُوْا ثُلُثَ أَهْلِ الجَنَّةِ» قَالَ : فَحَمِدْنَا اللهَ وَكَبَّرْنَا ، ثُمَّ قَالَ : «وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ ، إِنِّي لَأَطْمَعُ أَنْ تَكُوْنُوْا شَطْرَ أَهْلِ الَجنَّةِ ، إِنَّ مَثَلَكُمْ فِي الأُمَمِ كَمَثَلِ الشَّعَرَةِ البَيْضَاءِ فِي جِلْدِ الثَّوْرِ الأَسْوَدِ» [البخاري برقم 6530، ومسلم برقم 222]

ความว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า: อัลลอฮฺ ตะอาลา จะตรัสแก่นบีอาดัมว่า: 'อาดัมเอ๋ย' อาดัมตอบว่า: 'ลับบัยกะ วะสะอฺดัยกะ (เป็นคำสนองบัญชา) ความดีงามทั้งหลายอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์' อัลลอฮฺจึงตรัสว่า: 'จงนำเอากลุ่มชาวนรกออกมาเถิด (หมายถึงผู้ที่จะตกนรกจากลูกหลานอาดัม)' อาดัมกล่าวถามพระองค์ว่า: 'ชาวนรกมีจำนวนเท่าไรหรือครับ' พระองค์ทรงตอบว่า: 'ในหนึ่งพันคนจะเป็นชาวนรกเก้าร้อยเก้าสิบเก้าคน' ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันที่เด็กน้อยจะหัวหงอก(วันกิยามะฮฺ) ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า "และหญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะคลอดลูกที่อยู่ในครรภ์ของนางออกมา และเจ้าจะเห็นมนุษย์อยู่ในสภาพมึนเมา ทั้งๆที่พวกเขามิได้เมาแต่ว่าการลงโทษของอัลลอฮฺนั้นรุนแรงยิ่งนัก” (อัล-หัจญ์: 2)"

เมื่อได้ฟังเช่นนั้นบรรดาเศาะหาบะฮฺก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่หนักมาก พวกเขาจึงกล่าวว่า: ท่านเราะสูลครับ แล้วใครในหมู่เราจะเป็นหนึ่งเดียวที่รอดพ้นนั้นได้? ท่านตอบว่า: "พวกท่านจงสบายใจและเตรียมรับข่าวดีเถิด เพราะสัดส่วนของชาวนรกคือ หนึ่งพันคนจากวงศ์วานยะอ์ญูจและมะอ์ญูจ ต่อพวกท่านหนึ่งคน ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ ฉันหวังว่าพวกท่านจะมีจำนวนถึงหนึ่งส่วนสามของชาวสวรรค์ทั้งหมด" บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ฟังเช่นนั้น ก็กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺและกล่าวตักบีรฺ ท่านนบีกล่าวอีกว่า "ฉันขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ ฉันยังหวังอีกว่าพวกท่านจะมีจำนวนถึงกึ่งหนึ่งของชาวสวรรค์ทั้งหมด ทั้งที่จำนวนของพวกท่านเมื่อเทียบกับประชาชาติก่อนหน้านี้นั้น เปรียบเสมือนเส้นขนสีขาวบนหนังวัวสีดำ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6530 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 222)

            11) และสำหรับผู้ศรัทธา ความฝันที่ดีก็ถือเป็นข่าวดีจากอัลลอฮฺอีกเช่นกัน ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«الرُّؤْيَا ثَلَاثَةٌ : فَالرُّؤْيَا الصَّالِحَةُ بُشْرَى مِنَ اللهِ ، وَرُؤْيَا تَحْزِيْنٌ مِنَ الشَّيْطَانِ، وَرُؤْيَا مِمَّا يُحَدِّثُ المَرْءُ نَفْسَهُ» [البخاري برقم 1341، ومسلم برقم 2263]

ความว่า “ความฝันนั้นมีสามประเภท: ความฝันที่ดีซึ่งถือเป็นข่าวดีจากอัลลอฮฺ ฝันร้ายที่ทำให้โศกเศร้ามาจากชัยฏอน และความฝันที่เกิดจากการคิดมากไปเอง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 1341 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2263)

ประโยชน์ที่ได้รับจากเรื่องการแจ้งข่าวดี

ประการที่หนึ่ง การแจ้งข่าวดีเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿وَبَشِّرِ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ ٢٢٣﴾ [البقرة : 223]

ความว่า “จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายเถิด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 223)

ในหะดีษซึ่งบันทึกเรื่องเกี่ยวกับการเตาบะฮฺกลับตัวของท่านกะอฺบ์ บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ระบุว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่ท่านว่า

«أَبْشِرْ بِخَيْرِ يَوْمٍ مَرَّ عَلَيْكَ مُنْذُ وَلَدَتْكَ أُمُّكَ» [البخاري برقم 4418، ومسلم برقم 2769]

ความว่า "ท่านจงเตรียมรับข่าวดี กับวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มารดาของท่านให้กำเนิดท่านมาเถิด" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 4418 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2769)

ประการที่สอง เป็นการบ่งบอกถึงความประเสริฐของการงานที่ได้รับการแจ้งข่าวดี เช่น ความอดทน ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ การเดินไปมัสยิดในยามค่ำคืน และการงานอื่นๆที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ประการที่สาม ข่าวดีนั้นจะทำให้จิตใจของมนุษย์สงบนิ่ง มีความสบายใจ ทำให้มีกำลังใจและมีความสุขในการทำความดี

ประการที่สี่ ผู้ที่แจ้งข่าวดีจะได้รับการตอบแทนอย่างรวดเร็วด้วยสิ่งที่ดี ดังปรากฏในหะดีษซึ่งระบุเรื่องราวของท่านกะอฺบ์ บิน มาลิก เมื่อชายคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนภูเขาแล้วตะโกนเสียงดังว่า "เตรียมรับข่าวดีเถิด โอ้ กะอฺบ์ บิน มาลิก" ท่านกะอฺบ์เล่าว่า "ฉันจึงถอดเสื้อผ้าของฉัน แล้วสวมให้กับเขา เพราะข่าวดีที่เขาได้มาแจ้งบอก ซึ่งฉันก็มีเสื้อผ้าเพียงชุดนี้เท่านั้น" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 4418 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2769)

ประการที่ห้า ผู้ที่แจ้งข่าวดีแก่ผู้อื่นนั้น คือผู้ที่มีความประเสริฐ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวแก่เศาะหาบะฮฺบางท่านว่า

«بَشِّرَا ، وَلَا تُنَفِّرَا» [البخاري برقم 3038، ومسلم برقم 1733]

ความว่า “ท่านทั้งสองจงแจ้งข่าวดีแก่ผู้คน และอย่าทำให้พวกเขาหนีออกห่าง” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3038 และมุสลิม 1733)

ประการที่หก ผู้ที่ได้รับข่าวดีจะรู้สึกดีกับผู้ที่มาแจ้งข่าว เมื่อครั้งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับวะฮีย์เป็นครั้งแรกที่ถ้ำหิรออ์นั้น ท่านได้กลับไปหาท่านหญิงเคาะดีญะฮฺด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว โดยท่านกล่าวแก่นางว่า

«يَا خَدِيْجَة ، لَقَدْ خَشِيْتُ عَلَى نَفْسِي» [البخاري برقم 3، ومسلم برقم 160]

ความว่า “เคาะดีญะฮฺเอ๋ย ฉันรู้สึกกลัวเหลือเกิน” นางจึงกล่าวปลอบท่านว่า: ท่านอย่าได้กังวลไปเลย ทำใจให้สบายเถิด พระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงทอดทิ้งท่านเด็ดขาด เพราะท่านนั้นเป็นผู้ที่เชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ ท่านพูดแต่สิ่งที่เป็นสัจจะวาจา และท่านก็ชอบที่จะช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 160)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม รู้สึกดีกับคำพูดของนาง และรู้สึกสบายใจมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะรักและรำลึกถึงนางอยู่เสมอ แม้นางจะจากท่านไปแล้ว และท่านก็ยังได้แจ้งข่าวดีแก่นาง ว่านางจะได้อยู่บ้านในสวรรค์ซึ่งประดับประดาด้วยไข่มุก ที่ซึ่งไม่มีเสียงดังอึกทึก และไม่มีความเหน็ดเหนื่อยลำบากอีกต่อไป (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3820 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2432)

 

 

.................................................

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก   http://IslamHouse.com/411593

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).