Loading

 

ภาพสะท้อนบางประการจากหัจญ์

      หัจญ์ คือ การรวมตัวของมนุษยชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถรวบรวมประชาคมโลกที่ก้าวโพ้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม มุสลิมทุกคนต้องประกอบพิธีหัจญ์แม้ครั้งเดียวในชีวิต หากมีความสามารถ หัจญ์คือเทศกาลประจำปีระดับนานาชาติที่เชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติให้หวนรำลึกและฟื้นฟูบรรยากาศแห่งอีมาน การตักวา การยึดมั่นในคำสอน การฝึกฝนความเป็นน้ำหนึ่งเดียว รับทราบ ศึกษาและร่วมแก้ไขวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพและศักดิ์ศรีของอิสลามและมุสลิม
      มุสลิมทุกคนจึงใฝ่ฝันที่จะประกอบพิธีหัจญ์และมีใจที่ผูกพันกับ บัยตุลลอฮฺ (บ้านของอัลลอฮฺ อันหมายถึงอาคาร กะอฺบะฮฺ ในมัสยิดอัลหะรอมที่มหานครมักกะฮฺ)ทุกอณูชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับหัจญ์มับรูรฺ ที่ไม่มีผลตอบแทนใดๆ ที่คู่ควรเว้นแต่สรวงสวรรค์ของอัลลอฮฺเท่านั้น
      หัจญ์มับรูรฺจึงแฝงด้วยปรัชญาที่เป็นภาพสะท้อนอันมากมาย ส่วนหนึ่งสรุปได้ดังนี้

1) หัจญ์คือสัญลักษณ์ความเป็นเอกภาพ
       เอกภาพด้านการศรัทธา ซึ่งผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์เพียงเพื่ออัลลอฮฺและมุ่งมั่นสืบสาน จริยวัตรของนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เท่านั้น
      เอกภาพด้านการปฏิบัติ ซึ่งผู้ประกอบพิธีหัจญ์ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและเงื่อนไขต่างๆ ของหัจญ์ด้วยรูปแบบที่เหมือนกัน ในช่วงเวลาอันเดียวกัน ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ลักษณะการแต่งกายที่เหมือนกัน ภายใต้การนำแห่งต้นแบบของผู้นำคนเดียวกันคือนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยผ่านการอรรถาธิบายของนักวิชาการมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ

2) หัจญ์คือภาพสะท้อนแห่งสาสน์สากลของอิสลาม
     การก่อร่างของอิสลามได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งสากล ดังจะเห็นได้จากบรรดาอัครสาวกของท่านศาสนทูตรุ่นแรกที่เป็นเสาหลักแห่งการเผยแผ่อิสลามซึ่งประกอบด้วยอะบูบักรฺที่มาจากตระกูลกุร็อยชฺอาหรับ ศุฮัยบฺจากกรุงโรม บิลาลทาสผู้เสียสละจากอะบิสสิเนีย ซัลมานผู้ดั้นด้นแสวงหาสัจธรรมจากเปอร์เซีย ตลอดจนชาวอาหรับที่คลั่งไคล้และยึดมั่นในเผ่าพันธุ์วงศ์ตระกูล อิสลามสามารถผนวกรวมผู้คนเหล่านั้นให้อยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งอิสลาม และเลื่อมใสศรัทธาคำสอนของนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่กล่าวไว้ความว่า “ท่านทั้งหลาย จงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺฉันพี่น้องกันเถิด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีและมุสลิม)
      คลื่นมหาชนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศที่กำลังเฏาะวาฟเวียนวนรอบๆ บัยตุลลอฮฺ ทำให้เรานึกถึงดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยจักรวาลซึ่งล้วนเป็นบริวารที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ก็เป็นเพียงดาวเคราะห์เพียงดวงหนึ่งในระบบแกแล็กซี่อันกว้างไพศาลที่ต้องโคจรตามระบบที่ถูกกำหนดไว้ เช่นเดียวกันกับมนุษย์บนโลกนี้ ที่ต้องโคจรตามระบบของบัยตุลลอฮฺ ไม่ว่าขณะเฏาะวาฟหรือขณะดำรงละหมาดที่มุสลิมทั่วโลกต่างผินหน้าไปยังบัยตุลลอฮฺเป็นประจำอย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน ในขณะที่บัยตุลลอฮฺก็เป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงความนอบน้อมและศิโรราบภายใต้อำนาจของอัลลอฮฺผู้บริหารสากลจักรวาล

3) หัจญ์คือการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำและวรรณะของมนุษย์
     อิสลามปฏิเสธระบบที่วางมนุษย์บนขั้นบันไดของชนชั้นวรรณะ อิสลามสอนว่าทุกคนไม่มีสิทธิวางก้ามแสดงตนเหนือคนอื่นเนื่องจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์หรือสีผิว ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างยาจกกับมหาเศรษฐี ชนผิวขาวกับชนผิวดำ นายหรือบ่าวไพร่ เจ้าหน้าที่หรือประชาราษฎร์ ทุกคนจะอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันหมด เมื่อผู้ประกอบพิธีหัจญ์เริ่มตั้งใจอิหฺรอมที่มีกอต (Miqat หมายถึง จุดพรมแดนที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องตั้งใจและปฏิบัติตามเงื่อนไขของหัจญ์) โดยการห่มกายด้วยผ้าขาวสองผืน ซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำลำคลองจำนวนล้านๆ สายที่ไหลบรรจบเข้าสู่มหาสมุทรซึ่งกลายเป็นน้ำทะเลที่มีลักษณะเดียวกันหมด ฉันใดฉันนั้น ผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเป็นจำนวนล้านๆ คน ก็จะกลายเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันเมื่อเข้ามาบรรจบ ณ มีกอต(Miqat) เพื่อหลอมรวมเข้าสู่มหาสมุทรแห่งกระบวนการหัจญ์อย่างพร้อมเพรียงกัน
         ทุกคนไม่มีสิทธิแอบอ้างความเป็นอภิสิทธิชน เว้นแต่ด้วยการตักวา(การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ) เท่านั้น

4) หัจญ์คือโอกาสให้มุสลิมหวนรำลึกประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของอิสลาม
     ผู้ประกอบพิธีหัจญ์จะได้ประจักษ์ด้วยสายตาถึงแหล่งกำเนิดของอาทิตย์อุทัยแห่งทางนำและรัศมีอิสลามที่ได้เจิดจรัสทั่วสากล ซึ่งจุดประกายโดยนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สัมผัสร่องรอยการเสียสละของบรรดาสาวก ตลอดจนหวนรำลึกการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของสามพ่อแม่ลูก(นบีอิบรอฮีม นบีอิสมาอีลและหาญัรฺ)ซึ่งกลายเป็นต้นตำรับของการประกอบพิธีหัจญ์ที่มีการสืบสานมาโดยอนุชนรุ่นหลังเป็นเวลานับพันๆ ปี และจะยังคงอยู่จวบจนสิ้นฟ้าแผ่นดิน บรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์สามารถอ่านตำราเล่มใหญ่นี้ด้วยการพินิจพิเคราะห์จากสถานที่จริง เพื่อนำเป็นบทเรียน เติมเต็มกำลังใจและข้อเตือนสติตลอดไป

5) หัจญ์ คือ กระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณและขัดเกลาจิตใจ
     ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ได้รับโอกาสพัฒนาและขัดเกาจิตใจให้สูงส่ง ตัดขาดจากความโกลาหลของโลกดุนยา พวกเขาสวมใส่ผ้าสองผืนที่ไม่มีการเย็บถักปักรอย ไม่สามารถแม้กระทั่งใส่น้ำหอม หรือร่วมหลับนอนกับภรรยาของตนเอง ผู้ที่กำลังประกอบพิธีหัจญ์นั้น พวกเขากำลังสลัดทิ้งการใช้ชีวิตอย่างปกติ สู่การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่สำรวม หัวใจที่ยำเกรง ลิ้นที่หมั่นเปล่งเสียงตัลบิยะฮฺ ดุอาอ์ ซิกิรฺ อ่านอัลกุรอาน เพื่อป่าวประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ มีจิตใจที่สำรวมและสำนึกในความผิดพลาดของตนเอง
     บรรยากาศของผู้ประกอบพิธีหัจญ์ที่กำลังเดินสะอีย์ระหว่างเขาเศาะฟาและเขามัรวะฮฺจำนวน เจ็ดรอบนั้น เป็นการเสี้ยมสอนให้มุสลิมตระหนักว่า ในโลกแห่งความป็นจริง หากมุสลิมเดินบนเส้นทางอันเที่ยงตรงควบคู่กับการยึดมั่นธงนำที่ถูกต้องแล้ว มุสลิมจะก้าวสู่หลักชัยและไม่มีวันหลงทางเป็นอันขาด
     เส้นทางอันเที่ยงตรงสำหรับมนุษยชาติคืออิสลาม ในขณะที่ธงนำที่ได้รับการประกันความถูกต้องคือ อัลกุรอานและซุนนะฮฺ ที่ผ่านการอรรถาธิบายจากบรรดานักวิชาการมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ

6) หัจญ์ คือ การสัญจรสู่ถนนแห่งอาคิเราะฮฺ
     ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องออกจากบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งจำต้องห่างเหินกับครอบครัว พี่น้องผองเพื่อนและบ้านเกิด เปรียบเสมือนผู้ที่พรากจากโลกดุนยา ซึ่งต้องสูญสิ้นทุกอย่างแม้แต่คนรัก ในขณะที่การอาบน้ำ หรือการอาบน้ำละหมาดและการหุ้มกายด้วยผ้าสองผืน ก็เปรียบเสมือนการห่อหุ้มศพของผู้เสียชีวิตที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องดำเนินการให้แก่ตนเองก่อนที่จะให้คนอื่นดำเนินการแทนในลักษณะเช่นนี้เมื่อสิ้นชีวิตไป
      การวุกุฟที่อะเราะฟะฮฺที่ควบคู่กับการรำลึกและดุอาอ์ต่อเอกอัลลอฮฺ ก็เสมือนสภาพของมนุษย์ที่ถูกฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺที่ทุกคนกลับไปหาสู่อัลลอฮฺโดยอาศัยเสบียงแห่งการยำเกรง(ตักวา)และการศรัทธา(อีมาน)เท่านั้น มุสลิมได้รับการฝึกฝนให้ยอมรับสภาพของการกลับหาสู่อัลลอฮฺในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่เขาจะกลับสู่อัลลอฮฺอย่างแท้จริงเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว
      ช่างเป็นบรรยากาศที่มีความหมายอันลึกซึ้งที่สามารถเตือนสติแก่ผู้มีปัญญาทั้งหลาย

7) หัจญ์คือเวทีภาคปฏิบัติจรรยามารยาทอันสูงส่ง
     ตลอดระยะเวลาของการทำหัจญ์ ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องฝึกฝนให้อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักควบคุมอารมณ์ เชื่อฟังผู้นำผู้ทรงคุณธรรม บากบั่นต่อสู้กับความยากลำบากและความเหนื่อยล้าด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ทักทายผู้คนด้วยสลาม ให้อาหาร ใช้วาจาที่สุภาพอ่อนโยน การมีมารยาทอันสูงส่ง และยับยั้งอารมณ์ตนเองมิให้พลาดพลั้งกระทำสิ่งต้องห้ามและสิ่งอบายมุขต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมหลับนอนกับภรรยาและสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศการกระทำอบายมุข และการทะเลาะเบาะแว้ง ตลอดจนหมั่นกระทำความดีทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของหัจญ์มับรูรฺ เพื่อนำไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตยามกลับสู่มาตุภูมิต่อไป


8) หัจญ์คือการประยุกต์ใช้สาสน์แห่งสันติภาพ
      ผู้ประกอบพิธีหัจญ์คือผู้ใฝ่สันติ เขาไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใดๆไม่ว่าต่อตนเอง ผู้อื่นสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหล่าสิงสาราสัตว์แม้กระทั่งกิ่งก้านหรือใบไม้เล็กๆ ก็ตาม ช่วงเวลาการทำหัจญ์คือช่วงเวลาแห่งสันติ ในขณะที่มักกะฮฺคือดินแดนและอาณาบริเวณที่สันติสุข ดังนั้นผู้ประกอบพิธีหัจญ์จึงซึมซาบบรรยากาศของสันติภาพทั้งเงื่อนไขแห่งเวลาและสถานที่ เพื่อฝึกฝนให้มุสลิมสร้างความคุ้นเคยในภาคปฏิบัติสู่การประยุกต์ใช้วิถีแห่งสันติในชีวิตจริงต่อไป
     สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปรัชญาหรือภาพสะท้อนของหัจญ์มับรูรฺ ที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องศึกษาเรียนรู้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อกลับสู่มาตุภูมิ หาไม่แล้วหัจญ์ก็เป็นเพียงทัศนาจรราคาแพงที่มีการเก็บออมและลงทุนทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถเกิดดอกออกผลในชีวิตจริง สังคมมุสลิมก็ตกในวังวนแห่งการบูชาพิธีกรรมและเทศกาลที่ไม่มีผลต่อระบวนการพัฒนาใดๆ เลย


เขียนโดย

มัสลัน มาหะมะ

ตรวจทานโดย ซุฟอัม อุษมาน

ที่มา หนังสืออิสลาม วิถีแห่งชีวิต

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).