Loading

 

เพื่อน...ในอิสลาม

คำว่า “เพื่อน” นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อมนุษย์ ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการพึ่งพาอาศัยกัน หรือยังต้องอยู่ร่วมกัน หรือต้องการความสงบสุขในชีวิต

อิสลามสนับสนุนการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างตัวเรากับเพื่อนมนุษย์ การติดต่อสัมพันธ์นั้นต้องเริ่มด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อให้อัลลอฮ์ ทรงตอบรับและให้ความจำเริญแก่งานนี้ ดังนั้นเราจึงสามารถคบหากับเพื่อนมนุษย์ได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและสนิทใจ ดังจากโองการจากอัลกุอานที่มีความว่า

“ในวันกิยามะฮ์นั้น บรรดาผู้ที่เคยเป็นเพื่อนกัน ต่างก็จะกลายเป็นศัตรูกัน

นอกจากบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์เท่านั้น”

ซูเราะฮ์ อัซ ซุครุฟ: 67

อิสลามสนับสนุนการอยู่อย่างสันโดษ เพื่อที่เราจะได้ใช้ความคิดตรึกตรองสิ่งต่างๆในโลกนี้หรือเพื่อหาความสงบทางกายและจิตใจ แต่อิสลามก็ไม่ได้ห้ามการติดต่อหรือคบค้าสมาคมกับเพื่อนมนุษย์ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมที่มีความดี ดังฮะดีสที่มีความว่า

“มุอฺมินที่คบค้าสมาคมกับเพื่อนมนุษย์

และมีความอดทนต่อการทำร้ายของพวกเขานั้นย่อมดีกว่ามุอฺมินที่มิได้คบค้าสมาคมกับเพื่อนมนุษย์

และไม่มีความอดทนต่อการทำร้ายของพวกเขา”  

 บันทึกโดย อัตติรมีซีย์

อิสลามเน้นอยู่เสมอถึงการแสดงสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่โดยสนับสนุนการรวมตัวของมุสลิม และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ยิ่งจำนวนมุสลิมมีมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มความจำเริญจากอัลลอฮ์ มากเพียงนั้น ดังฮะดีสที่ท่านเราะซูล กล่าวไว้มีความว่า

“การละหมาดของคนคนหนึ่งร่วมกับอีกคนหนึ่งนั้น

ดียิ่งกว่าการละหมาดของคนๆนั้นคนเดียวและการที่เขาละหมาดร่วมกับคนสองคนนั้นย่อมดีกว่าการละหมาดกับคนคนเดียว

และถ้ายิ่งมีคนเพิ่มมากขึ้นเท่าใด นั่นก็คือความโปรดปรานของอัลลอฮ์ อัซซะวะญัลมากเท่านั้น”      

บันทึกโดย อัตติรมีซีย์

ถ้ามุสลิมอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยตีตัวออกห่างจากผู้คนมากเท่าใดก็จะยิ่งพลาดโอกาสที่จะต่อสู้ในงานที่เป็นความดี หรือมีโอกาสน้อยที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่ออิสลาม และเขาก็จะกลายเป็นผู้ที่ไม่ให้ความช่วยเหลือเพื่อนของเขาในยามคับขัน แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วมักชอบสมาคม บางคนถึงกับวิ่งเข้าไปหา และสนทนากับผู้คนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งสองลักษณะนี้อิสลามได้ชี้แนวทางไว้ให้โดยคำกล่าวที่ว่า

“จงคบค้าสมาคมกับเพื่อน แต่อย่าให้กระทบกระเทือนกับศาสนา”

และคำกล่าวที่ว่า “มุอฺมินคือผู้ที่อ่อนน้อม เป็นมิตรสนิทสนมกัน”

การอยู่อย่างสันโดษ และการอยู่โดยร่วมสังคมกับผู้อื่น นับเป็นสองลักษณะที่มุสลิมควรรู้จักเลือกว่า เวลาใดควรจะอยู่ในลักษณะใดจึงจะเหมาะสม เพื่อที่จะให้สองลักษณะนี้ มีประโยชน์แก่ตัวของเขาเอง และแก่สังคมรอบข้างด้วย

ในการคบค้ากับเพื่อนฝูง ขอให้มีรากฐานสำคัญคือความบริสุทธิ์ใจ และให้ทุกอย่างก้าวไปในหนทางของอีมาน และนั่นคือความหมายที่ว่า “รักกันเพื่ออัลลอฮ์ ไม่รักกันกันเพื่ออัลลอฮ์” และนี่คือความรักในแบบอิสลามที่แท้จริง เมื่อความปราถนาของมุสลิมในการคบเพื่อนเพื่ออัลลอฮ์นั้น เขาก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างมหาศาล ดังฮะดีสกุดซีย์ ท่านเราะซูล กล่าวว่า อัลลอฮ์ ตรัสไว้มีความว่า

“บรรดาผู้ที่รักกันอันเนื่องจากความยิ่งใหญ่และเดชานุภาพของข้านั้นเขาจะอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งอะรัชของข้า

ในวันที่ไม่มีร่มเงาใดๆนอกจากร่มเงาของข้าเท่านั้น”   

บันทึกโดย อะหฺมัด

มุสลิมนั้นจะต้องรักกันเพื่ออัลลอฮ์ และเช่นกันการไม่รักกันนั้นก็เพื่ออัลลอฮ์ เพื่อที่เขาจะได้ลิ้มรสความหวานชื่นแห่งการศรัทธา ดังฮะดีสรายงานโดย ท่านอนัส อิบนิ มาลิก เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า

“มีอยู่สามอย่าง ถ้าผู้ใดมีลักษณะทั้งสามอย่างดังต่อไปนี้อยู่ในตัวของเขาแล้ว เขาก็จะต้องพบและลิ้มรสกับความหวานชื่นของการศรัทธา กล่าวคือ

1. ให้อัลลอฮ์และเราะซูลของพระองค์เป็นที่รักยิ่งแก่เขายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

2. ให้รักเพื่อนมนุษย์เพราะอัลลอฮ์ และเกลียดกันเพื่ออัลลอฮ์

3. ให้เกลียดชังที่จะกลับไปสู่การกุฟรฺ ประดุจดังเกลียดชังที่จะถูกโยนเข้าสู่ไฟนรก”     บันทึกโดย มุสลิม อัตติรมีซีย์ และอันนะซาอีย์

เมื่อคนสองคนรักกันเพื่อที่จะเป็นเพื่อนกันในหนทางของอัลลอฮ์ ดังจะเห็นได้จากฮะดีสกุดซีย์ มีรายงานจากท่านเราะซูล แจ้งว่า อัลลอฮ์ ตรัสว่า

“ความรักของข้านั้นจะปรากฏแก่บรรดาผู้ที่รักกันเพื่อข้า

และผู้ที่เยี่ยมเยือนกันเพื่อข้า และผู้ที่ให้กันเพื่อข้า และผู้ที่เป็นมิตรกันเพื่อข้า”

บันทึกโดย อะหฺมัด และอัฏฏ็อบรอนีย์

เพื่อนที่ดีนั้นย่อมจะนำพาเพื่อนของเขาสู่ชัยชนะทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนเพื่อนที่ไม่ดีนั้น กี่มากน้อยแล้วที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่เพื่อนของเขา เพราะทั้งสองนั้นได้ตกอยู่ภายใต้การชักนำของชัยฏอน ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้มีความว่า

“ในวันที่ผู้อธรรมต่อตนเองจะกัดมือของเขา (วันกิยามะฮ์) แล้วกล่าวว่า หวังว่าฉันจะได้อยู่ในหนทางของท่านเราะซูลเหลือเกิน

โอ้ความวิบัติเอ๋ย หวังว่าฉันจะไม่เอาคนๆนั้นมาเป็นเพื่อนอีก เพราะเขาทำให้ฉันหันเหออกจากอัลกุรอาน ภายหลังจากที่อัลกุรอานได้มีมายังฉันแล้วและแท้จริงมันนั้นเป็นผู้หลอกลวง”     ซูเราะฮ์ อัลฟุรกอน: 27-29

ท่านเราะซูล ได้เตือนเกี่ยวกับการเลือกคบเพื่อน โดยที่เราเลือกที่จะนำตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ดังที่ท่านเราะซูล กล่าวว่า

“อุปมาเพื่อนที่ดี อุปมัยดังคนที่มีของหอม(ชะมดเชียง) แม้ว่าจะไม่มีสิ่งใดจากของหอมนั้นมาถูกท่านเลย

แต่กลิ่นของมันก็จะมาถูกท่านด้วยและอุปมัยเพื่อนที่เลว อุปมัยดังช่างหลอมเหล็ก

แม้ว่าสิ่งสกปรกจากเตาฟืนจะไม่ถูกท่าน แต่เถ้าถ่านของมันก็จะถูกท่าน”     

รายงานโดย อบูดาวู๊ด

ในกลุ่มเพื่อนที่เราเข้าไปอยู่นั้น ถ้าเป็นคนไม่ดีแล้วก็จะเป็นอันตรายแก่เรา ส่วนเพื่อนที่ดีที่ฉลาดปราดเปรื่อง เขาก็จะยกฐานะของเพื่อนให้อยู่ในระดับสูงด้วยเช่นกัน เพื่อนที่ดีนั้นจะต้องตั้งมั่นอยู่บนหลักการศรัทธา และปฏิบัติงานตามที่เขาศรัทธาคือเป็นมุสลิมที่ดีทั้งดุนยาและอาคิเราะฮ์ เขามีความดีอยู่ในตัวทุกด้าน ไม่ว่าทางกายหรือวาจาที่เปล่งออกมา หรือความนึกคิดก็จะเต็มไปด้วยความยุติธรรม ดังคำกล่าวที่ว่า

“ใครที่ทำธุรกิจร่วมกับเพื่อนมนุษย์ โดยที่เขาไม่ขมเหง เมื่อพูดกับเขาก็ไม่โกหกเขา 

เมื่อสัญญากับเขาก็ไม่ผิดสัญญา นับว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้ที่มีเกียรติอย่างสมบูรณ์ มีความเป็นธรรมอย่างบริสุทธิ์”

ท่านนบี ยังได้สอนแก่เราว่า ถ้ารักเพื่อนคนใดก็ให้บอกแก่เขาว่าเรารักเขา ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้กระชับยิ่งขึ้น ดังฮะดีสของท่านบี ซึ่งมีความว่า

“เมื่อคนหนึ่งคนใดในพวกเจ้ารักพี่น้องของเขา ก็จงบอกให้เขารู้ว่ารักเขา”   

บันทึกโดย อะหฺมัด

ท่านนบี ยังได้เสริมอีกว่า ถ้าเราจะคบเพื่อนคนใดก็ให้ถามชื่อ สกุล และควรจะรู้ว่าเขามาจากไหน เป็นใครกัน

“เมื่อคนหนึ่งคนใดเป็นมิตรกัน ก็จงถามถึงชื่อของเขา และชื่อบิดาของเขา ว่าเป็นใคร เพราะจะทำให้กระชับความสัมพันธ์กันมากขึ้น”  

บันทึกโดย อัตติรมีซีย์

ท่านนบี ได้ส่งเสริมให้เราผูกมัดจิตใจของเพื่อน เพื่อให้ความรักนั้นยาวนานโดยการให้ของขวัญ ซึ่งของขวัญนั้นไม่จำเป็นต้องมีค่าเป็นวัตถุ หรือใหญ่โต เพียงแต่ให้รู้ว่ามีค่าแห่งน้ำใจระหว่างเพื่อนก็เพียงพอแล้ว ดังถ้อยคำของท่านเราะซูล ที่ว่า

“จงให้ของขวัญกันเถิด เพราะการให้ของขวัญกันนั้น จะเป็นการขจัดความขุ่นข้องหมองใจกัน”   

บันทึกโดย อัตติรมีซีย์

อิสลามสนับสนุนการคบค้าสมาคมกัน ดังนั้น คำว่า “เพื่อน” จึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ แต่ก่อนที่เราจะคบเพื่อนคนใดก็ขอให้เราพิจารณา ตรึกตรองให้ดี แล้วเราก็จะมีความสุขอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงเหล่านั้น คือเขาและเราต่างก็เป็นผู้ศรัทธาซึ่งกันและกัน เมื่อจะทำอะไรก็จะคิดอยู่เสมอว่าสิ่งนี้อยู่ในหนทางของศาสนาหรือไม่ เมื่อบุคคลกลุ่มใดมีความคิดเช่นนี้แล้ว อินชาอัลลอฮ์ พระองค์อัลลอฮ์คงจะโปรดให้เขาปลอดภัยจากมารร้ายต่างๆ และให้เขาเป็นมุอฺมินที่ศรัทธาอย่างแท้จริง

คัดจาก วารสารสายสัมพันธ์ (อัร รอบิเฏาะฮ์)


ลิ้งก์ที่มา: http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=4&id=2290

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).