Loading

 

อุมมะตัน วะสะฏอ

อุมมะตัน วะสะฏอ

 

 

  นิยาม  

       อุมมะตันวะสะฏอเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮฺประการหนึ่งที่ทรงมอบให้แก่ประชาชาติของนบีมุฮัมมัด  ผู้เป็น “ค็อยรุอุมมะฮฺ” (ประชาชาติที่ดีเลิศ) ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสักขีพะยานต่อมนุษยชาติทั้งบนบนโลกนี้และวันอาคิเราะฮฺ
 

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

( وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا )

 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:143) 

         ความหมาย “และในทำนองเดียวกับที่เราได้ประทานทางนำแก่เจ้าโอ้มุฮัมมัดสู่เส้นทางที่เที่ยงตรง หรือเราได้คัดเลือกเจ้าในฐานะลูกหลานท่านนบีอิบรอฮีมเพื่อแต่งตั้งเป็นเราะสูลบนโลกนี้ เราก็ได้กำหนดให้พวกเจ้า (หมายถึงประชาชาติของนบีมุฮัมมัดที่เป็นมุสลิม/อุมมะตัน วาฮิดะฮฺ) เป็น อุมมะตันวะสะฏอ หมายถึงประชาชาติที่เที่ยงธรรม ถูกคัดเลือก และประเสริฐที่สุด เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานต่อ (การกระทำของ) มนุษย์ทั้งหลาย และเพื่อให้ท่านเราะสูล (มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นสักขีพยานต่อ (การกระทำของ) พวกเจ้า”
 

(ดูคำอิบายของอัลวาหิดีย์, อัลวะสีฏ 1/224, อัลอีญีย์, ญามิอฺ อัลบะยาน ฟี ตัฟสีร อัลกุรอาน 1:100)

          ท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ได้อธิบายความหมายของคำว่า “อุมมะตัน วะสะฏอ” ในอายะฮฺข้างต้นว่าหมายถึง “อัลอัดลุ” หมายถึง “ความเที่ยงธรรม” โดยในวันอาคิเราะฮฺประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัดในฐานะ “อุมมะตัน วะสะฏอ” จะเป็นสักขีพยานที่สัจจริงและเที่ยงธรรมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเหล่านบีกับบรรดาประชาชาติของพวกเขา เพราะประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัดผู้เป็นประชาชาติที่เที่ยงธรรม

         “อุมมะตัน วะสะฏอ” เป็นประชาชาติที่มีชะรีอะฮฺที่เที่ยงตรงและสมบูรณ์ที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งความเที่ยงธรรม ปานกลางคำว่า “ปานกลาง” (ในที่นี้หมายถึงความพอดี อยู่ระหว่างที่สุดของสองขั้ว ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ไม่สูงและไม่ต่ำเกินไป ไม่สุดโต่งจนเลยเถิดและไม่หย่อนยานจนละเลย ) และมีดุลยภาพอันเป็นเหตุให้พวกเขาได้รับคัดเลือกให้เป็นประชาชาติที่น่ายกย่องและเหมาะสมที่จะเป็นสักขีพยานแก่มนุษยชาติทั้งหมดที่ถือกำเนิดบนโลกนี้ก่อนหน้าพวกเขา

 

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ เศาะลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

(يُدْعَى نُوحٌ يَوْمَ الْقِيَامَةِ فَيُقَالُ: هَلْ بَلَّغْتَ؟ فَيَقُولُ: نَعَمْ، فَيُدْعَى قَوْمُهُ فَيُقَالُ: هَلْ بَلَّغَكُمْ؟ فَيَقُولُونَ: مَا أَتَانَا مِنْ نَذِيرٍ وَمَا أَتَانَا مِنْ أَحَدٍ، قَالَ، فَيُقَالُ لِنُوحٍ: مَنْ يَشْهَدُ لَكَ؟ فَيَقُولُ: (مُحَمَّدٌ وَأُمَّتُهُ، قَالَ: فَذَلِكَ قَوْلُهُ {ﭪ ﭫ ﭬ ﭭ}، قَالَ: الْوَسَطُ الْعَدْلُ، قَالَ: فَيُدْعَوْنَ فَيَشْهَدُونَ لَهُ بِالْبَلَاغِ، قَالَ: ثُمَّ أَشْهَدُ عَلَيْكُمْ بَعْدُ

(อิบนุ อบีชัยบะฮฺ, อัลมุศ็อนนัฟ เลขที่ 31684 จากสำนวนของท่าน, อะหมัด, อัลมุสนัด เลขที่ 11283 อัลบุคอรีย์, เศาะฮีหฺ เลขที่ 4487)

ความหมาย

“ในวันกิยามะฮฺท่านนบีนูหฺจะถูกเรียกตัวและถูกถามว่า “ท่านได้ป่าวประกาศคำสอนของอัลลอฮฺ (แก่ประชาชาติของท่าน) หรือไม่?” 

ท่านตอบว่า “ใช่ ฉันได้ป่าวประกาศแล้ว” 

หลังจากนั้นประชาชาติของท่านก็ถูกเรียกตัว และถูกถามว่า “นบีนูหฺได้ป่าวประกาศคำสอนของอัลลอฮฺแก่พวกเจ้าหรือไม่?” 

พวกเขาตอบว่า “ไม่มีผู้ให้คำตักเตือนมาป่าวประกาศคำสอนของอัลลอฮฺแก่พวกเราเลยแม้แต่คนเดียว” 

ดังนั้น ท่านนบีนูหฺจึงถูกถามว่า “ใครสามารถเป็นสักขีพยานแก่ท่าน?” 

ท่านตอบว่า “นบีมุฮัมมัดและประชาชาติของท่าน” 

       ท่านนบี  จึงกล่าวว่า นั่นแหละคือความหมายคำตรัสของอัลลอฮฺ (وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا) ท่านกล่าว (อธิบายความหมายของ อัลวะสัฏ) ว่า “อัลวะสัฏ คือ อัลอัดลุ หมายความว่า พวกท่านคือประชาชาติที่เที่ยงธรรม  ดังนั้น พวกท่านจึงเหมาะสมที่จะเป็นสักขีพยานแก่ผู้อื่น ” 

ท่านนบี  กล่าวว่า “ดังนั้น ประชาชาตินบีมุฮัมมัด  จึงถูกเรียกตัว แล้วพวกเขาก็เป็นสักขีพยานต่อการประกาศของนบีนูหฺ” 

ท่านนบี  กล่าวต่อไปว่า “หลังจากนั้น ฉันก็จะเป็นสักขีพยานต่อความสัจจริงในคำพูดของพวกเจ้า”

ท่านอิบนุกะษีร ได้กล่าวอธิบายความหมายของอายะฮฺนี้ว่า

(  وَلَمَّا جَعَلَ اللهُ هَذِهِ الْأُمَّةَ وَسَطًا خَصَّها بِأَكْمَلِ الشَّرَائِعِ وَأَقْوَمِ الْمَنَاهِجِ وَأَوْضَحِ الْمَذَاهِب ) 

          “ในเมื่ออัลลอฮฺได้ทรงสร้างประชาชาตินบีมุฮัมมัด เป็นอุมมะตันวะสะฏอ พระองค์ก็ได้ทรงกำหนดชะรีอะฮฺที่สมบูรณ์ที่สุด ความเข้าใจที่ดีที่สุด และแนวทางที่ชัดเจนที่สุดแก่พวกเขา”

(อิบนุ กะษีร, ตัฟสีร อัลกุรอาน อัลอะซีม 1/454 )
 

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

( هُوَ اجْتَبَاكُمْ وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِي الدِّينِ مِنْ حَرَجٍ مِلَّةَ أَبِيكُمْ إِبْرَاهِيمَ هُوَ سَمَّاكُمُ الْمُسْلِمِينَ مِنْ قَبْلُ وَفِي هَذَا لِيَكُونَ الرَّسُولُ شَهِيدًا عَلَيْكُمْ وَتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ )
 

(สูเราะฮฺอัลหัจญ์ 78)

        ความหมาย “พระองค์อัลลอฮฺทรงคัดเลือกพวกเจ้า (โอ้ประชาชาติมุฮัมมัด  จากบรรดาประชาชาติทั้งหลายเพื่อให้เป็นประชาชาติที่ประเสริฐที่สุด ผ่านชะรีอะฮฺที่ดีที่สุดและเราะสูลที่ประเสริฐที่สุด) และพระองค์มิได้ทรงทำให้การนับถือศาสนาของพวกเจ้าเกิดความยากลำบาก  นั่นแหละคือศาสนาของอิบรอฮีม บรรพบุรุษของพวกเจ้า พระองค์ทรงตั้งชื่อพวกเจ้า (โอ้ประชาชาติมุฮัมมัด) ว่ามุสลิมีน (หมายถึงผู้ที่มอบตนและสิโรราบต่ออัลลอฮฺ)ทั้งในคัมภีร์ก่อนหน้านี้ และในอัลกุรอาน เพื่อให้เราะสูลุลลอฮฺ  เป็นพยานต่อความสัจจริงในการนับถือศาสนาของพวกเจ้า และเพื่อให้พวกเจ้าเป็นพยานต่อประชาชาติอื่นๆ”
 

       เกียรติที่อัลลอฮฺได้มอบให้แก่ประชาชาตินบีมุฮัมมัด  ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “อุมมะตัน วะสะฏอ” และได้รับคัดเลือกให้เป็นพยานต่อมวลมนุษยชาตินั้น ได้รับการยอมรับจากประชาติทั้งหลาย โดยเฉพาะในวันอาคิเราะฮฺ
 

ท่านเซด บิน อัสลัม ได้กล่าวว่า 

          “ในวันกิยามะฮฺประชาชาติทั้งหลายต่างพากันกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริง (สถานะของ) ประชาชาตินบีมุฮัมมัด   ทั้งหมด (ในวันนี้) เสมือนกับว่าพวกเขาล้วนเป็นนบี” เนื่องจากพวกเขาได้เห็นถึงความโปรดปราน (ในรูปของการเป็นพยาน) ที่อัลลอฮฺได้มอบให้แก่ประชาชาตินบีมุฮัมมัด  ”

(อับดุลร็อซซาก, ตัฟสีร อัลกุรอาน อัลอะซีซ 1/80)

ความหมายของหะดีษข้างต้น ทำให้เราประจักษ์ว่า
     1. บทบาทส่วนหนึ่งของ “อุมมะตัน วะสะฏอ” คือ เป็นพยานต่อมวลมนุษยชาติในทุกยุคสมัย นับตั้งแต่ประชาชาติสมัยนบีอาดัม อะลัยฮิสลาม จวบจนวันกิยามะฮฺ ทั้งบนโลกนี้และในวันอาคิเราะฮฺ 

     2. ความมีเกียรติของ “อุมมะตัน วะสะฏอ” เกิดจากความเที่ยงธรรมที่มีอยู่ในตัวพวกเขา ซึ่งวางอยู่บนหลักแห่งความรู้ที่เที่ยงตรงและข้อมูลที่ชัดแจ้งจากอัลกุรอาน

     3. การเป็นพยานทั้งหมดของ “อุมมะตัน วะสะฏอ” จะขึ้นอยู่กับการเป็นพยานของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมต่อความสัจจริงในการนับถือศาสนาและการเป็นพยานของพวกเขา วัลลอฮุอะอฺลัม

     4. “อุมมะตัน วะสะฏอ” ที่ได้รับการเป็นพยานจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ต่อความสัจจริงในการนับถือศาสนาของพวกเขา และเป็นพยานต่อพวกเขาในวันอาคิเราะฮฺ เป็นประชาชาติที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้านรากฐานของศาสนาอิสลาม นั่นคือปลอดจากการตั้งภาคี การอุตริ และความจอมปลอมในด้านอะกีดะฮฺและอิบาดะฮฺ 

     5. “อุมมะตัน วะสะฏอ” คือ ประชาชาติที่ใช้ชีวิตเคียงคู่อัลกุรอานพร้อมกับคำอธิบายจากสุนนะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ทั้งด้านอะกีดะฮฺ อิบาดะฮฺ มุอามะลาต และอื่นๆ อันเป็นเงื่อนไขหลักในการเป็นพยานของท่านเราะสูล  ต่อความสัจจริงและความเที่ยงธรรมของพวกเขา

 

 

...............................................................

 

คัดลอกจาก : http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=4&id=3753

 

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).