Loading

 

มุสลิมสายกลางในท่ามกลางสิ่งท้าทาย

 ในปัจจุบัน คำว่า “มุสลิมสายกลาง” มักจะถูกเอ่ยถึงจนกลายเป็นวลีฮิตทั้งจากมุสลิมและชนต่างศาสนิก และนับวันวลีนี้ถูกนำมาใช้จนเกิดความสับสน ห่างไกลจากความหมายและอัตลักษณ์ที่แท้จริง จนบางครั้งถูกแฝงไปด้วยเจตนาร้าย
คำว่า “ประชาชาติสายกลาง” โดยความหมายที่แท้จริงแล้ว ก็คือ ประชาคมที่มีดุลยภาพหรือสมดุลย์ และมีความยุติธรรมหรือเที่ยงธรรมในการเข้าใจและเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาอิสลาม ตลอดจนมีความสมดุลย์และเที่ยงธรรมในการดิ้นรนต่อสู้หรือทำงานเพื่อเชิดชูพระดำรัสของอัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา

ครรลองนี้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง ซึ่งในที่นี้ขอสรุปถึงลักษณะของประชาคมมุสลิมสายกลางพอสังเขปดังนี้
  1.เข้าใจศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง สมบูรณ์ ครอบคลุม มีดุลยภาพและลึกซึ้ง
  2.เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตในทุกแขนง อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ใน ทุกมิติและบริบท มองข้อเท็จจริงของประชาคมมุสลิมและศัตรูอิสลามในทุกๆด้าน และทุกมิติ
  3.เข้าใจสุนนะห์ของอัลลอฮฺอย่างถ่องแท้ ในเรื่องกฎธรรมชาติเกี่ยวกับชีวิตในโลกนี้ ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงและแปรเปลี่ยน โดยเฉพาะกฎแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์
  4.เข้าใจเจตนารมณ์ของชารีอะฮฺอิสลาม(หลักศาสนบัญญัติ)อย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ และไม่หยุดอยู่เพียงแค่ความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น
  5.รู้จักลำดับความสำคัญในการทำงานเพื่ออิสลามในทุกด้าน
  6.ผ่อนปรนและประนีประนอมในเรื่องคิลาฟียะฮฺ(สาขาปลีกย่อย) โดยยึดหลักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างในเรื่องที่ไม่ใช่สาระหลักของอิสลาม
  7.บูรณาการในระหว่างหลักการอันดั้งเดิมและความทันสมัยที่ไม่ขัดกับหลักการอิสลาม,สร้างดุลยภาพในระหว่างหลักศาสนบัญญัติ(ชารีอะฮฺ)อันดั้งเดิม กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
  8.เชื่อมั่นว่า การปฏิรูปความคิด จิตวิญญาณและหลักคิด เป็นรากฐานสำคัญของการฟื้นฟูอารยธรรมของมนุษยชาติ
  9.นำเสนอครรลองอิสลาม ในฐานะที่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตที่เป็นทางเลือกสำหรับการปฏิรูปและฟื้นฟูอารยธรรมของมนุษยชาติ ซึ่งครรลองอิสลามนั้นเป็นการบูรณาการในทุกมิติและทุกด้านของชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาคมโลกปลอดภัยจากการครอบงำจากความสุดโต่งของพวกวัตถุนิยม
 10.ในการเผยแผ่(ดะอฺวะฮฺ)อิสลามนั้นจะเน้นหนักในเรื่องการส่งเสริม และการแจ้งข่าวดี แต่ให้ระมัดระวังในเรื่องการฟัตวา (ไม่แข็งกร้าว)
 11.นำเสนอและเผยแผ่คุณค่าอันบริสุทธิ์และสูงส่งของอิสลามในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เช่น ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ,การคุ้มครองเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์,การปรึกษาหารือ(ชูรอ) ,ความเป็นธรรมและสวัสดิการสังคม เป็นต้น
 12.เปิดประตูสำหรับการสานเสวนา(Dialogue) กับพี่น้องมุสลิมที่แตกต่างและเพื่อนต่างศาสนิก
 13.ยึดมั่นในการญิฮาดที่แท้จริงและถูกต้องมาเป็นแนวทางในการพิทักษ์และคุ้มครองเกียรติและศักดิ์ศรีของประชาคมมุสลิมและประเทศชาติ

เหล่านี้ เป็นคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของประชาคมมุสลิมสายกลาง ที่สอดคล้องกับหลักคำสอนของอัล-กุรอานและสุนนะห์ของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลล็อลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และบรรดาซอฮาบะฮฺ ชนรุ่นตาบีอีนและผู้เจริญรอยตามในทุกยุคสมัย

เราจะเห็นว่า ประชาคมมุสลิมสายกลางนั้น คือความหวังของทุกประชาคมซึ่งปรารถนาที่จะให้อิสลามมีความรุ่งโรจน์อีกครั้งในอนาคต และในทางตรงกันข้าม พวกศัตรูอิสลาม โดยเฉพาะตะวันตก มีความหวาดระแวง และหวาดกลัวต่อชนกลุ่มนี้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

เมื่อย้อนกลับไปสักสองสามทศวรรษที่ผ่านมา พวกศัตรูอิสลามจะระแวงและหวาดกลัวต่อพวกมุสลิมหัวรุนแรงและสุดโต่ง แต่ในปัจจุบันโดยส่วนลึกแล้ว พวกศัตรูอิสลามกำลังพุ่งความสนใจไปที่ประชาคมมุสลิมสายกลางมากกว่าพวกสุดโต่ง เพราะ พวกเขารู้ดีว่าพวกหัวรุนแรงและสุดโต่งนั้นไม่ยั่งยืน แต่ในทางตรงกันข้ามมุสลิมสายกลางนั้นจะมีความยั่งยืนและมีศักยภาพกว่า ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความพอดี ดุลยภาพและความเที่ยงธรรมที่ดำรงอยู่ในตัวพวกเขานั้นเอง พวกศัตรูอิสลาม โดยเฉพาะพวกตะวันตก ถูกปลูกฝังอย่างผิดๆว่า ถึงแม้ว่า มุสลิมสายกลางในวันนี้จะปฏิบัติตัวและทำงานด้วยแนวทางสายกลาง เที่ยงธรรม อ่อนโยน ไม่ก้าวร้าวและรุนแรง แต่สักวันหนึ่ง พวกนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นพวกหัวรุนแรงและก้าวร้าว เพราะถูกอัดฉีดจากหลักคำสอนอิสลามซึ่งเป็นศาสนาที่นิยมความรุนแรง

หากในอดีตพวกเขาถือว่า ศัตรูทางอุดมการณ์ของพวกเขา คือ ภัยคุกคามจากพวกคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันศัตรูที่เป็นภัยคุกคามพวกเขา ก็คือ พวกธงเขียว (อิสลาม) ถึงแม้ว่าจะมีปัญญาชนนักคิดกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเขาพยายามจะคัดค้านและตอบโต้ว่า อิสลามไม่ใช่ภัยคุกคามของโลกตะวันตกก็ตาม

ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญของประชาคมมุสลิมที่ยึดมั่นในแนวทางสายกลาง ก็คือ การตอบโต้คำใส่ร้ายป้ายสีของพวกที่ไม่หวังดีต่ออิสลามและการเปิดเผยหรือเปิดโปงให้เห็นถึงการบิดเบือน การใส่ร้ายและโป้ปดมดเท็จ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด เกลียดและกลัวต่ออิสลาม ตลอดจนต้องมีการเปิดประตูแห่งการสานเสวนาอย่างสร้างสรรค์กับชนศาสนิกอื่นที่มีความเป็นกลางและรักความเป็นธรรม     

มุสลิมสายกลางจะต้องเข้าหาและเข้าถึงลูกหลานมุสลิมที่นิยมตะวันตกอย่างสุดโต่ง และเลยเถิด ซึ่งบางทีพวกเขาอาจจะตกเป็นเครื่องมือของพวกศัตรูหรือผู้ที่ไม่หวังดีต่ออิสลามในการทำลายอิสลาม ดังที่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า
“บรรดาผู้ที่เชิญชวนไปสู่ประตูนรกญะฮันนัม ผู้ใดก็ตามที่ยอมรับคำเชิญชวนของ พวกเขาจะถูกโยนลงสู่นรก มีผู้กล่าวว่า โอ้รสูลุลลอฮฺ ได้โปรดเล่าถึงลักษณะของชนกลุ่มนี้แก่ข้าด้วยเถิด ท่านรสูลตอบว่า พวกเขามาจากกลุ่มชนเรา และพูดภาษาเดียวกันกับเรา”
(ความหมายของหะดีษ มุตตะฟะกุนอลัยฮฺ จากหุซัยฟะฮฺ อิบนุ อัล-ยะมัน)

ดังนั้น พวกมุสลิมนิยมตะวันตกอย่างสุดโต่งและเลยเถิด จึงเป็นกลุ่มชนที่นักเผยแผ่อิสลามไม่ควรมองข้ามและละเลย มิฉะนั้น พวกเขาจะตกเป็นเครื่องมือของพวกตะวันตกในการทำลายอิสลาม พวกเขาจะถูกปลูกฝังความคิดจากพวกบูรพคดีศึกษา พวกไซออนิสต์และพวกมิชชันนารีคริสเตียน จนกลายเป็นผู้ที่ปฏิเสธอิสลาม หรือบางทีพวกเขาหวังดีต่ออิสลาม อยากจะทำงานเพื่ออิสลาม แต่ขาดความรู้ คุณสมบัติและองค์ประกอบในการที่จะวินิจฉัยชี้ขาดในแก่นแท้ของอิสลาม มุสลิมสายกลางจึงจำเป็นต้องเข้าไปเติมเต็มในส่วนนี้ด้วย

แท้จริงแล้ว ในปัจจุบัน ประชาคมมุสลิมสายกลางนี่เอง ที่เป็นกลุ่มชนที่กำลังเผชิญหน้ากับความสุดโต่งของพวกวัตถุนิยม ซึ่งสวมหน้ากากเสรีนิยมตะวันตก หรือโลกาภิวัฒน์ ศัตรูอิสลามกลุ่มนี้ได้ใช้ปากกาและสื่อทุกประเภทในการทำสงครามกับการตื่นตัวและฟื้นตัวของมุสลิม ด้วยการใส่ร้ายป้ายสีและบิดเบือนคำสอนที่นักเผยแผ่อิสลามกำลังเรียกร้องเชิญชวน ด้วยวาทกรรมและข้อกล่าวหาต่างๆที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่อิสลาม หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงต่ออิสลามและมุสลิม เช่น ใส่ร้ายป้ายสีว่า นักเผยแผ่อิสลามเป็นพวกจารีตนิยม เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นต้น นอกจากนั้น พวกเขายังพยายามใช่เล่ห์เพทุบายเพื่อให้กลุ่มองค์กรอิสลามเป็นปฏิปักษ์ ขัดแย้งและเผชิญหน้ากับรัฐและผู้มีอำนาจในประเทศต่างๆ จนเกิดความหวาดระแวงและขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มองค์กรมุสลิมในประเทศเหล่านั้น ซึ่งในท้ายที่สุดก็ก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น พฤติกรรมของกลุ่มชนมุสลิมบางกลุ่ม ที่ชอบหันไปเผชิญหน้าและทะเลาะกับพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เพราะความแตกต่างในเรื่องปลีกย่อยทางศาสนาบางอย่าง นับเป็นเรื่องเหลวไหลและไร้สาระมาก และพวกเขามองหาศัตรูที่แท้จริงไม่ทะลุ มองไม่ออกว่าใครคือศัตรูซึ่งกำลังรุกรานพวกมุสลิมอยู่ในขณะนี้ และกำลังใช้เล่ห์เพทุบายเพื่อให้มุสลิมเกิดความขัดแย้งกันเอง ดังกรณีตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมในอีรัค เลบานอนและปาเลสไตน์ เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้มุสลิมทั้งสองฝ่ายเกิดความเพลี่ยงพล้ำ แตกแยกและพินาศ สมดังสุภาษิตมลายูที่ว่า “Kalah jadi abu Menang jadi arang แปลว่า แพ้เป็นขี้เถ้า ชนะเป็นถ่าน”

ถ้าหาก นักเผยแผ่อิสลามตกหลุมพรางอันชั่วร้ายนี้ เพราะความโง่เขลาและไม่ทันเล่ห์กลของศัตรูอิสลาม มันก็จะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติและฟิตนะห์อย่างใหญ่หลวงต่อประชาคมมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักเผยแผ่ผู้โง่เขลาและไม่ทันเกมเหล่านี้กระทำด้วยความตั้งใจ ภัยพิบัติและฟิตนะฮฺก็ทวีความรุนแรงและขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการทำลายอิสลาม ประชาคมมุสลิมและการฟื้นฟูอิสลามอย่างชัดเจน

ดังนั้น ประชาคมมุสลิมที่ยึดมั่นในหลักสายกลาง จึงมีภารกิจที่จำเป็นและยิ่งใหญ่ ซึ่งมีความจำเป็นต้องปฏิบัติและดำเนินการ และควรให้ความสนใจอย่างดีและเพียงพอ ภารกิจนี้จะต้องดำเนินการด้วยความมานะ อดทน อิคลาส(บริสุทธิ์และจริงใจ) และต่อเนื่อง ด้วยการสร้างสมานฉันท์และสายใยแห่งภราดรภาพในหมู่นักเผยแผ่อิสลามซึ่งมีความหลากหลายในการปฏิบัติเรื่องปลีกย่อย แต่ไม่ได้มีความแตกต่างในหลักการพื้นฐาน(อุศูล) เช่น ในเรื่องรุก่นอีหม่านทั้งหกประการ อันได้แก่การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ มาลาอีกะห์ คัมภีร์ รสูลของอัลลอฮฺ วันอาคิเราะห์และกอฎอกอดัร เป็นต้น และรุก่นอิสลามทั้งห้าประการ อันได้แก่ การกล่าวกาลีมะฮฺ ชะฮาดะฮฺ การดำรงละหมาด การจ่ายซากาต การถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน และการไปบำเพ็ญหัจญ์ และบนพื้นฐานของการยึดมั่นร่วมกันในเรื่องจริยธรรมอิสลามอันสูงส่งอันเดียวกัน และการละเว้นในพฤติกรรมที่เสื่อมเสียและต้องห้าม โดยเฉพาะบาปใหญ่ต่างๆ

สายใยแห่งความผูกพันและรักใคร่กันนั้น ควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่เป็นรากฐานสำคัญและมองโดยภาพรวมเท่านั้น ไม่ลงลึกไปในรายละเอียดปลีกย่อยมากนัก
นอกจากนั้น ความแตกต่างและความหลากหลายของกลุ่มองค์กรอิสลามนั้น อาจจะเกิดขึ้นเพราะบุคลากรมี ความรู้ความเชี่ยวชาญคนละด้านกัน หรือเน้นกิจกรรมคนละด้าน หาได้เกิดจากความแตกต่างในเรื่องหลักการแต่ประการใด ดังนั้น ความแตกต่างในลักษณะนี้จะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย

ประชาคมมุสลิมสายกลางมีภารกิจในการหลอมรวมนักเผยแผ่อิสลามให้เป็นเอกภาพ มีความสมานฉันท์ สร้างสายใยแห่งอุคุวะฮฺ และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดช่องว่างที่มีอยู่ ปลูกฝังให้เกิดการให้อภัยซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์และมีความรู้สึกนึกคิดในเชิงบวกต่อพี่น้องของเขา ทั้งนี้ เพื่อขจัดและชำระล้างความรู้สึกยะโส โอหัง ตะกับบุร และชอบดูถูกและดูแคลนผู้อื่น หรือเพื่อขจัดพฤติกรรมการโจมตีใส่ร้ายพี่น้องอย่างไร้เหตุผลและจรรยาบรรณ

ท่านนบีกล่าวว่า
“เขาจะมีบาปหนาแล้ว เพียงเพราะเขาดูถูกพี่น้องมุสลิมของเขา”

(ความหมายของหะดีษ ซึ่งรายงานโดยมุสลิม จากอบู หุรอยเราะฮฺ

ภารกิจข้างต้นนี้ควรเป็นจุดเน้นที่สำคัญ สำหรับมุสลิมในปัจจุบัน มาตรแม้นว่า เหล่านักเผยแผ่อิสลามยังไม่ตระหนักถึงผลร้ายของความแตกแยกและความขัดแย้งกันในหมู่ประชาคมมุสลิมในปัจจุบันนี้ แน่แท้ความพินาศก็จะมาเยือนสังคมมุสลิมในไม่ช้า ประชาคมมุสลิมจะพังทลายกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า
แต่ถ้าหากเราทั้งหลายยังไม่มีศักยภาพพอที่จะสร้างเอกภาพและสมานฉันท์ในหมู่นักเผยแผ่อิสลาม เราก็น่าจะริเริ่มดำเนินการในสิ่งที่ง่ายๆ เป็นไปได้และใกล้เคียงก่อน โดยเริ่มจากต่างฝ่ายต่างพยายามลดละและขจัดจุดยืนและท่าทีที่สุดโต่งและมองผู้อื่นในแง่ร้ายออกไปก่อน และในลำดับต่อไป พวกเขาควรจะยืนอยู่ในจุดยืนและแถวเดียวกันในประเด็นปัญหาที่มีผลต่อการกำหนดอนาคตของอิสลาม โดยเฉพาะบนเวทีโลก

ภารกิจในการเสริมสร้างความเข้าใจกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและความสมานฉันท์กันนั้นเป็นวาระสำคัญของการทำงานเพื่ออิสลามในยุคปัจจุบัน เป็นข้อกำหนดและหน้าที่ที่มิอาจจะปฏิเสธและละเลยได้ หากเรายังไม่สามารถจะสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่มุสลิมในระยะเวลาอันสั้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องความคิดเห็น อย่างน้อยก็น่าจะมีจุดร่วมทีเหมือนกัน นั่นก็คือ มุสลิมทั่วโลกต่างก็ตกอยู่ในชะตากรรมอันเดียวกัน เป็นกลุ่มเป้าหมายที่กำลังถูกโจมตีและทำลาย ถูกใส่ร้ายป้ายสีและถูกโดดเดี่ยวออกไปจากประชาคมโลก

บทความนี้จึงขอจบด้วยบทกวี ซึ่ง อะฮฺมัด เชากีย์ ได้เขียนไว้ว่า
“พี่น้องเอ๋ย เมื่อเชื้อชาติได้แบ่งแยกเรา
ดังนั้น จงให้วิกฤตที่ได้รับเป็นสื่อหลอมรวมเราให้เป็นหนึ่ง”


โดย มุคลิส บิน ยูซุฟ

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).