Loading

 

กระบวนการยุติธรรมด้านกฎหมายครอบครัวและมรดกในประเทศไทย

บทนำ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการสำรวจกระบวนการยุติธรรมด้านกฎหมายครอบครัวและมรดกในประเทศไทย ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และจะมีแนวทางในการปรับปรุงได้อย่างไร โดยเป็นการศึกษาในเชิงโครงสร้างและกระบวนการแบบกว้างๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมในเบื้องต้น เพื่อจะได้นำไปสู่การศึกษาวิจัยในรายละเอียดในโอกาสต่อไป

1. ความจำเป็นในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านกฎหมายครอบครัวและมรดก
อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่สมบูรณ์ สมดุล และครอบคลุมทุกรายละเอียด ไม่สุดโต่งด้านหนึ่งด้านใดแต่เพียงด้านเดียว แต่ทุกด้านถูกจัดลำดับ ประกอบ ประสานกันอย่างลงตัว กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนมีวงจรชีวิตที่ผูกพันธ์อยู่กับพระเจ้า สัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม และกับตัวเอง โดยอิสลามได้กำหนดรูปแบบปฏิบัติในแต่ละด้านไว้อย่างเหมาะสมยิ่ง หากมนุษย์ปฏิบัติศาสนกิจหรืออิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การกิน การดื่ม การนั่ง การนอน การเดิน การสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ และการทำงาน ตลอดจนการดำเนินพิจารณาพิพากษาคดีสอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่อิสลามกำหนด แน่แท้คุณประโยชน์ทั้งหลายก็จะบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติและต่อสังคมทั้งมวล แต่ในทางตรงกันข้าม หากมนุษย์ไม่ยอมดำเนินชีวิตตามบัญญัติแห่งพระเจ้า ความบกพร่องเสียหายก็จะอุบัติขึ้น ทั้งต่อตนเองและสังคมอย่างยากที่จะควบคุม
ศาล โดยทั่วไปถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตทางสังคมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณตราบจนกระทั่งปัจจุบัน ทุกสังคมยังคงต้องมีศาลเพื่อตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม เมื่ออิสลามคือวิถีแห่งชีวิตที่ครอบคลุมรอบด้าน ศาลในอิสลามจึงได้ถูกบัญญัติขึ้นและมีลักษณะเฉพาะซึ่งในที่นี้เรียกว่า ศาลชะรีอะฮฺ ศาลชะรีอะฮฺจึงเป็นบทบัญญัติทางศาสนาอิสลามซึ่งสังคมมุสลิมทุกยุคทุกสมัยและทุกแห่งหนจะเพิกเฉยมิได้ ทั้งนี้เพราะศาลเป็นกลไกสำคัญในอันที่จะสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกอธรรมในสังคม
เมื่อการตัดสินคดีตามบัญญัติแห่งอัลกุรอานเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) สำหรับมุสลิม และศาลชะรีอะฮฺก็เป็นสิ่งจำเป็น การไม่มีศาลชะรีอะฮฺและไม่ดำเนินการตัดสินคดีตามบทบัญญัติแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮฺ จึงเข้าข่ายเป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ อยู่ในความผิดหรือมีบาป

2. ความเป็นไปได้ของการมีศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทย
ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียาอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนา “แนวทางการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทยว่า” ว่าปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺขึ้นในหลายประเทศแม้ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม เพราะฉะนั้นประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีศาลเกิดขึ้นหลายประเภท ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว และยุติธรรม แก่คู่กรณีเป็นสำคัญ ตลอดจนผู้พิพากษาก็ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น ศาลชะรีอะฮฺซึ่งมีลักษณะพิเศษหลายประการที่ไม่เหมือนกับศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงเห็นว่าน่าที่จะจัดให้มีศาลชะรีอะฮฺขึ้นในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ เพราะ
- การจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
- ศาลชะรีอะฮฺไม่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญและหลักความยุติธรรม
- ศาลชะรีอะฮฺอาจจัดตั้งขึ้นในลักษณะของศาลชำนัญพิเศษอื่น เช่น ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญหา
- ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชาวมุสลิม
- สามารถรองรับบุคลากรที่จบด้านชะรีอะฮฺ (กฎหมายอิสลาม) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- เกิดความร่วมมือระหว่างศาลและสถาบันการศึกษาอิสลาม เช่นมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการจัดการอบรมเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญแก่ผู้ที่จะมาทำงานด้านศาล

3. ประโยชน์ของการก่อตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทย
ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียายังได้กล่าวอีกว่าการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทยอาจก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ที่สำคัญมีดังนี้
- ทำให้ชาวมุสลิมพ้นจากบาปและความบกพร่องในการยืนหยัดข้อกำหนดของอัลลอฮฺ
- ทำให้ชาวมุสลิมหลุดพ้นจากการไม่ตัดสินคดีตามข้อกำหนดของอัลลอฮฺ
- สร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นกับชีวิตของชาวมุสลิมบนหลักการของความยุติธรรมตามแนวคิดของอิสลาม
- เป็นการแบ่งเบาภาระงานของศาลยุติธรรม
- สร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวมุสลิมที่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺได้อย่างดี
- สร้างความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

4. ปรัชญาและแนวความคิดในเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านกฎหมายครอบครัวและมรดก
ตามที่ได้กล่าวในตอนต้นว่าอิสลามเป็นศาสนาแห่งวิถีชีวิตดังนั้นกิจการทุกอย่างของมุสลิมจะถูกบัญญัติไว้แล้ว ไม่ว่าจะโดยอัล-กุรอาน อัสสุนนะฮฺ อิจญ์มาอฺ และการกิยาสหรือการเทียบเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก เพราะมุสลิมถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากที่สุด ดังที่ Houssein Nasr ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “หลักการชะรีอะฮฺที่ยังได้รับการปฏิบัติโดยไม่เสื่อมคลายคือเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานะของบุคคล เช่น การสมรส การหย่า และมรดก ซึ่งทั้งหมดนี้รู้จักในนามกฎหมายว่าด้วยสถานะบุคคล กฎหมายเหล่านี้เป็นกำบังและที่มั่นที่คอยช่วยประคับประคองให้สังคมมุสลิมคงไว้ซึ่งความเป็นอิสลาม ถึงแม้ว่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาสังคมจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจการเมืองหลากหลายรูปแบบก็ตาม”
นอกจากนี้หลักเสรีภาพในการนับถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มุสลิมควรได้รับสิทธิการบังคับใช้กฎหมายครอบครัวและมรดกของตนเองอย่างสมบูรณ์แบบ
ถึงแม้ว่ากฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกจะบังคับใช้กับมุสลิมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติมากมายที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หนึ่งในปัญหาดังกล่าวเกิดจากการไม่มีศาลชะรีอะฮฺ ทำให้มุสลิมบางกลุ่มไม่ยอมนำข้อพิพาทขึ้นสุ่ศาลยุติธรรม ถึงแม้ว่าที่ศาลยุติธรรมจะมีดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยคดีตามข้อกฎหมายอิสลามก็ตาม

5. การพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกของชาวมุสลิมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทย
เพื่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกของชาวมุสลิม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบคดีครอบครัวและมรดกของชาวมุสลิมและการผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน ระบบคดีครอบครัวและมรดกและมรดกยังไม่เอื้อต่อชาวมุสลิมได้ ทั้งนี้เพราะยังขาดความอิสระและอำนาจเด็ดขาดของดะโต๊ะยุติธรรมกล่าวคือ ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจแต่เพียงวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามเท่านั้น ส่วนอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นของผู้พิพากษาศาลจังหวัด
นอกจากนั้นคำวินิจฉัยของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามถือสิ้นสุดคู่ความไม่สามารถอุทธรณ์และฎีกาอีกต่อไปทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน


5.1 การพัฒนาระบบวิธีพิจารณาคดีครอบครัวและมรดก
การพัฒนาระบบวิธีพิจารณาความในคดีครอบครัวและมรดกเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะในปัจจุบัน กฎหมายวิธีพิจารณาคดีตามปกติยังไม่เอื้ออำนวยต่อความยุติธรรมและยังขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอิสลามในบางประเด็น ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ได้แก่

ก. อำนาจของดะโต๊ะยุติธรรม
ตามกฎหมายปัจจุบัน ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจแต่เพียงวินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลาม
ข. วิธีพิจารณาคดี
โดยหลัก กระบวนพิจารณาในศาลชะรีอะฮฺจะต้องเป็นไปโดยง่าย รวดเร็ว ประหยัด คู่ความอาจไม่ต้องมีทนายความ และศาลต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดตามบทบัญญัติแห่งอิสลาม ต้องมีการร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลชะรีอะฮฺโดยเฉพาะ เช่น เรื่องพยานในกฎหมายอิสลามอย่างน้อยต้องมี 2 คน พยานที่เป็นหญิง 2 คนเท่ากับพยานเพศชาย 1 คน เป็นต้น
เรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องปรับเปรียบเกี่ยวกับวิธีการหาพยานหลักฐานในคดีครอบครัวและมรดกอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเปลี่ยนบทบาทของผู้พิพากษา จากการที่เน้นระบบการต่อสู้กันโดยคู่ความ (Adversarial System) ก็สมควรจะเพิ่มบทบาทเป็นลักษณะระบบการค้นหาความจริง (Inquisitorial System) มากขึ้น หรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Mixture of Adversarial and Inquisitorial) ดังนั้น สิ่งที่น่าจะถือเป็นแบบอย่างที่ดีในวิธีปฏิบัติของศาลคือการที่ผู้พิพากษามักออกเดินเผชิญสืบไปยังพื้นที่พิพาทที่มีปัญหาขัดแย้งด้วยตนเอง และอาจมีการรับฟังพยานจากในพื้นที่โดยตรง ก็เป็นเรื่องที่น่าจะนำมาปรับใช้มากขึ้น เพราะเรื่องนี้ยังเกิดขึ้นน้อยมากในส่วนของศาลไทย

ค. การแก้ไขกฎหมายสารบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคดีครอบครัวและมรดก
นอกเหนือจากการแก้ไขกฎหมายวิธีสบัญญัติบางเรื่องเพื่อปรับปรุงวิธีพิจารณาคดีครอบครัวและมรดกแล้ว ยังควรแก้ไขกฎหมายสารบัญญัติ กล่าวคือควรจัดทำประมวลกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกผ่านการนิติบัญญัติเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก
ง. ระบบความช่วยเหลือประชาชนในทางคดี
การช่วยเหลือประชาชนในทางคดีโดยจัดให้มีทนายความชัรอีย์คอยให้ความช่วยเหลือ ทนายความชัรอีย์เหล่านี้จะต้องเป็นผู้มีความรู้ทางด้านชะรีอะฮฺเป็นอย่างดีและผ่านการอบรมการเป็นทนายความโดยองค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้นมา


5.2 การจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺ
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีประเทศที่มิใช่มุสลิมหลายประเทศมีการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกของชาวมุสลิม เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกาและอินเดีย ดังนั้นประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ควรเอาอย่างประเทศดังกล่าว
ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับระบบศาลชะรีอะฮฺมีดังต่อไปนี้

ก. รูปแบบศาล
ควรจะเป็นเอกเทศ ศาลชำนัญพิเศษ หรือแผนกศาลของศาลยุติธรรม
ข.ลำดับชั้นของศาล
ในเรื่องลำดับชั้นของศาลชะรีอะฮฺก็มีความสำคัญในเชิงโครงสร้างของระบบศาลโดยรวม คดีที่เสร็จจากศาลชะรีอะฮฺจะอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา (Supreme Court) หรืออุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์โดยให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ดังนั้นในศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์จะต้องจัดตั้งแผนกคดีครอบครัวและมรดกอิสลามโดยเฉพาะ

ค. ระบบผู้พิพากษา ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญศาล
นอกจากผู้พิพากษาแล้ว ศาลชะรีอะฮฺควรแต่งตั้งที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ระบบการพิจารณาพิพากษาคดีเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าผู้พิพากษาจะมีความรู้ในหลักกฎหมายแต่ก็ยังต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงบางอย่าง เช่น การมาประจำเดือนของสตรี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยอิดดะฮฺ ของสตรี


5.3 การพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก
การพัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี เช่น การเจรจาต่อรอง การตั้งอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะกระบวนการไกล่เกลี่ย (Mediation) ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพื่อจะให้เกิดการระงับข้อพิพาทกันโดยสมานฉันท์โดยไม่ต้องฟ้องคดีหรือไม่ต้องให้ศาลมีคำวินิจฉัย ในศาลชะรีอะฮฺของต่างประเทศ เช่น ศาลชะรีอะฮฺในประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศสิงคโปร์จะมีองค์กรหนึ่งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสามีภรรยา ในฟิลิปปินส์องค์กรนี้จะเรียกว่า Agama Arbitration Council ส่วนในสิงคโปร์จะเรียกว่าHakam หรือ arbitrator

6. การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดก
การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพของพิจารณาพิพากษาคดี การพัฒนาดังกล่าวมีหลายรูปแบบ เช่นส่งศึกษาต่อ จัดอบรม ตลอดจนทัศนะศึกษาดูงาน


7. แผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกของชาวมุสลิมในประเทศไทย
เพื่อให้การพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกเป็นไปได้จริง จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โดยจัดให้มีองค์กรผู้รับผิดชอบและมีงบประมาณในการดำเนินการได้อย่างพอเพียง และหากมีการปฏิบัติการตามแผนอย่างเหมาะสม ก็น่าจะเกิดผลต่อการพัฒนาความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการตามแผน มีดังต่อไปนี้


7.1 ขั้นตอนการสำรวจข้อมูลความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกของแต่ละภาคส่วน
การสำรวจข้อมูลความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกเป็นเรื่องสำคัญที่จะได้เห็นพัฒนาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่ามีอยู่อย่างไร ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่สมควรทำการสำรวจ ได้แก่
- ข้อมูลด้านกฎหมายและระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาข้อบกพร่องและหาแนวทางแก้ไข
- ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก เช่น การจัดตั้งสำนักงานจดทะเบียนสมรสและหย่า และสำรวจติดตามการดำเนินการขององค์กรด้านการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการการจัดตั้งแผนกคดีครอบครัวและมรดกในศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา โครงการความช่วยเหลือทางกฎหมายครอบครัวและมรดกของหน่วยงานช่วยเหลือทางกฎหมายต่างๆ หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
- ข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการพัฒนาระบบคดีครอบครัวและมรดก


7.2 ขั้นตอนการตัดสินใจ
เมื่อได้มีการสำรวจข้อมูลความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกของแต่ละภาคส่วนโดยครบถ้วนแล้ว กระบวนการตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพียงแค่เรื่องการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺ ก็จะมีประเด็นปลีกย่อยที่ต้องตัดสินใจมากมาย เช่น ควรตั้งศาลชะรีอะฮฺเป็นศาลพิเศษหรือเป็นแผนกพิเศษในศาลธรรมดาหรือไม่เป็นศาลพิเศษแต่มีกระบวนการพิจารณาพิเศษ ควรให้ศาลพิเศษมีขอบเขตอำนาจ (Jurisdiction) เพียงใด ศาลชะรีอะฮฺควรมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวและมรดกในจังหวัดอื่นนอกเหนือจากศาลชะรีอะฮฺในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ลำดับชั้นของศาล จะมีสองชั้นหรือสามชั้น จะอุทธรณ์ฎีกาอย่างไร ระบบบุคลากรของศาล เช่นผู้พิพากษา ผู้เชี่ยวชาญศาลควรเป็นอย่างไร? บรรยากาศในการพิจารณาคดีและห้องพิจารณาคดีในศาลควรเป็นอย่างไร กฎเกณฑ์เรื่องการค้นหาความจริงในคดี การสืบพยาน การรับฟังพยาน ภาระในการพิสูจน์ การเดินเผชิญสืบควรเป็นอย่างไร?
ปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการตัดสินใจอีกประการหนึ่ง คือไม่ทราบว่าองค์กรใดจะเป็นมีผู้มีความเหมาะสมที่จะตัดสินใจ ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งผูกขาดความคิดและการตัดสินใจไว้องค์กรเดียว ทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และให้ผลของการตัดสินใจเกิดการยอมรับ

7.3 ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อทำให้การตัดสินใจเกิดผลในทางปฏิบัติ
การดำเนินการเพื่อทำให้การตัดสินใจเกิดผลในทางปฏิบัติที่สำคัญประการหนึ่งคือการผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือการดำเนินการยกร่างกฎหมาย โดยเฉพาะการยกร่างกฎหมายสมควรจัดทำโดยองค์กรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม และพยายามนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ที่เป็นไปได้ เช่น ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านพรรคการเมือง ผ่านกรมกองกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกเหนือจากการจัดทำกฎหมายแล้ว สิ่งที่ยังต้องทำยังได้แก่ การพัฒนาข้อมูล การพัฒนาเครือข่ายในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดเตรียมเครื่องมือและข้อมูลให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง รวมทั้งการปรับทัศนคติให้เกิดความเข้าใจในเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกให้ถูกต้องด้วย ซึ่งอาจจัดการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ทั่วไป ความรู้ระดับกลาง และความรู้ชั้นสูง และวางแผนเรื่องบุคลากรในระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว เช่น การศึกษาดูงานภายในและต่างประเทศ การให้ทุนไปศึกษาระดับปริญญาโทหรือเอกทางด้านชะรีอะฮฺ หรือการผลักดันให้มีการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ฯลฯ
การดำเนินการด้านการเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์เรื่องการพัฒนาระบบคดีครอบครัวและมรดกการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับทราบว่ามีพัฒนาการในเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกอย่างไร ดังจะเห็นว่าประเด็นการจัดตั้งศาลชะรีอะฮฺงก็ยังไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชนมากนัก ดังนั้น ในกระบวนการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดก สื่อมวลชนจักต้องร่วมทำงานด้วยตั้งแต่ต้น และคอยเผยแพร่ความคิด ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบโดยตลอด โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลไปยังบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลให้มาก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน


7.4 ขั้นตอนการประเมินผล
ทันทีที่โครงการต่างๆ เริ่มมีการดำเนินการ จำต้องมีกระบวนการประเมินผลควบคู่กันไป ซึ่งที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการประเมินอย่างเป็นระบบ หรือการประเมินผลมักไม่มีความเป็นกลางและไม่มีลักษณะเป็นการประเมินแบบมืออาชีพเพียงพอ ทั้งนี้เพราะผู้เกี่ยวข้องไม่เห็นความสำคัญของการประเมินผลหรือไม่เข้าใจวิธีการประเมินผลที่ถูกต้อง ทางออกของเรื่องนี้ อาจทำได้โดยการเขียนกฎหมายบังคับไว้ให้ทำการประเมินใน 3 ปีหรือ 5 ปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือการตั้งองค์กรประเมินที่เป็นกลาง เหมาะสม เป็นมืออาชีพ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงในทิศทางที่เหมาะสม รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้ของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลในทุกขั้นตอน สร้างเวทีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันของทุกภาคส่วน
โดยสรุป แผนปฏิบัติทุกขั้นตอนข้างต้นจะไม่สามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย ไม่เข้ามาช่วยพิจารณาดำเนินการอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการในส่วนต่างๆ ด้วย ก็ย่อมจะทำให้การดำเนินการมีความสมบูรณ์มากขึ้น

บทสรุป
การสำรวจกระบวนการสร้างความยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกที่มีอยู่ในประเทศไทย ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร และจะมีแนวทางในการปรับปรุงได้อย่างไร ที่เป็นวัตถุประสงค์ของบทความนี้ มีข้อสรุปสั้นๆ การพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ เพราะการพัฒนาจักต้องทำเรื่องเนื้อหาสาระและเรื่องกระบวนการควบคู่กันไป การพัฒนาจักต้องปรับปรุงทั้งในส่วนกฎหมายสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายและสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถกระทำได้แค่เพียงการปรับปรุงกลไกกฎหมาย ด้วยการยกร่างกฎหมายใหม่เพียงสองสามฉบับ หากแต่ต้องปรับระบบความเข้าใจ เปลี่ยนแปลงปรัชญาและแนวความคิดที่เป็นพื้นฐานด้วย ที่สำคัญ ต้องรวบรวมพลังของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในส่วนของนักกฎหมาย นักการศาสนา คณะกรรมการอิสลามทุกระดับ รวมทั้งประชาชน ให้มาทำงานร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจปัญหา สำรวจข้อมูล การร่วมกันตัดสินใจ การร่วมกันดำเนินการ และการร่วมกันประเมินผล เพื่อที่จะให้ความสำเร็จในการสร้างความยุติธรรมด้านครอบครัวและมรดกในประเทศไทยเป็นความผลงานที่ทุกฝ่ายมีส่วนสร้างสรรค์ร่วมกันอย่างแท้จริง


บทความโดย ดร.มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ รองคณบดีคณะอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามยะลา

โหลดบทความพร้อมเชิงอรรถและแหล่งอ้างอิงในรูป Pdf ได้จาก

http://www.scribd.com/full/27256927?access_key=key-l9rysapuglx3oadz662

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).