Loading

 

การชดใช้หนี้สิน

การชดใช้หนี้สิน

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

ท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งได้เสียชีวิตลง พวกเราจึงอาบน้ำและห่อศพให้แก่เขา แล้ววางศพลง ณ สถานที่ซึ่งเตรียมไว้ เพื่อรอให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาละหมาดให้ เมื่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำลังจะเดินทางมาถึง ท่านก็ถามขึ้นว่า “สหายของพวกท่านมีหนี้สินหรือไม่?” พวกเขาตอบว่า “ใช่ครับ เขามีหนี้เป็นเงินสองดีนาร์” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงถอยออกมาแล้วกล่าวว่า “พวกท่านจงละหมาดให้สหายของพวกท่านเถิด” ชายคนหนึ่งชื่อ อบู เกาะตาดะฮฺ จึงกล่าวขึ้นว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลฮฺ ฉันจะรับผิดชอบสองดีนาร์นั้นเอง” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวถามว่า “ท่านจะรับผิดชอบชดใช้สองดีนาร์นี้ด้วยทรัพย์สินของท่าน และถือว่าผู้ตายได้หมดภาระหนี้สินไปใช่หรือไม่?” เขาตอบว่า “ครับ” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงละหมาดให้แก่ผู้ตาย หลังจากนั้นทุกครั้งที่ท่านนบีได้พบเจออบูเกาะตาดะฮฺ ท่านก็จะถามว่า “ท่านจัดการเงินสองดีนาร์นั้นหรือยัง?” กระทั่งท้ายที่สุดเขาก็ตอบว่า “ฉันได้ชดใช้หนี้สินเรียบร้อยแล้ว” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ในที่สุดท่านก็ทำให้ผิวหนังของเขาเย็นลงเสียที” (บันทึกโดยอัลหากิม หะดีษเลขที่ 2393)

            หะดีษข้างต้นและหะดีษอื่น ๆ อีกมากมายเป็นหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า หนี้สินนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ควรที่จะถูกมองข้าม และยังเป็นเรื่องร้ายแรงที่อิสลามไม่อาจยกเว้นให้ได้ ดังเช่นในหะดีษข้างต้น ถึงแม้จะเป็นเพียงหนี้สินเล็กน้อยก็ตาม ลูกหนี้ที่เสียชีวิตก็จะต้องได้รับบทลงโทษและความเจ็บปวดในหลุมศพ จนกว่าหนี้สินของเขาจะได้รับการชำระชดใช้

            ในช่วงแรกของอิสลามนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่ละหมาดให้กับศพที่ยังมีหนี้สินค้างคา เพราะหนี้สินถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการสะสาง แต่หลังจากที่รัฐอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ท่านนบีก็รับชำระหนี้สินให้แทน และทำการละหมาดให้แก่ผู้ตาย

            ผู้ศรัทธาทุกคนมีภาระผูกพันกับหนี้สินของเขา จนกว่าเขาจะชำระหนี้สินนั้นเสีย อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«  نَفْسُ الْمُؤْمِنِ مُعَلَّقَةٌ بِدَيْنِهِ حَتَّى يُقْضَى عَنْهُ »  [رواه الترمذي برقم 1078،1079]

“วิญญาณของผู้ศรัทธาจะถูกกักไว้ โดยจะยังไม่ได้รับรางวัลของความดีที่กระทำไว้ จนกว่าหนี้สินของเขาจะได้รับการชดใช้” (บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1078 และ 1079)

อัชเชากานีย์ กล่าวว่า “หะดีษบทนี้ชี้ให้เห็นว่าอิสลามได้ส่งเสริมให้ทายาทผู้รับมรดกชดใช้หนี้สินแทนผู้ตาย โดยเน้นย้ำว่าผู้ตายที่ยังมีหนี้สินอยู่นั้น จะถูกกักตัวไว้ก่อนจนกว่าหนี้สินของเขาจะได้รับการชำระ ที่กล่าวมานี้เป็นกรณีที่ผู้ตายมีทรัพย์สินเพียงพอ แต่หากเป็นผู้ขัดสนซึ่งไม่มีทรัพย์สิน และตายไปในสภาพที่เขามีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะชำระหนี้ให้ได้ เช่นนี้อัลลอฮฺก็จะทรงชดใช้หนี้สินแทนเขา ดังมีหลักฐานจากหะดีษมากมายที่ระบุถึงเรื่องนี้” (นัยลุลเอาฏอร เล่ม 2 หน้า 53)

            ทั้งนี้ ผู้ศรัทธานั้นอาจจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าสวรรค์ด้วยเหตุที่เขายังมีหนี้สินค้างชำระ ดังมีหะดีษบันทึกโดยอบูดาวูด จากสะมุเราะฮฺ เล่าว่า

خطبنا رسول اللَّه صلَّى اللهُ عليه وسلَّم فقال: « هَاهُنَا أَحَدٌ مِنْ بَنِي فُلانٍ؟ »، فَلَمْ يُجِبْهُ أَحَدٌ ، ثُمَّ قَالَ : « هَاهُنَا أَحَدٌ مِنْ بَنِي فُلانٍ ؟ »، فَلَمْ يُجِبْهُ أَحَدٌ، ثُمَّ قَالَ : « هَهُنَا أَحَدٌ مِنْ بَنِي فُلانٍ ؟ »، فَقَامَ رَجُلٌ ، فَقَالَ : أَنَا يَا رَسُولَ اللَّهِ ! فَقَالَ : « مَا مَنَعَكَ أَنَّ تُجِيبَنِي فِي الْمَرَّتَيْنِ الأُولَيَيْنِ؟ ، إِنِّي لَمْ أُنَوِّهْ بِكُمْ إِلا خَيْرًا، إِنَّ صَاحِبَكُمْ مَأْسُورٌ بِدَيْنِهِ » فَلَقَدْ رَأَيْتُهُ أَدَّى عَنْهُ، حَتَّى مَا بَقِيَ أَحَدٌ يَطْلُبُهُ بِشَيْءٍ

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในคุฏบะฮฺว่า “มีผู้ใดในที่นี้มาจากเผ่านี้ (ท่านระบุชื่อเผ่าหนึ่ง) ไหม?” ไม่มีผู้ใดตอบ ท่านจึงกล่าวซ้ำอีกว่า “มีผู้ใดมาจากเผ่านี้ไหม?” ก็ไม่มีผู้ใดตอบอีก ท่านจึงกล่าวอีก “มีผู้ใดมาจากเผ่านี้ไหม?” จึงมีชายคนหนึ่งลุกขึ้น และกล่าวว่า “ฉันเอง โอ้ ท่านเราะสูลลุลลอฮฺ” ท่านจึงกล่าวแก่ชายคนนั้นว่า “เหตุใดเล่าท่านจึงไม่ตอบฉันตั้งแต่สองครั้งแรกที่ฉันถาม ที่จริงแล้วฉันมิได้กล่าวถึงพวกท่านเว้นแต่ในทางที่ดี ฉันจะบอกว่าพี่น้องของท่านคนหนึ่งยังคงถูกกักตัว (ไม่ได้เข้าสวรรค์) เนื่องจากหนี้สินของเขาที่ยังคงค้างชำระ” จากนั้นฉันก็เห็นชายคนดังกล่าวช่วยชำระหนี้ให้แก่ผู้ตายจนกระทั่งไม่มีผู้ใดทวงถามให้ชำระอีกต่อไป (บันทึกโดยอบูดาวุด หะดีษเลขที่ 3341)

ในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า

« إِنَّ الرَّجُلَ الَّذِي مَاتَ فِيكُمْ قَدِ احْتَبَسَ عَنِ الْجَنَّةِ مِنْ أَجْلِ الدَّيْنِ الَّذِي عَلَيْهِ ، فَإِنْ شِئْتُمْ فَافْدُوهُ ، وَإِنْ شِئْتُمْ فَأَسْلِمُوهُ إِلَى عَذَابِ اللّهِِ »

“ชายคนหนึ่งในหมู่พวกท่านที่เสียชีวิตลง ได้ถูกกักตัวไว้ไม่ให้เข้าสวรรค์เพราะยังมีหนี้สินยังค้างชำระ หากพวกท่านประสงค์ก็จงช่วยปลดปล่อยเขาเสีย (ด้วยการชดใช้หนี้แทนเขา) หรือไม่ก็ปล่อยให้เขาต้องเผชิญกับการลงโทษของอัลลอฮฺไป” (บันทึกโดย อัลหากิม หะดีษเลขที่ 2216)

            และแม้แต่ชะฮีด (ผู้สละชีพในหนทางของอัลลอฮฺ) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการลบล้างบาปทั้งหมด ก็ยังถูกยกเว้นในเรื่องหนี้สิน ดังที่ อับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« يُغْفَرُ لِلشَّهِيدِ كُلُّ ذَنْبٍ إِلا الدَّيْنَ » [رواه مسلم برقم 1886]

“ทุก ๆ บาปของชะฮีดนั้นจะได้รับการยกโทษ ยกเว้นเรื่องหนี้สิน” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1886)

มุหัมมัด บิน อับดุลลอฮฺ บิน ญะหฺช เล่าว่า

أَنَّ رَجُلًا جَاءَ إِلَى النَّبِيِّ صلَّى اللهُ عليه وسلَّم فَقَالَ: يَا رَسُولَ اللَّهِ مَاذَا لِي إِنْ قُتِلْتُ فِي سَبِيلِ اللَّهِ؟ قَالَ: « الْجَنَّةُ »، فَلَمَّا وَلَّى قَالَ: « إِلَّا الدَّيْنَ سَارَّنِي بِهِ جِبْرِيلُ عَلَيْهِ السَّلَامُ آنِفًا » [رواه أحمد برقم 17253]  

มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนหากว่าฉันถูกฆ่าตายในหนทางของอัลลอฮฺ?” ท่านตอบว่า “สวรรค์” เมื่อชายคนดังกล่าวหันหลังจะเดินกลับไป ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวว่า “ยกเว้นในกรณีที่ท่านมีหนี้สินค้างชำระ ญิบรีล อะลัยฮิสลาม เพิ่งกระซิบบอกฉันเมื่อกี้นี้” (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 17253)

 

ทั้งนี้ เพราะหนี้สินที่ติดค้างกับมนุษย์ด้วยกันนั้นจำเป็นต้องชดใช้ ไม่ว่าจะในดุนยาหรืออาคิเราะฮฺ และสิ่งที่เป็นสิทธิของมนุษย์ด้วยกันจะไม่ได้รับการยกเว้น นอกเสียจากว่าเจ้าของสิทธิจะยอมยกให้

            ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า การมีหนี้สินนั้นถือเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะมันทำให้จิตใจของผู้เป็นหนี้ว้าวุ่น มีชีวิตที่ไม่เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเราควรหลีกห่างการกู้หนี้ยืมสิน พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด เราจะเห็นว่ามีผู้ขัดสนมากมายที่อยากจะใช้จ่ายเยี่ยงเศรษฐี จึงต้องกู้หนี้ยืมสินจากทุก ๆ ทางที่จะทำได้ ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วหากแม้ว่าในหนึ่งวันเขาจะมีเพียงอาหารมื้อเดียว ก็ไม่ควรจะไปกู้ยืมใครอีก แต่ควรที่จะอดทน และกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานความร่ำรวยให้แก่ฉันด้วยเถิด อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَإِنۡ خِفۡتُمۡ عَيۡلَةٗ فَسَوۡفَ يُغۡنِيكُمُ ٱللَّهُ مِن فَضۡلِهِۦٓ إِن شَآءَۚ إِنَّ ٱللَّهَ عَلِيمٌ حَكِيمٞ ٢٨ ﴾ [التوبة: ٢٨] 

“และหากพวกเจ้ากลัวความยากจน อัลลอฮฺก็จะทรงให้พวกเจ้ามั่งมี ด้วยความกรุณาของพระองค์” (อัตเตาบะฮฺ: 28)

(ชัรหฺริยาดุศศอลิหีน เล่ม 5 หน้า 366)

            และตัวอย่างของการไม่ให้ความสำคัญกับการมีหนี้สินก็คือ การที่บางคนกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อทำธุรกิจหรือเล่นหุ้น แล้วเขาก็ขาดทุนย่อยยับ จนสุดท้ายอาจต้องติดคุกติดตาราง หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องใช้ชีวิตด้วยความวิตกกังวลและไม่เป็นสุข ทั้งหมดนี้ เกิดจากการไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้สิน ทั้งนี้ แม้แต่การตายชะฮีดในหนทางของอัลลอฮฺก็ยังมิอาจจะช่วยให้หลุดพ้นจากภาระหนี้สินได้

สำหรับเจ้าหนี้นั้น ก่อนที่จะให้ผู้อื่นกู้ยืมทรัพย์สินก็ควรที่จะคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

            1. ให้กู้ยืมจากทรัพย์สินที่ดี อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَلَا تَيَمَّمُواْ ٱلۡخَبِيثَ مِنۡهُ تُنفِقُونَ وَلَسۡتُم بِ‍َٔاخِذِيهِ ٢٦٧ ﴾ [البقرة: ٢٦٧]

“และพวกเจ้าอย่าได้มุ่งเอาสิ่งเลวจากนั้นมาบริจาค ทั้ง ๆ ที่พวกเจ้าเองก็ไม่ (อยากจะ) รับสิ่งนั้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 267)

2. ให้ตระหนักเสมอว่า เขาจะได้รับผลบุญจากการช่วยเหลือผู้อื่นในครั้งนี้ มิใช่รู้สึกเป็นบุญคุณแก่ผู้ขอยืม หากคิดเช่นนั้น เขาอาจไม่ได้รับผลบุญใด ๆ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا تُبۡطِلُواْ صَدَقَٰتِكُم بِٱلۡمَنِّ وَٱلۡأَذَىٰ ﴾ [البقرة: ٢٦٤]

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา พวกเจ้าจงอย่าทำลายการทำทานของพวกเจ้า โดยการลำเลิกและยังความเจ็บปวด” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 264)

และผลบุญของการให้กู้ยืมนั้น ดังเช่นผลบุญของการบริจาคทาน อับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ السَّلَفَ يَجْرِي مَجْرَى شَطْرِ الصَّدَقَةِ » [رواه أحمد برقم 3911]

“แท้จริงการกู้ยืมนั้น เปรียบได้ดั่งครึ่งหนึ่งของการบริจาคทาน” (อิหม่ามอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 3911)

            3. ควรที่จะมีความเห็นอกเห็นใจลูกหนี้ โดยอาจลดหย่อนหนี้สินบางส่วนให้แก่เขา หากเห็นว่าเขามีความยากลำบาก และประสงค์ที่จะชดใช้จริง ๆ อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿ وَإِن كَانَ ذُو عُسۡرَةٖ فَنَظِرَةٌ إِلَىٰ مَيۡسَرَةٖۚ ٢٨٠ ﴾ [البقرة: ٢٨٠]

“ถ้าหากลูกหนี้ของสูเจ้าอยู่ในภาวะคับแค้น ก็จงผ่อนปรนให้แก่เขาจนกว่าสถานการณ์ของเขาจะดีขึ้น” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 280)

อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« كَانَ تَاجِرٌ يُدَايِنُ النَّاسَ، فَإِذَا رَأَى مُعْسِرًا قَالَ لِفِتْيَانِهِ: تَجَاوَزُوا عَنْهُ لَعَلَّ اللَّهَ أَنْ يَتَجَاوَزَ عَنَّا، فَتَجَاوَزَ اللَّهُ عَنْهُ  » [رواه البخاري برقم 2078 ومسلم برقم 1562] 

“มีพ่อค้าคนหนึ่งให้ผู้อื่นยืมเงิน เมื่อใดที่เห็นว่าลูกหนี้ของเขามีความยากลำบาก เขาก็จะกล่าวแก่เด็กรับใช้ของเขาว่า ‘พวกเจ้าจงยกหนี้ให้แก่เขาเถิด เผื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงผ่อนปรนแก่เรา’ อัลลฮฮฺจึงทรงผ่อนปรนยกโทษให้แก่เขา” (อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2078 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1562)

            4. ควรที่จะทำสัญญาหนี้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีพยานรู้เห็น เพื่อหลีกเลี้ยงข้อขัดแย้ง อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿ وَلَا تَسۡ‍َٔمُوٓاْ أَن تَكۡتُبُوهُ صَغِيرًا أَوۡ كَبِيرًا إِلَىٰٓ أَجَلِهِۦ٢٨٢ ﴾ [البقرة: ٢٨٢]

“และเจ้าทั้งหลายจงอย่าระอาที่จะทำการบันทึกมันไม่ว่า (หนี้สินนั้น) จะเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อย หรือจำนวนมากก็ตาม จนถึงกำหนดของมัน” (อัลบะเกาะเราะฮฺ: 282)

          ส่วนผู้เป็นหนี้สินก็ควรที่จะปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

            1. ต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะชดใช้หนี้สิน อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« مَنْ أَخَذَ أَمْوَالَ النَّاسِ يُرِيدُ أَدَاءَهَا، أَدَّى اللَّهُ عَنْهُ، وَمَنْ أَخَذَهَا يُرِيدُ إِتْلَافَهَا، أَتْلَفَهُ اللَّهُ  » [رواه البخاري برقم 2387] 

“ผู้ใดเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปโดยตั้งใจจะชดใช้คืน อัลลอฮฺจะทรงชดให้ให้เขา (ด้วยการให้เขาได้มีโอกาสชดใช้) ส่วนคนที่เอาทรัพย์สินของผู้อื่นไป โดยไม่ตั้งใจที่จะชดใช้คืน อัลลอฮฺจะให้มันเสียหาย” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2387)

            2. จะต้องรีบเร่งชดใช้หนี้สินไม่ผัดผ่อนชักช้า อบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« مَطْلُ الْغَنِيِّ ظُلْمٌ » [رواه البخاري برقم 2288 ومسلم برقم 1564]

“การผัดผ่อนชักช้าของผู้ที่มีความสามารถจะใช้หนี้นั้น ถือเป็นการอธรรมประการหนึ่ง” (อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2288 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1564)

ในหะดีษอีกบทหนึ่งระบุว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เป็นหนี้ชายคนหนึ่งด้วยการขอยืมอูฐตัวผู้อายุน้อยมาตัวหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีการรวบรวมอูฐที่เป็นซะกาตมายังส่วนกลาง ท่านนบีจึงสั่งให้อบูรอฟิอฺเลือกซื้ออูฐตัวผู้อายุน้อยตัวหนึ่งจากอูฐซะกาต เพื่อนำไปใช้คืนแก่ชายคนนั้น แต่อบูรอฟิอฺกลับมาหาท่านแล้วรายงานว่า “ฉันพบว่ามีแต่อูฐดีๆ ที่อายุครบหกปีไปแล้ว” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า

« أَعْطِهِ إِيَّاهُ، إِنَّ خِيَارَ النَّاسِ أَحْسَنُهُمْ قَضَاءً » [رواه البخاري برقم 2288 ومسلم برقم 1564]  

“จงให้อูฐที่ดีนั้นแก่เขาไป แท้จริง คนที่ดีที่สุดคือ คนที่ชดใช้สิ่งที่ดีที่สุดในหมู่พวกเขา” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2288 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1564)

                กวีคนหนึ่งกล่าวไว้(ในทำนองประชดลูกหนี้)ว่า

أُمَاطِلُكَ العَصْرَيْنِ حَتَّى تَمَلَّنِي    وَتَرْضَى بِنِصْفِ الدَّيْنِ وَالأَنْفُ رَاغِمُ

       ฉันจะขอผัดไปวัน ๆ จนกว่าคุณจะเบื่อ

       และจำใจยอมรับชำระหนี้เพียงครึ่งเดียว

        3. ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากการมีหนี้สิน

« اللَّهُـمَّ إنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنَ الهَـمِّ وَالحَزَنِ، وَالعَجْزِ وَالكَسَلِ، وَالجُبْنِ وَالبُـخْلِ، وَضَلَعِ الدَّيْنِ، وَغَلَبَةِ الرِّجَالِ » [رواه البخاري برقم 2893] 

"โอ้พระผู้อภิบาลแห่งข้า แท้จริงข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความกังวลใจและความโศกเศร้า ความอ่อนแอและความเกียจคร้าน ความขลาดกลัวและความตระหนี่ การติดหนี้ที่มากมายจนล้นตัว และการถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้อธรรม" (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2893)

ได้มีทาสคนหนึ่งมาหาท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ และกล่าวว่า “โอ้ อมีรุลมุอ์มินีน ฉันอยากจะไถ่ตัวฉันจากการเป็นทาส แต่ฉันไม่มีความสามารถ” ท่านอะลีจึงกล่าวแก่เขาว่า “ฉันจะสอนให้ท่านกล่าวถ้อยคำหนึ่ง ซึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยสอนฉันไว้ (หากท่านกล่าวแล้ว) แม้ว่าท่านมีหนี้สินมากมายขนาดภูเขาศีรฺ อัลลอฮฺก็จะทรงช่วยเหลือท่านให้สามารถชำระหนี้นั้นได้ ท่านจงกล่าวว่า

« اللَّهُمَّ اكْفِنِي بِحَلَالِكَ عَنْ حَرَامِكَ، وَأَغْنِنِي بِفَضْلِكَ عَمَّنْ سِوَاك » [رواه الترمذي برقم 3563] 

“โอ้อัลลอฮฺ ขอให้ข้าพระองค์มีความรู้สึกเพียงพอกับสิ่งที่พระองค์ทรงอนุมัติด้วยเถิด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และขอให้ข้าพระองค์มีความมั่งคั่งด้วยความโปรดปรานของพระองค์ โดยไม่ต้องหันไปพึ่งพาผู้ใดนอกจากพระองค์” (บันทึกโดยอัตติรมีซีย์ หะดีษเลขที่ 3563)

 

 

.............................................................

 

 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/796275

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).