Loading

 

เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากโรงเรียนเราะมะฎอน?

เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง

จากโรงเรียนเราะมะฎอน?

 

         มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ พวกเราขอสรรเสริญพระองค์ ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ และขออภัยโทษต่อพระองค์ ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองพวกเราให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายที่เกิดจากตัวเราและการงานของเรา ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงชี้นำทางจะไม่มีผู้ใดทำให้เขาหลงทางได้ และผู้ใดที่พระองค์ทรงทำให้เขาหลงทางก็ไม่มีผู้ใดชี้นำทางเขาได้ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

            เดือนเราะมะฎอนอันเป็นเดือนที่มีความประเสริฐ ทั้งยังอัดแน่นไปด้วยการงานที่ดีและผลบุญมหาศาลนั้น เปรียบได้ดัง ‘โรงเรียน’ ซึ่งเปิดประตูให้ผู้ศรัทธาได้ตักตวงความรู้ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเดือนเราะมะฎอนสิ้นสุดลงและผ่านพ้นไป ผลลัพธ์ที่ผู้ศรัทธาได้รับก็จะยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขาได้ใช้โอกาสในเดือนนี้อย่างเกิดประโยชน์

            เช่นนี้แล้ว มีแนวทางใดบ้างที่จะช่วยให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากโรงเรียนแห่งนี้ได้มากที่สุด? ให้จิตวิญญาณของเราได้อิ่มเอิบกับความดีงาม ให้พฤติกรรมจรรยามารยาทของเราได้รับการอบรมขัดเกลาด้วยหลักคำสอนต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรของเดือนอันประเสริฐนี้ และให้ร่างกายตลอดจนทุกอิริยาบถของเราได้ถือศีลอดอย่างสมบูรณ์แบบ?

บทเรียนด้านจิตวิญญาณ

1. ความยำเกรง

            การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่ช่วยให้จิตใจและจิตวิญญาณมีความบริสุทธิ์ ผู้ใดถือศีลอดในเดือนนี้ด้วยจิตที่เปี่ยมศรัทธาและหวังในผลบุญตอบแทน จิตใจของเขาก็จะมีความผุดผ่อง ห่างไกลจากความชั่วร้ายและการฝ่าฝืน ทั้งนี้ การขัดเกลาจิตใจให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดประการหนึ่งของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ١٨٣ ﴾ [البقرة: ١٨٣] 

ความว่า "บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 183)

            ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน อันนาศิรฺ อัสสะอฺดีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “อัลลอฮฺตะอาลาตรัสถึงประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการถือศีลอด โดยพระองค์ตรัสว่า ﴿ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ ﴾ หมายถึง เพื่อให้การถือศีลอดนำพาพวกเจ้าสู่การบรรลุซึ่งตักวา และด้วยการถือศีลอดนี้ พวกเจ้าก็จะเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่มีความยำเกรง ซึ่งคำว่าตักวานั้นครอบคลุมทุกสิ่งที่อัลลอฮฺทรงโปรดและพอพระทัย ไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งซึ่งเป็นที่รักของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ หรืองดเว้นสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺและเราะสูล

            การถือศีลอดจึงเป็นหนทางที่สำคัญที่สุด ในการที่จะบรรลุซึ่งเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ซึ่งมีความสำคัญ และนำไปสู่ความสุขความสำเร็จ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถือศีลอดนั้นจะมุ่งเข้าหาอัลลอฮฺตะอาลา ด้วยการงดเว้นสิ่งที่จิตใจของเขาถวิลหา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม รวมไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความรักที่มีต่ออัลลอฮฺมีความสำคัญเหนือความรักที่มีต่อตัวเขาเอง” (อัรริยาฎ อันนาซิเราะฮฺ โดย ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน อัสสะอฺดีย์)

            การได้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งก็คือ ‘ตักวา’ หรือความยำเกรงอัลลอฮฺนั้น เป็นบทเรียนแรกจาก ‘โรงเรียนเราะมะฎอน’ ที่ผู้ถือศีลอดพึงตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ผู้ถือศีลอดที่มีความศรัทธาอย่างแท้จริงและหวังในผลบุญนั้น เป้าหมายสำคัญและความมุ่งมั่นของเขาจะไม่หยุดอยู่ที่การขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งตักวาเฉพาะในช่วงเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น แต่ปณิธานความมุ่งมั่นของเขาสูงกว่านั้น กล่าวคือเขาจะถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนด้วยความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะตอกย้ำคำมั่นสัญญาของความเป็นบ่าวอย่างแท้จริง ที่เขามีต่ออัลลอฮฺ อันส่งผลให้เขางดเว้นสิ่งที่เป็นบาปความผิดและข้อห้ามต่างๆ ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่

เดือนเราะมะฎอนสำหรับผู้ศรัทธาที่มีความมุ่งมั่นและความสัตย์จริงนั้น คือช่วงเวลาที่เขาจะปรับปรุงตักวาที่เขามีต่ออัลลอฮฺ เป็นโอกาสที่จะลบล้างบาปความผิดต่างๆ และเป็นวาระแห่งการเตาบัตกลับตัว เขาจะตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ที่จะยืนหยัดเชื่อฟังอัลลอฮฺจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ดังกล่าวนี้คือสภาพของผู้ศรัทธาที่ตระหนักถึงเป้าประสงค์ของเดือนเราะมะฎอน และเข้าใจบทเรียนที่ควรได้รับจากเดือนนี้อย่างถ่องแท้ ความเกรงกลัวที่เขามีต่ออัลลอฮฺจึงมิได้จำกัดแค่ในช่วงเดือนเดียว แต่เป็นความเกรงกลัวที่มีต่อเนื่องตลอดทั้งชีวิต

2. การละหมาดยามค่ำคืน

            ผู้ศรัทธาจะให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการละหมาด ‘กิยามุลลัยลฺ’ หรือละหมาด ‘ตะรอวีหฺ’ ในช่วงค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน และแม้เราะมะฎอนจะผ่านพ้นไปเขาก็ยังดำรงไว้ซึ่งการละหมาดยามค่ำคืน ระลึกถึงอัลลอฮฺ สำนึกในความผิดบาป รวมถึงความดีอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ เนื่องจากว่าผู้ศรัทธานั้น เมื่อได้ละหมาดในเดือนเราะมะฎอนด้วยความศรัทธาที่เต็มเปี่ยมและหวังในผลบุญแล้ว เขาจะรับรู้ถึงความหอมหวานของการยืนละหมาดยามค่ำคืน ซึ่งส่งผลให้จิตใจมีความสุขความสงบ เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาก็คงจะไม่ยอมละทิ้งสิ่งดีๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาตระหนักดีว่าการละหมาดยามค่ำคืนนั้นบ่งบอกถึงความมีเกียรติของเขา และเป็นโอกาสสำคัญที่คำวิงวอนขอของเขาจะได้รับการตอบรับและตอบสนอง อีกทั้งบาปความผิดต่างๆ ก็จะได้รับการอภัย

การละหมาดยามค่ำคืนในเดือนเราะมะฎอน เป็นการฝึกฝนให้ผู้ศรัทธาตระหนักถึงความสำคัญของการละหมาดยามค่ำคืนในเดือนอื่นๆ การได้ยืนละหมาดยามค่ำคืนในเดือนนี้หรือเดือนใดก็ตาม ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับผู้ศรัทธา และเป็นการลบล้างความผิด ทั้งยังเป็นสาเหตุให้ได้รับผลบุญตอบแทนอันใหญ่หลวง ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า

﴿ وَمِنَ ٱلَّيۡلِ فَتَهَجَّدۡ بِهِۦ نَافِلَةٗ لَّكَ عَسَىٰٓ أَن يَبۡعَثَكَ رَبُّكَ مَقَامٗا مَّحۡمُودٗا ٧٩ ﴾ [الإسراء: ٧٩] 

ความว่า "และจากบางส่วนของกลางคืนเจ้าจงตื่นขึ้นมาละหมาดในเวลาของมัน เป็นการสมัครใจสำหรับเจ้า หวังว่าพระเจ้าของเจ้าจะทรงให้เจ้าได้รับตำแหน่งที่ถูกสรรเสริญ" (อัล-อิสรออ์: 79)

3. การใคร่ครวญอัลกุรอาน

            การอ่านอัลกุรอานในเดือนเราะมะฎอนทำให้ผู้ศรัทธาได้รับบทเรียนอันล้ำค่าที่นำพาสู่สัจธรรมและหนทางแห่งความดีงาม ทั้งยังมีส่วนทำให้ความศรัทธาของเขาที่มีต่ออัลลอฮฺเพิ่มพูนขึ้นอีกด้วย เมื่อได้สัมผัสผลลัพธ์อันน่าประทับใจที่ได้จากการอ่านอัลกุรอานในเดือนนี้ เขาก็ย่อมมีความรักความผูกพันต่ออัลกุรอาน และอ่านอัลกุรอานทุกวันอย่างสม่ำเสมอแม้เดือนเราะมะฎอนจะล่วงผ่านไปแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะเขาได้รับรู้ถึงผลของการอ่านอัลกุรอานที่มีต่อจิตวิญญาณของเขา และต่อการดำเนินชีวิตอยู่บนทางนำอย่างเที่ยงตรง จึงกล่าวได้ว่าเดือนเราะมะฎอนนั้น นอกจากจะเป็นเดือนที่ผู้ศรัทธาปลีกตัวเพื่อทุ่มเทให้กับการอ่านอัลกุรอานแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เขาได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งเตือนสติให้เขาระลึกถึงอัลลอฮฺ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดก็คืออัลกุรอาน ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ إِنَّ هَٰذَا ٱلۡقُرۡءَانَ يَهۡدِي لِلَّتِي هِيَ أَقۡوَمُ وَيُبَشِّرُ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ ٱلَّذِينَ يَعۡمَلُونَ ٱلصَّٰلِحَٰتِ أَنَّ لَهُمۡ أَجۡرٗا كَبِيرٗا ٩ ﴾ [الإسراء: ٩] 

ความว่า "แท้จริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง และแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบความดีทั้งหลายว่า สำหรับพวกเขานั้นจะได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่" (อัล-อิสรออ์: 9)

            การอ่านอัลกุรอานของผู้ศรัทธานั้นมิได้จำกัดช่วงเวลาเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น แต่ยังต่อเนื่องไปถึงหลังเดือนเราะมะฎอน ตราบเท่าที่เขายังจำเป็นต้องได้รับการเตือนสติ ซึ่งแน่นอนว่าความจำเป็นดังกล่าวนั้นไม่มีวันสิ้นสุดตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่!

            เราะมะฎอนคือโรงเรียนแห่งอัลกุรอาน โดยอัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในเดือนนี้ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ شَهۡرُ رَمَضَانَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ فِيهِ ٱلۡقُرۡءَانُ ﴾ [البقرة: ١٨٥] 

ความว่า "เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 185)

ด้วยเหตุนี้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงหมั่นทบทวนใคร่ครวญอัลกุรอาน พร้อมๆ กับท่านญิบรีลในเดือนเราะมะฎอน ดังปรากฏรายงานที่ถูกต้องซึ่งบันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม

            ซึ่งถ้าหากเราพิจารณาไตร่ตรองความสัมพันธ์ระหว่างท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กับอัลกุรอาน จะพบว่าท่านเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอ่านและใคร่ครวญอัลกุรอานมากที่สุด ดังนั้น เมื่อมีผู้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ถึงอุปนิสัยของท่านเราะสูล นางจึงตอบว่า “อุปนิสัยของท่านก็คือคำสอนของอัลกุรอาน”

            ทั้งนี้ ท่านมิได้ให้ความสำคัญกับการทบทวนศึกษาอัลกุรอานเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น เพียงแต่ว่าในเดือนเราะมะฎอนท่านจะทบทวนใคร่ครวญอัลกุรอานมากกว่าเดือนอื่นๆ ดังนั้น พวกเราก็ควรจะให้เดือนเราะมะฎอนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทบทวนศึกษาและอ่านอัลกุรอานอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการปรับปรุงขัดเกลาจรรยามารยาทให้สอดคล้องกับสิ่งที่อัลกุรอานสอนสั่ง จะเห็นว่าอัลลอฮฺตะอาลาทรงใช้ให้เราอ่านและทบทวนอัลกุรอานอย่างใคร่ครวญทั้งในเดือนเราะมะฎอนและเดือนอื่นๆ โดยพระองค์ตรัสว่า

﴿ كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ إِلَيۡكَ مُبَٰرَكٞ لِّيَدَّبَّرُوٓاْ ءَايَٰتِهِۦ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ٢٩ ﴾ [ص : ٢٩] 

ความว่า "คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่างๆ ของอัลกุรอานและเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ" (ศอด: 29)

            แต่เหตุใดผู้คนส่วนใหญ่จึงทุ่มเทให้กับการอ่านอัลกุรอานในเดือนเราะมะฎอน แต่กลับทอดทิ้งอัลกุรอานในเดือนที่เหลืออีกตลอดทั้งปีอย่างไร้เยื่อใย?

4. ความบริสุทธิ์ใจ

            และจากโรงเรียนเราะมะฎอนนี้ ผู้ศรัทธายังได้เรียนรู้เรื่อง ‘อิคลาศ’ หรือความบริสุทธิ์ใจ และการมีเจตนาที่ถูกต้อง ทั้งนี้ การถือศีลอดของผู้ศรัทธาในเดือนเราะมะฎอนนั้น มีเพียงเขากับอัลลอฮฺเท่านั้นที่รู้ว่า ในความเป็นจริงแล้วเขาถือศีลอดหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความหมายของความบริสุทธิ์ใจอย่างชัดเจนยิ่ง ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงทรงตอบแทนผู้ถือศีลอดด้วยผลบุญที่ยิ่งใหญ่มหาศาล

อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสในหะดีษกุดสีย์บทหนึ่งว่า

« كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَم لَهُ، الحَسَنَةُ بَعَشرَةِ أَمْثَالِهَا إلى سَبْعِ مِائَة ضِعْفٍ إِلا الصِّيَام ؛ فَإِنَّهُ لي وَأَنَا أَجْزِيْ بِهِ ، إنَّهُ تَرَكَ شَهْوَتَهُ وَطَعَامَهُ وَشَرَابَهُ مِن أَجْلِي.  للصَائِمِ فَرْحَتَان: فَرْحَةٌ عِنْدَ فِطْرِهِ، وَفَرْحَةٌ عندَ لِقَاءِ رَبِّهِ ، ولَخلُوْفُ فَمِ الصَائِمِ أَحَبُّ عندَ اللهِ مِنْ رِيْحِ المِسْكِ » [رواه البخاري ومسلم]  

ความว่า “การงานทุกประการของมนุษย์นั้นจะได้รับผลบุญตามส่วนที่เขาได้กระทำ โดยความดีหนึ่งจะได้รับผลบุญตอบแทนสิบเท่าเรื่อยไปจนเจ็ดร้อยเท่า ยกเว้นการถือศีลอด โดยผลตอบแทนของการถือศีลอดนั้นเป็นสิทธิของข้า และข้าจะตอบแทนตามความประสงค์ของข้าเอง แท้จริงเขาได้งดเว้นอารมณ์ความใคร่ อาหาร และเครื่องดื่มเพื่อข้า สำหรับผู้ถือศีลอดนั้นมีความเบิกบานใจอยู่สองครั้ง: เมื่อเขาละศีลอดเขาจะเบิกบานใจกับการละศีลอดนั้น และเมื่อเขาได้พบองค์อภิบาลของเขา เขาจะเบิกบานใจ (กับผลบุญที่ได้) จากการถือศีลอดของเขา และแท้จริงแล้วกลิ่นปากของผู้ที่ถือศีลอดนั้น มีกลิ่นหอม ณ อัลลอฮฺ ยิ่งกว่ากลิ่นของน้ำหอมมิสกฺ(ชะมดเชียง)เสียอีก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)  

            ซึ่งการที่อัลลอฮฺทรงปิดผลบุญที่ผู้ถือศีลอดจะได้รับไว้เป็นความลับ ก็เนื่องจากความอิคลาศบริสุทธิ์ใจที่เขามีต่ออัลลอฮฺ ด้วยการงดเว้นอารมณ์ความใคร่และการรับประทานอาหารเพื่อพระองค์ ทั้งนี้ หากว่าเขาจะแสดงออกแต่ภายนอกว่าถือศีลอดทั้งที่ความเป็นจริงมิได้ถือก็ย่อมทำได้ โดยที่ไม่มีผู้ใดจะล่วงรู้ความจริงได้นอกจากอัลลอฮฺ ดังนั้น เมื่อเขาถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจ และยำเกรงอัลลอฮฺแม้ในขณะที่อยู่ตามลำพังเพียงคนเดียวก็ตาม ก็เป็นการสมควรที่เขาจะได้รับผลบุญตอบแทนอย่างไร้ขีดจำกัด

            สิ่งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้ถือศีลอดจะได้รับจากเดือนเราะมะฎอน เป็นการเน้นย้ำถึงความเป็นบ่าวอย่างแท้จริงต่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ قُلۡ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحۡيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ ٱلۡعَٰلَمِينَ ١٦٢ لَا شَرِيكَ لَهُۥۖ وَبِذَٰلِكَ أُمِرۡتُ وَأَنَا۠ أَوَّلُ ٱلۡمُسۡلِمِينَ ١٦٣ ﴾ [الأنعام: ١٦٢،  ١٦٣]

ความว่า "จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด)ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน การอิบาดะฮฺของฉัน การมีชีวิตของฉัน และการตายของฉัน ทั้งหมดนั้นล้วนเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก ไม่มีภาคีใดๆ แก่พระองค์ และด้วยสิ่งนั้นแหละข้าพระองค์ถูกใช้ และข้าพระองค์คือคนแรกในหมู่ผู้สวามิภักดิ์ทั้งหลาย" (อัล-อันอาม: 162-163)

            และพระองค์ตรัสว่า

﴿ قُلِ ٱللَّهَ أَعۡبُدُ مُخۡلِصٗا لَّهُۥ دِينِي ١٤ ﴾ [الزمر: ١٤] 

ความว่า "จงกล่าวเถิด เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้นที่ฉันเคารพภักดีโดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของฉันต่อพระองค์" (อัซ-ซุมัรฺ: 14)

            ซึ่งอิบาดะฮฺหรือการเคารพภักดีนั้นครอบคลุมทุกคำพูด การกระทำภายนอกหรือสิ่งที่อยู่ภายในใจ อันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงพอพระทัย ทั้งนี้ หากว่าความอิคลาศเป็นสาเหตุให้ผู้ถือศีลอดได้รับผลบุญอันใหญ่หลวงแล้ว ความอิคลาศในอิบาดะฮฺอื่นๆ ไม่ว่าจะในเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนใด ก็ถือเป็นสาเหตุของการได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่เช่นกัน ทั้งนี้ ความอิคลาศซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้อิบาดะฮฺถูกต้องใช้ได้นั้น ถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่สุดข้อหนึ่งที่ผู้ถือศีลอดได้เรียนรู้จากเราะมะฎอน เป็นบทเรียนที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวเขาทั้งในด้านศาสนาหรือการใช้ชีวิตในโลกดุนยา

บทเรียนด้านการอบรมขัดเกลา

5. ความอดทน

            เราะมะฎอนคือเดือนแห่งการอดทน ดังจะเห็นว่าจุดเด่นสำคัญของเดือนนี้คือ การควบคุมอารมณ์ความต้องการด้านอาหารควบคู่ไปกับความต้องการทางเพศ ในเดือนนี้ผู้ศรัทธาจะควบคุมตัวเองมิให้กระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดข้อห้ามต่างๆ เพื่อให้การถือศีลอดของเขาเป็นการถือศีลอดที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาและหวังในผลบุญ อันจะส่งผลให้เขาได้รับผลบุญที่ผู้ถือศีลอดพึงได้รับ

            ผู้ถือศีลอดต้องอดทนต่อความหิวกระหาย อดทนต่อการงดเว้นสิ่งที่ไร้สาระ และคำพูดโป้ปดหรือหยาบคาย และเขายังต้องมีความอดทนในการอ่านอัลกุรอาน และละหมาดตะรอวีหฺ หรือกิยามุลลัยลฺ โดยมุ่งมั่นที่จะได้รับการอภัยในบาปความผิด และได้มาซึ่งความพอพระทัยของพระผู้อภิบาล ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ اللهَ فَرَضَ عَلَيْكُم صِيَامَ رَمَضَان ، وَسَنَنْتُ لَكُم قِيَامَهُ ؛ فَمَنْ صَامَهُ وَقَامَهُ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا خَرَجَ مِنْ ذُنُوْبِهِ كَيَوْمِ وَلَدَتْهُ أُمُّهُ » [رواه النسائي]  

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติให้การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนเป็นข้อบังคับที่พวกท่านต้องปฏิบัติ และฉันก็ได้วางแนวทางการละหมาดยามค่ำคืนในเดือนนี้ให้พวกท่านได้ยึดเป็นแบบอย่าง ดังนั้น ผู้ใดถือศีลอดและละหมาดยามค่ำคืนในเดือนนี้ด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธาและหวังในผลบุญตอบแทน เขาจะหลุดพ้นจากบาปความผิดต่างๆ (กระทั่งปราศจากบาปใดๆ) เหมือนเมื่อครั้งที่มารดาของเขาให้กำเนิดเขาออกมา” (บันทึกโดยอันนะสาอีย์)

              เมื่อเดือนเราะมะฎอนผ่านพ้นไป ผู้ศรัทธาจะพบว่าตัวเขานั้นมีความพร้อมที่จะอดทนในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เคยชินกับการหักห้ามใจให้หลีกห่างจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ และสามารถดำรงตนอยู่ในความดีงามและออกห่างจากสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนได้อย่างไม่ยากลำบาก ซึ่งนี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญข้อหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากเดือนเราะมะฎอน

ความอดทนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ณ อัลลอฮฺ โดยถือเป็นครึ่งหนึ่งของการศรัทธา และยังเป็นสาเหตุให้ผู้ศรัทธาได้รับผลบุญอย่างไร้ขีดจำกัดด้วย ดังนั้น การบรรลุซึ่งเป้าหมายสำคัญนี้ในเดือนเราะมะฎอน จึงถือเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งผู้ถือศีลอดพึงได้รับจากการถือศีลอด แม้เราะมะฎอนจะผ่านพ้นไป แต่ความอดทนของเขาในการประกอบคุณงามความดี หรืออดทนที่จะไม่กระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืน ก็มิได้สิ้นสุดไปด้วย

เขาเคยอดทนต่อความหิวกระหายในเดือนเราะมะฎอนเพียงเพราะหวังในผลบุญจากอัลลอฮฺเช่นไร ในเดือนอื่นๆ เขาก็จะอดทนหลีกเลี่ยงสิ่งที่หะรอมต้องห้ามอย่างหนักแน่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน บาปความผิดต่างๆ หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืนและเป็นสิ่งชั่วร้าย เขาจะยึดมั่นในความอดทน เพราะความอดทนทำให้ศรัทธาของเขาสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นหนทางสู่ความรอดพ้นปลอดภัยและประสบความสำเร็จ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿وَٱلۡعَصۡرِ ١ إِنَّ ٱلۡإِنسَٰنَ لَفِي خُسۡرٍ ٢ إِلَّا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ وَعَمِلُواْ ٱلصَّٰلِحَٰتِ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ ٣ ﴾ [العصر: ١،  ٣] 

ความว่า "ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน" (อัล-อัศรฺ: 1-3)

6. การต่อสู้

การต่อสู้ถือเป็นอีกบทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราได้รับจากโรงเรียนเราะมะฎอน ตลอดเดือนเราะมะฎอนผู้ถือศีลอดต้องยืนหยัดต่อสู้ไม่ว่ากับตัวเอง อารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือชัยฏอน พยายามข่มจิตใจมิให้เตลิดไปกับสิ่งชั่วร้าย และขจัดความรู้สึกนึกคิดที่ชักจูงไปในทางที่ไม่ดีงาม เพื่อที่เขาจะได้รับผลบุญของการถือศีลอดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

การต่อสู้ระหว่างถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนดังที่กล่าวมานี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะช่วยให้มีความมั่นคงหนักแน่นในศาสนา อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَٱلَّذِينَ جَٰهَدُواْ فِينَا لَنَهۡدِيَنَّهُمۡ سُبُلَنَاۚ وَإِنَّ ٱللَّهَ لَمَعَ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ٦٩ ﴾ [العنكبوت: ٦٩] 

ความว่า "และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอน เราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่กับผู้กระทำความดีทั้งหลาย" (อัล-อันกะบูต: 69)

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถือศีลอดจะสัมผัสกับผลลัพธ์ของการฝึกฝนตนเองให้ยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน โดยเขาสามารถที่จะประกอบอิบาดะฮฺได้อย่างไม่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการระลึกถึงอัลลอฮฺ การอ่านอัลกุรอาน หรือการปฏิบัติสิ่งต่างๆ ที่เป็นฟัรฎูและสุนัตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ยิ่งเขาต่อสู้เอาชนะตัวเองได้มากเพียงไร ก็ยิ่งส่งผลชัดเจนต่อความสามารถของเขาในการประกอบคุณความดี

            นี่คืออีกบทเรียนหนึ่งที่มุสลิมผู้ชาญฉลาดจะได้รับและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตของเขาหลังเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้ การจะปฏิเสธแรงชักจูงของจิตใจใฝ่ต่ำ อารมณ์ความรู้สึก ชัยฏอนมารร้าย หรือสิ่งล่อลวงเย้ายวนใจต่างๆ ในโลกดุนยาได้นั้น ต้องอาศัยการยืนหยัดต่อสู้อย่างแน่วแน่ ไม่ว่าในเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ เดือนเราะมะฎอนจึงเป็นเสมือนโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้ศรัทธาได้ทบทวนความตั้งใจที่จะต่อสู้เอาชนะจิตใจตัวเอง และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าต่อไปอย่างยืนหยัดและมั่นคง เมื่อเดือนเราะมะฎอนผ่านพ้นไปเขาก็จะยังคงยืนหยัดต่อสู้ โดยหวังผลตอบแทนในโลกอาคิเราะฮฺและความเมตตาของพระผู้อภิบาล อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ لَقَدۡ خَلَقۡنَا ٱلۡإِنسَٰنَ فِي كَبَدٍ ٤ ﴾ [البلد: ٤] 

ความว่า "โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาเพื่อเผชิญความยากลำบาก" (อัล-บะลัด: 4)

            นักอรรถาธิบายอัลกุรอานกล่าวว่า หมายถึง เขาจะต้องต่อสู้ตรากตรำกับสิ่งต่างๆ ในโลกดุนยาและในอาคิเราะฮฺ ซึ่งการต่อสู้ตรากตรำนี้ครอบคลุมทุกช่วงอายุของมนุษย์ ดังปรากฏในหะดีษซึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« أَفْضَلُ الجِهَادِ أَنْ تُجَاهِدَ نَفْسَكَ وَهَوَاكَ في ذَاتِ اللهِ عزَّ وَجَلّ » [رواه أبو نعيم]  

ความว่า “การญิฮาดต่อสู้ที่ประเสิรฐที่สุด คือการที่ท่านต่อสู้กับตัวเองและอารมณ์ความรู้สึก เพื่ออัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอบู นุอัยมฺ)

บทเรียนด้านจรรยามารยาท

7. การระวังคำพูด

          มีหะดีษหลายบทที่กล่าวถึงมารยาทอันงดงามข้อนี้ และข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับคำพูดขณะถือศีลอด เพื่อให้การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนและการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นอุปนิสัยและจรรยามารยาทติดตัวไปตลอดชีวิต

            มีรายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«الصِّيَامُ جُنَّةٌ، فَإِذَا كانَ يَوْمُ صَومِ أَحَدِكُم فَلا يَرْفث، وَلا يَصْخَب» [رواه البخاري]

ความว่า “การถือศีลอดนั้นเป็นโล่ป้องกัน ดังนั้นในวันที่คนหนึ่งคนใดในหมู่ท่านถือศีลอด ก็อย่าได้พูดจาลามก หรือเอะอะโวยวาย” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

            หะดีษบทนี้ได้ส่งเสริมให้ผู้ศรัทธาระมัดระวังคำพูด และหลีกเลี่ยงคำพูดที่แข็งกระด้าง หยาบโลน หรือลามกอนาจาร และปรากฏในรายงานหะดีษอีกบทหนึ่งว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لَيْسَ الصِّيَامُ عَنِ الطَعَامِ وَالشَرَابِ، وَإِنَّمَا مِنَ اللَغْوِ وَالرَفَثِ» [رواه ابن حبان]

ความว่า “การถือศีลอดนั้นมิใช่แค่เพียงการงดเว้นอาหารและเครื่องดื่ม แต่ต้องงดเว้นสิ่งไร้สาระและคำพูดที่ลามกอนาจารด้วย” (บันทึกโดย อิบนุ หิบบาน)

            และในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านกล่าวว่า

«مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُوْرِ وَالعَمَلَ بِهِ، وَالجَهْلَ، فَلَيْسَ للهِ حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ» [رواه البخاري]

ความว่า “ผู้ใดไม่งดเว้นคำพูดและการกระทำที่เป็นการโกหกมดเท็จและสิ่งไร้สาระ การอดอาหารและน้ำของเขาก็มิได้เป็นที่ต้องการของอัลลอฮฺแต่อย่างใด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

            เราะมะฎอนจึงเปรียบได้ดังโรงเรียนที่มุสลิมจะเรียนรู้การระมัดระวังคำพูด และฝึกฝนมารยาทการสนทนาพูดคุย ตลอดจนการหลีกเลี่ยงปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ที่มักจะมีลิ้นเป็นต้นเหตุสำคัญ เคยมีผู้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่ามุสลิมคนใดประเสริฐที่สุด? ท่านตอบว่า

«مَنْ سَلِمَ المُسْلِمُوْنَ مِنْ لِسَانِهِ وَيَدِهِ» [رواه البخاري ومسلم]

ความว่า “คือผู้ที่พี่น้องมุสลิมต่างปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

            และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

«مَنْ يَضْمَنْ لِيْ مَا بَيْنَ لِـحْيَيْهِ، وَمَا بَيْنَ رِجْلَيْهِ؛ أَضْمَنْ لَهُ الجَنَّةَ» [رواه البخاري]

ความว่า “ผู้ใดสามารถรักษาสิ่งที่อยู่ระหว่างกระดูกขากรรไกร(ลิ้น) และสิ่งที่อยู่ระหว่างขาของเขา(อวัยวะเพศ)ได้ ฉันขอรับประกันว่าเขาจะได้เข้าสวรรค์” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

            การระวังรักษาลิ้นให้พูดแต่สิ่งที่ดีนั้นถือเป็นการรับประกันอย่างหนึ่งว่าจะได้รับสรวงสวรรค์ตอบแทน ดังนั้น บทเรียนข้อนี้จึงเป็นบทเรียนล้ำค่ายิ่งที่ผู้ศรัทธาได้รับจากการถือศีลอด ทั้งนี้ หากว่าผู้ถือศีลอดสามารถระมัดระวังคำพูดของตนเองเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม มิให้กล่าวถ้อยคำที่หยาบคาย ติฉินนินทา ยุแยงให้ผู้อื่นทะเลาะกัน ตลอดจนคำพูดที่ไร้สาระ หรือโกหกหลอกลวง แน่นอนว่าสิ่งดังกล่าวจะช่วยให้เขาสามารถควบคุมระวังคำพูดของเขาในเดือนอื่นๆ ได้

8. งดเว้นการตอบโต้ด้วยสิ่งที่ไม่ดี

          บทเรียนข้อนี้มีหะดีษเป็นหลักฐานสนับสนุน นั่นคือคำกล่าวของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า

«فَإِنِ امْرًؤٌ سَابَهُ أَحَدٌ أَوْ قَاتَلَهُ، فَلْيَقُلْ: إِنِّي امْرُؤ صَائِمٌ» [رواه البخاري]

ความว่า “ถ้าหากว่ามีผู้ใดด่าทอต่อว่าเขา หรือชวนทะเลาะเบาะแว้ง ก็ให้เขากล่าวแต่เพียงว่า: ฉันเป็นผู้ที่ถือศีลอด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

            มารยาทข้อนี้นอกจากจะช่วยเตือนสติผู้ถือศีลอดมิให้พลั้งเผลอตอบโต้ผู้ที่ด่าว่าตนด้วยถ้อยคำที่ไม่ดีไม่งามอันเป็นผลให้การถือศีลอดของเขาไม่สมบูรณ์แล้ว ยังฝึกให้เขาเป็นคนรู้จักให้อภัยจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวต่อเนื่องไปแม้กระทั่งหลังสิ้นสุดเดือนเราะมะฎอน โดยเขาจะสามารถยกโทษ ให้อภัย และมีความอดทนอดกลั้น และด้วยมารยาทอันประเสริฐนี้ เขาจะได้รับผลบุญและรางวัลอันยิ่งใหญ่ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงสัญญาไว้สำหรับผู้ที่ชอบให้อภัยแก่ผู้อื่น

            ผู้ศรัทธานั้นนอกจากจะระวังรักษาคำพูดและหลีกเลี่ยงการด่าทอผู้อื่นขณะถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนแล้ว จำเป็นที่เขาจะต้องตอบโต้ผู้อื่นด้วยวิธีการที่ดีด้วย ดังที่อัลลอฮฺตรัสถึงคุณลักษณะของ ‘อิบาดุรเราะหฺมาน’ หรือบ่าวซึ่งเป็นที่รักของพระองค์ว่า

﴿ وَإِذَا خَاطَبَهُمُ ٱلۡجَٰهِلُونَ قَالُواْ سَلَٰمٗا ٦٣ ﴾ [الفرقان: ٦٣] 

 ความว่า "และเมื่อพวกเขาโง่เขลากล่าวทักทายพวกเขา พวกเขาจะกล่าวว่า ศานติ หรือสลาม" (อัล-ฟุรกอน: 63)

            เดือนเราะมะฎอนจึงเป็นดังโรงเรียนที่ช่วยขัดเกลาและส่งเสริมมารยาทข้อนี้ ด้วยการให้ผู้ถือศีลอดกล่าวตอบผู้ที่มาหาเรื่องแต่เพียงว่า إنّي صَائِمٌ (ฉันถือศีลอด)

            วันหนึ่งระหว่างที่ท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เดินทางพร้อมด้วยองครักษ์ประจำตัวผ่านสถานที่หนึ่งซึ่งมืดมาก ท่านได้เดินชนชายผู้หนึ่งโดยมิได้เจตนา ชายผู้นั้นจึงกล่าวตวาดขึ้นมาว่า “นี่คุณบ้าหรือไง?” ท่านอุมัรฺ กล่าวตอบแต่เพียงว่า “เปล่า” จังหวะนั้นองครักษ์ของท่านก็พุ่งเข้าหาชายคนดังกล่าวเพื่อจะทำการสั่งสอน แต่ท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ ได้ห้ามไว้พร้อมกล่าวว่า “ช้าก่อน เขาเพียงแต่ถามว่าฉันบ้าหรือเปล่า ซึ่งฉันก็ตอบเขาไปแล้ว”

            คำตอบของท่านอุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ ดังกล่าวนี้คือมารยาทเดียวกับสิ่งที่อิสลามสอนให้ผู้ถือศีลอดพึงยึดถือ และคำพูดเช่นนี้คือสิ่งที่อิสลามส่งเสริม กล่าวคือเป็นคำพูดที่ไม่นำพาไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย เช่นนี้แหละคือลักษณะของผู้ศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นมารยาทหรือคำพูดของเขาล้วนนำมาซึ่งสันติและความสงบสุข

9. การให้อภัย

          เราะมะฎอนคือเดือนแห่งความเมตตาและการให้อภัย ในเดือนนี้อัลลอฮฺจะทรงประทานความเมตตาอย่างเหลือล้น และจะทรงอภัยให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ โดยในทุกค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนจะมีผู้คนจำนวนมากได้รับความเมตตาให้รอดพ้นจากไฟนรก

          พระองค์ทรงให้สัญญาว่าจะให้อภัยแก่ผู้ที่ถือศีลอดและยืนละหมาดยามค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนอย่างมุ่งมั่นและหวังในผลบุญ และทรงกำหนดให้ ‘ลัยละตุลก็อดรฺ’ เป็นคืนแห่งการอภัยโทษ ความหมายอันยิ่งใหญ่เหล่านี้เป็นแรงผลักดันและฝึกฝนให้ผู้ศรัทธากลายเป็นผู้ที่ชอบให้อภัยและมีเมตตาต่อผู้อื่น ทั้งนี้ ผู้ที่ชอบให้อภัยผู้อื่นนั้น เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการอภัยจากอัลลอฮฺมากกว่าคนทั่วไป เพราะพระองค์ทรงชอบการให้อภัย ดังที่พระองค์ตรัสว่า

﴿ فَٱعۡفُ عَنۡهُمۡ وَٱصۡفَحۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٣ ﴾ [المائ‍دة: ١٣] 

ความว่า "จงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และเมินหน้าเสีย แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงชอบผู้ทำดีทั้งหลาย" (อัล-มาอิดะฮฺ: 13)

          ทั้งนี้ การตอบแทนของอัลลอฮฺนั้นจะขึ้นอยู่กับการกระทำ กล่าวคือผู้ใดให้อภัยผู้อื่น อัลลอฮฺก็จะทรงให้อภัยแก่เขา ผู้ใดยกโทษให้ผู้อื่น อัลลอฮฺก็จะทรงยกโทษให้แก่เขา บทเรียนจากเดือนเราะมะฎอนข้อนี้ถือเป็นข้อคิดสำคัญสำหรับผู้ศรัทธา เรื่องการให้อภัยต่อความผิดพลาดของผู้อื่น และการมีความเมตตาต่อผู้ที่กระทำผิด อัลลอฮฺตรัสชื่นชมผู้ที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า

﴿ وَٱلۡكَٰظِمِينَ ٱلۡغَيۡظَ وَٱلۡعَافِينَ عَنِ ٱلنَّاسِۗ وَٱللَّهُ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ١٣٤ ﴾ [آل عمران: ١٣٤] 

ความว่า "และบรรดาผู้ข่มโทษและบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย" (อาล อิมรอน: 134)

บทเรียนด้านสังคม

10. การบริจาคให้ทาน

          เป็นที่ทราบกันดีว่าเดือนเราะมะฎอนนั้นเป็นเดือนแห่งความเอื้ออาทรและการให้ เป็นเดือนแห่งการเผื่อแผ่และบริจาคทาน ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้เป็นแบบอย่างของเรานั้น ในเดือนเราะมะฎอนท่านจะเป็นผู้ที่รีบเร่งต่อการเอื้ออาทรและเผื่อแผ่ต่อผู้ยากไร้อย่างไม่รีรอ ยิ่งกว่าสายลมที่พัดผ่าน (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม) ไม่ว่าผู้ใดร้องขออะไรจากท่าน ท่านก็จะให้ (บันทึกโดย อะหฺมัด)

            สิ่งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ถือศีลอด เป็นการฝึกฝนให้เขาเป็นผู้ที่มีความเอื้ออาทรและเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ยากจนยากไร้และผู้ขัดสน

            ลองพิจารณาดูสภาพของผู้ถือศีลอดในขณะที่เขาได้สัมผัสกับความอ่อนเพลียและความหิวกระหาย เขาจะรู้สึกเช่นไร? เมื่อเขาเผื่อแผ่ทำดีต่อผู้ยากไร้ที่ขัดสนเงินทอง แน่นอนว่าเขาย่อมรับรู้ได้ถึงความทุกข์ทรมานและความหิวโหยที่ผู้ยากไร้คนดังกล่าวต้องเผชิญในเดือนอื่นๆ นอกจากเดือนเราะมะฎอนซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขามีความเอื้ออาทรและเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น

            การบริจาคทานนั้นอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนด้วยผลบุญอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคในเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนอื่นๆ เพียงแต่ผลบุญของการบริจาคในเดือนเราะมะฎอนนั้นจะมากกว่าเป็นทวีคูน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ในสวรรค์นั้นมีห้องหับต่างๆ ซึ่งผู้ที่อยู่ด้านบนสามารถมองเห็นผู้ที่อยู่ด้านล่าง และผู้ที่อยู่ด้านล่างก็สามารถมองเห็นผู้ที่อยู่ด้านบนได้” เศาะหาบะฮฺกล่าวถามว่า “มันถูกเตรียมไว้สำหรับผู้ใดหรือครับท่านเราะสูล?” ท่านตอบว่า “สำหรับผู้ที่พูดจาไพเราะ บริจาคอาหาร ถือศีลอดอย่างสม่ำเสมอ และละหมาดยามค่ำคืนขณะที่ผู้อื่นกำลังหลับใหล” (บันทึกโดยอะหฺมัด)

            เราะมะฎอนจึงเป็นเดือนที่ส่งเสริมให้ผู้ศรัทธามีความเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นไปได้ว่าด้วยสาเหตุดังกล่าวอัลลอฮฺจึงได้ทรงบัญญัติให้มุสลิมซึ่งบรรลุศาสนภาวะแล้ว และมีอาหารเพียงพอสำหรับวันอีดต้องจ่าย ‘ซะกาตฟิฏรฺ’

11. ความเป็นปึกแผ่นของชาวมุสลิม

          การที่ชาวมุสลิมถือศีลอดอย่างพร้อมเพรียงในช่วงเวลาเดียวกัน ร่วมละหมาดตะรอวีหฺพร้อมกัน ละศีลอดและทานอาหารสะหูรฺพร้อมกัน รวมไปถึงการฉลองรื่นเริงในอีดวันเดียวกัน ล้วนเป็นภาพที่แสดงออกถึงความเป็นปึกแผ่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมุสลิม

มุสลิมทุกคนจึงควรยึดภาพอันงดงามนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพบนพื้นฐานของทางนำและความถูกต้อง อันจะนำซึ่งความผาสุกและความดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และจำเป็นที่มุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความแตกแยกร้าวฉาน ซึ่งเป็นภัยต่อความเป็นปึกแผ่นของมุสลิมยิ่งกว่าอาวุธของข้าศึกศัตรู อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า

﴿ وَٱعۡتَصِمُواْ بِحَبۡلِ ٱللَّهِ جَمِيعٗا وَلَا تَفَرَّقُواْۚ وَٱذۡكُرُواْ نِعۡمَتَ ٱللَّهِ عَلَيۡكُمۡ إِذۡ كُنتُمۡ أَعۡدَآءٗ فَأَلَّفَ بَيۡنَ قُلُوبِكُمۡ فَأَصۡبَحۡتُم بِنِعۡمَتِهِۦٓ إِخۡوَٰنٗا ﴾ [آل عمران: ١٠٣] 

ความว่า "และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน และจำรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีแต่พวกเจ้าขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงให้สนิทสนมกันระหว่างหัวใจของพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็กลายเป็นพี่น้องกันด้วยความเมตตาของพระองค์" (อาล อิมรอน: 103)

 

 

บทส่งท้าย

            พี่น้องมุสลิมที่รัก เดือนเราะมะฎอนนั้นถือเป็นช่วงเวลาแห่งความดีอันประเสริฐที่สุด ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่มุสลิมจะทำความดีและรับผลบุญอันใหญ่หลวง แต่ผู้ศรัทธาที่ชาญฉลาดนั้น ความมุ่งมั่นของเขาจะไม่หยุดอยู่เฉพาะในเดือนเราะมะฎอน แต่เขาจะใช้โอกาสของเดือนเราะมะฎอนเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่คุณความดีในเดือนอื่นๆ และเป็นเสมือนโรงเรียนที่ให้ผู้ศรัทธาได้ปรับปรุงทบทวนเจตนาและความตั้งใจของตน พร้อมมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดในการเคารพภักดีอัลลอฮฺ ทั้งนี้ การงานที่อัลลอฮฺทรงชอบที่สุดนั้น คือการงานที่ได้รับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเป็นการงานเพียงเล็กน้อยก็ตาม และพึงตระหนักไว้เสมอว่าพระผู้อภิบาลของเดือนเราะมะฎอนนั้น ก็คือพระผู้อภิบาลของเดือนอื่นๆ เช่นเดียวกัน และสิ่งใดที่อัลลอฮฺทรงชอบให้กระทำในเดือนเราะมะฎอน พระองค์ก็ทรงชอบให้กระทำสิ่งนั้นในเดือนอื่นๆ เช่นกัน

 

 

.............................

แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/438668

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).