Loading

 

สังคมของเศาะหาบะฮฺ คือ สังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด

สังคมของเศาะหาบะฮฺ

คือ สังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด

          มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ขอความศานติและพรจากอัลลอฮฺจงประสบแด่นบีมุฮัมมัดผู้ถูกส่งมาเพื่อแผ่ความเมตตาสู่สากลโลก ตอลดจนวงศ์วานและเศาะหาบะฮฺทั้งหลายของท่าน

สังคมเศาะหาบะฮฺในสมัยของท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นสังคมที่ได้รับการตั้งสมญาโดยอัลกุรอานว่าเป็นกลุ่มชนที่มีลักษณะ รุกกะอัน สุจญะดัน “สังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด” หมายความว่าเป็นสังคมที่ชอบ
รุกูอฺและสุญูด (หมายถึงละหมาด) โดยพร้อมเพรียงกัน นี่คือลักษณะการดำรงละหมาด โดยเฉพาะละหมาดฟัรฎูทั้งห้าเวลา ทั้งที่เป็นการละหมาดในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน เพราะละหมาดฟัรฎูในรูปแบบญะมาอะฮฺจะได้รับการเป็นสักขีพยาน ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

﴿تَرَىٰهُمۡ رُكَّعٗا سُجَّدٗا يَبۡتَغُونَ فَضۡلٗا مِّنَ ٱللَّهِ وَرِضۡوَٰنٗاۖ ﴾ [الفتح: ٢٩] 

ความว่า “ท่านจะเห็นพวกเขาอยู่ในสภาพที่รุกูอฺ และสุญูด เพื่อแสวงหาความดีและความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ” (อัล-ฟัตหฺ 48:29)

 

หมายความว่า ท่านจะเห็นพวกเขาตั้งมั่นอยู่ในการอิบาดะฮฺทั้งรุกูอฺและสุญูดโดยคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมในผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ รวมทั้งความโปรดปรานจากพระองค์

สังคมเศาะหาบะฮฺในสมัยท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะอยู่ในสภาพที่หมั่นละหมาด นั่นคือการได้รุกูอฺและสุญูดโดยพร้อมเพรียงกันอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้นพวกเขาก็จะแยกย้ายกันออกไปหาความประเสริฐของอัลลอฮฺและความโปรดปรานของพระองค์(ออกไปทำงานหาปัจจัยยังชีพ)ด้วยความขะมักเขม้นและจริงจังตามภาระงานและหน้าที่ต่างๆ ของแต่ละคน เช่น เรียน สอน ค้าขาย ดะอฺวะฮฺ และอื่นๆ

ส่วนละหมาดสุนัต โดยเฉพาะละหมาดกลางคืน (กิยามุลลัยล์) จะเป็นการละหมาดในรูปแบบส่วนบุคคล ยกเว้นละหมาดตะรอวีหฺ ซึ่งโดยปกติแล้วบุคคลทั่วไปไม่สามารถเป็นสักขีพยานต่อการละหมาดประเภทนี้ได้

อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ أَمَّنۡ هُوَ قَٰنِتٌ ءَانَآءَ ٱلَّيۡلِ سَاجِدٗا وَقَآئِمٗا يَحۡذَرُ ٱلۡأٓخِرَةَ وَيَرۡجُواْ رَحۡمَةَ رَبِّهِۦۗ قُلۡ هَلۡ يَسۡتَوِي ٱلَّذِينَ يَعۡلَمُونَ وَٱلَّذِينَ لَا يَعۡلَمُونَۗ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ٩ ﴾ [الزمر: ٩] 

ความว่า “ผู้ที่ทำการภักดีในยามค่ำคืน ในสภาพที่สุญูด และยืนละหมาด โดยที่เขาหวั่นเกรงต่อโลกอาคิเราะฮฺ และหวังความเมตตาของพระผู้อภิบาลของเขา (จะมีเกียรติเท่ากับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้นกระนั้นหรือ?) จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดว่า บรรดาผู้ที่รู้(ถึงแก่นแท้ของอัลลอฮฺและแก่นแท้ของตัวเอง)และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันกระนั้นหรือ? แท้จริง บรรดาผู้มีสติปัญญาอันบริสุทธิ์เท่านั้นที่จะรำลึกถึงอัลลอฮฺเสมอ” (อัซ-ซุมัรฺ 39:9)

 

เพื่อให้มุสลิมทุกคนแสดงออกถึงคุณลักษณะต่างๆ ดังกล่าว ข้าพเจ้าขอเชิญชวนให้ทุกคนยึดมั่นปฏิบัติกับการละหมาดฟัรฎูในรูปของญะมาอะฮฺ พยายามให้ทันมาอยู่ในมัสยิดอย่างน้อยขณะกำลังอิกอมะฮฺ และดำรงการละหมาดด้วยความสำรวมตน พร้อมกับยึดมั่นปฏิบัติกับละหมาดสุนัตต่างๆ เพราะจุดยืนของคนต่อการละหมาดนั้นมีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ

(1) ผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิรฺ) พวกเขาจะไม่ดำรงละหมาด ดังคำตรัสของอัลลอฮฺเกี่ยวกับพวกเขาว่า

﴿ فَلَا صَدَّقَ وَلَا صَلَّىٰ ٣١ ﴾ [القيامة: ٣١] 

ความว่า “ผู้ปฏิเสธศรัทธาจะไม่เชื่อและไม่ดำรงละหมาด” (อัล-กิยามะฮฺ 75:31)

 

(2) ผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) พวกเขาจะดำรงละหมาดด้วยความเกียจคร้าน ดังคำตรัสของอัลลอฮฺเกี่ยวกับพวกเขาว่า

﴿وَإِذَا قَامُوٓاْ إِلَى ٱلصَّلَوٰةِ قَامُواْ كُسَالَىٰ يُرَآءُونَ ٱلنَّاسَ وَلَا يَذۡكُرُونَ ٱللَّهَ إِلَّا قَلِيلٗا ١٤٢ ﴾ [النساء: ١٤٢] 

ความว่า “และเมื่อบรรดาผู้กลับกลอกลุกขึ้นละหมาด พวกเขาจะลุกขึ้นละหมาดอย่างคนเกียจคร้าน เพื่อให้ผู้คนเห็น (ว่าพวกเขาละหมาด) และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺนอกจากเพียงน้อยนิดเท่านั้น” (อัน-นิสาอ์ 4:142)

 

(3) ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) พวกเขาจะดำรงละหมาดด้วยความคุชูอฺและสำรวมตน ไม่ขี้เกียจและไม่หลงลืม ดังคำตรัสของอัลลอฮฺเกี่ยวกับคุณลักษณะของพวกเขาว่า

﴿ قَدۡ أَفۡلَحَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ١ ٱلَّذِينَ هُمۡ فِي صَلَاتِهِمۡ خَٰشِعُونَ ٢ ﴾ [المؤمنون: ١-٢] 

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว ผู้ซึ่งมีความนอบน้อมถ่อมตนในละหมาดของพวกเขา” (อัล-มุอ์มินูน 23:1-2)

 

การละหมาดที่คุชูอฺ หมายถึง การละหมาดของคนใดคนหนึ่งที่จิตใจของเขามีความนอบน้อมและสิโรราบต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา โดยเขาจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ อิริยาบทของการอ่านและการกระกระทำในละหมาดของเขา

 

จำนวนร็อกอัตและสุญูดของสังคมแห่งการรุกูอฺและสุญูด

 ตามซุนนะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และซุนนะฮฺของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมเกี่ยวกับจำนวนร็อกอัตและสุญูดละหมาดประจำวัน ทั้งกลางวันและกลางคืนของพวกเขาคือประมาณ 50 ร็อกอัต หรือประมาณ 100 สุญูด เป็นอย่างน้อย ตามรายละเอียดต่อไปนี้

(1) ละหมาดฟัรฎูจำนวน 17 ร็อกอัต คือ

- ศุบหฺ             2          ร็อกอัต

- ซุฮรฺ              4          ร็อกอัต

- อัศรฺ              4          ร็อกอัต

- มัฆริบ           3          ร็อกอัต

- อิชาอ์            4          ร็อกอัต

  รวม           17      ร็อกอัต (34 สุญูด)

(2) ละหมาดสุนัตเราะวาติบจำนวน 20 ร็อกอัต คือ

- ก่อนศุบหฺ       2          ร็อกอัต

- ก่อนซุฮรฺ        4          ร็อกอัต

- หลังซุฮรฺ        4          ร็อกอัต

- ก่อนอัศรฺ        4          ร็อกอัต

- ก่อนมัฆริบ     2          ร็อกอัต

- หลังมัฆริบ     2          ร็อกอัต

- หลังอิชาอ์      2          ร็อกอัต

  รวม           20      ร็อกอัต (40 สุญูด)

(หรือ 22 ร็อกอัต 44 สุญูด ด้วยการเพิ่มละหมาดสุนัตก่อนอิชาอ์อีก 2 ร็อกอัต)

(3) ละหมาดสุนัตกิยามุลลัลยล์ หรือตะฮัจญุด หรือตะรอวีหฺ หรือวิติร จำนวน 11-13 ร็อกอัต (22-26 สุญูด)

(4) ยังมีละหมาดสุนัตอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่มีระบุในหะดีษเศาะฮีหฺ เช่น สุนัตฎุฮา สุนัตเอาวาบีน สุนัตตะฮียะฮฺมัสยิด สุนัตวุฎูอ์ และอื่นๆ

 

ละหมาดตามซุนนะฮฺ

แบบอย่างการละหมาดที่สมบูรณ์ที่สุดคือการละหมาดของท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านกล่าวว่า

«صَلُّوْا كَمَا رَأَيْتُمُوْ ِنْي أُصَلِّيْ» [البخاري 631، 6008، 7246]

ความว่า “พวกท่านจงดำรงละหมาดดัง (รูปแบบ) ที่พวกท่านได้เห็นฉันดำรงละหมาด” (อัล-บุคอรีย์ 631, 6008, 7246)

 

ส่วนบรรดาอิหม่ามมัซฮับมีหน้าที่เป็นอาจารย์คอยชี้แจงให้ปวงชนทราบถึงรายละเอียดของวิธีการละหมาดที่ถูกต้องตามซุนนะฮฺของท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

 

การละหมาดของผู้ที่จะจากลา

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

«صَلِّ صَلَاةَ مُوَدِّعٍ، كَأَنَّكَ تَرَاهُ فَإِنْ كُنْتَ لَا تَرَاهُ فَإِنَّهُ يَرَاكَ» [سلسلة الأحاديث الصحيحة للألباني 1914]

ความว่า “จงดำรงละหมาดเสมือนกับการละหมาด (ครั้งสุดท้าย)ของผู้ที่กำลังจะจากลามัน จากลาโลกนี้ไป (นั่นคือ) การละหมาดที่เสมือนกับว่าท่านเห็นอัลลอฮฺ เพราะถึงว่าท่านจะไม่เห็นอัลลอฮฺ แต่อัลลอฮฺจะทรงมองเห็นท่านเสมอ” (ในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า) “การละหมาดที่เสมือนกับว่าท่านจะไม่มีโอกาสละหมาดอีกแล้วหลังจากนั้น” (สิลสิละฮฺ อัล-อะหาดีษ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ ของอัล-อัลบานีย์ 1914)

 

ละหมาดตะรอวีหฺพร้อมกับอิหม่าม

ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ قَامَ مَعَ الإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ» [الترمذي 806 حديث حسن]

ความว่า “ผู้ดำรงละหมาดกลางคืน (กิยามุลลัยล์ หรือละหมาดตะรอวีหฺ) พร้อมกับอิหม่ามจนกระทั่งเสร็จสิ้น เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับการดำรงละหมาดตลอดทั้งคืน”  (อัต-ติรมิซีย์ 806 : หะดีษ หะสัน)

 

وفقكم الله لما يحبه ويرضاه. وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم. سبحان ربك رب العزة عما يصفون وسلام على المرسلين والحمد لله رب العالمين.

 

 

...................................

แปลโดย : อุษมาน อิดรีส

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก   http://IslamHouse.com/434234

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).