Loading

 

การคุชูอฺ(นอบน้อม, มีสมาธิ)ในละหมาด

การคุชูอฺ(นอบน้อม, มีสมาธิ)ในละหมาด

 

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...

อัลลอฮฺได้กล่าวว่า

﴿قَدۡ أَفۡلَحَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ١ ٱلَّذِينَ هُمۡ فِي صَلَاتِهِمۡ خَٰشِعُونَ﴾ (المؤمنون : 1-2)

ความว่า “แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา” (สูเราะฮฺ อัล-มุอ์มินูน 1-2)

และเมื่ออัลลอฮฺกล่าวถึงคุณลักษณะต่างๆ ของพวกเขาอย่างครบถ้วนแล้ว พระองค์ก็ได้กล่าวถึงผลตอบแทนสำหรับพวกเขาว่า

﴿أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡوَٰرِثُونَ ١٠ ٱلَّذِينَ يَرِثُونَ ٱلۡفِرۡدَوۡسَ هُمۡ فِيهَا خَٰلِدُونَ﴾ (المؤمنون : 10-11)

ความว่า “ชนเหล่านี้แหละพวกเขาเป็นทายาท ซึ่งพวกเขาจะได้รับมรดกสวนสวรรค์ชั้นฟิรเดาสฺ พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล” (สูเราะฮฺ อัล-มุอ์มินูน 10-11)

 

ท่านหะซัน อัล-บัศรีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “คำกล่าวของอัลลอฮฺที่ว่า

﴿ٱلَّذِينَ هُمۡ فِي صَلَاتِهِمۡ خَٰشِعُونَ﴾

ความว่า “บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน(คุชูอฺ)ในเวลาละหมาดของพวกเขา” (สูเราะฮฺ อัล-มุอฺมินูน 2) ท่านกล่าวว่า การคุชูอฺของพวกเขานั้นจะอยู่ในหัวใจของพวกเขา ดังนั้นสายตาของพวกเขาจะลดต่ำลงและพวกเขายอมจำนนด้วยกับเหตุอันนั้น (ตัฟสีรฺ อิบนุ กะษีรฺ 2/238)

ท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺได้ผูกโยงความสำเร็จของผู้ละหมาดไว้กับความนอบน้อม(ในการละหมาด)ของพวกเขา แสดงว่าผู้ที่ไม่นอบน้อมจะไม่ถูกนับว่าเป็นกลุ่มชนผู้ที่ประสบความสำเร็จ และหากมีการคิดคำนวณผลบุญสำหรับเขาแล้ว แน่นอนเขาจะเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จ

การนอบน้อม(คุชูอฺ) อาจมีความหมายอีกว่า ความอ่อนโยน ความอ่อนไหว และความสงบนิ่งของจิตใจ เมื่อหัวใจเกิดคุชูอฺอวัยวะส่วนต่างๆ ก็จะสงบนิ่งเช่นกัน มีรายงานจากท่าน อัล-นุอฺมาน บิน บะชีร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«أَلَا وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً، إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الْجَسَدُ كُلُّهُ، وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ أَلَا وَهِيَ الْقَلْبُ» (البخاري برقم 52، ومسلم برقم 1599)

ความว่า “พึงรู้เถิดว่า ในร่างกายมีเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง หากมันดีร่างกายทั้งหมดก็จะดีไปด้วย แต่หากมันเสื่อมเสียร่างกายทั้งหมดก็จะเสื่อมเสียไปด้วย พึงรู้เถิดว่ามันคือหัวใจ” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์  1/234 หมายเลข 52  และเศาะฮีหฺ มุสลิม 3/1220 หมายเลข 1599)

ด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวในละหมาดว่า

«خَشَعَ لَكَ سَمْعِى وَبَصَرِى وَمُخِّى وَعَظْمِى وَعَصَبِى» (قطعة من حديث في صحيح مسلم برقم 771)

ความว่า “(โอ้อัลลอฮฺ)ได้นอบน้อมต่อพระองค์แล้วซึ่งการได้ยินของฉัน การมองเห็นของฉัน สมองของฉัน กระดูกของฉัน และเส้นประสาทของฉัน” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษที่รายงานใน เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/53 หมายเลข 771)

 

รายงานจากเอาฟฺ บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า มีวันหนึ่งในระหว่างที่พวกเรานั่งรวมกันอยู่ ณเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้แหงนมองไปยังท้องฟ้าแล้วได้กล่าวว่า “นี่เป็นวาระที่ความรู้จะถูกยกขึ้นไป” ชายคนหนึ่งจากชาวอันศอรฺที่ถูกขนานนามว่า ซิยาด บิน ละบีด ได้ถามว่า โอ้ท่านเราะสูล ความรู้จะถูกยกขึ้นไปด้วยกระนั้นหรือ ทั้งที่คัมภีร์ของอัลลอฮฺยังอยู่กับพวกเรา และเราได้สอนมันให้แก่บรรดาลูกๆ ของพวกเราและบรรดาภรรยาของพวกเรา ท่านเราะสูลลุลลอฮฺได้ตอบว่า “ฉันหวังว่าท่านเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในบรรดาชาวมะดีนะฮฺ” แล้วท่านเราะสูลได้กล่าวถึงความหลงผิดของบรรดาชาวคัมภีร์ทั้งสอง(เตารอฮฺและอินญีล)ในขณะที่ทั้งสองกลุ่มยังมีคัมภีร์ของอัลลอฮฺ อัซซะ วะญัลล์ อยู่ในกลุ่มชนทั้งสองกลุ่มนี้ ดังนั้น เมื่อญุบัยรฺ บิน นุฟัยรฺ ได้พบกับชัดดาด บิน เอาสฺ ในที่ละหมาด ท่านได้เล่าถึงหะดีษบทนี้จากเอาฟฺ บิน มาลิก เมื่อได้ยินดังนั้น ชัดดาด บิน เอาส์ได้กล่าวว่า เอาฟฺได้พูดความจริงแล้ว แล้วชัดดาดได้ถามว่า แล้วท่านรู้ไหมว่าความรู้จะถูกยกไปอย่างไร? เขา(ญุบัยรฺ)เล่าว่า ฉันได้ตอบไปว่า ฉันไม่รู้ ชัดดาดเฉลยว่า ด้วยการสูญหายไปของแหล่งบรรจุของมัน(คือผู้มีความรู้) จากนั้นชัดดาดได้ถามต่อว่า แล้วท่านรู้ไหมว่าความรู้ใดจะถูกยกเป็นอันดับแรก? เขา(ญุบัยรฺ)เล่าว่า ฉันได้ตอบไปว่า ฉันไม่รู้ ชัดดาดได้เฉลยว่า คือการคุชูอฺ จนกระทั่งท่านแทบจะไม่พบผู้ที่คุชูอฺเลย” (มุสนัดอิมาม อะหฺมัด 6/26-27)

เมื่อผู้ละหมาดเข้าไปในมัสยิดจะเริ่มมีการกระซิบกระซาบความคิดต่างๆ และความยุ่งเกี่ยวกับกิจการงานต่างๆ ในโลกดุนยาจะมาวนเวียนอยู่ในสมองของเขา เขาจะไม่รู้สึกตัวจนกว่าอิมามได้เสร็จสิ้นจากพิธีการละหมาด เมื่อนั้นเขาจะเสียใจกับการละหมาดของเขาที่ไม่คุชูอฺ และไม่ได้ลิ้มรสความหวานของมัน หากแต่มันเป็นเพียงการเคลื่อนไหวและการรำพันเสมือนดั่งร่างที่ไร้วิญญาณ

ท่านอิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “การละหมาดที่ไม่มีความคุชูอฺและไม่มีสมาธิ เปรียบเสมือนร่างกายที่ตาย ไร้วิญญาณ บ่าวไม่ละอายดอกหรือที่จะให้ของกำนัลแก่มัคลูก(สิ่งที่ถูกสร้าง)ด้วยกัน เป็นทาสหรือทาสีที่ตายแล้ว? แล้วเขาจะคิดอย่างไรหากผู้ที่จะให้(ของกำนัล)เป็นคนระดับกษัตริย์ ผู้ปกครองหรืออื่นๆ เช่นเดียวกันกับกรณีการละหมาดที่ปราศจากการคุชูอฺ การรู้สึกตัวและการตั้งใจกับอัลลอฮฺ เปรียบเสมือนดังทาสหรือทาสีที่ตายแล้วที่เราต้องการมอบเป็นของกำนัลให้กับกษัตริย์บางพระองค์ ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺ ตะอาลาจึงไม่ตอบรับละหมาดนั้น ถึงแม้ว่ามันอาจทำให้หน้าที่จำเป็น(วาญิบ)หมดไปในบทบัญญัติของโลกนี้โดยไม่มีผลบุญใดๆ จากการปฏิบัติ ดังนั้นบ่าวจะไม่ได้อะไรจากละหมาดยกเว้นเท่าที่เขามีสมาธิ(คูชูอฺ)เท่านั้น” (อัล-วาบิล อัศ-ศ็อยยิบ มินัล กะลาม อัฏ-ฏ็อยยิบ หน้าที่ 11)

บางท่านกล่าวว่า “ชายสองคนที่ทำละหมาดเหมือนกัน แต่ระหว่างสองคนนั้นจะมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน” (มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน 1/567)

รายงานจากอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุมา แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมกล่าวว่า

«وإِنَّ الرَّجُلَ لَيَنْصَرِفُ وَمَا كُتِبَ لَهُ إِلَّا عُشْرُ صَلَاتِهِ، تُسْعُهَا، ثُمْنُهَا، سُبْعُهَا، سُدْسُهَا، خُمْسُهَا، رُبْعُهَا، ثُلُثُهَا، نِصْفُهَا» (أبو داود برقم 796)

ความว่า “คนๆ หนึ่งได้เสร็จสิ้นจากการละหมาดของเขา ในขณะที่เขาไม่ได้ถูกบันทึกความดีงามนอกจากเพียงหนึ่งส่วนสิบของละหมาด หรือ หนึ่งส่วนเก้า หนึ่งส่วนแปด หนึ่งส่วนเจ็ด หนึ่งส่วนหก หนึ่งส่วนห้า หนึ่งส่วนสี่ หนึ่งส่วนสาม หรือครึ่งหนึ่งของมันเท่านั้น” (สุนันอบู ดาวูด 1/211 หมายเลข 796)

การคุชูอฺในละหมาดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้ทุ่มเทจิตใจให้กับมันอย่างจริงจัง จดจ่อกับมันเหนือสิ่งอื่นใด และให้ความสำคัญกับมันมากยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆ เมื่อนั้นมันจะกลายเป็นของกำนัลอันล้ำค่า(ได้รับความเปี่ยมสุข)แก่เขา

รายงานจากอะนัส เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมกล่าวว่า

«حُبِّبَ إِلَيَّ مِنْ الدُّنْيَا النِّسَاءُ وَالطِّيبُ، وَجُعِلَتْ قُرَّةُ عَيْنِي فِي الصَّلَاةِ» (النسائي برقم 3939)

ความว่า “บรรดาสรรพสิ่งในดุนยาที่ทำให้เป็นที่รักยิ่งแก่ฉันคือ สตรีและน้ำหอม และถูกทำให้เป็นขวัญตาแก่ฉันในการละหมาด” (สุนัน อัน-นะสาอียฺ 7/61 หมายเลข 3939)

 

ยิ่งกว่านั้น เมื่อท่านเราะสูล อะลัยฮิศเศาะลาตุวัสสลาม กังวลกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดท่านก็จะละหมาด และท่านเคยกล่าวกับท่านบิลาลว่า

«قُمْ يَا بِلَالُ فَأَرِحْنَا بِالصَّلَاةِ» (أبو داود برقم 4986)

ความว่า “โอ้บิลาล จงลุกขึ้น แล้วจง(อิกอมะฮฺเพื่อ)ทำให้เราได้พักผ่อนด้วยการละหมาด” (สุนัน อบูดาวูด 4/297 หมายเลข 4986)

 

ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่จะทำให้มีความคุชูอฺในเวลาละหมาดมีดังนี้

ประการแรก.. มุสลิมจะต้องตระหนักต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ สุบฮานะฮุ วะตะอาลา และต้องมีความรู้สึกว่าเขากำลังยืนอยู่ต่อหน้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

﴿وَمَا قَدَرُواْ ٱللَّهَ حَقَّ قَدۡرِهِۦ وَٱلۡأَرۡضُ جَمِيعٗا قَبۡضَتُهُۥ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ وَٱلسَّمَٰوَٰتُ مَطۡوِيَّٰتُۢ بِيَمِينِهِۦۚ سُبۡحَٰنَهُۥ وَتَعَٰلَىٰ عَمَّا يُشۡرِكُونَ﴾ (الزمر : 67)

ความว่า “และพวกเขามิได้ให้ความยิ่งใหญ่แด่อัลลอฮฺอันพึงมีต่อพระองค์อย่างแท้จริง และแผ่นดินนี้ทั้งหมดเป็นเพียงกำพระหัตถ์หนึ่งของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ และชั้นฟ้าทั้งหลายจะม้วนกลิ้งด้วยพระหัตถ์ขวาของพระองค์ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ และพระองค์ทรงสูงส่งเหนือจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี” (สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร 67)

           

ประการที่สอง..ในเวลาละหมาดให้มุสลิมมองไปยังสถานที่ๆ จะสุญูดและไม่หันหน้าไปทางอื่น

รายงานจากอบู ซัรฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَا يَزَالُ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ مُقْبِلًا عَلَى الْعَبْدِ فِي صَلَاتِهِ مَا لَمْ يَلْتَفِتْ، فَإِذَا صَرَفَ وَجْهَهُ انْصَرَفَ عَنْهُ» (مسند الإمام أحمد 5/172)

ความว่า “อัลลอฮฺจะยังคงหันไปยังบ่าวของพระองค์ในละหมาดของเขาตราบใดที่เขาไม่หันหน้าไปทางอื่น เมื่อเขาผันหน้าไปทางอื่นอัลลอฮฺก็จะหันไปจากเขา” (มุสนัด อิมามอะหฺมัด 5/172)

 

            ประการที่สาม.. การตั้งใจสดับฟัง(ใคร่ครวญ)อัลกุรอานและบทขอพรต่างๆ ที่เขาอ่านในขณะที่เขาละหมาด อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวว่า

﴿أَفَلَا يَتَدَبَّرُونَ ٱلۡقُرۡءَانَ أَمۡ عَلَىٰ قُلُوبٍ أَقۡفَالُهَآ﴾ (محمد 24)

ความว่า “พวกเขามิได้พิจารณาใคร่ครวญอัลกุรอานดอกหรือ? แต่ว่าบนหัวใจของพวกเขามีกุญแจหลายดอกลั่นอยู่” (สูเราะฮฺ มุหัมมัด 24 )

เมื่อมุสลิมทำการใคร่ครวญบทอ่านในรุกูอฺและสุญูด และบทขอพรอื่นๆ ก็จะช่วยให้หัวใจของเขามีการระลึกและเข้าใกล้การคุชูอฺมากขึ้น.

 

ประการที่สี่.. รำลึกถึงความตายในเวลาละหมาด รายงานจากอบู อัยยูบ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมกล่าวว่า

«إِذَا قُمْتَ فِي صَلَاتِكَ فَصَلِّ صَلَاةَ مُوَدِّعٍ» (قطعة من حديث في مسند الإمام أحمد 5/4112)

ความว่า “เมื่อท่านยืนขึ้นเพื่อที่จะละหมาด ท่านจงละหมาดเสมือนเป็นการละหมาดอำลา (ละหมาดครั้งสุดท้าย)” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษในมุสนัดอิมาม อะหฺมัด 5/412)

 

ประการที่ห้า..  ให้ผู้ละหมาดเตรียมตัวให้มีความพร้อมก่อน ดังนั้นเขาจะไม่ละหมาดในขณะที่เขากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ หรือการผายลม และไม่ละหมาดขณะที่อาหารถูกยกมาเพื่อรับประทาน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมกล่าวว่า

«لاَ صَلاَةَ بِحَضْرَةِ الطَّعَامِ، وَلاَ وَهُوَ يُدَافِعُهُ الأَخْبَثَانِ» (مسلم برقم 560)

ความว่า “ไม่มีการละหมาดขณะที่อาหารถูกยกมาเพื่อรับประทาน และไม่มีการละหมาดในขณะที่เขากลั้นสิ่งไม่ดีทั้งสอง (กลั้นปัสสาวะและอุจจาระ)”(เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/393 หมายเลข 560)

และต้องขจัดสาเหตุต่างๆ ที่จะทำให้เขาหมกมุ่นกับสิ่งนั้นในละหมาด เช่นบรรดาลวดลาย  รูปภาพต่างๆ และอื่นๆ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮา ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ละหมาดโดยที่ท่านใส่เสื้อมีเครื่องหมาย(ลวดลาย) แล้วท่านก็มองไปที่ลวดลายของมัน เมื่อละหมาดเสร็จ ท่านได้กล่าวว่า

«اذْهَبُوا بِهَذِهِ الْخَمِيصَةِ إِلَى أَبِى جَهْمِ بْنِ حُذَيْفَةَ، وَائْتُونِى بِأَنْبِجَانِيِّهِ، فَإِنَّهَا أَلْهَتْنِي آنِفًا فِى صَلاَتِي» (البخاري برقم 373، ومسلم برقم 556)

“พวกท่านจงเอาเสื้อลายตัวนี้ไปให้กับอบู ญะฮฺมิน บิน หุซัยฟะฮฺ แล้วนำเสื้อที่ไม่มีลวดลายมาให้ฉัน เพราะมันทำให้ฉันเสียสมาธิในขณะที่ฉันละหมาดเมื่อครู่นี้” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 1/141 หมายเลข 373 และเศาะฮีหฺ มุสลิม 1/391 หมายเลข 556)

 

ประการที่หก.. ใช้ความพยายามให้จิตใจมีความคุชูอฺ เพราะการทำให้มีความคุชูอฺไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก ดังนั้นจึงต้องอาศัยความอดทนและความพยายามมุ่งมั่น อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวว่า

﴿وَٱلَّذِينَ جَٰهَدُواْ فِينَا لَنَهۡدِيَنَّهُمۡ سُبُلَنَاۚ وَإِنَّ ٱللَّهَ لَمَعَ ٱلۡمُحۡسِنِينَ﴾ (العنكبوت : 69)

ความว่า “และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเราแน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่กระทำความดีทั้งหลาย” (สูเราะฮฺ อัล-อังกะบูต 69)

การมุ่งมั่นทำสิ่งนี้ด้วยความต่อเนื่องและความพยายามจะทำให้มีความคุชูอฺในละหมาดง่ายขึ้น

 

ประการที่เจ็ด..  รำลึกถึงผลบุญที่จะตามจากการคุชูอฺ รายงานจากท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมกล่าวว่า

«مَا مِنِ امْرِئٍ مُسْلِمٍ تَحْضُرُهُ صَلاَةٌ مَكْتُوبَةٌ فَيُحْسِنُ وُضُوءَهَا، وَخُشُوعَهَا، وَرُكُوعَهَا، إِلاَّ كَانَتْ كَفَّارَةً لِمَا قَبْلَهَا مِنَ الذُّنُوبِ، مَا لَمْ يُؤْتِ كَبِيرَةً، وَذَلِكَ الدَّهْرَ كُلَّهُ» (مسلم برقم 228)

ความว่า “ไม่มีมุสลิมคนใดเมื่อเขาได้ละหมาด โดยที่เขาได้อาบน้ำละหมาดอย่างดี ละหมาดคุชูอฺอย่างดี และรุกูอฺอย่างดี นอกจากเขาจะได้รับการไถ่ถอน(อภัย)จากความผิดต่างๆ ที่เขาได้กระทำก่อนหน้านั้น ตราบใดที่เขาไม่ได้กระทำบาปใหญ่ และ(การอภัยนี้)เป็นเวลาที่ชั่วนิรันดร์” (เศาะฮีหฺ มุสลิม 1/206 หมายเลข  228)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเป็นคนที่มีความคุชูอฺในละหมาดมากที่สุด อับดุลลอฮฺ บิน อัช-ชิคคีรฺ กล่าวว่า “ฉันได้เห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ละหมาดโดยที่อกของท่านมีเสียงสะอื้นเหมือนเสียงโม่(แป้ง)อันเนื่องจากการร้องไห้” (สุนันอบู ดาวูด 1/238 หมายเลข 904)

อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เป็นคนที่ร้องไห้เยอะมาก กระทั่งว่าหากเขานำละหมาดแก่ผู้คนพวกเขาจะไม่ได้ยินเสียงของท่านอันเนื่องจากการร้องไห้ และท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เคยนำละหมาดให้แก่ผู้คน ท่านได้อ่านสูเราะฮฺยูซุฟ ได้ยินเสียงร้องไห้สะอื้นจนกระทั่งถึงแถวที่อยู่หลังสุด ในขณะที่ท่านอ่าน

﴿وَتَوَلَّىٰ عَنۡهُمۡ وَقَالَ يَٰٓأَسَفَىٰ عَلَىٰ يُوسُفَ وَٱبۡيَضَّتۡ عَيۡنَاهُ مِنَ ٱلۡحُزۡنِ فَهُوَ كَظِيمٞ﴾ (يوسف : 84)

ความว่า  “และเขาผินหลังให้พวกเขาและกล่าวว่า โอ้อนิจจา ยูซุฟเอ๋ย!และตาทั้งสองข้างของเขามัวเนื่องจากความเศร้าโศกและเขาเป็นผู้อดกลั้น” (สูเราะฮฺ ยูซุฟ 84)

ท่านอิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ในการละหมาดนั้นมนุษย์มีอยู่หลายระดับด้วยกัน

ระดับที่หนึ่ง  ระดับผู้ที่อธรรมและละเลยต่อตัวเอง คือผู้ที่มีความบกพร่องในการอาบน้ำละหมาด เวลาของการละหมาด ขอบเขต และในองค์ประกอบต่างๆ ของการละหมาด

ระดับที่สอง ผู้ที่รักษาเวลา ขอบเขต  องค์ประกอบ(รุกนต่างๆ)ของการละหมาดและการอาบน้ำละหมาด แต่อาจจะบกพร่องในการต่อสู้กับตัวเองในเรื่องการขาดสมาธิ ทำให้การละหมาดของเขาล่องลอยไปกับเรื่องราวต่างๆ และการคิดฟุ้งซ่าน

ระดับที่สาม ผู้ที่ระวังรักษาขอบเขต และองค์ประกอบของการละหมาด พร้อมกับพยายามต่อสู้กับตัวเองในการทำอย่างมีสมาธิและเรื่องการคิดฟุ้งซ่าน โดยที่จะต้องมุ่งมั่นกับการต่อกรกับศัตรูที่จะมาขโมยละหมาดของเขา ดังนั้นเขาจึงอยู่ในฐานะของการละหมาดและการญิฮาดไปพร้อมๆ กัน

ระดับที่สี่ ผู้ที่เมื่อเขายืนขึ้นละหมาดเขาจะให้ความสมบูรณ์แก่สิทธิ์ต่างๆ องค์ประกอบต่างๆ และขอบเขตต่างๆ ของมัน ซึ่งจิตใจของเขาจะจดจ่ออยู่กับการรักษาขอบเขตของมันเพื่อไม่ให้สิ่งใดขาดหายไป โดยแท้จริงแล้วความตั้งใจของเขาทั้งหมดถูกมอบให้กับการปฏิบัติมันให้ได้อย่างเหมาะสมและทำให้สมบูรณ์เพรียบพร้อม ในการละหมาดนั้นจิตใจของเขาจดจ่ออยู่ในเรื่องละหมาดและการเคารพภักดีต่อผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

ระดับที่ห้า ผู้ที่เมื่อยืนขึ้นละหมาดเขาจะให้ความสมบูรณ์เช่นเดียวกัน(กับระดับที่สี่) แต่พร้อมกันนั้นเขาได้ถอดหัวใจวางไว้ต่อหน้าพระพักตร์ของผู้อภิบาล อัซซะ วะญัลลฺ มองดูพระองค์ด้วยใจของเขาและเฝ้าระวัง หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยความรักและการมอบความยิ่งใหญ่ต่ออัลลอฮฺเสมือนได้เห็นพระองค์ ทำให้ความรวนเรและความฟุ้งซ่านต่างๆ หมดไป การปิดกั้นของมันระหว่างเขากับอัลลอฮฺสูญหายไป ผู้อยู่ในระดับนี้ถ้าให้เปรียบกับระดับที่ผ่านมาการละหมาดของเขาดีกว่าและยิ่งใหญ่มากกว่าต่างกันราวฟ้ากับดิน คนระดับนี้ละหมาดของเขาจะผูกพันอยู่กับพระผู้อภิบาล อัซซะ วะญัลลฺ เสมอ

สำหรับระดับแรกจะถูกลงโทษ ระดับที่สองจะถูกสอบสวน ระดับที่สามถูกให้อภัย และระดับที่สี่จะได้ภาคผลบุญ ส่วนระดับที่ห้าจะเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาล เพราะเขาได้รับส่วนหนึ่งจากลักษณะของผู้ที่ถูกทำให้ได้รับความรื่นรมย์แก่เขาอันเนื่องจากการละหมาด และผู้ใดที่ได้รับความรื่นรมย์ในโลกดุนยาขณะอยู่ในละหมาด เขาก็จะได้รับความรื่นรมย์ในโลกอาคิเราะฮฺด้วยการได้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลผู้ทรงสูงส่งและยิ่งใหญ่ และแม้แต่ในโลกดุนยาก็เช่นเดียวกัน และผู้ใดที่ได้รับความรื่นรมย์ด้วยอัลลอฮฺ เขาก็จะได้รับความรื่นรมย์ในทุกเรื่องราว และผู้ใดที่ความรื่นรมย์ของเขาไม่ได้อยู่กับอัลลอฮฺ จิตใจของเขาจะหลงหมกมุ่นอยู่แต่กับโลกดุนยาด้วยความเศร้าเสียดาย” (อัล-วาบิล อัศ-ศ็อยยิบ มินัล กะลาม อัฏ-ฏ็อยยิบ หน้า 34-35 )

 

 

..................................................................

 

แปลโดย : อิสมาน จารง

ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/370436

 

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).