Loading

 

หรือว่าเราหลงลืมอะไรไปบางอย่าง?

อัลฮัมดุลิลลาฮฺ .. รอมฎอนเดือนแห่งความดีงามที่ไร้นิยามจะเอื่อนเอ่ย กำลังจะจากเราไปในอีก 2-3 วันข้างหน้า บทความนี้เขียนขึ้นในช่วงอิอฺติกาฟ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผู้เขียนนึกอะไรได้บางอย่าง...

ท่ามกลางการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยการต่อสู้แข่งขัน แก่งแย่งชิงดีกันอย่างไร้ขอบเขต..การแสวงหาปัจจัยยังชีพในรูปแบบต่างๆ นาๆ จนในบางครั้งไม่ได้สำเหนียกต่อบทบัญญัติว่าปัจจัยที่ได้มาจะถูกต้องตามหลัก การอิสลามหรือไม่?

ผลจากการต่อสู้แข่งขันอย่างไร้รูปแบบ หรือการดำเนินชีวิตโดยไม่ได้ใคร่ครวญ ทำให้เราหลงลืมอะไรไปบางอย่าง...

ส่วนหนึ่งที่จะนำมากล่าวตรงนี้ คือ การบริจาค.. ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทานสมัครใจ (เศาะดะเกาะฮฺ) หรือการจ่ายซะกาต (ส่วนหนึ่งจากทรัพย์สิน) ซึ่งเป็นอิบาดะฮฺอีกประการหนึ่งที่ท่านรอสูลุลลอฮฺเน้นย้ำไว้เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน

มีหะดีษบันทึกโดยอิมามอัลบุคอรียฺ ความหมายโดยสรุปว่า “ท่านรอสูลุลลอฮฺเป็นผู้ที่มีจิตใจกุศลมากที่สุด และจะมีจิตใจกุศลมากยิ่งขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน และความมีใจกุศลของท่านเสมือนดั่งกระแสลม”

ขอยืนยันว่าหะดีษท่านรอสูลไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฏี หรือเป็นคำปรัชญา คำขวัญ หรือเป็นเรื่องเล่าให้เด็กฟังก่อนนอน แต่..คำสอนของท่านรอสูลคือจริยวัตรที่เราต้องนำมาก็อปปี้ในทุกๆ อริยบถอย่างสุดความสามารถ

ปัจจุบัน ในบริบทของพี่น้องมุสลิมประเทศไทยเราจะอยู่ในสภาพเดียวกันทั้งหมด พูดโดยภาพรวม เราคุ้นชินกับการได้รับบริจาคจากพี่น้องชาวอาหรับ

มัสยิด .. วันนี้ ทุกตรอกทุกซอย หรือทั้งต้นซอย กลางซอย และท้ายซอย มีมัสยิดอย่างแพร่หลาย ถูกก่อสร้างขึ้นใหม่อย่างมากมาย ถามว่ามีมัสยิดมากดีไหม? คำตอบดีมาก ดีกว่ามีร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะอย่างที่ไม่ต้องมาเปรียบเทียบ แต่..บทความของเราที่จะนำเสนอคือไม่อยากให้เรากลับภาคภูมิใจกับมายาวัตถุที่ เขาหยิบยื่นบริจาคให้ โดยหลงลืมไปเลยว่าหน้าที่การบริจาคจะต้องเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ยิ่งการบริจาคสร้างมัสยิดอีกเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะอัลลอฮฺ สัญญาไว้จะสร้างบ้านหลังหนึ่งให้แก่ผู้ที่สร้างมัสยิด เราลองกลับมาทบทวนตัวเองอย่างจริงจังใหม่ ลองดูว่าผลบุญจากการบริจาคเราไม่ได้ทีนึงแล้ว และผลบุญจากการมาละหมาดที่มัสยิดก็น้อยเต็มทน หรือว่าเราหลงลืมอะไรไปบางอย่าง?

อิฟฎอร (งบละศีลอด)..เราถือศีลอดที่เมืองไทย แต่เวลาละศีลอดเราได้รับงบประมาณมาจากต่างประเทศ ยิ่งบางพื้นที่ บางมัสยิด ละด้วยงบประมาณจากอาหรับตลอดทั้งเดือน หรือแม้กระทั่งอินทผลัมที่ใช้รับประทานรายวัยก็ยังไม่เว้นจากงบบริจาค..

ขณะที่เรามีความสุขกับการได้รับ คุ้นชินกับการถูกหยิบยื่นมอบให้ โดยลืมไปว่าจำเป็นจะต้องเป็นผู้ให้บ้าง (ในบางครั้ง) ตามความสามารถ อย่าติดยึดกับการเป็นมือล่างจนกระทั่งไม่รู้สึกถึงความจำเป็นต้องเป็นมือบน พูดง่ายๆ ได้รับจากผู้อื่นจนลืมว่าเราเองก็จะต้องเป็นผู้ให้ด้วย

“การให้ผู้อื่น” เป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ต้องผ่านกระบวนการฝึกฝน เราเห็นว่ามีผู้คนที่ร่ำรวย คนมีเงินจำนวนมาก แต่เท่าที่รู้ไม่ค่อยเห็นเขาบริจาค หรือเขาอาจบริจาคแบบลับๆ ก็ได้ที่เราไม่เห็น แต่หากเราไม่เห็นผู้ให้ แต่เราก็น่าจะเห็นผู้รับละนะ

วันนี้ เราเพียงเรียกร้องให้ทุกคนได้ตระหนักในการหยิบยื่นแบ่งปันแม้จะเป็นเรื่อง เล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถ ตามอัตภาพของแต่ละบุคคล

และนี่ยังไม่หมายรวมบ่อน้ำ..ห้องน้ำ..ล้วนแล้วมีงบประมาณได้รับบริจาคมาจากชาวอาหรับเป็นส่วนมาก

หรือเราจะรอการบริจาคจากชาวอาหรับเพียงอย่างเดียว โดยไม่คิดที่จะบริจาคหรือก่อสร้างกันเองเลยกระนั้นหรือ? ฤาว่าเราหลงลืมอะไรไปบางอย่างจริงๆ?

ถึงเวลาแล้ว..

ที่เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับกระบวนทัศน์ ปฏิรูปแนวคิดเสียใหม่..

เปลี่ยนจากเป็นผู้รับ..มาเป็นผู้ให้, จากรับมาตลอด.. มารับให้น้อยลง, จากมือล่างมายาวนาน..เปลี่ยนเป็นมือบนบ้าง...

ต่อจากนี้..เราจะต้องเก็บรวบรวมเงินเป็นงบละศีลอด งบกุรบาน งบก่อสร้างมัสยิด ฯลฯ แล้วจัดส่งไปให้แก่พี่น้องมุสลิมประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น

ผู้เขียนหวังว่าแนวคิดนี้อาจจะตกผลึกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะเป็นแนวทางไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อินชาอัลลอฮฺ

 


Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).