Loading

 

ง ม ฝั น ใ น ม ห า ส มุ ท ร

 

 - ง ม ฝั น ใ น ม ห า ส มุ ท ร - 

 

สัก ๑ ครั้งในชีวิตวัยเด็กแหละเนอะ ที่เราต้องเคยเจอคำถามว่า “โตขึ้นแล้วอยากเป็นอะไร” อย่างน้อยก็จากครูอนุบาลหรือผู้ใหญ่ใกล้ตัว แล้วคำตอบของเด็กผู้หญิงประมาณสักครึ่งห้องก็จะดังแจ้วๆขึ้นมาเชียวว่าอยากเป็นครู ส่วนเด็กผู้ชายอีกย่างน้อยโหลนึงต้องอยากเป็นตำรวจแหงแซะ โลกอายุไม่กี่ฤดูหนาวตอนนั้นจะมีสักกี่อาชีพกันที่เรารู้จัก เราไม่รู้หรอกว่าในโลกนี้ยังมีอาชีพแปลก ๆ อีกสารพัด ตั้งแต่นักพัฒนาซอฟแวร์ไปจนถึงคนรับจ้างต่อแถวซื้อคริสปี้ครีม

 

(แต่จริงๆ คำถาม “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงอาชีพสักหน่อยเนอะ เด็กบางคนตอบว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นผู้ใหญ่” (ความฝันนี้ดีนะ เพราะมีบางคนเหมือนกันที่ยิ่งโตยิ่งเป็นเด็ก) ซึ่งฟังดูโอเคกว่าน้องหนูอีกคนที่บอกว่า “โตขึ้นผมอยากเป็นช้าง” ตานี้ ครูก็เลยไม่รู้จะให้กำลังใจยังไงดี)

 

พอโตพ้นวัยอนุบาลมา ได้พบกับครูฝ่ายปกครองผู้มีไม้เรียวขนาดสามคนโอบเป็นอาวุธประจำกาย กับตำรวจจราจรที่ตั้งด่านดักรถพ่อแม่เราอยู่ทุกสิ้นเดือน  สองอาชีพที่ชนะโหวตในชั้นเรียนอนุบาลก็ดูจะห่างไกลจากความปรารถนาของผู้คนไป เรื่อยๆ เท่า ๆ กับที่ความใฝ่ฝันประการใหม่ ๆ ก็ผุดพรายขึ้นมาใจเราเรื่อย ๆ เด่นชัดนักสำหรับบางคน และดูลางเลือนสับสนสำหรับอีกบางคน แต่ให้ยังไง ก็จะมีวัยหนึ่งของชีวิตเราที่รู้สึกว่ามีความฝันอยากไล่ตาม

 

วัยรุ่นคนหนุ่มสาวทั่วไปพูดกันเรื่องความฝันนี้เยอะมาก จริงๆข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยจะถูกกับพวกหนังสือหรือบทความแนวให้กำลังใจ โพสิทีฟธิงคิ่ง หรืออะไรทำนองนี้นักหรอก แต่ก็ได้อ่านผ่านตาอยู่เรื่อยๆ จากนักเขียนคนดังในแนวนี้สอง-สามคนที่เขียนคอลัมน์ประจำให้นิตยสารข่าวอันตามอ่านอยู่ และพบว่าพวกเขาพูดเรื่องความฝันและการวิ่งไล่จับมันกันเยอะจริงๆ โดยเฉพาะที่เป็นการพูดอันมุ่งสื่อสารกับ “คนรุ่นใหม่

 

แปลกเหมือนกันนะที่ในสังคมมุสลิมเราไม่ค่อยพูดกันเรื่องความฝันของวัยหนุ่มสาวเท่าไหร่  ที่ว่าความฝันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องอาชีพ (ซึ่งเราพอเห็นบ้าง ที่เด็กๆของเราอยากเป็นหมอ แล้วเราก็พูดกันถึงความสำคัญของอาชีพนี้ต่ออิสลามรวมถึงจัดกิจกรรมแนะแนวต่างๆเพื่อพาเด็กๆพุ่งทะยานสุ่ความฝัน อยากให้มีแบบนี้ทุกสาขาอาชีพเลย ตั้งแต่นักเขียนไปจนถึงชาวนา จะได้รู้ว่าทุกอาชีพมีเกียรติทั้งนั้นถ้าคุณประกอบมันเพื่ออิสลาม) แต่หมายถึงความฝันลูกใหญ่ๆของชีวิตที่เรามีไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่น อยากมีกิจการของตัวเอง อยากเปิดโรงเรียน อยากไปใช้ชีวิตอยู่บนดอยสูง อยากเดินทางไปทำความรู้จักพี่น้องมุสลิมในดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก และอีกสารพัดอยากที่เชื่อว่ามีหรือเคยมีอยู่ในหัวของคนหนุ่มสาวมุสลิมจำนวนหนึ่ง แต่น้อยคนนักที่จะจริงจังในการเดินไปสู่ความฝันนั้น

 

 

มันก็เข้าใจได้นะ ว่าไป เพราะมุสลิมมีชีวิตอยู่ในดุนยาแบบที่รู้แน่แก่ใจว่าชั่วคราวสิ้นดี การได้ทำตามความฝันตัวเองหรือไม่ในดุนยานี้จึงไม่ใช่หลักใหญ่ใจความของชีวิตเราเท่ากับว่าเราจะบรรลุความฝันถึงสถานะสูงส่งในชีวิตโลกหน้าอันเป็นความใฝ่ฝันสำคัญสุดของชีวิตได้หรือไม่ แต่ไม่รู้สิ พักหลังๆทีได้คุยเรื่องความฝันของเหล่าวัยชะบ๊าบที่มีเยอะแยะตาแป๊ะ แต่น้อยคนและน้อยครั้งที่จะเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำตามความฝันได้ แล้วก็รู้สึกว่าที่จริงการมีความฝันของวัยหนุ่มสาว และออกไล่จับมันนั้นเป็นกิจกรรมที่น่ารักออก ทำไมหมดไฟกันง่าย ๆ

 

ที่พูดนี่หมายถึงความฝันที่ไม่ขัดกับอิสลามนะคะ เช่น คนสาวบางคนอยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือ คนหนุ่มบางคนอยากไปเป็นครูในชนบท มุสลิมะฮฺบางคนอยากทำงานอยู่กับบ้าน ไม่ใช่แบบขัดกับหลักการ อย่างมุสลิมะฮฺอยากฉายเดี่ยวแบ๊คแพ๊กเกอร์ตะลุยขุนเขาลำห้วยแบบโลนลี่แพลเน็ท หรืออยากสมัครเอเอฟ เดอะดาว อะไรพรรค์นั้นก็สมควรพับโครงการเก็บไส่กระเป๋าแล้วขุดหลุมฝังดินลึกสักสิบห้าเมตรจะดีกว่า

 

พวกความใฝ่ฝันทั่ว ๆ ไปที่ไม่ขัดหลักการ หรือบางทีอาจสอดคล้องกับหลักการด้วยซ้ำ (เช่น มุสลิมะฮฺอยากทำงานมีรายได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้าน) นี่ ข้าพเจ้าว่าเราไม่ควรปล่อยมันทิ้งไว้ข้างทางของชีวิตเพียงเพราะว่ามันไม่ใช่เส้นทางที่คนส่วนใหญ่เลือกเดินนะ ความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวมันมีพลังบางอย่าง ไม่ต้องนับกลิ่นและรสเชิญชวนที่พอจมูกและลิ้นเราชราภาพขึ้นมันจะไม่ได้กลิ่นและชิมรสแบบนี้ไม่ได้อีก น่าเสียดายออก

 

ทำไมพูดเรื่องนี้แล้วต้องร้อนตัวไม่รู้ แต่ยังไงก็คงต้องขอกันท่าไว้ตามธรรมเนียมว่า ชีวิตเรามีปัจจัยความเป็นจริงหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึงนอกจากการไล่ตามความฝัน เช่น มีพ่อแม่และความหวังของท่านที่มีต่อตัวเรา ปัจจัยนี้สำมะคันนักเชียว เพราในชีวิตของเราไม่มีมนุษย์หน้าไหนจะสำคัญและควรแคร์มากไปกว่าสองท่านนี้แล้ว ถ้าความฝันของเรามันขัดแย้งกับความหวังของท่านก็สมควรให้น้ำหนักกับความหวังของท่านก่อน มันสำคัญกว่า  แต่…เอ้อ เรื่องนี้มันก็พูดยากนะ เพราะพ่อแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พ่อแม่บางคนจริงจังมากกกกก (ก.ไก่ยาวไปสามกิโล) กับความหวังของตัวเองที่มีต่อลูก หมายถึงในเชิงดุนยานะ เช่น อยากให้ลูกเป็นหมอ อยากให้ลูกเรียนจบด็อกเตอร์ อยากให้…. อย่างจริงจังแบบที่ถ้าไม่ได้ตามหวังนี้ท่านอาจถึงกับหัวใจสลายได้ แบบนี้ก็ตัวใครตัวมันน้อ (แนะนำว่าทำตามท่านหวังไปเหอะถ้าทำได้)

 

แต่พ่อแม่บางคนก็แค่มีความหวังพอเป็นกระสัย คือถ้าลูกเป็น/ทำในสิ่งที่หวังได้ก็ดี แต่ถ้าลูกไม่ชอบในความหวังนี้ก็ไม่เป็นไร พ่อแม่รับได้ (ส่วนตัวเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีความหวังในตัวลูกบางอย่างทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครที่ไม่มีความหวังเลย อย่างน้อยก็หวังให้ลูกเรียนจบสูงๆ มีการศึกษาและการงานดีๆทำแหละ) พ่อแม่ประเภทนี้นี่เอง ที่เราสามารถเจรจาต่อรองและพิสูจน์ตัวเองได้ ฟังดูเห็นแก่ตัวไหม? ไม่นะ ข้าพเจ้ามีพ่อแม่ประเภทนี้ คือมีความหวังบางอย่างที่อยากให้ลูกเป็น แต่เคารพในการตัดสินใจของลูกถ้าไม่อยากจะเป็น (ตราบเท่าที่ความอยากของลูกไม่ขัดกับอิสลาม) เชื่อเถอะว่าพ่อแม่แบบนี้ไม่ได้จะมีความสุขเลยถ้าเราทำตามความหวังของท่านโดยที่ตัวเองก็จะตาย อยู่ไปอย่างไร้ชีวิตชีวาและขาดจินตนาการ เราเจรจากับท่านได้ เปิดอกพูดคุยกันตามประสาคนที่ต่างรักต่างห่วงใยกัน ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยากให้อีกฝ่ายทุกข์ใจหรือเจ็บปวดเลยแม้สักกระผีก และที่สำคัญ-ต้องพิสูจน์ตัวเอง ว่าความฝันของเรามันโอเคต่อชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้าของเรา

 

(หัวใจของคนเป็นพ่อแม่น่ะเนอะ ที่ต้องการให้ลูกเรียนสูงๆ มีการมีงานดีๆทำ ไม่ใช่เพราะอะไรเลย นอกจากหวังว่าลูกจะมีชีวิตอยู่ได้แบบดีๆ แม้เมื่อไม่มีท่านแล้ว ไม่มีอะไรเพื่อตัวท่านเองเลย ฉะนั้น ถ้าเราเลือกจะเป็นคนไม่มีการศึกษาหรือทำงานแบบที่มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็นมีราศีใดใด ก็ต้องพิสูจน์ให้ท่านเห็นว่าเราอยู่ได้ ไม่ใช่ทำตามความฝันของตัวเองแล้วรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ต้องแบมือขอพ่อแม่ต่อไป หยั่งงี้ก็สมควรที่พ่อแม่จะเป็นห่วงน้อยเมื่อไหร่)

 

 

......................................................................

 

 

คัดลอกจาก : https://peenud.wordpress.com/2011/09/

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).