Loading

 

ทายาทผู้รับมรดกส่วนที่เหลือ (อัล-อะเศาะบะฮฺ)

ทายาทผู้รับมรดกส่วนที่เหลือ (อัล-อะเศาะบะฮฺ)

 

ทายาทผู้รับมรดกส่วนที่เหลือ (อัล-อะเศาะบะฮฺ)  หมายถึง  ผู้ที่รับมรดกโดยไม่มีปริมาณกำหนด

             ส่วนที่เหลือ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

          1.  ผู้รับส่วนที่เหลืออันเนื่องมาจากเชื้อสาย 

2.  ผู้รับส่วนที่เหลืออันเนื่องมาจากสาเหตุ

             1.  ผู้รับส่วนที่เหลืออันเนื่องมาจากเชื้อสาย  แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท  ดังต่อไปนี้

1.1  ผู้รับมรดกส่วนที่เหลือโดยตนเอง  ประกอบด้วย  ทายาทเพศชายทั้งหมดที่มีสิทธิในมรดกนอกจากสามีและพี่น้องชายร่วมแม่  กลุ่มพวกเขาประกอบด้วย

 1.  ลูกชาย

2.  หลานชายและทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

3.  พ่อ

4.  ปู่และทายาทชายที่ลำดับสูงขึ้นไป

5.  พี่น้องชายร่วมพ่อแม่

6.  พี่น้องชายร่วมพ่อ

7.  ลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อแม่และทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

8.  ลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อและทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

9.  ลุงและอา(พี่น้องชายของพ่อผู้ตาย)ร่วมพ่อแม่กับพ่อผู้ตาย

10.  ลุงและอาร่วมพ่อกับพ่อผู้ตาย

11.  ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อแม่กับพ่อผู้ตายและทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

12.  ลูกชายของลุงและอาร่วมพ่อกับพ่อผู้ตายและทายาทชายที่ลำดับรองลงไป

13.  นายทาส (ผู้ปลดปล่อยทาส)

กรณีที่มีอยู่เพียงคนเดียวจากบรรดาทายาททั้งหมดเขาจะได้รับทรัพย์สินทั้งหมด  เมื่อเขาอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่รับตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนดเขาจะได้รับจากส่วนที่เหลือ หากอัตราส่วนที่ถูกกำหนดถูกจัดแบ่งไปหมด สิทธิของเขาก็จะหมดไป

ทิศทางหรือฝั่งของการรับมรดกส่วนที่เหลือบางกลุ่มจะใกล้ชิดมากกว่าอีกบางกลุ่ม กล่าวคือพวกเขามีห้าจำพวกโดยเรียงตามลำดับดังต่อไปนี้

1.  การเป็นลูก

2.  การเป็นพ่อ

3.  การเป็นพี่น้องและบรรดาลูกๆ ของพวกเขา

4.  การเป็นลุงอาและบรรดาลูกๆ ของพวกเขา

5.  การเป็นนายทาส

 

เมื่อผู้รับส่วนที่เหลือรวมกันสองคนหรือมากกว่านั้น  กรณีเช่นนี้พวกเขามีหลายสภาพด้วยกัน

สภาพที่หนึ่ง  มีความเท่าเทียมกันในแง่ของทิศทางหรือฝั่งที่มีการสืบมรดก(อัล-ญิฮะฮฺ)  ระดับชั้น(อัด-ดะเราะญะฮฺ) และความเข้มข้นทางสายเลือด (อัล-กูวะฮฺ)  เช่น  ลูกชายสองคน  พี่ชายสองคน  หรือลุงสองคน  ในกรณีนี้ทั้งสองคนจะได้รับทรัพย์สินร่วมกันอย่างเท่าเทียม

สภาพที่สอง  มีความเท่าเทียมกันในด้านทิศทางหรือฝั่งที่มีการสืบมรดก(อัล-ญิฮะฮฺ) และระดับชั้น(อัด-ดะเราะญะฮฺ)  แต่แตกต่างกันในด้านความเข้มข้น  เช่น  หากอยู่ร่วมกันระหว่างลุงร่วมพ่อแม่กับลุงร่วมพ่อ  กรณีนี้จะพิจารณาด้านความเข้มข้นทางสายเลือดก่อน  ดังนั้นลุงร่วมพ่อแม่จะได้รับมรดกโดยที่ลุงร่วมพ่อจะไม่ได้รับแต่อย่างใด

สภาพที่สาม  มีความเท่าเทียมกันในด้านฝั่งที่มีการสืบมรดก แต่แตกต่างกันในระดับชั้น  เช่น  หากอยู่ร่วมกันระหว่างลูกชายกับหลานชาย  กรณีนี้จะพิจารณาจากระดับก่อน  ดังนั้นทรัพย์สินจะเป็นของลูกชาย

สภาพที่สี่  มีความแตกต่างกันในด้านฝั่งที่สืบมรดก ซึ่งในกรณีนี้จะพิจารณาให้กับผู้ที่มีฝั่งการสืบมรดกที่ใกล้ชิดกว่าถึงแม้ว่าระดับชั้นจะห่างมากกว่าผู้ที่รับมรดกจากฝั่งที่สืบมรดกห่างกว่าแต่มีระดับใกล้กว่าก็ตาม  ดังนั้น หลานชายจะได้รับก่อนพ่อ  และลูกชายของพี่น้องชายร่วมพ่อจะได้รับก่อนพี่น้องชายร่วมพ่อแม่

 

ผู้ชายสี่จำพวกที่เป็นมูลเหตุให้พี่น้องหญิงของพวกเขาต้องได้รับมรดกแบบอะเศาะบะฮฺ แทนการรับมรดกตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนด  ซึ่งสำหรับผู้ชายจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของผู้หญิงสองคน พวกเขาประกอบด้วย 

1.     

ลูกชาย (นั่นคือ เมื่อลูกสาวอยู่กับลูกชาย แทนที่ลูกสาวจะรับมรดกแบบอัตราส่วน เธอจะต้องรับมรดกแบบอะเศาะบะฮฺพร้อมกับลูกชายแทน)

2.     

หลานชายและทายาทชายที่ลำดับรองลงไป 

3.     

พี่น้องชายร่วมพ่อแม่  

4.     

พี่น้องชายร่วมพ่อ

ส่วนผู้รับส่วนที่เหลือระดับอื่นๆ ทายาทผู้ชายเท่านั้นที่จะได้รับมรดก ส่วนผู้หญิงจะไม่ได้รับ  พวกเขาประกอบด้วย  บรรดาลูกๆ ของพี่น้องชาย  และบรรดาลุงและอาพร้อมบรรดาลูกๆ ชายของพวกเขา

 

 

1.2  ผู้รับมรดกแบบส่วนที่เหลือเพราะผู้อื่น

บุคคลกลุ่มนี้พวกนางมีอยู่ 4 จำพวก  ประกอบด้วย

1.  ลูกสาวคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไปรับร่วมกับลูกชายคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไป

2.  หลานสาวคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไปรับร่วมกับหลานชายคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไป

3.  พี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ของผู้ตายคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไปรับร่วมกับพี่น้องชายร่วมพ่อแม่ของผู้ตายคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไป

4.  พี่น้องสาวร่วมพ่อกับผู้ตายคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไปรับร่วมกับพี่น้องชายร่วมพ่อกับผู้ตายคนเดียวหรือหลายคนขึ้นไป

ดังนั้นพวกเขาจะได้รับมรดกโดยแบ่งเป็นสำหรับผู้ชายจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของผู้หญิงสองคน  และสำหรับพวกเขาจะรับเฉพาะจากส่วนเหลือของอัตราส่วนที่ถูกกำหนด หากอัตราส่วนที่ถูกกำหนดถูกจัดแบ่งไปทั้งหมด  สิทธิของพวกเขาก็จะหมดไป

1.  อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

﴿ يُوصِيكُمُ ٱللَّهُ فِيٓ أَوۡلَٰدِكُمۡۖ لِلذَّكَرِ مِثۡلُ حَظِّ ٱلۡأُنثَيَيۡنِۚ ﴾ [النساء: ١١] 

ความหมาย  “อัลลอฮฺได้ทรงสั่งเสียพวกเจ้าไว้ต่อบรรดาลูกๆ ของพวกเจ้าว่า สำหรับผู้ชายนั้นจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของผู้หญิงสองคน”  (อัน-นิสาอ์ / 11)

 

2.  อัลลอฮฺตะอะลาตรัสว่า

﴿ وَإِن كَانُوٓاْ إِخۡوَةٗ رِّجَالٗا وَنِسَآءٗ فَلِلذَّكَرِ مِثۡلُ حَظِّ ٱلۡأُنثَيَيۡنِۗ يُبَيِّنُ ٱللَّهُ لَكُمۡ أَن تَضِلُّواْۗ وَٱللَّهُ بِكُلِّ شَيۡءٍ عَلِيمُۢ ١٧٦ ﴾ [النساء: ١٧٦] 

ความหมาย  “แต่ถ้าพวกเขาเป็นพี่น้องหลายคนทั้งชายและหญิง  สำหรับชายจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของหญิงสองคน ที่อัลลอฮฺทรงแจกแจงแก่พวกเจ้านั้น  เนื่องจากเกรงว่าพวกเจ้าจะหลงผิด และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง”  (อัน-นิสาอ์ / 176)

 

 

1.3 ผู้รับมรดกส่วนที่เหลือร่วมกับผู้อื่น

บุคคลกลุ่มนี้มีอยู่ 2 จำพวก  ประกอบด้วย 

1.  พี่น้องสาวร่วมพ่อแม่คนเดียวหรือมากกว่านั้นรับร่วมกับลูกสาวคนเดียวหรือมากกว่านั้น  หรือรับร่วมกับหลานสาวคนเดียวหรือมากกว่านั้น  หรือรับร่วมกับทั้งสองคนพร้อมกัน 

2.  พี่น้องสาวร่วมพ่อคนเดียวหรือมากกว่านั้นรับร่วมกับลูกสาวคนเดียวหรือมากกว่านั้น  หรือรับร่วมกับหลานสาวคนเดียวหรือมากกว่านั้น  หรือรับร่วมกับทั้งสองคนพร้อมกัน

ดังนั้น พี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปจะรับมรดกร่วมกับบรรดาลูกสาวหรือหลานสาวและทายาทหญิงที่ลำดับรองลงไป เช่นเดียวกับพี่น้องสาวร่วมพ่อตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปก็จะรับมรดกร่วมกับบรรดาลูกสาวหรือหลานสาวและทายาทหญิงที่ลำดับรองลงไป ซึ่งพวกนางจะรับมรดกจากส่วนเหลือของอัตราส่วนที่ถูกกำหนด  หากอัตราส่วนที่ถูกกำหนดถูกจัดแบ่งไปทั้งหมด  สิทธิของพวกนางก็จะหมดไป

การพี่น้องสาวร่วมพ่อแม่ได้รับมรดกส่วนที่เหลือร่วมกับผู้อื่น  นางก็อยู่ในฐานะเหมือนพี่น้องชายร่วมพ่อแม่ที่สามารถกันสิทธิพี่น้องร่วมพ่อไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และบรรดาทายาทคนอื่นที่มีสิทธิรับส่วนที่เหลือไม่ให้พวกเขาได้รับมรดกตามไปด้วย

เช่นเดียวกับการที่พี่น้องสาวร่วมพ่อได้รับมรดกส่วนที่เหลือร่วมกับผู้อื่น  นางก็มีฐานะดั่งพี่น้องชายร่วมพ่อที่สามารถกันสิทธิบรรดาลูกๆ ของพี่น้อง และบรรดาผู้ที่รับส่วนที่เหลือหลังจากนั้นไม่ให้พวกเขาได้รับมรดกตามไปด้วย

 

 2.  ผู้รับมรดกส่วนที่เหลืออันเนื่องมาจากสาเหตุ 

ประกอบด้วย นายทาส(ผู้ปล่อยทาสให้เป็นไท)ทั้งที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และทายาทของนายทาสที่สามารถรับมรดกแบบส่วนที่เหลือโดยตัวของพวกเขาเอง (ตามข้อ 1.1 ข้างต้น)

عن ابن عباس رضي الله عنهما قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : «أَلْـحِقُوا الفَرَائِضَ بِأَهْلِـهَا فَمَا بَقِيَ فَهُوَ لأَوْلَى رَجُلٍ ذَكَرٍ». متفق عليه

ความหมาย  จากอิบนุ อับบาส  เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า  ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า  “จงแบ่งอัตราส่วนที่ถูกกำหนดให้ถึงเจ้าของผู้มีสิทธิ์  ดังนั้น ส่วนที่คงเหลือจงให้แก่ผู้ชายที่มีความใกล้ชิดมากที่สุด”  (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 6732  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1615)

 

 

...................................................................................

แปลโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

 

 

คัดลอกจาก :  http://IslamHouse.com/371338

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).