Loading

 

บุหรี่คือสิ่งชั่วร้าย

“ยาสูบ” เป็นพืชชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันในปลายศตวรรษที่ 10 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช หลังจากที่มีการบริโภคอย่างแพร่หลาย นักวิชาการในยุคนั้นก็มีการถกปัญหาเกี่ยวกับทัศนะทางนิติศาสตร์อิสลามว่า “ยาสูบ” หรือ “บุหรี่” มีความชอบธรรมทางศาสนาเช่นไรบ้าง

 


เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดจากบรรดานักวิชาการ มุสลิมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากขาดข้อมูลที่เพียงพอ กอปรกับยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบจากการ “สูบบุหรี่” ทำให้นักวิชาการมุสลิมมีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางทัศนะมองว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) บางทัศนะเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) บางทัศนะมองว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ (มุบาหฺ) และบางทัศนะก็ไม่ออกความคิดเห็นใดๆ เช่นเดียวกันกับนักวิชาการจากสำนักคิดทั้ง 4 สำนัก ต่างก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เราจึงไม่สามารถอ้างคำวินิจฉัยของสำนักคิดต่างๆ เพื่อยืนยันชี้ขาดในประเด็นนี้เลย


ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้าแล้ว สาเหตุที่บรรดานักวิชาการมุสลิม มีทัศนะที่แตกต่างกันในประเด็น “การสูบบุหรี่” นั้น หาใช่เพราะเกิดความขัดแย้งในประเด็น “การอ้างอิงหลักฐานตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม” แต่อย่างใดไม่ แต่เกิดจากความขัดแย้งในประเด็น “การค้นหาผลกระทบ”หรือ “การรับรู้พิษภัย” จากการสูบบุหรี่ต่างหาก

นักวิชาการบางกลุ่มในสมัยนั้น ยังมองว่าบุหรี่อาจมีประโยชน์บางประการ ในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า พิษภัยของการสูบบุหรี่ยังมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ บางกลุ่มก็ยังไม่สามารถให้คำชี้ขาดว่ามีพิษภัยหรือไม่ ซึ่งหากนักวิชาการมุสลิมในยุคก่อนรับทราบว่า พิษภัยของบุหรี่มีมากมายดังเช่นที่ได้มีการค้นพบในปัจจุบันแล้ว พวกเขาต้องออกคำวินิจฉัยว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่หะรอมอย่างมิพักต้องสงสัย

ข้าพเจ้าใคร่พูด ณ ที่นี่ว่า “การที่จะชี้ชัดว่าบุหรี่หรือสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ มีพิษภัยต่อสุขภาพร่างกายหรือไม่นั้น มิใช่เป็นหน้าที่และภารกิจของ อุละมาอฺ(ผู้รู้)ทางนิติศาสตร์อิสลาม แต่มันเป็นงานเฉพาะทางของวงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ด้านเคมีทั้งหลาย พวกเขาต่างหากที่จะต้องถูกตั้งคำถามและให้คำตอบในประเด็นนี้ เนื่องจากพวกเขาเท่านั้นเป็นผู้ที่รอบรู้และเชี่ยวชาญในประเด็นนี้ อัลลอฮฺ ตะอาลา ไ ด้กล่าวความว่า “ดังนั้น เจ้าจงถามผู้รู้เกี่ยวกับพระองค์ด้วยเถิด” (อัลกุรอาน 25 :59) อัลลอฮฺ ตะอาลา ยังได้กล่าวอีกความว่า “และไม่มีผู้ใดแจ้งแก่เจ้าได้ นอกจากผู้ทรงรอบรู้เท่านั้น” (อัลกุรอาน 35 :14)
ในกรณีนี้ วงการแพทย์ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับพิษของบุหรี่ โดยที่พวกเขาพากันเห็นพ้องต้องกันว่า บุหรี่มีอันตรายต่อสุขภาพในภาพรวมมากมายแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุหรี่สร้างอันตรายแก่ ปอดและระบบหายใจ ตลอดจนเป็นสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งปอด ซึ่งทำให้ชาวโลกในปัจจุบันพากันรณรงค์ เผยแพร่ถึงพิษภัยบุหรี่อย่างจริงจัง

ด้วยเหตุนี้ บรรดานักวิชาการมุสลิมในสมัยปัจจุบัน จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะออกคำวินิจฉัยในประเด็น “บุหรี่” ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะกฎศาสนบัญญัติในประเด็นนี้ต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากทัศนะของวงการ แพทย์เท่านั้น ในเมื่อวงการแพทย์ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่มีพิษมีภัย นักวิชาการมุสลิมจึงต้องลุกขึ้นสนับสนุนว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักศาสนบัญญัติเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจาก อาหารทุกประเภทที่มีโทษต่อร่างกาย ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามในทัศนะอิสลามทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจกล่าวได้ว่า มหันตภัยของบุหรี่ในปัจจุบัน แทบไม่จำเป็นต้องได้รับการยืนยันจากวงการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยา ศาสตร์ด้านเคมีอีกแล้ว แม้แต่ผู้คนทั่วไป ทั้งผู้ที่มีการศึกษาหรือไม่ก็ตาม ต่างก็รับทราบถึงพิษภัยของมันเป็นอย่างดี

เหตุผลของการวินิจฉัยว่า “บุหรี่ คือ สิ่งต้องห้ามในอิสลาม”

มีบางคนอาจโต้แย้งว่า “ท่านกล่าวว่าบุหรี่ คือ สิ่งต้องห้ามได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีหลักฐานชัดเจนที่สั่งห้ามในเรื่องนี้”


คำตอบ : อิสลามไม่จำเป็นสาธยายแจกแจงรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งบริโภคที่ต้อง ห้าม (หะรอม) แต่อิสลามได้วางกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับหลักการบริโภค ซึ่งมีข้อปลีกย่อยมากมายที่นับไม่ถ้วน โดยที่อิสลามได้สั่งห้ามมิให้บริโภคสิ่งที่เป็นพิษและสิ่งอันตรายทั้งหลาย ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่เพียงพอที่จะครอบคลุมอาหารที่มีพิษและสิ่งที่สร้าง อันตรายต่อร่างกายทั้งหลาย บนหลักการนี้ ทำให้บรรดานักวิชาการมุสลิมต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า กัญชาและสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ เป็นสิ่งที่หะรอม ถึงแม้ไม่ปรากฏหลักฐานจากอัลกุรอาน หรือหะดีษที่ระบุในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนก็ตาม
แม้แต่ทัศนะของอิบนุหัซมิ ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักทางความคิดที่ยึดมั่นตามตัวอักษรของหลักฐานในอัลกุรอาน และสุนนะฮฺก็ตาม ก็ยังมีความเห็นว่า สิ่งใดก็ตามหากบริโภคแล้ว ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ท่านได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่เป็นอันตราย ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งสิ้น เนื่องจากนบีมูฮัมมัด ? ได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กำหนดให้ทำความดีแก่ทุกสิ่ง” ใครก็ตามที่สร้างอันตรายแก่ตนเองหรือคนอื่น เขาจึงไม่ใช่ผู้กระทำความดี และใครก็ตามที่ไม่กระทำความดี เขาเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนการกำหนดของอัลลอฮฺ ตะอาลา เพราะพระองค์ทรงสั่งใช้ให้กระทำความดีแก่ทุกสิ่ง
หลักฐานอื่นๆ ที่สามารถอ้างอิงเพื่อยืนยันว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่ หะรอม ได้แก่ คำกล่าวของนบีมูฮัมมัด ? ความว่า
“ไม่มีการสร้างความเดือดร้อน ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น”


อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวไว้ ความว่า
“สูเจ้าอย่าได้ฆ่าตัวเองเลย แท้จริงอัลลอฮฺทรงปรานีแก่พวกเจ้าเสมอ” (อัลกุรอาน 4 : 29)
คำพูดที่ดีที่สุดที่กล่าวถึงเรื่องการสั่งห้ามมิให้บริโภคสิ่งอันตราย คือ คำพูดของอิมามนะวาวีย์ ที่ได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่เมื่อบริโภคมันแล้ว เกิดอันตรายแก่ชีวิต เช่น เศษแก้ว ก้อนหิน ยาพิษ ล้วนเป็นสิ่งหะรอมทั้งสิ้น และทุกสิ่งที่สะอาดไม่มีพิษภัย แต่เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง เช่น น้ำอสุจิ หรือน้ำมูก ตามทัศนะที่ถูกต้องแล้ว ก็เป็นสิ่งต้องห้ามเช่นเดียวกัน แต่เป็นสิ่งที่อนุมัติสำหรับการบริโภคยาที่มีสิ่งมีพิษเพียงเล็กน้อย หากมั่นใจว่ายาดังกล่าวมีประโยชน์และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย


ผลาญทรัพย์สิน

ไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับบุคคลหนึ่ง ที่จะใช้จ่ายทรัพย์สมบัติของเขาไปในทางที่ไม่ก่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง ทั้งทางโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ เพราะมนุษย์ทุกคนมีหน้าที่รักษาทรัพย์สินของตนเองในฐานะผู้แทนของอัลลอฮฺ ตะอาลา นอกจากนี้การมีสุขภาพดีและทรัพย์สมบัติ ถือเป็นพรอันประเสริฐที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงมอบให้แก่มนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงไม่มีสิทธิ์ก่ออันตรายแก่สุขภาพของตนเอง และไม่มีสิทธิ์ทำให้ทรัพย์สินของตนเองสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยเหตุดังกล่าว นบีมูฮัมมัด ? จึงห้ามการทำลายทรัพย์สินโดยเปล่าประโยชน์
ผู้ที่สูบบุหรี่ คือ ผู้ที่กว้านซื้อสิ่งซึ่งเป็นอันตรายแก่ชีวิตตนเอง ด้วยทรัพย์สมบัติของเขาเอง การกระทำในลักษณะเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นที่อนุญาตตามหลักศาสนบัญญัติโดยแน่แท้ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวไว้ความว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย เพราะแท้จริงอัลลอฮฺไม่รักผู้สุรุ่ยสุร่าย”(อัลกุรอาน 6 : 141)

เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดว่า การใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่ นอกจากเป็นการทำลายทรัพย์สินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังเป็นบ่อนทำลายสุขภาพอีกด้วย แล้วเราจะพูดได้อย่างเต็มปากได้อย่างไรว่า บุหรี่เป็นสิ่งอนุมัติ


การยอมศิโรราบทางอารมณ์

มหันตภัยประการหนึ่งที่เกิดจากบุหรี่ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านยังมองข้ามอยู่คือมหันตภัยด้านอารมณ์และจิตใจ ข้าพเจ้าหมายถึงว่า ผู้ที่ติดบุหรี่เป็นผู้ที่พ่ายแพ้ทางอารมณ์อย่างรุนแรง เขาได้ตกเป็นทาสบุหรี่จนโงหัวไม่ขึ้น เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเขาที่จะเลิกบุหรี่ ถึงแม้เขารู้อยู่แก่ใจว่า บุหรี่มีอันตรายทั้งต่อตนเองและคนรอบข้างมากมายมหาศาลเพียงใด ยามที่เขาคิดจะเลิกบุหรี่ ไม่ว่าเหตุผลทางสุขภาพ หรือไม่ต้องการให้ลูกๆ ได้รับแบบอย่างที่ไม่ดีซึ่งมีผลต่อการอบรมเลี้ยงดูลูกๆ หรือต้องการใช้เงินเพื่อหนทางอื่นที่มีประโยชน์มากกว่า เขาแทบไม่มีหนทางที่จะเลิกบุหรี่ได้เลย
เนื่องจากเกิดอาการความเป็นทาสทางอารมณ์นี่เอง ทำให้ผู้สูบบุหรี่บังอาจหมกเม็ด แม้กระทั่งเงินที่สำรองไว้สำหรับค่าอาหารลูก การเลี้ยงดูครอบครัวจะเป็นเรื่องสำคัญที่รองลงมา เพียงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการตอบสนองอารมณ์ของการสูบบุหรี่ เป็นการยากมากสำหรับเขาที่จะเลิกบุหรี่ หากเขาไม่สามารถสูบบุหรี่ด้วยเหตุผลใดก็ตาม เขาจะมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว ความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา ทั้งที่ทราบสาเหตุหรือไม่ก็ตาม ซึ่งอาการเหล่านี้น่าจะเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่ควรแก่การหยิบยกใน กรณีมีการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการให้ทัศนะว่าด้วยการสูบบุหรี่


การสูบบุหรี่ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ในอิสลา


ผู้ที่เห็นด้วยกับการสูบบุหรี่ในสมัยปัจจุบัน คงไม่สามารถอ้างเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้เลย หลังจากที่วงการแพทย์ได้ยืนยันถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ ผู้คนทั่วไปต่างก็รับรู้ถึงพิษภัยของมัน ผลการศึกษาวิจัยล้วนแต่ยืนยันว่าบุหรี่คือ สิ่งอันตรายทั้งสิ้น

ทัศนะที่บอกว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่อนุมัติ จึงเป็นทัศนะที่ไม่เป็นที่ยอมรับอีกแล้ว ดังนั้นจึงมีทัศนะที่เห็นว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และทัศนะที่เห็นว่าบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) และเราขอยืนยันที่จะให้คำวินิจฉัยว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่หะรอมโดยหลักการอิสลาม เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่มีหลักฐานที่มั่นคงกว่า นี่คือทัศนะของเรา เพราะบุหรี่คือสิ่งอันตรายทั้งสุขภาพ ทรัพย์สมบัติและอารมณ์ และทุกอย่างที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามตามทัศนะของอิสลามทั้งสิ้น

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวไว้ความว่า “เจ้าอย่าได้โยนตัวของสูเจ้าเข้าไปสู่ความพินาศ”(อัลกุรอาน2 : 195)
“เจ้าอย่าได้ฆ่าตัวของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺทรงปรานีพวกเจ้าเสมอ” (อัลกุรอาน 4 : 29)
“เจ้าอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย แท้จริงอัลลอฮฺทรงไม่รักผู้สุรุ่ยสุร่าย” (อัลกุรอาน 6 : 141)
“และเจ้าอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่าย คือ พวกพ้องของเหล่าชัยฎอน” (อัลกุรอาน 17 : 26-27)

บนหลักการของอัลกุรอานดังกล่าวข้างต้น เราจึงขอยืนยันในคำวินิจฉัยของเราว่า ปัจจุบันบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ในวงการแพทย์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย เป็นการก่ออันตรายแบบผ่อนส่ง ซึ่งก็มีค่าเท่ากับการก่ออันตรายแบบฉับพลัน ซึ่งล้วนแต่ หะรอมทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนไม่สามารถกินยาพิษ และถือว่ายาพิษเป็นสิ่งต้องห้าม ถึงแม้ว่ายาพิษนั้นจะมีผลกระทบต่อร่างกาย ช้าหรือเร็ว

การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนบัญญัติ ไม่ว่าด้วยวิธีฉับพลันหรือผ่อนส่ง ผู้ที่สูบบุหรี่ คือ ผู้ที่ฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง มนุษย์ทุกคนไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนแก่ตัวเองและห้ามฆ่าตัวตาย เขาไม่มีสิทธิ์รังแกผู้อื่น ด้วยเหตุนี้นบีมูฮัมมัด จึงได้กล่าวว่า “ไม่มีการสร้างความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น” การสูบบุหรี่ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง โดยมติอย่างเอกฉันท์จากวงการแพทย์ทั่วโลก ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ออกกฎหมายบังคับให้โรงงานผลิตบุหรี่ ประกาศคำเตือนแก่ผู้สูบบุหรี่พร้อมระบุโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการสูบบุหรี่ไว้บนซองบุหรี่ทุกซอง ด้วยเหตุนี้บรรดานักวิชาการมุสลิมจึงไม่สมควรและไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องนี้เลย


อิสลามได้ให้ความสำคัญกับการพิทักษ์รักษาปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ ทั้ง 5 ประการ ได้แก่ ศาสนา ชีวิต ทรัพย์สิน สติปัญญาและวงศ์ตระกูล ซึ่งบุหรี่ล้วนสร้างผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ ทั้ง 5 ประการดังกล่าวแทบทั้งสิ้น การสูบบุหรี่เป็นการให้ศาสนาของคนๆ หนึ่งต้องสูญเสีย บางคนไม่ถือศีลอด ด้วยเหตุผลว่าเลิกบุหรี่ไม่ได้ ชีวิตต้องเสี่ยงกับโรคร้ายต่างๆ เนื่องจากบุหรี่ ทรัพย์สินต้องสูญเสียเนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่ สติปัญญาไม่มีคุณภาพ แม้กระทั่งทารกในครรภ์ซึ่ง

ถือเป็นการสืบวงศ์ตระกูลของมนุษย์ ก็ได้รับอันตรายเนื่องจากพ่อแม่หรือคนใดคนหนึ่งที่ติดบุหรี่ ผลการวิจัยในปัจจุบัน พบว่าการสูบบุหรี่มือสอง หรือผู้สูบบุหรี่โดยการถูกบังคับ (ผู้ที่สูบควันบุหรี่จากคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้สูบบุหรี่) เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ เพิ่มอีกหลายเท่า เมื่อเทียบกับผู้สูบบุหรี่โดยตรง

ดังนั้น จึงขอสื่อสารกับบรรดาสิงห์อมควันทั้งหลายว่า นอกจากที่ท่านกำลังทำร้ายตัวของท่านเองแล้ว ในขณะเดียวกัน ท่านกำลังทำร้ายคนรอบข้างด้วยควันบุหรี่ของท่านด้วย ด้วยเหตุนี้บุหรี่จึงเป็นสิ่งหะรอมโดยไม่ต้องสงสัย และบรรดานักวิชาการมุสลิมควรเห็นพ้องต้องกันในประเด็นนี้ มีนักวิชาการมุสลิมบางท่าน เห็นว่า การสูบบุหรี่จะหะรอมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของแต่ละคน หากเป็นคนที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ที่ไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่จะถือว่าหะรอมสำหรับเขา แต่หากมีรายได้เพียงพอ ก็ถือว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ)เท่านั้น ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่ใช้ไม่ได้และไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ เพราะวงการแพทย์ทั่วโลกต่างยืนยันว่าบุหรี่อันตรายแค่ไหน กอปรด้วยเป็นการเผาผลาญทรัพย์สินเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ และผู้ที่ร่ำรวยก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเผาผลาญทรัพย์สินของตนเอง หรือใช้จ่ายตามอำเภอใจ เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหมดของเขา แท้จริงแล้วเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา และส่วนหนึ่งก็เป็นสิทธิที่พี่น้องมุสลิมควรได้รับประโยชน์ต่างหาก

ดังนั้น มุสลิมผู้มีสติปัญญา ควรให้หลุดพ้นจากสิ่งอันตรายที่น่ารังเกียจและชั่วร้ายนี้ การสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่หะรอมโดยไม่ต้องสงสัย การสูบบุหรี่มิใช่เป็นสิ่งที่ดี บุหรี่เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ทั้งโลกนี้และทางศาสนา
ข้าพเจ้าใคร่ย้ำเตือนบรรดาเยาวชนว่า ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามสลัดตัวเองมิให้ตกหลุมพรางในกับดักที่อันตรายนี้ เพราะมันได้สร้างอันตรายต่อสุขภาพ สร้างความอ่อนแอ ขอให้เยาวชนอย่าได้ยึดติดกับค่านิยมที่ผิดๆ ที่ว่า การสูบบุหรี่ คือสัญลักษณ์ของความเป็นชาย การสูบบุหรี่ถือเป็นสัญญาณแห่งความอิสระ หรือค่านิยมที่ไร้สาระอื่นๆ

ใครก็ตามที่ตกในหลุมพรางนี้แล้ว ก็จงรีบกระโดดออกมาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ระหว่างการเริ่มต้น หาไม่แล้ว เป็นการยากสำหรับเขาที่จะหลุดพ้นจากความชั่วร้ายของมัน เว้นแต่ผู้ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ตะอาลา

ขอวิงวอนบรรดาสื่อทั้งหลาย ช่วยโหมโรมและประชาสัมพันธ์ทุกวิถีทางถึงพิษภัยของบุหรี่ เช่นเดียวกันกับผู้สร้างละคร หรือหนังต่างๆ ควรงดการแสดงที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ด้วย

ขอวิงวอนให้รัฐบาลในแต่ละประเทศได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการรณรงค์การไม่ สูบบุหรี่ รัฐบาลต้องมีความมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นจากความชั่วร้ายของ บุหรี่ ถึงแม้รัฐบาลอาจสูญเสียรายได้จากอุตสาหกรรมบุหรี่ แต่สุขภาพของประชาชนทั้งร่างกายและจิตใจมีความสำคัญและมีมูลค่ามากกว่า ซึ่งจากสภาพความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลอาจต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล ในการทุ่มงบประมาณเพื่อการเยียวยารักษาผู้ป่วยอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งยังไม่รวมถึงผลผลิตที่ตกต่ำ เนื่องจากต้องสูญเสียแรงงานมากมาย ที่จำเป็นต้องหยุดงาน อันเนื่องมาจากโรคร้ายของบุหรี่ ตัวเลขการสูญเสียนี้ อาจมีมูลค่ามากกว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลได้รับจากภาษีบุหรี่ด้วยซ้ำไป

ขอให้อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้โปรดชี้นำเราสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ทรงทำให้เราเข้าใจในศาสนาอย่างถ่องแท้ ทรงสอนเราในสิ่งที่มีประโยชน์และทรงทำให้มีประโยชน์ในสิ่งที่พระองค์ได้สอน ให้แก่เรา แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้และใกล้ชิดกับเราเสมอ

 

???? ???? ??? ????? ???? ???? ??? ????? ???? .


แหล่งอ้างอิง  www.qaradawi.net

ผู้แปลสรุป  อ.มัสลัน  มาหะมะ  มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).