Loading

 

ความรีบร้อน

ความรีบร้อน

 

          การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

            หนึ่งในบรรดาคุณลักษณะไม่ดีที่อิสลามห้ามมิให้กระทำก็คือ ความรีบร้อน

อัร-รอฆีบ ได้กล่าวว่า : ความรีบร้อน คือ การอยากได้สิ่งหนึ่งและพยายามให้ได้รับก่อนถึงเวลาของมัน ซึ่งเป็นความกดดันทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ฉะนั้นจึงถูกจัดให้เป็นคุณลักษณะที่ไม่ดีที่มีระบุในคัมภีร์อัลกุรอาน กระทั่งได้รับการขนานนามว่า “การรีบร้อนลุกลี้ลุกลนนั้นเกิดจากชัยฏอน” (ดู มุอฺญัม มุฟเราะดาต อัลฟาซ อัลกุรอาน หน้า 334)

พระองค์อัลลอฮฺได้กล่าวแก่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า :  

﴿ لَا تُحَرِّكۡ بِهِۦ لِسَانَكَ لِتَعۡجَلَ بِهِۦٓ ١٦ ﴾ [القيامة: ١٦] 

ความว่า : “เจ้าจงอย่ากระดิกลิ้นอ่านอัลกุรอานเพราะรีบร้อนจะจดจำ” (อัล-กิยามะฮฺ :16 )

 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้น กรอบมารยาทของท่านก็คืออัลกุรอาน ท่านประพฤติปฏิบัติตามทุกๆ มารยาทที่อัลกุรอานสั่งสอน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในคำเสนอแนะที่จำเริญนี้ ท่านไม่รีบร้อนลุกลี้ลุกลน แต่จะสุขุมรอบคอบ อดทนอดกลั้นและแนะนำประชาชาติของท่านปฏิบัติตามมารยาทเช่นนี้ ได้กล่าวว่า :

«التَّأَنِّى مِنَ اللَّهِ وَالْعَجَلَةُ مِنَ الشَّيْطَانِ» [مسند أبي يعلى برقم 4256، وصححه الألباني في السلسلة الصحيحة برقم 1795]

ความว่า : ความสุขุมรอบคอบมาจากพระองค์อัลลอฮฺส่วนความเร่งร้อน เร่งรีบ ลุกลี้ลุกลนมาจากชัยฏอน” (มุสนัด อบี ยะอฺลา เล่มที่ 7 หน้า 247 หมายเลข 4256 อัล-อัลบานียฺได้ระบุในหนังสือ อัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ เล่มที่ 4 หน้า 404 หมายเลข 1795  ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

 

พระองค์อัลลอฮฺ ได้กล่าวอีกเช่นกันว่า :

﴿فَٱصۡبِرۡ كَمَا صَبَرَ أُوْلُواْ ٱلۡعَزۡمِ مِنَ ٱلرُّسُلِ وَلَا تَسۡتَعۡجِل لَّهُمۡۚ كَأَنَّهُمۡ يَوۡمَ يَرَوۡنَ مَا يُوعَدُونَ لَمۡ يَلۡبَثُوٓاْ إِلَّا سَاعَةٗ مِّن نَّهَارِۢ ۚ بَلَٰغٞۚ فَهَلۡ يُهۡلَكُ إِلَّا ٱلۡقَوۡمُ ٱلۡفَٰسِقُونَ ٣٥﴾ [الأحقاف: ٣٥] 

ความว่า : “ดังนั้น เจ้าจงอดทนเหมือนบรรดาเราะสูลผู้เข้มแข็ง(อุลุล อัซมิ) ได้อดทนมาแล้ว และอย่ารีบร้อนลุกลี้ลุกลน (ให้มีการด่วนลงโทษ) พวกเขา ซึ่งพวกเขานั้น ในวันที่ได้เห็นสิ่งที่ถูกสัญญาจะรู้สึกประหนึ่งว่าพวกเขาได้อยู่ในโลกนี้แต่เพียงแค่ยามหนึ่งของกลางวันเท่านั้น นี่คือคำประกาศตักเตือน แล้วคนที่ต้องถูกทำลายก็มีเพียงหมู่ชนผู้ฝ่าฝืนเท่านั้น” (อัล-อะหฺกอฟฺ :35)

 

ท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีเลิศในการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า :

عن عَائِشَةَ رضي الله عنها قَالَتْ: يَا رَسُولَ اللَّهِ هَلْ أَتَى عَلَيْكَ يَوْمٌ كَانَ أَشَدَّ مِنْ يَوْمِ أُحُدٍ؟، فَقَالَ : «لَقَدْ لَقِيتُ مِنْ قَوْمِكِ وَكَانَ أَشَدَّ مَا لَقِيتُ مِنْهُمْ يَوْمَ الْعَقَبَةِ، إِذْ عَرَضْتُ نَفْسِي عَلَى ابْنِ عَبْدِ يَالِيلَ بْنِ عَبْدِ كُلاَلٍ، فَلَمْ يُجِبْنِى إِلَى مَا أَرَدْتُ، فَانْطَلَقْتُ وَأَنَا مَهْمُومٌ عَلَى وَجْهِى فَلَمْ أَسْتَفِقْ إِلاَّ بِقَرْنِ الثَّعَالِبِ فَرَفَعْتُ رَأْسِي، فَإِذَا أَنَا بِسَحَابَةٍ قَدْ أَظَلَّتْنِي، فَنَظَرْتُ فَإِذَا فِيهَا جِبْرِيلُ فَنَادَانِي فَقَالَ : إِنَّ اللَّهَ عَزَّ وَجَلَّ قَدْ سَمِعَ قَوْلَ قَوْمِكَ لَكَ وَمَا رَدُّوا عَلَيْكَ، وَقَدْ بَعَثَ إِلَيْكَ مَلَكَ الْجِبَالِ لِتَأْمُرَهُ بِمَا شِئْتَ فِيهِمْ، قَالَ: فَنَادَانِي مَلَكُ الْجِبَالِ وَسَلَّمَ عَلَيَّ. ثُمَّ قَالَ: يَا مُحَمَّدُ إِنَّ اللَّهَ قَدْ سَمِعَ قَوْلَ قَوْمِكَ لَكَ وَأَنَا مَلَكُ الْجِبَالِ وَقَدْ بَعَثَنِي رَبُّكَ إِلَيْكَ لِتَأْمُرَنِى بِأَمْرِكَ، فَمَا شِئْتَ، إِنْ شِئْتَ أَنْ أُطْبِقَ عَلَيْهِمُ الأَخْشَبَيْنِ؟». فَقَالَ لَهُ رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم : «بَلْ أَرْجُو أَنْ يُخْرِجَ اللَّهُ مِنْ أَصْلاَبِهِمْ مَنْ يَعْبُدُ اللَّهَ وَحْدَهُ لاَ يُشْرِكُ بِهِ شَيْئًا»

ความว่า : โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ท่านเคยเจอวันที่เป็นทุกข์หนักยิ่งกว่าวันแห่งสงครามอุหุดไหม? ท่านตอบว่า : “ แท้จริงแล้ว ฉันเคยเจอกับ (การต่อต้าน) จากกลุ่มชนของเธอและที่ฉันได้รับ (การต่อต้าน) ที่รุนแรงที่สุดจากพวกเขาก็คือในวันอัล-อะเกาะบะฮฺ คือตอนที่ฉันแนะนำตัวต่อหน้าบุตรอับดุยาลีล บิน อับดิกุลาล แล้วเขาไม่ตอบรับข้อเรียกร้องของฉัน แล้วฉันก็ผละตัวออกไปอย่างเศร้าหมองและรู้สึกเครียดกับทิศทางที่ตัวเองกำลังจะเผชิญ แล้วฉันก็มาหยุดที่ควน “ก็อรนุลซะอาลิบ” ฉันเงยศรีษะขึ้นและพบว่ามีเมฆก้อนหนึ่งลอยมากำบังฉัน  ฉันเพ่งมองออกไป ปรากฏว่ามีมลาอิกะฮฺญิบรีลอยู่ในนั้น ท่านเรียกฉันและบอกว่า “แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺทรงได้ยินคำพูดของพวกของท่านที่พูดต่อต้านท่านและสิ่งที่พวกเขาโต้แย้งกับท่าน และพระองค์ทรงส่งมะลาอิกะฮฺภูเขาเพื่อให้ท่านสั่งให้ทำสิ่งที่ประสงค์ต่อพวกเขาเหล่านั้น” ท่านเล่าต่อว่า : แล้วมะลาอิกะฮฺภูเขาก็เรียกฉันและให้สลามแก่ฉัน แล้วกล่าวว่า โอ้ มุหัมมัด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงได้ยินคำพูดของพวกของท่านที่พูดกับท่านและฉันนี้คือมะลาอิกะฮฺภูเขา ซึ่งพระเจ้าของท่านได้ส่งตัวฉันให้ท่านใช้ในงานของท่าน แล้วท่านต้องการอะไรบ้างล่ะ ? หากท่านต้องการให้ฉันนำภูเขาสองลูก (คือภูเขาอบีกุบัยสฺและภูเขาที่อยู่ตรงกันข้ามกัน) มาทับพวกเขา (ฉันก็จะทำ) ท่านเราะสูลุลลอฮฺ r เลยตอบว่า : “ ไม่ต้องหรอก ฉันหวัง (ในภายภาคหน้า)ให้พระองค์อัลลอฮฺนำทายาทที่กราบไหว้พระองค์อัลลอฮฺเพียงผู้เดียวโดยไม่ตั้งภาคีใด ๆ กับพระองค์ ออกมาจากกระดูกสันหลังของพวกเขา” (เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 3 หน้า1420, 1421 หมายเลข 1795 )

 

ส่วนการเร่งรีบและแข่งขันทำความดีตลอดจนการรีบทำเมื่อถึงมีโอกาส ก็นับเป็นสิ่งที่ดีน่ายกย่องและไม่จัดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

﴿ ۞وَسَارِعُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٖ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا ٱلسَّمَٰوَٰتُ وَٱلۡأَرۡضُ أُعِدَّتۡ لِلۡمُتَّقِينَ ١٣٣ ﴾ [آل عمران: ١٣٣] 

ความว่า : “และจงรีบเร่งมุ่งสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้าและสู่สวรรค์ ที่ความใหญ่โตของมันนั้นเป็นเท่าชั้นฟ้าและแผ่นดิน มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” (อาลอิมรอน :133)

 

นบีมูซา -อะลัยฮิสสลาม- ได้กล่าวว่า :

﴿ قَالَ هُمۡ أُوْلَآءِ عَلَىٰٓ أَثَرِي وَعَجِلۡتُ إِلَيۡكَ رَبِّ لِتَرۡضَىٰ ٨٤ ﴾ [طه: ٨٤] 

ความว่า : “ฉันรีบมาหาพระองค์แล้ว โอ้ พระเจ้าแห่งข้า เพื่อพระองค์จะได้ทรงโปรดปราน” (ฏอฮา : 84)

 

เนื่องจากความรีบร้อนลุกลี้ลุกลนเป็นการตัดสินกระทำการโดยไม่หยั่งคิด ไม่ปรึกษา และไม่อิสติคอเราะฮฺ(ขอความช่วยเหลือในการกลั่นกรองจากอัลลอฮฺ) อบูฮาติม -เราะหิมะฮุลลอฮฺ- จึงกล่าวว่า : ความลุกลี้ลุกลนนั้น คือ การที่คนหนึ่งพูดโดยไม่รู้สิ่งที่พูด ตอบโดยไม่เข้าใจ ยกยอโดยไม่ทันคลุกคลี ด่าทอหลังจากชื่นชม ความลุกลี้ลุกลนมักลงเอ๋ยด้วยความเสียใจและทำให้เกิดทุกข์ คนอาหรับจึงให้สมญานามว่าเป็น “แม่แห่งความโศกเศร้า” (เราเฎาะฮฺ อัล-อุเกาะลาอ์ หน้า 288 )

กวีอาหรับได้ร่ายกลอนว่า :

قد يدرك المتأني بعض حاجته                        وقد يكون مع المستعجل الزلل

คนสุขุมอาจได้รับบางสิ่งที่ประสงค์

คนลุกลนอาจจะพบกับความมัวหมอง

 

นอกจากนี้ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความผลีผลามลุกลี้ลุกลนก็คือ การผลีผลามในการขอดุอาอ์ให้เครือญาติ ลูกๆและทรัพย์สมบัติประสบความย่อยยับในยามที่เกิดโมโห ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

﴿ وَيَدۡعُ ٱلۡإِنسَٰنُ بِٱلشَّرِّ دُعَآءَهُۥ بِٱلۡخَيۡرِۖ وَكَانَ ٱلۡإِنسَٰنُ عَجُولٗا ١١ ﴾ [الإسراء: ١١] 

ความว่า : ”และมนุษย์นั้นชอบวิงวอนขอความชั่วเหมือนกับวิงวอนขอความดี และมนุษย์นั้นเป็นคนรีบร้อนลุกลี้ลุกลนอย่างมากๆ” (อัล-อิสรออ์ : 11) 

 

มีรายงานจากท่านญาบิรฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

«لاَ تَدْعُوا عَلَى أَنْفُسِكُمْ، وَلاَ تَدْعُوا عَلَى أَمْوَالِكُمْ، وَلاَ تَدْعُوا عَلَى أَوْلاَدِكُمْ، لاَ تُوَافِقُوا مِنَ اللَّهِ سَاعَةً يُسْأَلُ فِيهَا عَطَاءٌ فَيَسْتَجِيبُ لَكُمْ» [مسلم برقم 3009ٍ]

ความว่า : “พวกท่านจงอย่าขอดุอาอ์ให้เกิดความวิบัติกับตัวเอง พวกท่านจงอย่าขอดุอาอ์ให้เกิดความวิบัติกับทรัพย์สิน พวกท่านจงอย่าขอดุอาอ์ให้เกิดความวิบัติกับลูกๆ จงอย่าขอดุอาอ์ไม่ดี แล้วมันก็ตรงกับเวลาที่พระองค์อัลลอฮฺทรงตอบรับ(โดยไม่ตั้งใจ) แล้วพระองค์ทรงตอบสนองพวกท่าน (แล้วพวกท่านก็ต้องนั่งทุกข์เสียใจภายหลัง)” (เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 4 หน้า 3304 หมายเลข 3009 )

 

และดูเหมือนว่าภัยพิบัติ โรคร้าย และการเสียผู้เสียคนของลูกหลานเรานั้น ส่วนมากจะเกิดขึ้นเพราะการที่เราขอดุอาอ์สาปแช่งพวกเขาเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยตระหนักในเรื่องนี้ แล้วจะมีกี่คนที่ครุ่นคิดไตร่ตรอง ?

ความรีบร้อนนั้น บางทีอาจจะอยู่ในรูปของความลุกลี้ลุกของคนๆ หนึ่งในการขอให้พระองค์อัลลอฮฺทรงตอบรับการดุอาอ์ ซึ่งท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้รายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เคยกล่าวว่า : 

«يُسْتَجَابُ لأَحَدِكُمْ مَا لَمْ يَعْجَلْ، فَيَقُولُ قَدْ دَعَوْتُ رَبِّى فَلَمْ يَسْتَجِبْ لِى» [مسلم برقم 2735]

ความว่า : “ดุอาอ์ของทุกคนย่อมจะได้การตอบรับตราบใดที่เขาไม่ด่วนรบเร้าให้สนองตอบ เช่นกล่าวว่า ฉันขอดุอาอ์ต่อพระเจ้าของฉันแล้ว แต่พระองค์ไม่ตอบรับฉันเลย” (เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 4 หน้า 2095 หมายเลข 2735)

 

บางทีอาจจะอยู่ในรูปของการผลีผลามในละหมาดโดยไม่รุกูอฺหรือสูญูดอย่างสมบูรณ์  เขาละหมาดโดยไม่มีฏุมะนีนะฮฺ หรือสมาธิและความสงบเสงี่ยม ดังที่มีระบุในหะดีษของอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ว่า :มีชายคนหนึ่งละหมาดข้างๆ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงได้กล่าวกับเขาว่า :

«ارْجِعْ فَصَلِّ فَإِنَّكَ لَمْ تُصَلِّ»

 “ท่านจงละหมาดใหม่อีกครั้ง เพราะท่านเหมือนยังไม่ละหมาดเลย” ท่านทวนกล่าวเช่นนี้สามครั้ง จากนั้นได้กล่าวกับเขาว่า

«إِذَا قُمْتَ إِلَى الصَّلاَةِ فَأَسْبِغِ الْوُضُوءَ، ثُمَّ اسْتَقْبِلِ الْقِبْلَةَ وَكَبِّرْ، ثُمَّ اقْرَأْ مَا تَيَسَّرَ مَعَكَ مِنَ الْقُرْآنِ، ثُمَّ ارْكَعْ حَتَّى تَطْمَئِنَّ رَاكِعًا، ثُمَّ ارْفَعْ حَتَّى تَعْتَدِلَ قَائِمًا، ثُمَّ اسْجُدْ حَتَّى تَطْمَئِنَّ سَاجِدًا» [البخاري برقم 757، ومسلم برقم 397]

“เมื่อท่านจะลุกขึ้นละหมาด ท่านจงทำน้ำละหมาดให้ดี จากนั้นจงหันหน้าไปยังทิศทางที่ตั้งของกิบลัตแล้วกล่าวคำตักบีรฺ จากนั้น จงอ่านอายัตอัลกุรอานที่ท่านถนัด จากนั้นจงก้มรูกูอฺจนสงบนิ่ง จากนั้นก็จงเงยตัวขึ้นจนเหยียดตรงแน่นิ่ง จากนั้นจงก้มลงสุญูดจนสงบนิ่ง (เป็นส่วนหนึ่งของหะดีษในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 1 หน้า 287 หมายเลข 757 และเศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 1 หน้า 298 หมายเลข 397)

 

ปัจจุบันนี้ ในสังคมของเรามีคนหลายคนที่ต้องเสียใจในเวลาที่สายเกินแก้เพราะการลุกลี้ลุกลนในสิ่งที่ต้องสุขุมรอบรอบ เช่น การที่สามีหย่ากับภรรยาด้วยสาเหตุที่ไร้สาระ แล้วเรื่องต่างๆ ก็พลอยเสียไปหมด ลูกๆ ต้องขาดที่พึ่ง บ้านต้องพังสลายและเขาต้องช้ำอกช้ำใจ  พระองค์อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดี ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากความผลีผลามลุกลี้ลุกลน ..แล้วจะมีใครสักกี่คนเล่าที่ตระหนักคิด?

บางทีจะเป็นในรูปของการขับรถอย่างรีบร้อน ข่าวคราวอุบัติเหตุอันน่าสะพรึงกลัวที่คร่าชีวิตคนมากมาย หรือโรคร้ายต่างๆ ที่ทำให้เกิดความพิการถาวรที่เราได้ยินส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากการผลีผลามสะเพร่าลุกลี้ลุกลนทั้งสิ้น

บางทีอยู่ในรูปของการคนหนึ่งอาจจะได้รับริสกีช้าไปหน่อยแล้วเขาก็รีบร้อน จึงหาทางให้ได้มาด้วยหนทางที่หะรอมและผิดกฎหมาย อบู อุมามะฮฺ เราะฏิยัลลอฮฺ อันฮฺ ได้รายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า :

«وَإِنَّ رُوْحَ القُدُسِ نَفَثَ فِي رُوْعِي، أَنَّ نَفْسًا لَنْ تَمُوتَ حَتَّى تَسْتَكْمِلَ أَجَلهَا، وتَسْتَوعِبَ رِزْقَهَا، فَاتَّقُوا اللَّهَ وَأَجْمِلُوا فِي الطَّلَبِ ، وَلاَ يَحْمِلَنَّ أحدَكُمَ اسْتِبْطَاءُ الرِّزْقِ أَنْ يطْلُبَهُ بِمَعْصِيَةٍ، فَإِنَّ الله تعالى لاَ يُنَالُ مَا عِنْدَه إِلاَّ بِطَاعَتِهِ». [حلية الأولياء 10/27، وصححه الألباني في الجامع الصغير برقم 2085]

ความว่า : “มลาอิกะฮฺญิบรีลได้ดลใจบอกฉันว่าคนๆ หนึ่งจะไม่ตายก่อนครบกำหนดอายุขัยของเขาและได้รับริสกีอย่างครบถ้วน ดังนั้น พวกท่านจงเกรงกลัวต่อพระองค์อัลลอฮฺเถิด จงขอดุอาอ์ให้งาม จงอย่าให้ความล่าช้าของการได้ริสกีทำให้เขาต้องขวนขวายด้วยวิธีที่เป็นการฝ่าฝืน เพราะพระองค์อัลลอฮฺนั้น ไม่มีใครได้รับริสกีจากพระองค์เว้นแต่ด้วยการภักดีต่อพระองค์เท่านั้น” (หิลยะตุลเอาลิยาอ์ เล่มที่ 10 หน้า 27 อัล-อัลบานียฺได้ระบุในหนังสืออัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ เล่มที่ 1 หน้า 420 หมายเลข 2085 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

 

ขอขอบคุณพระองค์อัลลอฮฺ พระเจ้าแห่งสากลโลก ขอพระองค์อัลลอฮฺจงทรงประทานความเมตตาและสันติสุขแด่นบีมุหัมมัดของเรา ครอบครัวและสหายของท่านทั้งมวล

 

 

........................................

แปลโดย : ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/419135

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).