Loading

 

วิกฤติด้านสังคมและความไร้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ

วิกฤติด้านสังคมและความไร้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ
อาณาจักรโรมันตะวันออก(ไบเซนไทน์) ในสมัยนั้น ประสบภาวะวิกฤติต่าง ๆ ทางสังคมจนถึงจุดสูงสุด  ปัญหาความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ซ้ำร้ายยังมีการรีดไถเครื่องบรรณาการและมีระบบการเก็บภาษีที่สูงลิ่ว จนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกสาปแช่งจากประชาชนอย่างรุนแรง กระทั่งประชาชนถือว่าหากมีรัฐบาลต่างชาติเข้ามาปกครอง ก็ยังดีกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลของตน การข่มขู่บังคับและการอายัดทรัพย์ ได้หมุนเวียนเข้ามาในชีวิตจนกลายเป็นภาระทับซ้อน   ความวุ่นวายดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงและเกิดเป็นการลุกฮือต่อต้าน ดังเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 532 ที่ทำให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เฉพาะเขตเมืองหลวงมีประชาชนถูกฆ่าตายจำนวนถึง 30,000 คน[i] ด้วยภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ แทนที่ประชาชนจะใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่พวกเขากลับใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ทุกคนต่างใฝ่ฝันและแข่งขันกันสะสมเงินทอง แม้นจะได้มาด้วยวิธีการใดก็ไม่คำนึง หวังเพียงเพื่อมีไว้ใช้จ่ายอย่างสะดวก สนุกมือและปรนเปรออารมณ์เท่านั้น
 
รากฐานทางศีลธรรมต้องสูญสลาย และสิ่งค้ำจุนทางคุณธรรม จริยธรรมได้พังทลายลง กระทั่งผู้คนทั่วไปต่างคิดว่า การครองชีวิตโสดดีกว่าการมีชีวิตครอบครัว ทั้งนี้เพื่อสามารถปฏิบัติในสิ่งที่ต้องการอย่างอิสระโดยปราศจากพันธะใด ๆ [ii]
 เซล (Sale) กล่าวว่า “ความยุติธรรมสามารถซื้อขายและต่อรองราคากันได้ประหนึ่งสินค้า การทุจริตคอร์รัปชั่นและการคดโกงกลับได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประชาชนทั่วไป”[iii]
 
กิบบอน(Gibbon) กล่าวว่า “ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 6   รัฐโรมันได้มาถึงยุคที่ตกต่ำที่สุด เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่าน ที่ช่วงเวลาหนึ่งบรรดาประเทศใหญ่น้อยในโลกต่างเคยพึ่งพาอาศัยใต้ร่มเงาของมัน แล้วต่อมา มันกลับเหลือแค่ลำต้นที่มีแต่แห้งเหี่ยวลงทุกวัน”[iv]
 
คณะผู้เขียนหนังสือ Historian’s History of the World กล่าวว่า “เมืองใหญ่ ๆ ต้องพังทลายลงในเวลาอันรวดเร็ว จนมิอาจกอบกู้เกียรติและความรุ่งเรืองกลับคืนได้อีก ซึ่งก็ยืนยันสาเหตุของความตกต่ำที่ประสบกับอาณาจักรไบแซนไทน์ในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นผลพวงจากการเก็บภาษีอากรที่สูงเกินควร ความตกต่ำทางการค้า การละเลยต่อภาคการเกษตรและประเทศขาดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างสมดุลนั่นเอง”[v]
 



สภาพทางศาสนาและเศรษฐกิจของอียิปต์ ในยุคอาณาจักรโรมัน
สำหรับอียิปต์เมืองแห่งแม่น้ำไนล์อันแสนสุขและอุดมสมบูรณ์ ช่วงศตวรรษที่ 7   นับเป็นประเทศ ที่โชคร้ายที่สุด เนื่องจากนับถือศาสนาคริสต์และตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรโรมัน พวกเขาไม่สามารถรับประโยชน์อันใดจากการนับถือศาสนาคริสต์นอกจากความขัดแย้ง และการโต้เถียงกันในเรื่องธรรมชาติของพระเยซู จมปลักในปรัชญาของสิ่งเบื้องหลังธรรมชาติ และปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า ในศตวรรษที่ 7   ได้ปรากฏภาพอันเลวร้ายที่สุดสำหรับอียิปต์ จนกระทั่งชาติมหาอำนาจทางปัญญาต้องประสบกับความเสื่อมถอย พลังความสามารถด้านการสร้างสรรค์และการผลิตนวตกรรมก็อ่อนแอลง
 
ส่วนอียิปต์ภายใต้การยึดครองของโรมัน พวกเขาแทบไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลย นอกจากการกดขี่ด้านศาสนาที่เลวร้าย และการข่มเหงด้านการเมืองอย่างไร้ปรานีแล้ว พวกเขายังต้องทนทุกข์ทรมานกับความขมขื่นในวังวนแห่งความเลวร้ายเหล่านั้นตลอดเวลานับหลายสิบปี เฉกเช่นที่ยุโรปเคยประสบมาแล้วอย่างยาวนานเมื่อในยุคการสืบสวนทางศาสนา(New Inquisition)[vi] เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พวกเขาต้องหมดอาลัยในชีวิตและสิ้นหวังที่จะปฏิบัติหน้าที่สำคัญทางศาสนาและขัดเกลาจิตวิญญาณ พวกเขามิอาจมีความสุขกับอิสรภาพทางการเมืองได้เลย ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมของโรมัน ซ้ำยังไร้อิสรภาพด้านศาสนาและปัญญาอีกด้วย ทั้งที่เป็นประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์
 
กุสตาบ เลอบอง (Gustave Le Bon  ) กล่าวไว้ในหนังสือ “Arab Civilization” ว่า
 
“อียิปต์ถูกบังคับให้นับถือศาสนาคริสต์ แต่กลับยิ่งทำให้พวกเขาต้องจมดิ่งสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างยาวนานจนยากที่จะสลัดให้พ้นได้ จนกระทั่งถึงยุคที่อาหรับเข้ามาพิชิตเมือง   อียิปต์ซึ่งได้กลายเป็นสนามแห่งความขัดแย้งทางศาสนามากมายในสมัยนั้น ต้องประสบกับความทุกข์และความเดือดร้อนอย่างสาหัส   ความขัดแย้งเหล่านี้ ทำให้พวกเขาต้องเข่นฆ่าและแช่งด่ากันเอง อียิปต์ต้องถูกกัดแทะด้วยความขัดแย้งทางศาสนาและผู้นำเผด็จการ พวกเขาต่างจงเกลียดจงชังเจ้าปกครองแห่งโรมอย่างที่สุด และเฝ้ารอคอยวันเวลาเพื่อการปลดปล่อยอียิปต์จากอุ้งมือของจักรพรรดิผู้โหดเหี้ยมแห่งไบเซนไทน์ให้จงได้”[vii]
 
ดร.อัลเฟรด เจ.บัตเลอร์ กล่าวในหนังสือ “Arabs’Conguest of Egypt”  ว่าในศตวรรษที่ 7 ผู้คนในอียิปต์ต่างรู้สึกว่าศาสนาเป็นเรื่องอันตรายยิ่งกว่าการเมือง กลุ่มก๊วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย มิใช่สาเหตุมาจากประชาชนมีความคิดเห็นทางการเมืองการปกครองที่ต่างกัน   แต่เนื่องความขัดแย้งประเด็นความเชื่อและเรื่องศาสนาเป็นหลัก ขณะที่ผู้คนทั่วไปก็มิได้คิดว่าศาสนาสามารถจุดประกายให้มนุษย์หันมาสร้างกุศลความดีใด ๆ ได้ พวกเขามองว่า ศาสนาเป็นเพียงปรัชญาทางความเชื่อเฉพาะทางเท่านั้น”
 
ความขัดแย้ง และการโต้เถียงกันอย่างน่ากลัวระหว่างผู้คน ทั้งหมดล้วนเกิดจากการจิตนาการทางรูปลักษณ์ของความแตกต่างอันละเอียดอ่อนทางความเชื่อทั้งสิ้น พวกเขายอมเสี่ยงชีวิตถลำเข้าไปสู่กับดักอันตรายในหนทางที่ไร้สาระ ทุ่มเทความคิดเพียงเพื่อโต้แย้งในประเด็นความแตกแยกทางศาสนา และค้นหาปรัชญาเบื้องหลังธรรมชาติซึ่งยากที่จะเข้าใจและเกินกว่าสติปัญญาจะหยั่งถึง”[viii]
 
นี่คือสภาพความเป็นจริงของอียิปต์ ที่โรมันได้ยึดพวกเขาทำเป็นเสมือนแพะพันธุ์นมที่หมายรีดเอาน้ำนมเสียให้หมดเกลี้ยง ก่อนที่จะดูดเลือดของมันในภายหลัง ดร.อัลเฟรด กล่าวเสริมอีกว่า 
 
“โรมันบังคับให้อียิปต์จ่ายค่าหัวและภาษีอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่า ภาษีต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งเกินความสามารถของประชาชนที่จะจ่ายได้และถูกนำมาบังคับใช้ในระหว่างผู้คนโดยอยุติธรรม”[ix]
 
คณะผู้ประพันธ์หนังสือ Historian’s History of the World กล่าวว่า “อียิปต์ต้องจัดหาทรัพย์สินจำนวนมากมายทั้งจากรายได้และผลผลิตต่าง ๆ สมทบเข้ากองคลังของอาณาจักรโรมัน ทั้ง ๆ ที่ชนชั้นเกษตรกรชาวอียิปต์ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองการปกครองต่างรู้สึกไม่พอใจที่ต้องจ่ายรายได้ให้โรมัน เช่นค่าเช่านานอกเหนือจากภาษี ทรัพยากรของอียิปต์ในยุคนี้ จึงตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่และตกต่ำเต็มที”[x]
สภาพเช่นนี้ เท่ากับอียิปต์ต้องแบกรับทั้งปัญหาการกดขี่ทางศาสนา เผด็จการทางการเมือง และการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ ซึ่งบ่วงพันธนาการทั้ง 3 ประการนี้เอง ที่ทำให้อียิปต์ต้องทุกข์ทนอยู่ในสภาพตรากตรำลำบาก รันทดหดหู่และหมดอาลัยที่จะนึกถึงศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของตนเอง 



เอธิโอเปีย
สำหรับเอธิโอเปียหรืออบิสสิเนีย ประเทศเพื่อนบ้านของอียิปต์ซึ่งนับถือคริสต์นิกายโมโนฟะไซท์เช่นกัน แต่ยังมีการบูชาเทวรูปและบรรดาเจว็ดมากมายอยู่ด้วย ซึ่งบ้างก็รับมาจากวัฒนธรรมยุคป่าเถื่อน หลักเอกานุภาพของพระเจ้าเป็นแค่เพียงบทเวทมนต์หนึ่งของลัทธิบูชาผี ที่ถูกสวมด้วยอาภรณ์แห่งความรู้ดั้งเดิมและคำศัพท์ต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์เข้าไปเท่านั้น ปราศจากวิญญาณทางศาสนา และไร้ซึ่งความใฝ่ทะยานในเรื่องทางโลก ทั้งนี้ที่ประชุมมนตรีทางศาสนาครั้งแรกในปี 325 ณ เมืองไนซีอา (Nicae’a) ได้ตัดสินว่าฝ่ายตนมิอาจดำเนินเรื่องราวใด ๆ ทางศาสนาโดยอิสระได้ ทุกอย่างให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามอำนาจของอเล็กซานเดอร์เท่านั้น
 



ชาติยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ
บรรดาชาติยุโรป ที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างแพร่หลายทั้งทิศเหนือและตะวันตก   ส่วนใหญ่ยังคงเป็นดินแดนที่ขังตัวเองอยู่ในเงามืดสนิทของความโง่เขลา ไร้การศึกษา เต็มไปด้วยสงครามนองเลือดระหว่างกัน   แสงอรุณแห่งอารยธรรมและวิทยาการยังไม่เคยย่างกรายไปถึง เวลานั้นวัฒนธรรมอาหรับมุสลิมแห่งอันดาลูเซียก็ยังไม่ปรากฏขึ้นเพื่อปฏิบัติพันธกิจในด้านวิทยาการและความเจริญ หรือหลอมละลายเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นได้ ดินแดนเหล่านั้นถูกตัดขาดและคาราวานอารยธรรมแห่งมนุษยชาติได้ทิ้งห่างพวกเขาจนไกลลิบ พวกเขาไม่เคยรู้จักโลกภายนอก   ขณะที่โลกอารยะภายนอกก็ไม่ค่อยใส่ใจพวกเขามากนัก พวกเขาไม่เคยรับรู้สิ่งใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกหรือตะวันตก พวกเขาถูกลอยแพอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางศาสนาคริสต์ที่พวกเขาเพิ่งนับถือ ลัทธิบูชาเจว็ดที่คร่ำครึ พวกเขาไม่เคยยึดถือหลักคำสอนทางศาสนาใด ๆ ที่ชัดเจน และไม่เคยอยู่บนหลักการทฤษฎีทางการเมืองใด ๆ มาก่อน  
 
เอช.จี. เวล (H.G. Well) กล่าวไว้ว่า “ไม่ปรากฏสัญญานที่แสดงถึงการมีเอกภาพหรือมีระบบใด ๆ เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกในยุคดังกล่าวนั้นเลย”[xi]
 
โรเบอร์ต บริฟฟอลต์ ( Robert Briffault ) กล่าวว่า “ค่ำคืนอันมืดมิดได้แผ่ปกคลุมเหนือยุโรปนับจากศตวรรษที่ 5   ถึง 10  และค่ำคืนดังกล่าวมีแต่ทวีความมืดทึบและดำทะมึนยิ่งขึ้น จนความป่าเถื่อนในยุคนั้นดูโหดร้าย และเลวทรามยิ่งกว่าความป่าเถื่อนในยุคโบราณเสียอีก มันเป็นดั่งซากชิ้นใหญ่ของอารยธรรมที่เน่าเหม็นแล้ว สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของอารยธรรมนี้ถูกลบล้างและขจัดไปสูญสิ้น ขณะที่ชาติใหญ่ ๆ ที่มีอารยธรรมและเคยรุ่งเรืองอย่างสูงสุดมาเมื่อครั้งอดีต อาทิ อิตาลีและฝรั่งเศษก็ยังตกเป็นเหยื่อของการทำลาย วุ่นวาย และหายนะ” [xii]         
 
ขณะที่ยุโรปตะวันตกยิ่งมีสภาพเลวร้ายกว่า ศาสตราจารย์จูลี่ เซเลนสกี (Julie Zelenski) กล่าวไว้ในหนังสือ History of Philosophy  ว่า “ศตวรรษที่ 7 และ 8 นับเป็นสมัยที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์อารยธรรมของยุโรปตะวันตก เป็นยุคแห่งความป่าเถื่อนและงมงายอย่างไม่มีสิ้นสุด ความเลวร้ายในช่วง 2 ศตวรรษนี้และกลไกลแห่งการทำลายได้พัดพาผลงานทางวรรณคดี และศิลปะต่าง ๆ ทั้งหมดของยุคคลาสสิกในอดีตให้สาบสูญไปด้วย 
 
ยุโรปในยุคนั้นมีสภาพที่ไม่ต่างจากสถานโล่งเตียนและมืดมิดแห่งความโง่เขลาและล้าหลัง วิลเลี่ยม ดราเปอร์   (William Draper) ได้อธิบายถึงสถานการณ์นี้ว่า “คงเป็นการยากที่จะกล่าวว่าประชาชนชาวยุโรปในยุคเก่าก่อนนั้นผ่านพ้นยุคป่าเถื่อนไปแล้ว เพราะร่างกายของพวกเขายังมีแต่ความสกปรกโสมม อุปาทานในสิ่งงมงาย เชื่อในพงศาวดารปรำปรา และนิทานโกหกที่บอกกล่าวต่อกันมา เช่นอภินิหารของผู้วิเศษ คาถาอาคมของนักบุญจอมปลอมทั้งหลาย โดยปราศจากเหตุผล
 



ชนชาวยิว

ในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มีเพียงชนชาติเดียวที่ถือว่ายังพอมีแก่นสารอันสมบูรณ์ของศาสนาอยู่ และมีความเข้าใจในศัพท์บัญญัติและความหมายทางศาสนาที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คือชนชาวยิว แต่พวกเขาไม่สามารถเป็นกลไกที่มีพลังใด ๆ ต่อชนชาติอื่นได้เลยทั้งด้านอารยธรรม การเมืองหรือทางศาสนา ตรงกันข้าม พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาติอื่นเรื่อยมาอย่างยาวนานนับหลายศตวรรษ และบ่อยครั้งพวกเขาต้องตกเป็นเป้าของการกดขี่ ข่มเหง ขับไล่และทำทารุณ   ประวัติศาสตร์ชนชาติยิวเองได้สืบทอดความเป็นทาสและการถูกกดขี่ข่มเหงมายาวนาน   เป็นพวกที่มีนิสัยเย่อหยิ่งในเผ่าพันธุ์ และคลั่งไคล้ในเชื้อชาติ รวมทั้งมีความโลภ ตระหนี่ขี้งก และชอบกินดอกเบี้ย   พวกเขาได้สืบทอดนิสัยอันแปลกพิกลเหล่านั้นมาจนเป็นสันดานชนิดที่ไม่มีชนชาติใดเทียบเท่า พวกเขามีลักษณะนิสัยประจำชาติหลายอย่าง ครั้นเมื่อกาลเวลาและยุคสมัยผ่านพ้นไป นิสัยต่าง ๆ เหล่านั้นก็กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งไปโดยบริยาย เช่นเมื่อยามตกอยู่ในสภาพอ่อนแอก็จะอ่อนน้อมถ่อมตน ครั้นเมื่อยามเข้มแข็งและได้รับชัยชนะก็โหดเหี้ยมอำมหิต มีนิสัยคดโกง กลับกลอกหลอกลวงเป็นนิจสิน ก้าวร้าวและแข็งกระด้าง เห็นแก่ตัว ชอบโกงทรัพย์สินของผู้อื่น ขัดขวางหนทางของพระเจ้า ในเรื่องนี้อัล-กุรอานได้อธิบายถึงลักษณะของพวกเขาเอาไว้อย่างละเอียดและลึกซึ้งที่สุด ซึ่งสามารถสะท้อนภาพอันแท้จริงของพวกเขาในช่วงศตวรรษที่ 6 และ 7 นั้นได้เป็นอย่างดีถึงความเสื่อมทรามทางจริยธรรม จิตใจที่ตกต่ำและสภาพสังคมที่เละเทะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้พวกเขามิอาจก้าวขึ้นเป็นชาติผู้นำ หรือชาติอำนาจของโลกได้
 



ระหว่างชาวยิวและคริสเตียน

ต้นศตวรรษที่  7  เกิดเหตุการณ์ที่ตอกย้ำแผลเก่าที่สร้างความเกลียดชังระหว่างชนชาวคริสต์และชาวยิว  ทำให้ชื่อเสียงของพวกเขาต้องแปดเปื้อน เช่นช่วงปีสุดท้ายในสมัยการปกครองของจักรพรรดิโฟกาส ( ค.ศ. 610 ) ชาวยิวได้ก่อสงครามกับชาวคริสต์ ณ เมืองแอนเทียซ พระองค์ได้ส่งขุนพลชื่อ “อับโนสุส (Abnosus)” เพื่อปราบปรามชาวคริสต์ที่ก่อกบถ ทันทีที่ไปถึง เขาก็เริ่มปฏิบัติงานด้วยความโหดเหี้ยมที่สุด เข่นฆ่าทุกคนโดยไม่ละเว้น บ้างก็ตายด้วยคมดาบ ในขณะที่จำนวนนับร้อยถูกจับถ่วงน้ำ เผาทั้งเป็นหรือถูกโยนให้สัตว์ป่าแทะกิน
 
หลังจากนั้น ยังเกิดการสู้รบระหว่างชาวยิวและคริสต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านอัล-มุก็อรริซีย์กล่าวไว้ในหนังสือ “Al-Khuthath” ว่า ในสมัยจักรพรรดิ โฟกาส (Phucas)แห่งโรมัน คอสโรผู้เป็นกษัตริย์เปอร์เซียได้จัดส่งกองกำลังไปบุกเมืองซีเรียและอียิปต์ พวกเขาได้เข้าทำลายโบสถ์ต่าง ๆ ในเมืองเยรูซาเล็ม    ปาเลสไตน์และที่มีอยู่ในเมืองซีเรียทั้งหมด ชาวคริสเตียนถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บ้างก็ถูกจับตัวส่งไปยังอียิปต์และถูกฆ่าตายที่นั้นอีกจำนวนมาก   ส่วนหนึ่งถูกจับเป็นเชลยโดยมิจำกัด ชาวยิวได้คิดคดด้วยการสนับสนุนทหารของคอสโรสู้รบกับพวกคริสเตียนและรื้อทำลายโบถส์เสียหายมากมาย เกิดการสนธิกำลังระหว่างกองทหารเปอร์เซียที่มาจากเมืองทิเบอเรีย (Thebria) และเทือกเขากาลิลี (Galilea) กับกองหนุนชาวยิวที่มาจากหมู่บ้านนะซาเร็ธ (Nazareth) เมืองซูร[xiii] และเยรูซาเล็ม พวกเขายึดทรัพย์สินต่าง ๆ ของชาว   คริสเตียนไปหมดสิ้น ฆ่ากวาดล้างและเข้าทำลายโบสถ์ 2  แห่งในเมืองเยรูซาเล็ม บ้านเรือนถูกรื้อทำลายและถอดเอาชิ้นส่วนของไม้กางเขนไป พร้อมจับตัวพระราชาคณะของเมืองเยรูซาเล็มและมิตรสหายของเขามากมายเป็นเชลย”[xiv]
 
หลังจากอธิบายถึงการพิชิตอียิปต์และเปอร์เซียแล้ว ท่านอัล-มุก็อรริซีย์ยังเล่าอีกว่า
 
“ในระหว่างนั้นชาวยิวยังก่อการกบฎที่เมืองซูร และส่งจำนวนที่เหลืออยู่ในประเทศ พร้อมข่มขู่ว่าจะทำสงครามและฆ่าพวกคริสเตียนเสียให้หมดสิ้น ในสงครามนี้ มีชาวยิวมาสนธิกำลังกันทั้งสิ้นราวสองหมื่นคน พวกเขาได้ทำลายโบสถ์คริสต์นอกเมืองซูรไปหลายแห่ง แต่เนื่องจากชาวคริสเตียนมีความเข้มแข็งและมีจำนวนที่มากกว่า ทำให้ชาวยิวต้องพบกับความปราชัยอย่างเลวร้ายและถูกฆ่าตายไปอย่างมากมาย หลังจากนั้น เป็นช่วงที่กษัตริย์เฮอร์คิวลิส (Heraclus) ขึ้นปกครองอาณาจักรโรมันแห่งคอนสแตนไตน์ ด้วยอาศัยเล่ห์อุบายที่เหนือชั้นกว่า พระองค์สามารถเอาชนะเหนือเปอร์เซียและสยบคอสโรจนกลายเป็นอาณาจักรที่อ่อนแอ แล้วพระองค์เดินทางออกจากคอนแสตนติโนเปิลเพื่อปราบปรามบรรดาผู้ปกครองเมืองซีเรียและอียิปต์ พระองค์ได้บูรณะโบสถ์วิหารที่ถูกพวกเปอร์เซียทำลาย ต่อมามีชาวยิวกลุ่มหนึ่งจากเมืองทิเบอเรีย (Thebria) และเมืองอื่น ๆ ออกมาต้อนรับ และมอบของขวัญมากมายพร้อมขอคุ้มครองความปลอดภัย ซึ่งพระองค์ก็ทรงตอบรับด้วยดี ต่อมาเมื่อพระองค์เข้าไปยังเมืองเยรูซาเล็ม มีพวกคริสเตียนพร้อมด้วยคัมภีร์ไบเบิล ไม้กางเขน ธูปหอมและจุดเทียนสว่างไสวจำนวนมากมายเข้าพบ พระองค์รู้สึกเสียใจและเจ็บปวดมากเมื่อพบว่า สภาพบ้านเมืองพร้อมโบสถ์ วิหารต่าง ๆ ถูกทำลายย่อยยับ และเมื่อทราบจากพวกคริสเตียนว่า ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากชาวยิวและชาวเปอร์เซียร่วมกันฆ่าฟันพวกตนและเผาทำลายโบสถ์ ชาวคริสเตียนได้ทูลแจ้งแก่พระองค์ว่า ความจริงแล้วชาวยิวมีความโหดร้ายและอันตรายยิ่งกว่าเปอร์เซียเสียอีก จึงควรทำลายล้างชาวยิวเสีย พร้อมยุยงให้พระองค์ล้างแค้นแทนชาวคริสเตียนด้วย พวกเขาได้หว่านล้อมให้พระองค์ทรงเห็นด้วยกับการล้างแค้นดังกล่าว แต่พระองค์ไม่เห็นด้วยและอ้างว่าพระองค์ได้ทำสัญญาให้ความคุ้มครองชาวยิวและนับถือพวกเขาเป็นพันธมิตรอยู่เสมอ บรรดาบาทหลวงทั้งหลายจึงออกคำศาสนวินิจฉัยว่าไม่เป็นบาปหากพระองค์ฆ่ายิว เพราะในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุที่ชาวยิวยอมสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์เฮอร์คิวลิสนั้น ก็เพียงเพื่อให้พระองค์ปกป้องพวกตนเท่านั้น โดยที่พระองค์หาทราบความจริงของอุบายนี้ไม่ นอกจากนั้นบรรดาบาทหลวงได้พร้อมใจกันจัดพิธีไถ่บาปให้แก่กษัตริย์เฮอร์คิวลิส โดยให้บรรดาบาทหลวงและชาวคริสเตียนทั้งหลาย ถือศีลอดในวันศุกร์หนึ่งของทุกปี แม้นเวลาจะผ่านพ้นไปนานเท่าใดก็ตาม ทำให้กษัตริย์เฮอร์คิวลิสเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จึงตอบตกลงทำสงครามกวาดล้างชาวยิวอย่างหนัก จนกระทั่งชาวยิวตายเกลี้ยง จนกล่าวได้ว่า ทั่วทั้งเขตหัวเมืองต่าง ๆ ของโรมัน อียิปต์และซีเรียไม่มีคนยิวเหลืออยู่เลย นอกจากที่หนีตายออกไปหรือไม่ก็อาศัยอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เท่านั้น
 
จากเรื่องราวต่าง ๆ ที่เล่ามา ทำให้รับทราบถึงความเหี้ยมโหด   กระหายเลือดและฉวยโอกาสทุกวิถีทางเพื่อชำระแค้นต่อฝ่ายตรงกันข้ามของทั้งสองฝ่ายในอดีตไม่ว่าจะเป็นยิวหรือ     คริสเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักความชอบธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นพฤติกรรมที่เลวทรามและดูถูกดูแคลนต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์อย่างชัดเจน หากกลุ่มชนหรือประชาชาติใดมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ แน่นอนพวกเขาย่อมมิอาจทำหน้าที่ปฏิบัติภารกิจค้ำจุนสาสน์แห่งสัจธรรม ความยุติธรรมและสันติภาพได้ ภายใต้ร่มเงาและบทบัญญัติในลักษณะนี้ พวกเขาไม่มีวันทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงได้เลย




[i] Encyclopeadia Britanica , See Justin
[ii] Edward Gibbon : The History of Decline and Fall of the Roman Empire ,v. 3 p.327
[iii] Sale’s Translation , p. 72 (1896)
[iv] The History of Decline and Fall of the Roman Empire ,v. v. p.31
[v] Historian’s History of the World V.VII P.175
[vi] ในยุคกลางของยุโรป โดยเฉพาะระหว่าง ค.ศ.13 – 14 ถือเป็นยุคมืดที่ยุโรปต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายคริสตจักร ผู้มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งจะถูกถือเป็นกบฏ และถูกกล่าวหาเป็นพ่อมด หมอผี ยุคนี้ถือเป็นรอยแปดเปื้อนในประวัติศาสตร์ศาสนา และยุคแห่งความหวาดผวา โดยเฉพาะการทารุณกรรมต่าง ๆ อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน เช่นทรมานด้วยการตอกตะปูเหล็กบนร่างของเหยื่อ เผาทั้งเป็น และเชื่อกันว่าจำนวนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสังหารด้วยข้อหาพ่อมดหรือแม่มดมีจำนวนมหาศาล เฉพาะในเยอรมันมีไม่น้อยกว่า 100,000 คน เมื่อประเมินทุกประเทศมีไม่น้อยกว่า 200,000 คน ซึ่งแต่ละคนถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ  เหยื่อแห่งความ อยุติธรรมโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิงและนักวิชาการ ( ผู้แปล )
[vii] Hadharahtul Arab อ้างใน Al-Arab Fi Mishra แปลเป็นอาหรับโดย Adil Zu’aitar หน้า 336
[viii] A.J.Butler , Ibid ., pp. 133-134
[ix] อ้างแล้ว
[x] Historian’s History on the World V.VII  P.173
[xi] H.G. Well : A Short History of World p.170
[xii] Robert Briffault : The Making of Humanity , p.164
[xiii] เมืองซูร (Shour) เมืองทางตอนเหนือของประเทศเลบานอนปัจจุบัน 
[xiv] Al-Khithath Al-Muqriziyyah    v. 4 p. 392

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).