Loading

 

อิสลามกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เนื่องจากมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากน้ำมือของมนุษย์ และอานุภาพการทำลายนั้นมีความรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าระบบธรรมชาติจะฟื้นฟูด้วยตัวเอง ดังนั้น เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการรณรงค์ให้ทุกคนในสังคมช่วยกันอนุรักษ์ และมีจิตสำนึกอย่างจริงจังก่อนที่จะส่งผลกระทบเลวร้ายไปกว่านี้


ในทัศนะอิสลาม มนุษย์คือผู้แทนของอัลลอฮฺ ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการโลกนี้ให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์ มนุษย์เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากอัลลอฮฺให้จรรโลงสังคมสู่การพัฒนาและความเจริญ ถึงแม้มนุษย์จะถูกประดับประดาด้วยสติปัญญาและมีสามัญสำนึกในการกระทำความดี แต่ในบางครั้ง มนุษย์มักถูกชักจูงโดยอารมณ์ใฝ่ต่ำและกิเลสตัณหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นเหตุให้มนุษย์ยอมทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือแม้กระทั่งตนเอง อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานความว่า :
“ และหากว่าความจริงได้คล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกเขาแล้ว ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินรวมทั้งบรรดาสรรพสิ่งที่อยู่ในนั้นต้องเสียหายวิบัติอย่างแน่นอน” (23/71)

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฎกติกาที่สามารถโน้มน้าวมนุษย์ให้รู้จักการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด ตลอดจนช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอย่างกลมกลืนและยั่งยืน

อิสลามจึงเป็นกฎกติกาสากลที่วางกรอบให้มนุษย์สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมผ่านบริบทต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. อิสลามได้จุดประกายให้มนุษย์รับทราบรากเหง้าของตนเองและรับรู้ภารกิจหลักของตนเองที่กำเนิดบนโลกนี้ เขาไม่มีสิทธิที่จะวางก้ามแสดงอำนาจตามอำเภอใจและสร้างความเดือดร้อนแก่สิ่งรอบข้างแม้กระทั่งตัวเอง ภารกิจประการเดียวของมนุษย์บนโลกนี้คือการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ทุกกิจการงานของพวกเขาไม่ว่าทั้งเปิดเผยและที่ลับ ส่วนตัวหรือส่วนรวม ล้วนแล้วต้องมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับคำสอนของอัลลอฮฺ เพราะการกระทำของมนุษย์ จะเป็นตัวชี้วัดประการเดียวที่สามารถบ่งบอกถึงความศรัทธาต่ออัลลอฮฺอันแท้จริง ในขณะเดียวกัน การศรัทธาต่ออัลลอฮฺจะเป็นกุญแจดอกแรกสำหรับไขประตูสู่การยอมศิโรราบที่พร้อมเป็นบ่าวผู้เคารพภักดี

2. ความรู้ที่ถูกต้องคือสะพานเชื่อมสำคัญที่ทำให้มนุษย์รู้จักใช้ชีวิตในฐานะบ่าวของอัลลอฮฺผู้ภักดี ความรู้ที่ถูกต้องจะไม่ขัดแย้งกับสติปัญญาอันบริสุทธิ์ ในขณะที่สติปัญญาและความรู้ จำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากคำวิวรณ์ของอัลลอฮฺที่ได้รับการขยายความและประมวลสรุปโดย จริยวัตรของศาสนทูตมูฮำหมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)

ดังนั้นการแสวงหาความรู้จึงเป็นหน้าที่หลักของมุสลิมโดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ช่วงอายุ เวลา สถานที่และสถานการณ์
ความรู้ที่ถูกต้องและสติปัญญาอันบริสุทธิ์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษย์รู้จักร่วมใช้ชีวิตกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อ่อนน้อมถ่อมตนและความพอเพียงที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการสันติภาพอันแท้จริง

พึงทราบว่า การภักดีต่ออัลลอฮฺโดยปราศจากความรู้(ไม่ว่าในระดับใดก็ตาม) ย่อมเกิดโทษอนันต์ ยิ่งกว่าก่อประโยชน์อันมหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการภักดีต่ออัลลอฮฺนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องและสร้างผลกระทบกับผู้คนส่วนรวม

3. มนุษย์มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือสรีระร่างกาย สติปัญญา และจิตวิญญาณ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแยกส่วน อิสลามจึงให้ความสำคัญแก่มนุษย์โดยคำนึงถึงองค์ประกอบดังกล่าวด้วยมุมมองที่สมดุลและยุติธรรม ทุกส่วนองค์ประกอบดังกล่าวจะต้องได้รับการดูแลพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน แม้แต่แนวคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่จุดประกายโดยเศาะฮาบะฮฺกลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดจะปลีกตัวออกจากสังคม โดยที่กลุ่มหนึ่งไม่ยอมแต่งงาน กลุ่มหนึ่งจะถือศีลอดตลอดทั้งปี และอีกกลุ่มหนึ่งจะดำรงละหมาดตลอดเวลาโดยไม่ยอมพักผ่อนเลย ทั้งนี้เพื่อจะได้มีเวลาในการบำเพ็ญตนต่ออัลลอฮฺโดยไม่มีสิ่งอื่นรบกวนทำลายสมาธิ แต่เมื่อท่านศาสนทูตมูฮำหมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ทราบข่าวดังกล่าว จึงเรียกเศาะฮาบะฮฺกลุ่มดังกล่าวและได้นิเทศแก่พวกเขาว่า “ขอสาบาญด้วยพระนามของอัลลอฮฺ แท้จริงฉันเป็นผู้ยำเกรงอัลลอฮฺมากที่สุดในหมู่สูเจ้า ฉันถือศีลอดแต่บางวันฉันก็ทานอาหาร ฉันละหมาดและฉันผักผ่อน และฉันแต่งงาน ใครก็ตามที่ไม่ประสงค์ดำเนินรอยตามจริยวัตรของฉัน เขาเหล่านั้นมิใชเป็นส่วนหนึ่งของฉัน” (รายงานโดยมุสลิม)

อิสลามจึงให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในร่างกายมนุษย์ องค์ประกอบทุกส่วนของมนุษย์ต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน มีหน้าที่ที่สอดคล้องกับสัญชาติญานอันดั้งเดิมโดยไม่มีการรุกล้ำหรือสร้างความเดือดร้อนซึ่งกันและกัน

4. อิสลามสอนว่า มนุษย์คือส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่สามารถปลีกตัวออกจากกันได้ หน้าที่สำคัญของมนุษย์นอกเหนือจากต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองแล้ว เขาต้องรับผิดชอบต่อสังคมรอบข้างด้วย ทั้งนี้เพราะปรากฎการณ์ในสังคมที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบ ย่อมมีผลกระทบต่อสมาชิกในสังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดังหะดีษบทหนึ่งที่ท่านศาสนทูต มูฮำหมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้อุปมาผู้คนในสังคมที่มีหน้าที่ปกป้องบทบัญญัติของอัลลอฮฺ เสมือนผู้ที่อาศัยอยู่ในเรือลำเดียวกัน ผู้ที่อยู่ชั้นล่างมักขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ชั้นบนในการให้น้ำเพื่อบริโภค จนกระทั่งผู้ที่อยู่ชั้นล่างเกรงใจ เลยฉุกคิดว่าหากเราทุบเรือเป็นรูโหว่เพียงเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการรับน้ำก็จะเป็นการดี เพราะเพื่อนๆ ที่อยู่ชั้นบนจะไม่เดือดร้อน ซึ่งหากผู้คนชั้นบนไม่หักห้ามหรือทักท้วงการกระทำดังกล่าว พวกเขาก็จะจมเรือทั้งลำ แต่ถ้ามีผู้คนหักห้ามไว้ พวกเขาก็จะปลอดภัยทั้งลำเช่นเดียวกัน (หะดีษรายงานโดยบุคอรี)

อิสลามจึงห้ามมิให้มีการรุกรานหรือสร้างความเดือดร้อนแก่มนุษย์ด้วยกัน ทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการรักษาและอนุรักษ์ไว้ โดยไม่คำนึงถึงศาสนา ชนชาติ และเผ่าพันธุ์ อิสลามถือว่าการมลายหายไปของโลกนี้ทั้งใบ ยังมีสถานะที่เบากว่าบาปของการหลั่งเลือดชีวิตหนึ่งที่บริสุทธิ์ อิสลามจึงประณามการกระทำที่นำไปสู่การทำลายในทุกรูปแบบ ดังอัลลอฮฺได้กล่าวไว้ ความว่า “และเมื่อพวกเขาหันหลังไปแล้ว เขาก็เพียรพยายามในแผ่นดินเพื่อก่อความเสียหายและทำลายพืชผลและเผ่าพันธุ์ และอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบการก่อความเสียหาย” ( 2 / 205 )

5. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านสังคมและสุขภาพ อิสลามส่งเสริมให้มนุษย์กระทำคุณงามความดีและสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม ดังปรากฏในหะดีษ ความว่า “อีมานมี 70 กว่า หรือ 60 กว่าสาขา สุดยอดของอีมาน คือคำกล่าวที่ว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และอีมานที่มีระดับต่ำสุดคือ การเก็บกวาดสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้ถนนหนทาง” ( รายงานโดยมุสลิม )
การเก็บกวาดขยะสิ่งปฏิกูลและสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้ถนนหนทาง ถึงแม้จะเป็นขั้นอีมานระดับต่ำสุด แต่หากผู้ใดกระทำอย่างบริสุทธิ์ใจและไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ นอกจากความโปรดปรานของอัลลอฮฺแล้ว เขาจะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาเข้าสวรรค์เลยทีเดียว ดังหะดีษบทหนึ่งความว่า อบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ฉันได้ยินศาสนทูต มูฮำหมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “ แท้จริงฉันเห็นชายคนหนึ่งกำลังพลิกตัวในสวรรค์ เนื่องจากเขาเคยตัดทิ้งต้นไม้ที่ล้มทับบนถนน เพื่อมิให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนที่สัญจรไปมา”(รายงานโดยมุสลิม)

อิสลามห้ามมิให้สร้างสิ่งปฏิกูลในน้ำ ทั้งน้ำนิ่งหรือน้ำไหล อิสลามถือว่าการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะในแหล่งน้ำ ถือเป็นการกระทำที่ถูกสาปแช่ง ดังหะดีษที่เล่าโดยมุอาซบินญะบัลเล่าว่า ท่านศาสนทูตมูฮำหมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน ) กล่าวว่า “จงยำเกรงสถานที่ที่เป็นสาเหตุของการสาปแช่ง ทั้ง 3 แห่ง คือ การถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะใน(1)แหล่งน้ำ (2)บนถนนที่ผู้คนสัญจรไปมา และ(3)ใต้ร่มเงา” ( รายงานโดยเฏาะบะรอนีย์ )

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ทุกกิจการของมนุษย์จะต้องอยู่ภายใต้องค์รวมของกฎกติกาที่ศาสนทูต มูฮำหมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้กำหนดว่า “ไม่มีการสร้างความเดือดร้อนและไม่มีการตอบโต้ความเดือดร้อนด้วยการสร้างความเดือดร้อนทดแทน” ( หะดีษรายงานโดยอีมามมาลิก)

6. อิสลามกำชับให้มุสลิมทุกคนมีจิตใจที่โอบอ้อมอารี ให้เกียรติทุกชีวิตที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์ อิสลามจึงห้ามการทรมานสัตว์ และการฆ่าสัตว์โดยเปล่าประโยชน์ อิสลามสอนว่า หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรกเพราะทรมานแมวตัวหนึ่งด้วยการจับขังและไม่ให้อาหารมัน จนกระทั่งแมวตัวนั้นตายเพราะความหิว ( หะดีษรายงานโดยบุคอรีและมุสลิม) ในขณะเดียวกันชายคนหนึ่งเข้าสวรรค์เนื่องจากรินน้ำแก่สุนัขจรจัดที่กำลังกระหายน้ำ อิสลามถือว่า การให้อาหารแก่ทุกกระเพาะที่เปียกชื้น ( ทุกสิ่งที่มีชีวิต ) เป็นการให้ทานประการหนึ่ง ( หะดีษรายงานโดยบุคอรี และมุสลิม)

มุสลิมทุกคนมิหาญกล้าแม้กระทั่งฆ่านกตัวเดียวโดยเปล่าประโยชน์ เพราะตามหะดีษที่รายงานโดยอันนะสาอีย์และอิบนุหิบบาน กล่าวไว้ความว่า “ใครก็ตามที่ฆ่านกตัวหนึ่งโดยเปล่าประโยชน์ นกตัวนั้นจะร้องตะโกนประท้วงในวันกิยามะฮฺ พร้อมกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ ชายคนนั้นได้ฆ่าฉันโดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใด เขาฆ่าฉันโดยมิได้หวังประโยชน์อันใดจากฉันเลย”

เคาะลีฟะฮฺอบูบักรเคยสั่งเสียแก่จอมทัพอุซามะฮฺ ก่อนที่จะยกทัพไปยังเมืองชามว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ตัดทำลายต้นไม้ที่ออกดอกออกผล อย่าเข่นฆ่าแพะ วัว หรืออูฐ เว้นแต่เพื่อการบริโภคเท่านั้น”

เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์ผู้ซึมซาบคำสอนในลักษณะเช่นนี้ ยังดื้อรั้นและอาจหาญกลายเป็นต้นเหตุของการทำลายป่าไม้ทั้งภูเขา การตายของปลานับล้านตัวในแม่น้ำหรือทะเล สร้างความเดือดร้อนแก่สรรพสัตว์ที่ใช้ชีวิตในป่าเขา หรือเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนเช่นปัจจุบัน เพราะหากเขาสามารถใช้อิทธิพลหลบหลีกการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีบนโลกนี้ เขาไม่มีทางหลบพ้นการถูกสอบสวนจากอัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกรในวันอาคิเราะฮฺอย่างแน่นอน - ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง

นอกจากนี้อิสลามยังกำชับให้มุสลิมตระหนักและให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ การเพาะปลูก ณ ที่ดินร้าง การพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นแหล่งประกอบอาชีพ โดยยึดหลักความยุติธรรม ความสมดุลและความพอเพียง

7. อิสลามประณามการใช้ชีวิตที่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ โดยถือว่าการสุรุ่ยสุร่ายเป็นเสมือนญาติพี่น้องของชัยฏอน ( เหล่ามารร้าย ) ท่านศาสนทูตมูฮำหมัด ( ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) เคยทักท้วงสะอัดที่กำลังอาบน้ำละหมาดโดยใช้น้ำมากเกินเหตุว่า “ทำไมถึงต้องใช้น้ำมากถึงขนาดนี้โอ้สะอัด ? สะอัดจึงถามกลับว่าการใช้น้ำมาก ๆ เพื่ออาบน้ำละหมาด ถือเป็นการฟุ่มเฟือยกระนั้นหรือ ? ท่านศาสนทูตมูฮำหมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) จึงตอบว่า ใช่ ถึงแม้ท่านจะอาบน้ำละหมาดในลำคลองที่กำลังไหลเชี่ยวก็ตาม” ( หะดีษรายงานโดยฮากิม )

หากการใช้น้ำมากเกินเหตุเพื่ออาบน้ำละหมาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำอิบาดะฮฺ ( การเคารพภักดี ) ยังถือว่าฟุ่มเพือย ดังนั้นมุสลิมทุกคนพึงระวังการใช้น้ำเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันโดยคำนึงถึงการประหยัดและคุ้มค่าสูงสุด

โลกปัจจุบัน กำลังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการรณรงค์ให้มีการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติด้วยความระมัดระวังและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยยัดเยียดภารกิจนี้ให้เป็นหน้าที่ของประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มองค์กรเอกชนที่ผุดโครงการเชิงอนุรักษ์ เพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ฐานทรัพยากรทั้งที่เป็นทรัพยากรมนุษย์หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ กำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจ “วัฒนธรรมล่าเหยื่อ” ( Predatory Culture ) อันก้าวร้าวรุนแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยพลังทุนนิยม เทคโนโลยีและจินตนาการของระเบียบเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้กรอบ “ระเบียบโลกใหม่” (New World Order) “วัฒนธรรมล่าเหยื่อ” จึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร หากเป็นผลตรรกะที่พัฒนาขึ้นบนสมมุติฐานความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (Homo Econimicus) ของคน การต่อสู้แข่งขันแพ้ชนะและกิเลสการผลิตการบริโภคอันเป็นผลพวงตามมา ได้รับการเชิดชูบูชาขึ้นเป็นคุณธรรมเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งที่เรียกขานกันว่า “การจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ถึงแม้จะอยู่บนหยาดน้ำตาและคราบเลือดของเพื่อนร่วมโลกก็ตาม

คำสอนของอิสลามจึงก้าวโพ้นไปยังการจัดระเบียบให้มนุษย์รู้จักการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยถือว่าเป็นภาระหน้าที่ของทุกคนที่ต้องรับผิดชอบและร่วมมือกันปกป้องอนุรักษ์ เพื่อพัฒนาชีวิตมนุษย์ที่ครอบคลุมและสมบรูณ์ มีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับผู้ทรงสร้างสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ผู้บริหารจัดการและผู้จัดระเบียบสากลจักรวาลอันเกรียงไกร ทั้งนี้อิสลามเชื่อว่า ผู้ที่มีศักยภาพในการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ทรงอานุภาพที่สุดก็คือ “มนุษย์” นั่นเอง ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า “การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากการกระทำด้วยน้ำมือของมนุษย์” ( 30 / 41 )

ภารกิจหลักของมุสลิม คือการเอื้ออำนวยให้เกิดระบบและกระบวนการสันติสุขบนโลกนี้ที่สามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริง ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์อันสูงส่งของอิสลาม ดังอัลกุรอานได้กล่าวไว้ ความว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่สากลจักรวาล”( 21/ 107)

 


โดย มัสลัน มาหะมะ

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).