Loading

 

แนวทางเพื่อให้บรรลุประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารบ้านเมืองและป้องกันการเกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ศึกษากรณีวิธีการพิจารณาคัดเลือกข้าหลวงในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัร

การกำหนดแนวทางเพื่อให้บรรลุประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารบ้านเมืองและป้องกันการเกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชนชั้นเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนทั่วไป ศึกษากรณีวิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำมณฑล ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัล–ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ (ฮ.ศ. 13-23 / ค.ศ. 634-644)

โดย ซุกรีย์นูร sukreen (at) gmail.com

บทนำ

ปัญหาการเกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในสังคมเสรีประชาธิปไตยดูเป็นปัญหาที่กำลังหือกระพือในวงกว้างและบานปลายสำหรับหลายประเทศในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มกำหนดมาตรการในลักษณะต่างๆ เพื่อควบคุมภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ให้กลายเป็นชนวนความแตกแยกของสังคม มีการระดมความคิดจากบุคคลในวงการต่างๆ เพื่อสร้างสังคมสันติสุขที่ผู้คนในสังคมสามารถใช้ชีวิตอย่างพึ่งพา เผื่อแผ่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย และไม่มีความเลื่อมล้ำที่เกินขอบเขตระหว่างผู้มีโอกาสกับผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐผู้ควบคุมกฎหมายกับประชาชนผู้ถูกบังคับบัญชา เพื่อให้ประเทศชาติสามารถพัฒนาต่อไปอย่างรุดหน้าและมั่นคง

ศาสนาอิสลามที่มีจุดเป้าหมายสำคัญเพื่อสถาปนาสันติสุขในกับชาวโลก (อัลอัมบิยาอ์ : 107) และเพื่อยกระดับทางจริยธรรมที่ละเอียดอ่อนและประเสริฐสุดให้กับมนุษย์ (อัลเกาะลัม : 4) ได้กระชับผู้ปกครองให้ปกครองประชาชนโดยธรรม ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้กล่าวถึงหน้าที่ของกษัตริย์ดาวูดจอมราชันแห่งปาเลสไตน์ว่า

???? ???????? ?????? ??????????? ????????? ??? ????????? ???????? ?????? ???????? ?????????? ????? ????????? ???????? ??????????? ??? ??????? ?????? (?? : 26 )

โอ้ ดาวูดเอ๋ย เราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นเคาะลีฟะฮฺบนแผ่นดินนี้ ดังนั้น จงปกครองประชาชนด้วยความซื่อสัตย์และอย่ากระทำตามอำเภอใจ เพราะมันจะทำให้เจ้าหันเหออกจากหนทางของอัลลอฮฺ  (ศอด : 36)

 

พระองค์ทรงบัญญัติให้ผู้ปกครองตั้งมั่นบนความสุจริตและความยุติธรรม ให้ปกครองประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ปราศจากอคติต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือลำเอียงต่อประชาชนพวกใดพวกหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นญาติสนิทหรือคนใกล้ชิดก็ตาม ดังที่ได้กล่าวในอัลกุรอานว่า

?????? ????? ???????????? ??? ????????? ???????????? ????? ????????? ??????? ????????? ?????? ???????? ??? ??????????? ??????????? ? (?????? : 58 )

แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้ให้สูเจ้าปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายแก่เจ้าของสิทธิ และเมื่อสูเจ้าปกครองมนุษย์ สูเจ้าจะต้องปกครองด้วยความยุติธรรม (อัลนิสาอ์ : 58)

 

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ยังกล่าวว่า 

???? ???????? ????????? ???????? ???????? ??????????? ??????????? ???????? ????? ?????? ????? ??????????? ???? ?????????????? ??????????????? ??? ?????? ???????? ???? ???????? ??????? ??????? ??????? ????? ???????????? ???????? ??? ??????????? ????? ????????? ???? ??????????? ??????? ????? ????? ????? ??????????? ????????? (?????? : 135 )

โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺเถิด แม้ว่าจะเกิดผลเสียแก่ตัวของสูเจ้า ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติสนิทเองก็ตาม แม้ว่าพวกเขาเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน อัลลอฮฺนั้นก็สำคัญกว่าเสมอ ดังนั้น จงอย่าปฏิบัติตามความใฝ่ต่ำในการให้ความยุติธรรม และหากสูเจ้าบิดเบือนหรือผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่สูเจ้ากระทำกัน (อัลนิสาอ์ : 135)

 

อัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา กล่าวว่า 

???? ???????? ????????? ???????? ???????? ??????????? ????? ???????? ??????????? ????? ??????????????? ??????? ?????? ????? ?????? ??????????? ?????????? ???? ???????? ??????????? ??????????? ????? ????? ????? ??????? ????? ???????????? (??????? : 8 )

โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นคนยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่เพื่ออัลลอฮฺ จงเป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม และจงอย่าให้การมีอคติต่อพวกใด ๆ มาทำให้สูเจ้าไม่ยุติธรรม จงมีความยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงมากกว่า และพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน (อัลมาอิดะฮฺ : 8)

 

ทั้งนี้ ภายใต้เป้าหมายเพื่อบรรลุถึงความยุติธรรมที่เป็นจริงนี้  อิสลามได้เปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้ปกครองทำการปรับปรุงพัฒนาสื่อและกลไกต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการผดุงความเป็นธรรมให้กับมนุษย์โดยไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการตามการเปลี่ยนแปลงของสมัยและกาลเวลาซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์และกฎระเบียบเพื่อคัดสรรเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ “คนดี” มาทำหน้าที่ที่ดีนับเป็นสื่อหรือกลไกที่สำคัญและมีผลยิ่ง

เมื่อท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียชีวิตลงในปีที่ 10 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช แดนดินของรัฐอิสลามมีพื้นที่ทั้งหมดหนึ่งล้านตารางไมล์  (Muhammad Hamidullah : 499) โดยครอบคลุมส่วนหน้าของคาบสมุทรอารเบียที่จรดทะเลแดง ทะเลอาหรับ อ่าวโอมานและเปอร์เซียทั้งหมด และหลังจากที่ท่าน อบู บักรฺ อัลศิกดีก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺคนแรกปกครองรัฐเป็นเวลาสองปีเศษ ๆ ท่านก็สามารถขยายดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้านฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพิ่มขึ้นอีกสามแสนตารางไมล์ (อ้างแล้ว : 499)

ต่อมา เมื่อท่านอุมัร บิน อัลค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺคนที่สองแทนท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ที่เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 13 และดำเนินการปกครองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีเศษปรากฏว่าภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น ท่านสามารถแผ่ขยายดินแดนทางด้านเหนือ ตะวันออก และตะวันตกเพิ่มขึ้นอีกจนกระทั่งมีพื้นที่ทั้งหมด 2,251,030 ตารางไมล์ (Shamsul ‘Ulama’ : 2) โดยมีชายแดนทางทิศใต้จรดทะเลอาหรับ ทิศเหนือจรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออกจรดตูนิเซียและอัลจีเรีย และทิศตะวันตกจรดจอร์เจีย อุซเบกิสถานและอัฟกานิสถาน (Muhammad Hamidullah : 499) หรือหากดูจากแผนที่ปัจจุบันดินแดนเหล่านี้ก็คือประเทศซาอุดิอารเบีย เยเมน คูเวต กาตาร์ โอมาน บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน ซีเรีย เลบานอน อิสราเอล อียิปต์ ลิเบีย อิรัก อิหร่าน เตอรก์เมนิสถาน อาเซอร์ไบจัน และอาร์เมเนีย

รัฐอิสลามมะดีนะฮฺ จึงนับว่าเป็นรัฐแห่งแรกที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด เป็นรัฐที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐโดยพลเรือนสามัญชนเป็นแห่งแรกที่สุดเพราะอาณาจักรอื่นๆ ล้วนปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีจักรพรรดิเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นโรมัน เปอร์เซีย หรือจีน

อีกทั้งรัฐอิสลามยังเป็นรัฐที่มีลักษณะเป็นพหุสังคมที่โดดเด่นและชัดเจน เนื่องจากประชากรของรัฐมีทั้งชาวอาหรับ ยิว เปอร์เซีย เคิร์ด อียิปต์ และเบอร์เบอร์ ซึ่งมีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม ยูดาย คริสต์ และโซโรแอสเตอร์ และมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากมาย

การบริหารปกครองอาณาจักรรัฐที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีความหลากหลายทางสังคม และเป็นเวลายาวนานเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะกระทำกันอย่างง่ายดายหากไม่ใช่เพราะมีปัจจัยต่างๆ  ที่เอื้ออำนวยต่อการปกครองเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งหนึ่งในบรรดาปัจจัยสำคัญที่เอื้ออำนวยต่อการบริหารปกครองของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ก็คือการมีข้าหลวงที่ดีทำหน้าที่บริหารปกครองแทนท่านในดินแดน 10 มณฑลที่ห่างไกลอันได้แก่ มักกะฮฺ ฏออิฟ เยเมน บาห์เรน ชาม อียิปต์ กูฟะฮฺ บัศเราะฮฺ มะดาอิน และอาเซอร์ไบจัน

ความละเอียดอ่อนและพิถีพิถันของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ  ในการวางกฎเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อคัดสรรข้าหลวงที่ท่านจะวางใจให้ทำหน้าที่แทนท่านในที่ห่างไกล นับเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นยอดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล มีความรับผิดชอบสูงส่ง และมีความมุ่งมั่นที่จะสถาปนาความสุขและความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในรัฐอาณาจักร อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงมาตรการที่ทรงประสิทธิภาพในการป้องกันการลักลอบใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ การฉ้อราษฎร์บังหลวง การเพิกเฉยในหน้าที่ ตลอดจนการเกิดความเลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างชนชั้นเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนทั่วไป โดยบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำมณฑลเหล่านี้ นอกจากจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์ มีประสบการณ์ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ตลอดจนมีจิตใจโอบอ้อมอารีแล้ว เขายังจะต้องไม่มีความผูกพันทางเครือญาติกับเคาะลีฟะฮฺ ต้องไม่เป็นผู้ขอตำแหน่ง ต้องไม่เป็นนักธุรกิจ ต้องผ่านการทดสอบ ต้องยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ยอมรับเงื่อนไขในการต้องงดขับขี่พาหนะชั้นดี งดสวมใส่เสื้อผ้าชั้นดี งดรับประทานอาหารชั้นดี และต้องให้บริการประชาชนตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน  ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการพิจารณาคัดเลือกเจ้าหน้าที่ๆ รัดกุมและละเอียดอ่อนที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองโลกอิสลามหรือประวัติศาสตร์การเมืองโลกก็ว่าได้

ในฐานะที่การเมืองในดินแดนตะวันออกกลาง เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของชาวโลกมาตลอด เพราะมักส่งผลกระทบต่อชาวโลกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นดินแดนยุทธศาสตร์ทั้งทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และศาสนา ดังนั้น  การทำความเข้าใจต่อรายละเอียดของประเด็นเหล่านี้ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราได้เข้าใจที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เป็นการเข้าหาอดีตที่ทำให้เข้าใจปัจจุบัน ทำให้สามารถเปรียบเทียบความก้าวหน้าและความสัมฤทธิ์ผลทางการเมือง หรือเปรียบเทียบระเบียบบังคับเพื่อป้องกันการเกิดความเลื่อมล้ำในด้านความเสมอภาคและความยุติธรรมในสังคมระหว่างยุคสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ กับยุคสมัยอื่น ๆ  หรือสมัยปัจจุบันซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความชิ้นนี้ คงเป็นประโยชน์แก่ชาวมุสลิม นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป  วัสสลาม

 

วิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำมณฑล ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัล–ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ (ฮ.ศ. 13-23 / ค.ศ.634-644)  

มณฑลปกครองของรัฐอิสลามในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัร บินอัลค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ และข้าหลวงประจำมณฑล

รัฐอิสลามในสมัยการปกครองของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัล–ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ มีพื้นที่ทั้งหมด  2,251,030 ตารางไมล์ (Shamsul ‘Ulama’, ‘Allama :  2) ประกอบด้วย 11 มณฑลด้วยกัน คือ มักกะฮฺ มะดีนะฮฺ ฏออีฟ เยเมน บาห์เรน อียิปต์ ชาม  กูฟะฮฺ บัศเราะฮฺ มะดาอิน และอาเซอร์ไบจัน (Mohd. ‘Ali al-Shallabiy : 283) โดยมณฑลต่าง ๆ นี้มีข้าหลวงที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัล–ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ทำการบริหารปกครอง ยกเว้นมณฑลมะดีนะฮฺที่มีท่านเคาะลีฟะฮฺทำหน้าเป็นผู้นำเอง ซึ่งรายชื่อข้าหลวงเหล่านั้นมีดังนี้ (ดูข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อข้าหลวงใน  al-Tabariy เล่ม 2 หน้า 380-587 Ibn Kathir  เล่ม  4 หน้า 2- 149  และ หน้า 283-300)

ลำดับ

มณฑล

ประเทศที่ตั้งมณฑล

ในแผนที่โลกปัจจุบัน

ลำดับข้าหลวง

1

มะดีนะฮฺ

ซาอุดีอาระเบีย

เคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัล–ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

2

มักกะฮฺ

ซาอุดีอาระเบีย

อุตาบ บิน อะสีด เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

มุหัรริซ บิน ฮาริษะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

กุนฟุซ บินอุมัยรฺ อัลตะมีมียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

นาฟิอฺ บิน หาริษ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

3

ฏออีฟ

ซาอุดีอาระเบีย

อุษมาน บิน อบิล อาศ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

สุฟยาน บิน อับดุลลอฮฺ อัลษะเกาะฟียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

4

เยเมน

เยเมน

ยะอฺลา บิน อุมัยยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

5

บาห์เรน

บาห์เรน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์

อัลอะลาอฺ บิน อัลหะเฎาะเราะมียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อุษมาน บิน อบิลอาศ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อิยาช บิน อบี ษูร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

กุดามะฮฺ บิน มัซอูน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อุษมาน บิน อบิล อาศ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

6

ชาม

ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน

อิสราเอล

อบู อุบัยดะฮฺ บิน อัลจัรร็อหฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

มุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

ยะซีด บิน อบีสุฟยาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

มุอาวิยะฮฺ บิน อบี สุฟยาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

7

อียิปต์

อียิปต์ มอร็อคโค อัลจีเรีย

อัมรฺ บิน อัลอาศ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

8

บัศเราะฮฺ

อิรัก

อุตบะฮฺ บิน ฆ็อซวาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อัลมุฆีเราะฮฺ บิน ชุอฺบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อบูมูซา อัลอัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

9

กูฟะฮฺ

อิรัก

 

สะอดฺ บิน อบี วักก็อศ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อัมมาร บิน ยาสีร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อัลมุฆีเราะฮฺ บิน ชุอฺบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

10

มะดาอิน

อิหร่าน

 

สัลมาน อัลฟาริสียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

หุซัยฟะฮฺ บิน อัลยะมาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

11

อาเซอร์ไบจัน

อาเซอร์ไบจัน

จอร์เจีย

หุซัยฟะฮฺ บิน อัลยะมาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

อุตบะฮฺ บิน ฟุรก็อด เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ

นอกจากนั้น ยังมีบางหัวเมืองที่มีหลักฐานไม่ชัดเจนว่าเป็นเอกเทศขึ้นตรงต่อเคาะลีฟะฮฺที่มะดีนะฮฺ หรือเป็นเมืองบริวารที่อยู่ใต้อำนาจข้าหลวงมณฑลใกล้เคียง เช่น อัลมูศุล หิลวาน และกุสกัร ที่อยู่ใกล้เคียงกับมณฑลบัศเราะฮฺและกูฟะฮฺ เป็นต้น

 

การพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวง

การคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวง ถือเป็นงานที่ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัลค็อฏฏ็อบ ให้ความสำคัญมาก เพราะตามหลักความรับผิดชอบในศาสนาอิสลามแล้ว ความบกพร่องทุกสิ่งที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรนั้น เคาะลีฟะฮฺซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐ เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบและจะถูกไต่สวนในวันกิยามะฮฺร่วมกับผู้ที่มีส่วนในการกระทำสิ่งดังกล่าว (ท่านเคยกล่าวว่า หากอูฐของกองคลังตัวหนึ่งพลัดหลงที่อิรัก ฉันย่อมต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺอย่างแน่นอน)  

ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลมาทำหน้าที่แทนท่านในแคว้นที่ห่างไกลตัวจึงไม่ใช่การมอบความรักใคร่เสน่หา หรือการโยนความรับผิดชอบ หากเป็นมอบหมายความไว้วางใจให้ช่วยแบ่งเบาภาระที่ท่านเคาะลีฟะฮฺต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ลำพังตัวท่านคนเดียวไม่อาจจะดำเนินการได้ เป็นการมอบหมายหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดและเกิดความบกพร่องน้อยที่สุด  ท่านจึงพิถีพิถัน วางกฎเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างละเอียดและรอบคอบ ทั้งในด้านคุณธรรม ความรู้ และศิลปะการปกครองดังนี้

 
คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำมณฑล

บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำมณฑลที่เคาะลีฟะฮฺอุมัรคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้


1. มีภาวะความเป็นผู้นำและความซื่อสัตย์

ภาวะความเป็นผู้นำ หรือในภาษาอาหรับใช้คำว่า “เกาะวียฺ” (???) แปลว่า ผู้ทรงพลัง ผู้เข้มแข็ง ซึ่งการมีพลังเข้มแข็งในด้านการปกครองก็หมายถึงการมีภาวะความเป็นผู้นำนั้นเอง โดยท่านอุมัรถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานประการแรกที่ข้าหลวงจะต้องมี และเป็นคุณสมบัติที่ท่านให้ความสำคัญมากกว่าความซื่อสัตย์ เพราะหน้าที่ที่จะมอบหมายให้คือการเป็นผู้นำ ดังนั้น หากข้าหลวงไม่มีภาวะความเป็นผู้นำแล้ว การเป็นข้าหลวงของเขาก็คงไม่มีความหมายและไม่สัมฤทธิ์ผล ท่านได้กล่าวรำพึงรำพันต่ออัลลอฮฺว่า :

"... ????? ??? ???? ???? ??? ??????? ???? ?????... "

แปลว่า :  “โอ้ พระองค์อัลลอฮฺ ข้าขอระบายความอึดอัดใจต่อพระองค์ในความแข็งแกร่งของคนชั่วและความอ่อนแอของคนซื่อสัตย์…” (al-Shallabiy : 303)

 

นอกจากนี้ ภายหลังจากการแต่งตั้งแล้ว ท่านก็ยังตรวจสอบคุณสมบัติประการนี้อยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อใดที่ท่านพบว่าข้าหลวงท่านใดหย่อนความสามารถและมีผู้อื่นที่มีความสามารถเหนือกว่า ท่านก็จะปลดข้าหลวงคนนั้นและแต่งตั้งผู้สมควรกว่าให้ดำรงตำแหน่งแทน ดังกรณีที่ท่านเคยปลดชุเราะห์บีล บิน หะสะนะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ จากการเป็นข้าหลวงประจำมณฑลย่อยจอร์แดนและแต่งตั้งมุอาวิยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ให้ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งชุเราะห์บีลได้ถามท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ว่า “ท่านปลดฉันด้วยความโกรธเคืองหรือ โอ้ ท่านอมีรุลมุมินีน?” ท่านตอบว่า “ไม่หรอก ท่านนั้นฉันยังคงรักชอบเหมือนเดิม เพียงแต่ฉันอยากได้คนที่แข็งแกร่งกว่า” (al-Tabariy : 5/39)

 

2. มีวิชาความรู้

อิสลามเป็นศาสนาที่กำชับและส่งเสริมให้มุสลิมค้นคว้าหาความรู้ และให้เกียรติแก่ผู้ที่มีความรู้เป็นอย่างสูงดังที่บัญญัติแรกของคัมภีร์อัลกุรอานที่อัลลอฮฺประทานให้แก่ท่านนบีมุหัมมัดก็เป็นบัญญัติที่ใช้ให้ท่านอ่านหนังสือด้วยพระนามของพระผู้ทรงสร้างมนุษย์ อัลลอฮฺได้กล่าวว่า : 

???????? ??????? ??????? ??????? ?????? ( 1 ) ?????? ??????????? ???? ?????? ( 2 ) ??????? ????????? ??????????? ( 3 ) ??????? ??????? ??????????? ( 4 ) ??????? ??????????? ??? ???? ???????? ( 5 )? (????? : 1-5)   

ความว่า : จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด ผู้ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นเป็นผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนด้วยการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ (อัลอะลัก 1-5)

 

และอัลกุรอานยังระบุอีกว่า :

????????? ????? ????????? ??????? ??????? ??????????? ??????? ????????? ?????????? (???????? : 11 )  ( ???????? : 11)

ความว่า : เพราะอัลลอฮฺจะทรงยกย่องเทิดเกียรติแก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้าและบรรดาผู้ได้รับความรู้หลายเท่า  (อัลมุญาดะละฮฺ : 11)

 

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร บินอัลค็อฏฏ็อบ นอกจากท่านจะน้อมรับนโยบายด้านการศึกษาของอิสลามด้วยการมุ่งมั่นศึกษาอย่างไม่หยุดหย่อน ท่านยังถือการศึกษาเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญในการคัดเลือกผู้นำต่าง ๆ ดังที่ Al-Tabariy ได้กล่าวว่า “ท่านอมีรุลมินีนนั้น เมื่อเหล่าทหารกล้าผู้เปี่ยมศรัทธามาประชุมกันต่อหน้าท่าน ท่านจะแต่งตั้งผู้ที่มีความเข้าใจศาสนาและมีวิชาความรู้ให้เป็นผู้นำ”

 

3. มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

คุณสมบัติข้อนี้ ท่านให้นามว่า “อัลบะศ็อร บิล อะมัล” (????? ??????) หรือการรู้แจ้งเห็นจริงในงานที่จะปฏิบัติ ซึ่งด้วยเหตุนี้เอง ท่านจะไม่แต่งตั้งคนดีที่ไม่รู้ทันความชั่ว โดยมีครั้งหนึ่ง ในขณะที่ท่านกำลังสืบข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ท่านต้องการจะมอบหน้าที่ให้ อยู่ ๆ ก็มีคนบอกว่า “โอ้ ท่านอมีรุลมุมินีน คนนั้นเขาไม่รู้จักความชั่วหรอก” เขาจึงกล่าวว่า “อย่างนั้น ก็ทำให้เขาพลาดพลั้งได้ง่ายล่ะสิ” ท่านเลยไม่พิจารณาเลือกผู้นั้น (al-Shallabiy : 303)

 

4. มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนทุกระดับ

ผู้จะมาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวง จะต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับประชาชน สามารถเข้าใจและเข้าถึงประชาชนอันหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีในมณฑลของเขาเป็นอย่างดี โดยท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ได้ห้ามแต่งตั้งคนชนบทที่พักในกระโจมตามท้องทุ่งชนบทมาเป็นผู้ปกครองคนในเมืองที่พักในบ้านเรือน ซึ่งหลักการข้อนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “อัฮลุลวะบัร วะอัฮลุลมะดัร” (??? ????? ???? ?????)  (อ้างแล้ว : 303 )

 

5. มีจิตใจโอบอ้อมอารี

การมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้ข้าหลวงสามารถบรรลุจุดประสงค์ของการปกครอง นั้นก็คือการบำบัดทุกข์และบำรุงให้กับประชาชน ซึ่งท่านอุมัร ถือว่าหากข้าหลวงไม่มีความเอื้ออารีในจิตใจตัวเองแล้ว เขาก็ไม่สามารถจะให้ความเอื้ออารีต่อประชาชนได้ โดยท่านเคยปลดเจ้าหน้าที่ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า เขาไม่เคยกอดจูบลูกหลาน หรือปลดแม่ทัพเพียงเพราะเขาสั่งให้ทหารลงไปในแม่น้ำที่เย็นเฉียบ (al-Shallabiy : 305) หรือปลดข้าหลวงบาห์เรนเพราะนำทหารขึ้นเรือลงไปในทะเลซึ่งเป็นสิ่งที่คนอาหรับไม่เคยชินและเสี่ยงต่ออันตราย (อ้างแล้ว : 305)

ท่านกำชับแม่ทัพอยู่เสมอให้ปกป้องรักษาชีวิตของทหารเป็นอันดับแรก และยังกล่าวว่าชีวิตของประชาชนมุสลิมหนึ่งคนนั้นมีค่ามากกว่าหนึ่งแสนดีนาร์ (ดู สาส์นของเคาะลีฟะฮฺ ถึงแม่ทัพอัลนุมาน บินมุก็อรริน ใน Mohd.Hamidullah : 440)

 

6. ไม่เป็นผู้ที่มีความผูกพันทางเครือญาติอย่างใกล้ชิดกับตัวเคาะลีฟะฮฺ

การมอบหมายตำแหน่งให้กับบุคคลที่เป็นญาติใกล้ชิดกับผู้นำอาจจะทำให้การติดตาม ตรวจสอบ โยกย้ายและถอดถอนตำแหน่งดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นและเสี่ยงต่อการถูกนินทาครหาจนอาจนำไปสู่การเสื่อมความศรัทธาต่อผู้นำและทำให้เกิดความล้มเหลวในการบริหารในที่สุด ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรจึงจะไม่พิจราณาแต่งตั้งคนในครอบครัวหรือญาติสนิทให้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงแม้ว่าจะมีคุณสมบัติอื่น ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์และมีผู้อื่นเห็นดีเห็นงามด้วยก็ตาม เช่นอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุบุตรของท่าน หรือสะอีด บินซัยดฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ลูกพี่ลูกน้องของท่าน

โดยครั้งหนึ่งท่านได้พูดระบายความอึดอัดใจกับชาวเมืองกูฟะฮฺ เกี่ยวกับความยากลำบากในการเสาะหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำของพวกเขาว่า “ฉันหวังว่าคงจะพบชายมุสลิมที่แข็งแกร่งและซื่อสัตย์ ที่ฉันจะยกเป็นผู้นำพวกเขาได้” ชายคนนั้นก็พูดขึ้นว่า “พวกเรา ขอเสนอคนนั้นให้แก่ท่าน คืออับดุลลอฮฺ บิน อุมัรอย่างไงล่ะ” ท่านตอบว่า “ให้ตายเถอะ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่ต้องการคนนี้หรอก” (Ibn al-Jawziy : 108) และท่านยังได้กล่าวว่า :

?? ?????? ????? ????? ?? ?????? ?? ????? ??? ??? ??? ??? ???? ??????

ความว่า : ผู้ใดแต่งตั้งชายคนหนึ่ง เพียงเพราะความรักใคร่ชอบพอหรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เขาคนนั้นก็ได้หลอกลวงอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ (al-Shallabiy : 305)

 

7. ไม่เป็นผู้ที่ขอตำแหน่ง

ท่านยึดแบบฉบับของท่านนบีมุหัมมัดที่ไม่มอบตำแหน่งให้กับผู้ที่ขอ ทั้งนี้คงเป็นเพราะ ผู้ที่ขอตำแหน่งเป็นผู้ที่ไม่บริสุทธิ์ใจและต้องการใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ  แต่ตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่ท่านขอร้องหรือบังคับให้ผู้ที่ไม่ต้องการตำแหน่งแต่มีความเหมาะสมให้รับตำแหน่ง  ดังกรณีที่ท่านบังคับ สัลมาน อัลฟาริสียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ให้รับตำแหน่งข้าหลวงประจำมณฑลมะดาอิน (อ้างแล้ว : 306) เมืองหลวงเก่าของจักรวรรดิ์เปอร์เซีย หรือไม่อนุมัติการลาออกของบรรดาข้าหลวงที่ท่านเห็นว่าเป็นคนเหมาะสมกว่าคนอื่นอยู่แล้ว เป็นต้น

 

8. ไม่เป็นนักธุรกิจควบกับการดำรงตำแหน่งข้ารัฐการ

ทั้งนี้ เพราะการทำธุรกิจควบคู่กับการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะทำให้การปฏิบัติรัฐการหย่อนประสิทธิภาพ และอาจเป็นการเอื้อต่อการใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และเกิดความยุ่งยากในการตรวจสอบ โดยครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่รัฐของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ชื่ออัลหาริษ บินกะอับฺ บิน วะฮับฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เกิดความร่ำรวยอย่างผิดปกติ ท่านอุมัรจึงสอบถามถึงที่มาของความร่ำรวยนั้น เขาตอบว่า ฉันนำเงินส่วนตัวมาลงทุนทำการค้า ท่านเลยตอบว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่ได้ส่งพวกท่านมาเพื่อทำการค้าขาย” แล้วท่านก็ยึดทรัพย์สินส่วนเป็นกำไรจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าว(อ้างแล้ว : 306) ซึ่งกฎระเบียบนี้ ได้เป็นที่ปฏิบัติติดต่อกันเรื่อยมาในซาอุดิอาระเบียจนถึงปัจจุบัน (ประชาชนที่เป็นข้าราชการในประเทศซาอุดิอาระเบียทุกระดับชั้นไม่สามารถขออนุญาตจดทะเบียนการค้าประเภทต่าง ๆ ได้ – ผู้เขียน)

 

9. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง

ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ จะจัดเก็บข้อมูลบัญชีทรัพย์ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับก่อนมอบหมายตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบทรัพย์สินหลังจากพ้นจากตำแหน่ง โดยหากพบว่าข้าราชการคนใดมีความร่ำรวยผิดปกติ ทรัพย์สินส่วนดังกล่าวจะถูกยึดให้เป็นของรัฐ (อ้างแล้ว : 306)

 

10. ยอมรับเงื่อนไขในการวางตัวในสังคม

เมื่อท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรจะแต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวง ท่านจะเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้นั้นยอมรับไปปฏิบัติ ดังนี้

1. ไม่ขับขี่พาหนะชั้นดี

2. ไม่รับประทานอาหารชั้นดี

3. ไม่สวมใส่เสื้อผ้าชั้นดี

4. ไม่ปิดประตูบ้านด้วยเจตนางดให้บริการรับใช้ประชาชน

ทั้งนี้ การรับยอมข้อปฏิบัติดังกล่าวจะมีชาวอันศอรฺ (อันศอร คือ ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่เมืองมะดีนะฮฺมาแต่ดั้งเดิม-ผู้เขียน) กลุ่มหนึ่งร่วมเป็นสักขีพยาน โดยท่านอุมัรจะกล่าวปิดท้ายว่า “อัลลอฮุมมะ ฟัชฮัด” ความว่า “โอ้ พระองค์อัลลอฮฺ ขอโปรดได้เป็นสักขีพยานด้วยเถิด” (al-Muhib al-Tabariy : 337)

จะสังเกตเห็นว่า ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเป็นอย่างยิ่งในการวางเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น เพราะแม้ว่าสิ่งดังกล่าวท่านไม่สามารถบังคับประชาชนทั่วไปได้ เนื่องจากเป็นมาตรการที่ไม่ถึงขั้นบังคับในหลักศาสนา (วาญิบ) แต่ท่านสามารถวางเป็นเงื่อนไขให้กับข้าหลวงเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนได้ ซึ่งเมื่อเหล่าข้าหลวงได้นำไปปฏิบัติ เขาก็จะมีชีวิตอย่างสมถะพอเพียง มีความสุขในชีวิต ไม่ประสบปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันและไม่มีหนี้สินผูกพัน นอกจากนั้น มาตรการดังกล่าวยังสามารถปิดช่องว่างไม่ให้ผู้ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ได้เข้ามาเป็นผู้ปกครอง ตลอดจนยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างข้ารัฐการกับประชาชนทั่วไป ประชาชนก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการพัฒนารัฐ จนทำให้โครงการต่าง ๆ ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วได้ในที่สุด

 

11. ผ่านที่ประชุมบรรดาเศาะหาบะฮฺชั้นผู้ใหญ่

การพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงจะเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อท่านเคาะลีฟะฮฺได้ประชุมหารือกับบรรดาเศาะหาบะฮฺชั้นผู้ใหญ่ ท่านเคยกล่าวต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺชั้นผู้ใหญ่ว่า “พวกท่านจงเสนอแก่ฉัน ผู้ที่ตอนเป็นผู้นำในสังคม เขาเหมือนไม่ใช่ผู้นำ แต่ตอนที่ไม่ได้เป็นผู้นำเขากลับดูเป็นผู้นำ” พวกเขาเลยเสนอชื่ออัรเราะบีอฺ บินซัยยาด เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านได้ขอความเห็นเกี่ยวกับผู้ที่จะดำรงตำแหน่งข้าหลวงกูฟะฮฺ ซึ่งค่อนข้างจะปัญหา เนื่องจากประชาชนมีนิสัยก้าวร้าว ไม่ค่อยให้ความเคารพต่อผู้นำ หากส่งคนนุ่มนวลไป พวกเขาก็จะทำเลินเล่อ และหากส่งคนเฉียบขาดไป พวกเขาก็จะต่อต้าน ท่านกล่าวว่า “โอ้ เพื่อนมนุษย์เอ๋ย พวกท่านจะว่าอย่างไรในชายผู้อ่อนแอแต่เป็นมุสลิมที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ กับอีกคนหนึ่งที่เป็นคนแข็งแกร่งเฉียบขาด คนไหนที่สมควรให้ตำแหน่งมากที่สุด” อัลมุฆีเราะฮฺ บินชุบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เลยตอบว่า “โอ้ ท่านอมีรุลมุมินีน แท้จริงแล้ว คนอ่อนแอที่เป็นมุสลิมนั้น ความเป็นอิสลามของเขาจะได้กับเขา แต่ความอ่อนแอของเขาจะตกแก่ท่านและปวงชนมุสลิม ส่วนคนแข็งแกร่งที่กระด้างนั้น ความกระด้างของเขาจะตกกับเขา แต่ความแข็งแกร่งของเขาจะได้กับท่านและปวงชนมุสลิม ดังนั้น ท่านจงใช้ความเห็นของท่านพิจารณาเถิด” ท่านอุมัรจึงกล่าว “ท่านพูดถูกต้อง มุฆีเราะฮฺ” แล้วท่านก็แต่งตั้งเขาให้เป็นข้าหลวงกูฟะฮฺ พร้อมกับกล่าวว่า “ท่านจงพยายามเป็นผู้ที่คนดีไว้ใจและคนชั่วหวาดกลัว” อัลมุฆีเราะฮฺ จึงกล่าวว่า “ฉันจะทำอย่างนั้น โอ้ ท่านอมีรุลมุมินีน” (อ้างแล้ว : 308)

 

12. ผ่านการทดสอบ

หนึ่งในคุณสมบัติของผู้จะได้รับพิจราณาแต่งตั้งให้เป็นผู้นำภายใต้การปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัรก็คือจะต้องผ่านการทดสอบ โดยท่านเคาะลีฟะฮฺจะทดสอบด้วยวิธีการและระยะเวลาที่ไม่มีกำหนดแน่ชัด บางคนต้องถูกทดสอบนานถึงหนึ่งปี ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับอัลอะหฺนัฟ บิน ก็อยสฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุตามที่ท่านเองได้เล่าว่า :

???? ??? ??? ??? ?????? ????? ???? ????? ???????? ???? ????? ???? ?? ???? ?? ????? ?????? ????? ?? ??????? ???? ???? ???? ?? ???? ?????? ??? ??????? ????? ??? ????? ???? ???? ??? ????? ?? ????? ????? ?? ??? ?? ??? ????? ?? ???????? ???? ?? ??? ???? ??????? ?? ????

แปลว่า : ฉันได้มาหาท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏ็อบ แล้วท่านก็กักฉันไว้ให้อยู่กับท่านนานหนึ่งปี และกล่าวว่า “โอ้ อัลอะหฺนัฟ ฉันได้ทดสอบท่านแล้ว และฉันได้เห็นว่าข้างนอกของท่านนั้นดี ฉันจึงหวังว่าข้างในของท่านคงจะดีเหมือนข้างนอกเช่นกัน และเราก็เคยพูดกันแล้วว่า แท้จริงแล้ว คนที่ทำลายประชาชาตินี้ ก็คือพวกสับปลับช่างรู้ทั้งหมด” แล้วท่านอุมัรก็กล่าวว่า “โอ้ อัลอะหฺนัฟ ท่านรู้หรือเปล่าว่าทำไม่ฉันจึงกักท่านไว้?” แล้วท่านก็ชี้แจงว่าท่านต้องการทดสอบเขา และต่อมา ท่านก็แต่งตั้งเขา (Ibn al-Jawziy : 117)

 

และท่านยังได้ให้โอวาทแก่อัลอะหฺนัฟว่า :

?? ????? ?? ??? ???? ???? ?????? ??? ??? ????? ??? ??? ???? ?? ??? ???? ??? ??? ??? ????? ??? ???? ??? ??? ???? ?? ?????? ??? ???? ????? ?? ????? ??? ?? ???? ??? ????

โอ้ อัลอะหฺนัฟเอ๋ย …

ผู้ใดที่หัวเราะมาก ความเกรงขามในตัวเขาก็จะลดน้อย

ผู้ใดชอบล้อเล่น เขาก็จะถูกทำเลินเล่อ

ผู้ใดทำอะไรมากๆ เขาก็จะถูกตราหน้าด้วยสิ่งนั้น

ผู้ใดพูดมาก ความผิดพลาดของเขาก็จะมีมาก

ผู้ใดมีความผิดพลาดมาก ความอายของเขาก็จะลดน้อย

ผู้ใดมีความอายน้อย ความเคร่งครัดของเขาก็จะลดน้อย

ผู้ใดมีความเคร่งครัดน้อย ดวงใจของเขาก็จะตายด้าน (al-Shallabiy : 309)

 

13. ให้สิทธิพิเศษแก่คนในพื้นที่

เนื่องจากคนในพื้นที่เป็นคนรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ และสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างใกล้ชิดที่สุด ดังนั้น หากในมณฑลใดมีคนในพื้นที่ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ท่านอุมัรก็จะพิจารณาแต่งตั้งผู้นั้นให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวง ดังกรณีการแต่งตั้งสัลมาน อัลฟาริสียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุให้เป็นข้าหลวงเขตมณฑลมะดาอิน การแต่งตั้งนาฟิอฺ บินอัลฮาริษ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ให้เป็นข้าหลวงมณฑลมักกะฮฺ และการแต่งตั้งอุษมาน บิน อบิลอาศ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ให้เป็นข้าหลวงมณฑลเยเมน ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนในพื้นที่

และเป็นที่น่าสังเกตว่า มณฑลเก่าที่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลามมานับตั้งแต่สมัยท่านนบีมุหัมมัด เช่น มักกะฮฺ เยเมน และฏออีฟ จะมีข้าหลวงเป็นคนในพื้นที่ ทั้งนี้คงเป็นเพราะในพื้นที่ที่ศาสนาอิสลามเข้ามีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพบุคคลมาก่อนหน้าเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วนั้น จะมีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นข้าหลวงมากกว่าในมณฑลใหม่ ๆ

 

14. มีหนังสือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

การแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำมณฑลต่าง ๆ นั้น จะมีหนังสืออย่างเป็นทางการจากท่านเคาะลีฟะฮฺถึงประชาชนในพื้นที่เขตปกครอง เพื่อแจ้งให้ทราบถึงบุคคลที่จะมาเป็นข้าหลวงและภารกิจหลักของเขา ดังกรณีการแต่งตั้งอบูมูซา อัลอัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุให้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำมณฑลบัศเราะฮฺในปี ฮ.ศ. 17 (การสถาปนามณฑลกูฟะฮฺ เกิดขึ้นเมื่อปี ฮ.ศ 17) ดังนี้ :

??? ???? ???? ?? ???? ??? ???? ????? ?????? ????? ??????? ?? ?????? ??????? ??? ?????? ?????? ?? ????? ?????? ??? ?????? ?? ?????? ?????? ?????? ??? ?????

แปลว่า : ฉันได้ส่งอบูมูซามาเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือพวกท่าน เพื่อเอาความชอบธรรมจากผู้เข้มแข็งของพวกท่านให้กับผู้อ่อนแอ เพื่อรบราศัตรูของพวกท่านร่วมกับพวกท่าน เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกท่าน และเพื่อเก็บคำนวณทรัพย์สิน ฟัยอ์ (คือ ทรัพย์สินที่ยึดได้จากข้าศึกโดยไม่ต้องทำสงคราม ดู Ibrahim Mustafa : 707) ของพวกท่านแล้วก็แบ่งปันกันในหมู่พวกท่าน และเพื่อทำความสะอาดถนนสายต่าง ๆ ของพวกท่านให้แก่พวกท่าน (Mohd. Hamidullah : 424)

 

บุคลิกภาพโดยรวมของข้าหลวงท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร

จากการคัดเฟ้นผู้จะมาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงอย่างละเอียดรอบคอบของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เพื่อให้บรรลุความสำเร็จสูงสุดในการบริหารปกครองอาณาจักร ทำให้บุคลิกภาพของ บรรดาข้าหลวงที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่แทนท่านในดินแดนที่ห่างไกล นอกเหนือจากการเป็นผู้ที่มีความรู้ศาสนา มีความศรัทธาอย่างมั่นคงต่ออัลลอฮฺ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีใจเมตตาและเป็นธรรม รับฟังคำตักเตือน กล้าหาญ อดทน เสียสละ ใฝ่สูง บริหารจัดการเป็น และลักษณะความเป็นผู้นำอื่น ๆ แล้ว พวกเขายังมีลักษณะเด่นที่สำคัญดังนี้

 

1. ใช้ชีวิตอย่างสมถะ

ข้าหลวงของท่านเคาะลีฟะฮฺมีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือในด้านสมถะ ดังเช่น อบู อุบัยดะฮฺ บิน อัลจัรร็อหฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ข้าหลวงประจำมณฑลชาม อบูมูซา อัลอัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ข้าหลวงประจำมณฑลบัศเราะฮฺ มุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ข้าหลวงประจำมณฑลชามต่อจากอบู อุบัยดะฮฺ หรือสัลมาน อัลฟาริสียฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ข้าหลวงประจำมณฑลมะดาอิน เป็นต้น

โดยความสมถะของคนเหล่านี้ บางครั้ง แม้คนใกล้ชิดอย่างภรรยาก็ไม่สามารถทำใจยอมรับได้ กระทั่งหลายคนถูกภรรยาของตัวเองเข้าร้องเรียนต่อท่านเคาะลีฟะฮฺ เช่นกรณีของมุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ที่ภรรยาของท่านได้มาร้องเรียนต่อท่านเคาะลีฟะฮฺ จากสาเหตุที่ท่านเคาะลีฟะฮฺได้มอบเงินให้มุอาซเดินไปแจกจ่ายแก่ประชาชนบางเผ่า ท่านเลยแจกจ่ายให้พวกเขาจนหมดสิ้น ไม่เหลือแม้แต่นิดเดียว ครั้นเมื่อกลับมาที่บ้าน ภรรยาของเขาก็ถามว่า “ไหนล่ะสิ่งที่ท่านพากลับมาเป็นส่วนแบ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐมอบให้คนที่บ้าน ?” ท่านตอบว่า “มีผู้คุมอยู่พร้อมกับฉัน” นางกล่าวว่า “ท่านเคยเป็นคนที่ซื่อสัตย์ในสมัยท่านเราะสูลุลลอฮฺและในสมัยท่านอบูบักรฺมาก่อน แล้วท่านอุมัรส่งผู้คุมมากับท่านหรือ ?” แล้วนางก็มาร้องเรียนต่อท่านอุมัร ท่านเลยเรียกท่านมุอาซเข้าพบแล้วถามว่า “ฉันได้ส่งผู้คุมมาควบคุมท่านกระนั้นหรือ ?” ท่านตอบว่า “ฉันไม่มีข้ออ้างที่จะแก้ตัวกับนางนอกจากด้วยสิ่งดังกล่าว” ท่านอุมัรจึงยิ้มหัวเราะ และยื่นสิ่งหนึ่งให้แก่เขา พร้อมกับกล่าวว่า “จงเอาใจนางด้วยสิ่งนี้” (al-Shallabiy : 312)

 

2. ถ่อมตัว

ข้าหลวงในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ นั้นมีความถ่อมตัวเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดว่า คนที่ไม่รู้จักเคยพวกเขา จะไม่สามารถจำแนกระหว่างพวกเขากับประชาชนทั่วไปได้ ทั้งนี้เป็นเพราะเครื่องแต่งกาย บ้านเรือน ยานพาหนะ และอาหารการกินของพวกเขาไม่แตกต่างอะไรไปกับคนสามัญชนทั่วไป ดังกรณีของอบู อุบัยดะฮฺ บิน อัลจัรร็อหฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ข้าหลวงมณฑลชามกับทูตชาวโรมันที่ถูกส่งมาเพื่อเจรจากับท่าน โดยเขาได้เดินทางมาถึงหน้าท่านอบู อุบัยดะฮฺในขณะที่ท่านกำลังอยู่พร้อมกับคนอื่น ปรากฏว่าเขาไม่สามารถคาดเดาได้ว่า อบู อุบัยดะฮฺคือชายคนไหน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในหมู่คนที่อยู่หน้าเขานั้นมีอบู อุบัยดะฮฺด้วยหรือเปล่า เพราะเขาไม่รู้สึกเกรงขามโอ่อ่าต่อที่พักของผู้นำแม้แต่น้อย จนในที่สุด เขาก็พูดขึ้นว่า โอ้ ปวงชาวอาหรับ ไหนล่ะผู้นำของท่าน ? พวกเขาจึงตอบว่า นี่แหละ คนนี้อย่างไรล่ะ” เขาจึงพินิจดู ซึ่งปรากฏว่า อบู อุบัยดะฮฺกำลังนั่งอยู่บนพื้นดินโดยมีธนูไขว้บนบ่าและมือกำลังพลิกลูกศรไปมา ทูตคนนั้นเลยกล่าวว่า

ทูต : ท่านหรือ คือผู้นำของคนเหล่านี้ ?

อบูอุบัยดะฮฺ :  ใช่แล้ว

ทูต : แล้วเหตุใดถึงท่านต้องมานั่งบนพื้นดิน ถ้านั่งบนเบาะไม่ดีกว่าหรือ หรือว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้ท่านถูกลดฐานะให้ต้อยต่ำ ณ ที่อัลลอฮฺ หรือมันหักห้ามท่านจากการทำดี ?

อบูอุบัยดะฮฺ : แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺไม่ทรงละอายในความสัจจริง  ฉันนี้ ไม่มีเงินแม้แต่หนึ่งดีนาร์ หรือหนึ่งดิรฮัม และเมื่อวานนี้ ฉันจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ปรากฏว่าฉันไม่มี จนฉันต้องขอยืมเงินจำนวนหนึ่งจากพี่น้องของฉันคนนี้ คือมุอาซ แล้วเขาก็ให้ฉันยืม และหากฉันมีเสื่อหรือเบาะ ฉันก็จะไม่นั่งโดยปล่อยให้พี่น้องหรือเพื่อนของฉันนั่งอยู่บนพื้นดิน  ซึ่งฉันเองก็ไม่ทราบว่า บางทีเขาอาจจะดีกว่าฉันเสียอีกในทัศนะของอัลลอฮฺ และพวกเราทั้งหมดนี้ ต่างเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ เราเดินบนดิน นั่งบนดิน กินบนดิน และนอนบนดิน ซึ่งมันไม่ได้ทำให้เราเสียหายอะไร ณ ที่อัลลอฮฺ แต่ทว่า มันจะทำให้อัลลอฮฺทรงแผ่ขยายผลบุญของเรา ทรงเลื่อนชั้นของพวกเรา และทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อพระผู้เป็นเจ้าของเรา (al-Shallabiy : 312)

 

3. มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺและยึดมั่นในหลักการศาสนาอย่างเคร่งครัด

ข้าหลวงของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ทั้งหมดคือศิษย์และเศาะหาบะฮฺ (ชาวมุสลิมที่มีชีวิตร่วมสมัยกับท่านนบีมุหัมมัด) ของท่านนบีมุหัมมัด พวกเขาได้คลุกคลีใช้ชีวิตร่วมกับท่านเป็นเวลาหลายปี พวกเขาได้ปฏิบัติตามแนวทางชีวิตที่ท่านได้แสดงเป็นแบบอย่างอย่างเคร่งครัด มีข้าหลวงหลายคนขอลาออกจากตำแหน่งเพราะไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกสอบสวนในวันกิยามัต แม้ว่าตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตำแหน่งที่อัลลอฮฺจะทรงประทานผลบุญอย่างมหาศาลก็ตาม ดังกรณีของอุตบะฮฺ บิน ฆ็อซวาน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ขอลาออกจากตำแหน่งข้าหลวงประจำมณฑลบัศเราะฮฺแต่ท่านอุมัรไม่อนุมัติการลาออก หรือ อันนุอฺมาน บิน มุก็อรริน เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ข้าหลวงประจำมณฑลกุสกัรที่ขอลาออกด้วยเหตุผลขออนุญาตไปร่วมสงครามต่อสู้กับข้าศึก เป็นต้น

ตลอดจนมีหลายคน ที่ไม่ขอรับตำแหน่งแม้จะถูกเสนอให้ ดังกรณีของอัซซุเบรฺ บิน อัลเอาวาม เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุไม่ขอรับตำแหน่งข้าหลวงอียิปต์ หรืออับดุลลอฮฺ บิน อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมาไม่ขอรับตำแหน่งข้าหลวงหิมศฺ เป็นต้น  (ดู Al-Baladhariy : 214 และ  al-Shallabiy : 312)

 

4. เคารพและให้เกียรติแก่ข้าหลวงคนก่อน

บุคลิคภาพรวมทั่วไปอีกข้อหนึ่งของบรรดาข้าหลวงของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรก็คือ การเคารพนับถือและให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะต่อข้าหลวงที่ทำงานก่อนหน้าพวกเขา เช่นกรณีของท่านคอลิด บิน อัลวะลีด เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เมื่อมารับตำแหน่งเป็นผู้นำชามแทนอบู อุบัยดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เขาปฏิเสธไม่ยอมเป็นอิหม่ามนำละหมาดแทนอบู อุบัยดะฮฺ หรือ ในเวลาต่อมา ที่ท่านคอลิด ถูกเคาะลีฟะฮฺอุมัรปลดแล้วแต่งตั้งอบู อุบัยดะฮฺให้ทำหน้าที่แทน ปรากฏว่าท่านก็ไม่แจ้งการปลดตำแหน่งให้คอลิดทราบ จนกระทั่งมีหนังสือจากท่านอุมัรเป็นครั้งที่สอง ท่านจึงแจ้งให้ทราบและถูกคอลิดตำหนิเนื่องจากการปิดบังข่าว (‘Abd al-Rahman al-Sharqawiy : 263)

 

บทสรุป

วิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มาดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงประจำมณฑลในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัร บิน อัลค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ นับว่าเป็นวิธีการที่ประณีตละเอียดอ่อนที่มุ่งเป้าหมายและความสัมฤทธิ์ผลเป็นสำคัญ และเป็นวิธีการที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเองเพราะสิ่งที่เคาะลีฟะฮฺอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ใช้เป็นมาตรฐานในการกำหนดเงื่อนไขและวางกฎเกณฑ์ต่างๆ คืออิสลาม อิสลามที่ถือว่าสังคมจะดีได้ก็เพราะคนได้รับการพัฒนา การพัฒนาคนจะต้องเริ่มต้นที่จิตใจและสติปัญญา และพัฒนาการบ้านเมืองจะรุดหน้าก็ด้วยการมีบุคคลตัวอย่างมานำทางชี้แนะแก่สังคม

วิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้นำของเคาะลีฟะฮฺอุมัร จึงนับเป็นวิธีการที่น่าสนใจและชวนให้ศึกษาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ประสบความสำเร็จมาแล้วในการคัดสรรคนดีที่มีประสิทธิภาพทั้งทางคุณธรรม ปัญญา และความสามารถให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนพัฒนารัฐอิสลามให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ประสบผลสำเร็จในด้านการรักษาความสมัครสมานปรองดองแห่งชาติ ไม่เกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชนชั้นเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนทั่วไป และเป็นวิธีการพัฒนาทางระเบียบกฎหมายที่ปลดมนุษย์ให้หลุดพ้นจากบ่วงความวิกฤติวุ่นวายและความทับถมจำเจของปัญหานานัปการ เฉกเช่นที่ชาวโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันให้เกิดขึ้นจริงมาแล้วในตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความทรงจำที่คดเคี้ยวของการเมืองโลกใบนี้ ... วัสสลาม

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).