Loading

 

ความประเสริฐของกิยามุลลัยลฺ

ความประเสริฐของกิยามุลลัยลฺ

 

                มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ความจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

อนึ่ง โดยแน่แท้ ในจำนวนการงานที่ประเสริฐที่สุดและการเคารพภักดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ศาสนาได้สนับสนุนกระตุ้นให้ปฏิบัตินั้นก็คือ “การกิยามุลลัยลฺ”  มันคือธรรมเนียมปฏิบัติของคนดีทั้งหลาย คือการค้าขายของเหล่าผู้ศรัทธา เพราะในช่วงค่ำคืนนั้นเหล่าผู้ศรัทธาจะปลีกตัวอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ร้องทุกข์ต่อพระองค์เกี่ยวกับสภาพการณ์ที่พวกเขาเป็นอยู่ วิงวอนร้องขอความเอื้อเฟื้อของพระองค์ พวกเขาจะง่วนดื่มด่ำด้วยการเข้าเฝ้า(มุนาญาต)พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ด้วยความหวังและนอบน้อมต่อผู้ทรงประทานความดีงามทั้งหลาย ทั้งยังเป็นผู้ให้และเผื่อแผ่ที่ยิ่งใหญ่ มหาบริสุทธิ์ยิ่งเถิดพระองค์อัลลอฮฺ

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงมีดำรัสว่า

﴿تَتَجَافَىٰ جُنُوبُهُمْ عَنِ الْمَضَاجِعِ يَدْعُونَ رَبَّهُمْ خَوْفًا وَطَمَعًا وَمِمَّا رَزَقْنَاهُمْ يُنفِقُونَ فَلَا تَعْلَمُ نَفْسٌ مَّا أُخْفِيَ لَهُم مِّن قُرَّةِ أَعْيُنٍ جَزَاءً بِمَا كَانُوا يَعْمَلُونَ﴾

ความว่า “สีข้างของพวกเขาเคลื่อนห่างจากที่นอน พลางวิงวอนต่อพระเจ้าของพวกเขาด้วยความกลัวและความหวัง และพวกเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นเครื่องยังชีพแก่พวกเขา ดังนั้น จึงไม่มีชีวิตใดรู้สิ่งที่ถูกซ่อนไว้สำหรับพวกเขาให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตา เป็นการตอบแทนในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้” (สูเราะฮฺ อัส-สัจญฺดะฮฺ : 16-17)

 

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกล่าวถึงพวกเขาด้วยการกล่าวถึงที่ดียิ่ง ดังที่พระองค์ทรงมีดำรัสว่า

﴿إِنَّ الْمُتَّقِينَ فِي جَنَّاتٍ وَعُيُونٍ آخِذِينَ مَا آتَاهُمْ رَبُّهُمْ ۚ إِنَّهُمْ كَانُوا قَبْلَ ذَٰلِكَ مُحْسِنِينَ كَانُوا قَلِيلًا مِّنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ﴾

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ยำเกรงจะได้อยู่ในสวนสวรรค์และตาน้ำพุมากหลาย พวกเขาปิติยินดีในสิ่งที่พระเจ้าของพวกเขาได้ประทานให้แก่พวกเขา แท้จริง พวกเขาก่อนหน้านั้นเป็นผู้กระทำความดี พวกเขาจะหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)” (สูเราะฮฺ อัซ-ซาริยาต : 15-18)

 

ท่าน อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ได้กล่าวว่า “พวกเขาขมักเขม้นทำอิบาดะฮฺในยามค่ำคืน และละหมาดยาวนานกระทั่งถึงรุ่งอรุณ หลังจากนั้นก็จะนั่งวิงวอนขอดุอาอ์ ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนต่ออัลลอฮฺ และขอการอภัยโทษจากพระองค์” (มุคตะศ็อรฺ กิยามิลลัยลฺ โดย อัล-มิรฺวะซีย์ หน้า : 96)

 

อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงมีดำรัสอีกว่า

﴿أَمَّنْ هُوَ قَانِتٌ آنَاءَ اللَّيْلِ سَاجِدًا وَقَائِمًا يَحْذَرُ الْآخِرَةَ وَيَرْجُو رَحْمَةَ رَبِّهِ ۗ قُلْ هَلْ يَسْتَوِي الَّذِينَ يَعْلَمُونَ وَالَّذِينَ لَا يَعْلَمُونَ ۗ إِنَّمَا يَتَذَكَّرُ أُولُو الْأَلْبَابِ﴾

ความว่า “ผู้ที่เขาเป็นผู้ภักดีในยามค่ำคืน ในสภาพของผู้สุญูด และผู้ยืนละหมาดโดยที่เขาหวั่นเกรงต่อโลกอาคิเราะฮฺ และหวังความเมตตาของพระเจ้าของเขา (จะเหมือนกับผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺกระนั้นหรือ?) จงกล่าวเถิดมุหัมมัด บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ? แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ” (สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร : 9)

 

มีรายงานจากท่านอบู อุมามะฮฺ อัล-บาฮิลีย์ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«عَلَيْكُمْ بِقِيَامِ اللَّيْلِ فَإِنَّهُ دَأْبُ الصَّالِحِينَ قَبْلَكُمْ، وَهُوَ قُرْبَةٌ إِلَى رَبِّكُمْ وَمَكْفَرَةٌ لِلسَّيِّئَاتِ وَمَنْهَاةٌ لِلإِثْمِ»

ความว่า “จำเป็นสำหรับพวกท่านทั้งหลายในการตื่นขึ้นมากิยามุลลัยลฺ เพราะมันคือธรรมเนียมปฏิบัติของคนดีทั้งหลายก่อนหน้าพวกท่าน มันคือสิ่งที่ทำให้เข้าใกล้พระเจ้าของพวกท่าน และทำให้ความผิดบาปทั้งหลายถูกลบล้างไป และสามารถยับยั้งจากการกระทำที่ชั่วร้าย” (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ : 3549 ท่านได้กล่าวว่า สายสืบนี้มีความถูกต้องมากกว่าหะดีษที่ท่านอบู อิดรีส รายงานจากท่านบิลาล และชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ ได้วินิจฉัยว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺซึ่งมีปรากฏในหนังสือเศาะหีหฺ อัต-ติรมิซีย์ : 3801)

 

ท่านอบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

«إِنَّ فِي الْجَنَّةِ غُرَفًا يُرَى ظَاهِرُهَا مِنْ بَاطِنِهَا ، وَبَاطِنُهَا مِنْ ظَاهِرُهَا ، أَعَدَّهَا اللَّهُ لِمَنْ أَطْعَمَ الطَّعَامَ ، وَأَفْشَى السَّلامَ ، وَصَلَّى بِاللَّيْلِ وَالنَّاسُ نِيَامٌ»

ความว่า “แท้จริง ในสวนสวรรค์นั้นมีอยู่ห้องหนึ่ง ที่ผู้คนด้านนอกก็สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน คนที่อยู่ภายในก็สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอก ซึ่งอัลลอฮฺทรงตระเตรียมมันไว้ให้กับผู้ที่แจกจ่ายอาหารแก่ผู้ที่มีความจำเป็น ผู้ที่เผยแพร่สลาม และผู้ที่ละหมาดในยามค่ำคืนในขณะที่ผู้คนกำลังหลับใหล” (บันทึกโดยเศาะหีหฺอิบนุหิบบาน : 509)

 

และมีรายงานจากท่านสะฮัล บิน สะอัด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้เล่าว่า

جاء جبريل إلى النبي صلى الله عليه و سلم فقال : يا محمد عش ما شئت فإنك ميت، واعمل ما شئت فإنك مجزي به، واحبب من شئت فإنك مفارقه، واعلم أن شرف المؤمن قيام الليل، وعزه استغناؤه عن الناس.

ความว่า “มลาอิกะฮฺญิบรีลได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วกล่าวว่า โอ้มุหัมมัดเอ๋ย จงมีชีวิตตามที่ท่านประสงค์เถิด เพราะแน่แท้ท่านก็จะต้องตาย จงทำอะมัลตามที่ท่านประสงค์เถิด เพราะแน่แท้ท่านก็จะได้รับการตอบแทนจากมัน และจงรักผู้ที่ท่านประสงค์เถิด เพราะแน่แท้ท่านก็จะต้องจากเขาไป พึงทราบเถิดเกียรติของผู้ศรัทธานั้นคือการกิยามุลลัยลฺ และศักดิ์ศรีของเขานั้นคือการไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือต่างๆ จากผู้คนทั้งหลาย ” (บันทึกโดย อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ใน อัล-มุอฺญัม อัล-เอาสัฏ : 4278 และท่านอัล-มุนซิรีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านอัต-ตัรฆีบ วัต-ตัรฮีบ เล่ม 1 หน้า 485 ว่า : สายรายงานของมันอยู่ในระดับหะสัน)

 

กวีท่านหนึ่งได้ร่ายบทกลอน เพื่อสาธยายถึงชนกลุ่มหนึ่งที่มีความขมักเขม้นในการเชื่อฟังอัลลอฮฺไว้ว่า

เมื่อโมงยามแห่งรัตติกาลเข้าปกคลุมพวกเขาก็อดทนมุ่งมั่นทำอิบาดะฮฺ
กลางคืนจากพวกเขาไป ในสภาพที่พวกเขาก้มรุกูอฺ

ด้วยความไหวหวั่นต่อวันแห่งความหวาดเกรงพวกเขาจึงยันสีข้างเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้สร้าง

ในขณะที่มนุษย์ส่วนมากยังหลับใหลประหนึ่งวันแห่งการลงทัณฑ์นั้นไร้ซึ่งอันตรายใดๆ
ภายใต้ความมืดมิดบรรดาผู้ศรัทธายังคงเฝ้ากราบกราน
เสียงสะอื้นของพวกเขาทำให้ความวิตกต่อวันนั้นคลายลง

 

และแท้จริง อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้ศาสนทูตของพระองค์ให้กิยามุลลัยลฺ และกระตุ้นเขาให้ปฏิบัติมัน ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿يَا أَيُّهَا الْمُزَّمِّلُ قُمِ اللَّيْلَ إِلَّا قَلِيلًا نِّصْفَهُ أَوِ انقُصْ مِنْهُ قَلِيلًا أَوْ زِدْ عَلَيْهِ وَرَتِّلِ الْقُرْآنَ تَرْتِيلًا﴾

ความว่า “โอ้ ผู้คลุมกายอยู่เอ๋ย ! จงยืนขึ้น (ละหมาด) เวลากลางคืน เว้นแต่เพียงเล็กน้อย (ไม่ใช่ตลอดคืน) ครึ่งหนึ่งของเวลากลางคืน หรือน้อยกว่านั้นเพียงเล็กน้อย หรือมากกว่านั้น และจงอ่านอัลกุรอานช้าๆ เป็นจังหวะ (ชัดถ้อยชัดคำ)” (สูเราะฮฺ อัล-มุซซัมมิล : 1-4)

 

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้อีกว่า

﴿وَمِنَ اللَّيْلِ فَتَهَجَّدْ بِهِ نَافِلَةً لَّكَ عَسَىٰ أَن يَبْعَثَكَ رَبُّكَ مَقَامًا مَّحْمُودًا﴾

ความว่า “และจากบางส่วนของกลางคืนเจ้าจงตื่นขึ้นมาละหมาดในเวลาของมัน เป็นการสมัครใจสำหรับเจ้า หวังว่าพระเจ้าของเจ้าจะทรงให้เจ้าได้รับตำแหน่งที่ถูกสรรเสริญ” (สูเราะฮฺ อัล-อิสรออ์ : 79)

 

 ซึ่งปรากฏว่าท่านนบี เศาะละวาตุลลอฮฺ วะสะลามุฮุอะลัยฮิ ก็ได้ปฏิบัติตามคำชี้นำแห่งพระผู้เป็นเจ้าอันทรงเกียรติรนี้ และน้อมรับต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าของท่าน ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา ได้เล่าว่า

كان رسول الله صلى الله عليه وسلم إِذَا صَلَّى قَامَ حَتَّى تَفَطَّرَ رِجْلاَهُ، قَالَتْ عَائِشَةُ: يَا رَسُولَ اللَّهِ أَتَصْنَعُ هَذَا وَقَدْ غُفِرَ لَكَ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِكَ وَمَا تَأَخَّرَ؟ فَقَالَ: « يَا عَائِشَةُ أَفَلاَ أَكُونُ عَبْدًا شَكُورًا»

ความว่า “เมื่อท่านนบีละหมาดท่านก็จะยืนละหมาดจนกระทั่งเท้าทั้งสองแตก ท่านหญิงอาอิชะฮฺจึงกล่าวกับท่านว่า โอ้เราะสูลุลลอฮฺ ทำไมท่านถึงปฏิบัติถึงขนาดนี้เล่า ทั้งๆ ที่อัลลอฮฺทรงให้อภัยในความผิดของท่านทั้งก่อนหน้านี้และที่จะมาถึงแล้ว? ท่านเราะสูลุลลอฮฺจึงกล่าวว่า โอ้อาอิชะฮฺ ไม่ควรหรือที่ฉันจะเป็นบ่าวที่รู้จักชุกูรฺ(ขอบคุณ)ต่ออัลลอฮฺให้มากๆ?” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1130 มุสลิม : 2820)

 

และท่านหุซัยฟะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ก็ได้เล่าว่า

صَلَّيْتُ مَعَ النَّبِىِّ -صلى الله عليه وسلم- ذَاتَ لَيْلَةٍ فَافْتَتَحَ الْبَقَرَةَ فَقُلْتُ يَرْكَعُ عِنْدَ الْمِائَةِ. ثُمَّ مَضَى فَقُلْتُ يُصَلِّى بِهَا فِى رَكْعَةٍ فَمَضَى، فَقُلْتُ يَرْكَعُ بِهَا. ثُمَّ افْتَتَحَ النِّسَاءَ فَقَرَأَهَا ثُمَّ افْتَتَحَ آلَ عِمْرَانَ فَقَرَأَهَا، يَقْرَأُ مُتَرَسِّلاً إِذَا مَرَّ بِآيَةٍ فِيهَا تَسْبِيحٌ سَبَّحَ، وَإِذَا مَرَّ بِسُؤَالٍ سَأَلَ، وَإِذَا مَرَّ بِتَعَوُّذٍ تَعَوَّذَ.

ความว่า “ฉันได้ละหมาดร่วมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในค่ำคืนหนึ่ง ซึ่งท่านเริ่มต้นด้วยการอ่านสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ ฉันจึงกล่าว(ในใจ)ว่า ท่านคงจะรุกูอฺเมื่อถึงอายะฮฺที่หนึ่งร้อย แต่แล้วท่านก็อ่านต่อไปอีกโดยไม่รุกูอฺ ฉันจึงกล่าว(ในใจ)ว่า ท่านคงจะอ่านต่อไปในละหมาดจนจบในร็อกอัตนี้ และแล้วท่านก็อ่านต่อ ฉันจึงกล่าว(ในใจ)อีกว่า ท่านคงจะรุกูอฺ(เมื่ออ่านจบสูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ) แต่ว่าหลังจากนั้นท่านก็เริ่มอ่านสูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ หลังจากนั้นก็สูเราะฮฺ อาลิอิมรอน ซึ่งท่านจะอ่านอัลกุรอานอย่างช้าๆ โดยเมื่อท่านอ่านถึงอายะฮฺที่กล่าวถึงการตัสบีหฺ (การสดุดีในความบริสุทธิ์ของอัลลอฮฺ) ท่านก็จะกล่าวคำตัสบีหฺ เมื่อถึงอายะฮฺที่กล่าวถึงการขอวิงวอน ท่านก็จะขอ และเมื่อถึงอายะฮฺที่กล่าวถึงการขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ท่านก็จะขอความคุ้มครองต่อพระองค์” (บันทึกโดยมุสลิม : 773)

 

และปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้กระตุ้นให้เหล่าเศาะหาบะฮของท่านมีการกิยามุลลัยลฺและให้มุ่งมาดปรารถนาในการปฏิบัติมัน ซึ่งท่านนบีได้กล่าวถึงคุณลักษณะของท่านอับดุลลอฮฺ บิน อุมัร ไว้ว่า

«نِعْمَ الرَّجُلُ عَبْدُ اللهِ لَوْ كَانَ يُصَلِّي بِاللَّيْلِ» قَالَ سَالِمٌ: فَكَانَ عَبْدُ اللهِ لَا يَنَامُ مِنْ اللَّيْلِ إِلَّا قَلِيلًا.

ความว่า “ชายหนุ่มที่ดียิ่งนั้นคือ อับดุลลอฮฺ (อิบนุอุมัร) ถ้าหากว่าเขาได้ลุกขึ้นละหมาดในยามค่ำคืนแล้วไซร้” สาลิม บุตรชายของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร กล่าวว่า ตั้งแต่นั้นมา ท่านอับดุลลอฮฺ(อิบนุอุมัร) ก็ไม่ได้นอนกลางคืนอีก(เพราะลุกขึ้นมากิยามุลลัยลฺ)นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1121 มุสลิม : 2478)

 

ท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ยังได้ส่งเสริมให้ประชาชาติของท่านให้ลุกขึ้นมากิยามุลลัยลฺอีกด้วย โดยที่ท่านได้กล่าวว่า

«أَفْضَلُ الصَّلاةِ بَـعْدَ الفَرِيْضَة، صَلاَةُ اللَّيْلِ»

ความว่า “การละหมาดที่ประเสริฐที่สุดรองลงมาจากละหมาดห้าเวลาคือการละหมาดในยามค่ำคืน” (ส่วนหนึ่งของหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิม : 1163 จากการรายงานของท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ)

 

ท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ قَامَ بِعَشْرِ آيَاتٍ لَمْ يُكْتَبْ مِنَ الْغَافِلِيْن ، وَمَنْ قَامَ بِمِائَةِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْقَانِتِيْن ، وَمَنْ قَامَ بِأَلْفِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْمُقَنْطِرِيْن» 

ความหมาย “ผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 10 อายะฮฺ จะไม่ถูกบันทึกว่าเป็นผู้หลงลืม (จากหลักการของอัลลอฮฺ ) และผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 100 อายะฮฺ จะถูกบันทึกว่าเป็นกอนิตีน (ผู้ที่ยืนละหมาดนาน) และผู้ใดละหมาดกลางคืนด้วย 1,000 อายะฮฺ จะถูกบันทึกว่าเป็นมุก็อนฏิรีน (ได้รับผลบุญมหาศาล” (บันทึกโดยอบู ดาวูด : 1398)

 

ซึ่งช่วงเวลาของการละหมาดกิยามุลลัยลฺนั้นคือ หลังจากละหมาดอิชาอ์ จนกระทั่งอะซานเวลารุ่งอรุณ ดังมีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«صَلاةُ اللَّيْلِ مَثْنَى مَثْنَى، فَإِذَا خَشِيَ أَحَدُكُمْ الصُّبْحَ صَلَّى رَكْعَةً وَاحِدَةً تُوتِرُ لَهُ مَا قَدْ صَلَّى»

ความว่า "ละหมาดกลางคืนนั้นให้ทำทีละสองร็อกอัต และเมื่อพวกท่านคนใดคนหนึ่งเกรงว่าจะได้เวลาศุบหฺ ให้เขาละหมาดหนึ่งร็อกอัตเพื่อให้เป็น
วิติร(จำนวนคี่)สำหรับการละหมาดที่ได้ทำมานั้น" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1137 มุสลิม : 749)

 

จากท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ خَافَ أَنْ لا يَقُومَ مِنْ آخِرِ اللَّيْلِ فَلْيُوتِرْ أَوَّلَهُ، وَمَنْ طَمِعَ أَنْ يَقُومَ آخِرَهُ فَلْيُوتِرْ آخِرَ اللَّيْلِ، فَإِنَّ صَلاةَ آخِرِ اللَّيْلِ مَشْهُودَةٌ وَذَلِكَ أَفْضَلُ»

ความว่า "ผู้ใดที่เกรงว่าจะไม่ตื่นขึ้นมาในช่วงท้ายของคืน ให้เขาละหมาด
วิติรในช่วงแรกของคืน และผู้ใดที่ปรารถนาแรงกล้าจะลุกขึ้นในท้ายคืนก็ให้เขาละหมาดวิติรในช่วงท้ายของกลางคืน เพราะการละหมาดในช่วงท้ายนั้นเป็นการละหมาดที่ถูกเห็นเป็นสักขี และนั่นเป็นที่ประเสริฐกว่า” (บันทึกโดยมุสลิม : 755)

 

จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«يَنْزِلُ رَبُّنَا تَـبَارَكَ وَتَعَالَى كُلَّ لَيْلَةٍ إلَى سَمَاءِ الدُّنْيَا حِيْنَ يَبْقَى ثُلُثُ اللَّيْلِ الآخِرُ يَـقُولُ: مَنْ يَدْعُونِي فَأَسْتَـجِيبَ لَـهُ؟ مَنْ يَسْأَلُنِي فَأُعْطِيَـهُ؟، مَنْ يَسْتَغْفِرُنِي فَأَغْفِرَ لَـهُ؟»

ความว่า “แท้จริง อัลลอฮฺจะลงมาสู่ฟ้าแห่งโลกดุนยาในทุกๆ คืนในช่วงหนึ่งในสามสุดท้ายของคืน แล้วพระองค์จะกล่าวว่า มีผู้ใดวิงวอนขออะไรจากข้าไหม แล้วข้าตอบรับคำขอนั้น มีผู้ใดขออะไรจากข้าไหม แล้วข้าจะให้เขาในสิ่งที่เขาขอ มีผู้ใดที่ขออภัยโทษต่อข้าไหม แล้วข้าจะอภัยให้แก่เขา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 1145 มุสลิม 1/523)

 

ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ได้กล่าวว่า “หากไม่มี 3 ประการนี้แล้วไซร้ ฉันไม่ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในโลกนี้อีกต่อไป นั่นคือ การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ การขมักเขม้นในการใช้ช่วงเวลายามค่ำคืนเพื่อการทำอิบาดะฮฺ และการได้นั่งอยู่ร่วมกับกลุ่มชนที่เลือกสรรคำพูดที่ดี ดังที่เขาได้คัดเลือกผลอินทผลัมที่ดี” (มุคตะศ็อร กิยามิลลัยลฺ โดยอัล-มิรฺวะซีย์ หน้า : 62 โดยความหมายของมัน)

ปัจจัยบางประการที่สำคัญยิ่งในการช่วยให้ตื่นขึ้นมากิยามุลลัยลฺนั้นคือ การเข้านอนตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น การอดหลับอดนอนย่อมเป็นโรคร้ายของผู้คนในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะหากมันเป็นไปในหนทางที่ไม่ใช่การฏออะฮฺเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ ดังสภาพของผู้คนส่วนมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะดูช่องรายการต่างๆ ผ่านทางดาวเทียมหรือโทรทัศน์ เล่นเกม หรือนั่งพูดคุยกับวงสนทนาต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย

ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงรังเกียจการนอนก่อนอิชาอ์และการพูดคุยหลังจากนั้น (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 568)

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า การละหมาดยามค่ำคืนในเดือนเราะมะฎอนนั้นมีความประเสริฐและมีความพิเศษมากกว่าเดือนอื่นๆ ดังที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إيمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَـهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِـهِ»

ความว่า “ผู้ใดตื่นละหมาดในค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน ด้วยใจที่ศรัทธาและหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดของเขาที่ผ่านมา” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 2009 มุสลิม : 759)

 

และการกิยามเราะมะฎอนนั้น ได้หมายรวมถึงการละหมาดตั้งแต่ช่วงแรกจนกระทั่งช่วงสุดท้ายของยามค่ำคืน ด้วยเหตุนี้การละหมาดตะรอวีหฺก็คือส่วนหนึ่งของการกิยามุลลัยลฺ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามรักษาการกิยามุลลัยลฺและปฏิบัติมันด้วยการหวังในผลบุญและการตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซึ่งมันจะไม่มีตลอดทุกค่ำคืนนอกจากช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และเห็นควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ศรัทธาที่มีสติสัมปะชัญญะที่ต้องเก็บเกี่ยวประโยชน์จากมันก่อนที่มันจะจากไป (ดู มะญาลิส ชะฮฺริ เราะมะฎอน หน้า 18)

เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ศรัทธาที่เขาต้องพยายามรักษาการละหมาดตะรอวีหฺกับอิมามจนกระทั่งเสร็จสิ้นไปพร้อมๆ กัน ดังที่ท่านอบู ซัรฺ อัล-ฆิฟารีย์ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ الإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامَ لَيْلَةٍ»

ความว่า “โดยแน่แท้ ผู้ใดที่ละหมาดพร้อมกับอิมาม(ละหมาดตะรอวีหฺ) จนกระทั่งเสร็จสิ้นพร้อมๆ กัน อัลลอฮฺก็จะทรงบันทึกผลบุญแก่เขาเท่ากับการละหมาดตลอดทั้งคืน” (ส่วนหนึ่งของหะดีษที่บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ในหนังสืออัส-สุนันของท่าน : 806  และท่านอัต-ติรมิซีย์ได้กล่าวว่า : นี่คือหะดีษที่หะสันเศาะฮีหฺ)       

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก และขอโปรดให้อัลลอฮฺทรงประทานการสรรเสริญและความศานติแด่ท่านนบีมุหัมมัดของเราและแด่เครือญาติของท่าน ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งปวงเทอญ

 

...........................................

แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซอบรี แวยะโก๊ะ

ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

คัดลอกจาก  http://IslamHouse.com/338127

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).