Loading

 

ข้อผิดพลาดบางประการของผู้ทำหัจญ์

ข้อผิดพลาดบางประการของผู้ทำหัจญ์

 

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ การสดุดีและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งแก่มุสลิมจะต้องพึงพากเพียรศึกษาให้การปฏิบัติศาสนกิจหัจญ์ของเขาตรงกับการปฏิบัติศาสนกิจหัจญ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังหะดีษบันทึกโดยมุสลิม จากญาบิร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮู ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้

«لِتَأْخُذُوا مَنَاسِكَكُمْ ، فَإِنِّي لا أَدْرِي لَعَلِّي لا أَحُجُّ بَعْدَ حَجَّتِي هَذِهِ» [رواه مسلم برقم 1297]   

ความว่า “เพื่อที่พวกเขาจะยึดเอารูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจของพวกท่าน เพราะแท้จริงแล้วฉันเองก็ไม่รู้ว่าฉันอาจจะไม่ได้ทำหัจญ์หลังจากการทำหัจญ์ของฉันครั้งนี้” (บันทึกโดยมุสลิมเล่ม 2 หน้า 943 เลขที่ 1297)

 

และนั่นก็ยังมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติบางประการซึ่งผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าใคร่ที่จะแนะนำสิ่งเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามหน้าที่ ตามสิทธิ์ที่ต้องมอบแด่อัลลอฮฺ และเนื่องจากต้องดำรงไว้ซึ่งหน้าที่ๆ จำเป็นในเรื่องของการตักเตือน

ประการที่หนึ่ง : การละหมาดนอกเวลาที่ถูกกำหนดเอาไว้ อิมาม อิบนุ อัน-นะหาส ได้กล่าวระบุสิ่งผิดพลาดบางประการของผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์และหนึ่งในนั้นคือเรื่องที่ร้ายแรงที่สุดและมันเป็นภัยพิบัติอย่างมหันต์ในศาสนา และมีอย่างแพร่หลาย คือ การที่พวกเขาส่วนใหญ่ละเลยในเรื่องการละหมาดในขณะประกอบศาสนกิจหัจญ์ พวกเขาส่วนมากไม่ได้ละทิ้งละหมาดแต่จะปล่อยเวลาให้หมดไปแล้วค่อยรวมละหมาดโดยไม่มีเหตุจำเป็นตามที่บทบัญญัติได้กำหนดเอาไว้ การกระทำดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ศาสนาห้าม โดยมีความเห็นตรงกันของบรรดาปวงปราชญ์แห่งอิสลาม. (ตันบีฮุลฆอฟิลีน หน้า 284)

อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿إِنَّ ٱلصَّلَوٰةَ كَانَتۡ عَلَى ٱلۡمُؤۡمِنِينَ كِتَٰبٗا مَّوۡقُوتٗا﴾ [النساء : 103]

ความหมาย “แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลา ไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย”“(สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ อายะฮ์ที่ 103)

 

ประการที่สอง : สิ่งที่ผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์บางท่านได้ปฏิบัติกัน คือการเยี่ยมกุโบร์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งก่อนและหลังหัจญ์ โดยการหันหน้าไปทางกุโบร์ของท่าน ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และการขอดุอาอ์ต่อท่านให้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยและสิ่งยังประโยชน์ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการตั้งภาคีที่ขัดต่อหลักการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ และท่านรอสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็ไม่พึงพอใจในเรื่องนี้ มิหนำซ้ำท่านเองก็ได้ห้ามและเตือนให้ระวังจากเรื่องดังกล่าว อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

﴿وَأَنَّ ٱلۡمَسَٰجِدَ لِلَّهِ فَلَا تَدۡعُواْ مَعَ ٱللَّهِ أَحَدٗا﴾ [الجن : 18]

ความหมาย “และแท้จริงบรรดามัสยิดนั้นเป็นของอัลลอฮฺ ดังนั้น พวกเจ้าอย่าวิงวอนขอผู้ใดเคียงคู่กับอัลลอฮฺ” (สูเราะฮฺญิน อายะฮฺที่ 18) 

และพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿وَلَقَدۡ أُوحِيَ إِلَيۡكَ وَإِلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكَ لَئِنۡ أَشۡرَكۡتَ لَيَحۡبَطَنَّ عَمَلُكَ وَلَتَكُونَنَّ مِنَ ٱلۡخَٰسِرِينَ﴾ [الزمر : 65]

ความหมาย “และโดยแน่นอน ได้มีวะฮียฺมายังเจ้า (มุหัมมัด) และมายังบรรดานบีก่อนหน้าเจ้า หากเจ้าตั้งภาคี (กับอัลลอฮฺ) แน่นอนการงานของเจ้าก็จะไร้ผล และแน่นอนเจ้าจะอยู่ในกลุ่มของบรรดาผู้ขาดทุน” (สูเราะฮฺอัซ-ซุมัร อายะฮฺที่ 65)

 

และท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

«لَعْنَةُ اللهِ عَلَى الْيَهُودِ والنَّصَارَى اتَّخَذُوْا قُبُوْرَ أَنْبِيَائِهِمْ مَسَاجِدَ» [رواه مسلم برقم 53]

ความหมาย “การสาปแช่งของอัลลอฮฺประสบกับชาวยิวและชาวคริสต์ โดยที่พวกเขายึดเอาสุสานของบรรดานบีของพวกเขาเป็นสถานที่เคารพสักการะ” ( ส่วนหนึ่งจากหะดีษในเศาะฮีหฺมุสลิม หน้า 214 หะดีษเลขที่ 53 )

 

และดังที่มีรายงานว่า

 قال النبي صلى الله عليه وسلم لرجل قال له ما شاء الله وشئت : «أَجَعَلْتَنِيْ واللهَ عَدْلًا، بَلْ مَا شَاءَ اللهُ وَحْدَهُ» [مسند الإمام أحمد 1/214]

ความหมาย "ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวต่อชายคนหนึ่งที่กล่าวกับท่านว่า นี่คือสิ่งที่อัลลอฮฺและท่านทรงประสงค์ ท่านจะทำให้ฉันกับอัลลอฮฺเท่าเทียมกันกระนั้นหรือ? แต่จงกล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น” ( มุสนัดอิมามอะหฺมัด เล่มที่ 1 หน้า 214 )

 

ประการที่สาม : การถ่ายรูป เป็นอีกประการหนึ่งจากสิ่งที่ถูกต้องห้าม ที่ผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์จำนวนมากไม่ทราบถึงว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) และแท้จริงท่านท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามการถ่ายรูป ดังมีปรากฏในหะดีษหลายบทด้วยกัน และได้สาปแช่งต่อผู้ที่กระทำ จากหะดีษอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ได้กล่าวว่า  ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ أَشَدَّ النَّاسِ عَذَابًا يَوْمَ القِيَامَةِ الْمُصَوِّرُوْنَ» [رواه مسلم برقم 2987]

ความว่า “แท้จริงมนุษย์ที่ได้รับโทษทันต์ร้ายแรงที่สุดในวันกิยามะฮฺคือบรรดาผู้ถ่ายรูป” ( เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ เล่ม 4 หน้า 191 หะดีษเลขที่ 6499 , เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 4 หน้า 2289 หะดีษเลขที่ 2987 )

 

และจากหะดีษญุนดุบ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ سَمَّعَ سَمَّعَ اللَّهُ بِهِ وَمَنْ يُرَائِي يُرَائِي اللَّهُ بِهِ» [رواه البخاري برقم 5950، ومسلم برقم 2109]

ความว่า “ผู้ใดที่ทำเพื่อให้ผู้อื่นได้ยิน (อยากให้ผู้คนกล่าวขานยกย่อง) อัลลอฮฺก็จะเปิดเผยสิ่งที่ไม่ดีอันนั้นของเขาให้ผู้อื่นได้ยิน และผู้ใดที่ทำเพื่อให้ผู้อื่นเห็น (โอ้อวด) อัลลอฮฺก็จะเปิดเผย (สิ่งไม่ดีอันนั้นของเขาให้ผู้อื่นได้เห็น) (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ เล่มที่ 4 หน้า 81 หะดีษเลขที่ 5950 , เศาะฮีหฺ มุสลิม เล่มที่ 3 หน้า 1670  หะดีษเลขที่ 2109)

นี่คือเรื่องที่หนึ่ง ส่วนเรื่องที่สองคือ มีผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์บางท่านเก็บถ่ายรูปของตัวเองขณะครองชุดอิหฺรอมหรือขณะยกมืออ่านดุอาอ์ หรืออื่นจากนั้นที่เป็นรูปในอริยาบถของการปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อให้ครอบครัวและบรรดาเครือญาติมิตรได้ดูเมื่อกลับภูมิลำเนา และในบางครั้งก็ทำสิ่งนี้ไปด้วยกับการโอ้อวดอันเป็นสิ่งต้องห้าม  มิหนำซ้ำเกรงว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นโมฆะโดยที่เขาไม่รู้สึกตัว

 

ประการที่สี่ : ผู้ที่ประสงค์จะประกอบศาสนกิจหัจญ์หรือพิธีอุมเราะฮฺ เขาต้องครองชุดอิหฺรอมตั้งแต่มีกอต (เขตพื้นที่ ตามที่บัญญัติอิสลามที่ได้กำหนดเอาไว้)  สำหรับผู้ประสงค์ศาสนกิจหัจญ์และอุมเราะฮฺไม่อนุญาตให้เดินทางเลยเขตดังกล่าวโดยไม่ได้ครองชุดอิหฺรอม  มีรายงานจากอัล-บุคอรีย์และมุสลิม จากอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮู ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«هُنَّ لَهُنّ وَلِمَنْ أَتَى عَلَيْهِنَّ مِنْ غَيْرِهِنَّ، مِمَّنْ أَرَادَ الْحَجَّ أَوْ الْعُمْرَةَ» [رواه البخاري برقم 1524،  ومسلم برقم 1181]

ความว่า “เขตพื้นที่ที่ต้องครองอิหฺรอมเหล่านั้น สำหรับบรรดาชาวเมืองนั้นๆ และผู้ที่มาทางนั้นที่ไม่ใช่ชาวเมืองของเขตพื้นที่นั้น จากผู้ประสงค์ประกอบศาสนกิจหัจญ์และอุมเราะฮฺ” ( อัล-บุคอรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 471 หะดีษเลขที่ 1524 , มุสลิม เล่มที่ 2 หน้า 839 หะดีษเลขที่ 1181 )

           

ส่วนผู้ที่เดินทางมาด้วยเครื่องบิน หรือมาทางเรือ ดังนั้นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอันดับแรกคือการที่เขาต้องครองชุดอิหฺรอมขณะอยูใกล้เขตพื้นที่ดังกล่าวหรือก่อนถึงเพียงเล็กน้อย เผื่อกันความผิดพลาด และเขาต้องไม่รอจนกระทั่งถึงเมืองญิดดะฮฺ เนื่องจากการกระทำที่ว่านี้มันจะค้านต่อสิ่งที่บรรดาปวงปราชญ์ของเราได้ให้คำตอบชี้แจงเอาไว้แล้ว อาทิเช่น ชัยคฺอิบนุ บาซ และชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน –ขออัลลอฮฺได้โปรดเมตตาท่านทั้งสองและบรรดาปวงปราชญ์ท่านอื่นๆ

 

ประการที่ห้า : แท้จริงบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์จำนวนมากที่ยึดปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในบทขอพรเฉพาะ ขณะเดินเฏาะวาฟ (วนรอบอัลกะอฺบะฮฺ) อ่านบทขอพรดังกล่าวจากหนังสือคู่มือการประกอบศาสนกิจหัจญ์ และพวกเขาบางกลุ่มคอยฟังจากคนอ่านนำหนึ่งคน แล้วอ่านตามประสานเสียงพร้อมเพรียงกัน และบทขอพร อัซการส่วนใหญ่ ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และการขอพรลักษณะดังที่กล่าวมานั้น ถือว่าเป็นการอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเรื่องของศาสนาขึ้นมาใหม่

มีหะดีษอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ»  [رواه البخاري برقم 2697، ومسلم برقم 1718]

ความหมาย “ผู้ใดที่ได้อุตริสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นโดยที่ไม่ได้มีอยู่ในแนวทางของเรา สิ่งนั้นย่อมถูกปฏิเสธ” ( อัล-บุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 267 หะดีษเลขที่ 2697 และมุสลิม เล่ม 3 หน้า 1343 หะดีษเลขที่ 1718 )

 

และการกระทำดังกล่าวยังเป็นการส่งเสียงรบกวนต่อผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์คนอื่นๆ อีกด้วย

 

ประการที่หก : ส่วนหนึ่งจากข้อผิดพลาดอันใหญ่หลวงซึ่งเกี่ยวข้องกับวันอะเราะฟะฮฺ มีผู้ประกอบพิธีหัจญ์บางท่านอยู่นอกเขตทุ่งอะเราะฟะฮฺจนกระทั่งอาทิตย์ลับขอบฟ้า จากนั้นมุ่งหน้าสู่มุซดะลิฟะฮฺ โดยไม่ได้พำนักอยู่ในเขตทุ่งอะเราะฟะฮฺ  (ในช่วงเวลาที่ศาสนาได้บัญญัติไว้) สิ่งนี้คือความผิดพลาดอันใหญ่หลวง เพราะการพำนัก ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ เป็นหลักการหนึ่งที่การประกอบศาสนกิจหัจญ์จะไม่ถูกต้องนอกจากจะต้องพำนักที่นี่ ดังนั้นใครที่ไม่ได้หยุดพำนักที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺในเวลาที่จำเป็นต้องวุกูฟ (พำนัก) จะไม่นับว่าเป็นการประกอบศาสนกิจหัจญ์

มีหะดีษจากอับดุรเราะหฺมาน บิน ยะอมุร ว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«الحَجُّ عَرَفَةُ، مَنْ جَاءَ لَيلة جَمْعٍ قَبْلَ طُلُوْعِ الْفَجْرِ فَقَدْ أَدْرَكَ الْحَجَّ» [رواه الترمذي برقم 889]

ความว่า “หัจญ์คืออะเราะฟะฮฺ ผู้ใดที่มาในตอนกลางคืน (ที่ต้องค้างคืน ณ มุซดะลิฟะฮฺ ) ก่อนรุ่งอรุณ แน่แท้เขาได้รับหัจญ์” (สุนันอัต-ติรมิซีย์ เล่ม 3 หน้า 237 หมายเลข 889)

 

ประการที่เจ็ด : บัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมุซดะลิฟะฮฺ ผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์บางส่วนไม่มั่นใจในอาณาเขตของมุซดะลิฟะฮฺว่าอยู่แค่ไหน และค้างแรมนอกเขต และบางส่วนออกจากอาณาเขตก่อนเวลาเที่ยงคืน และไม่ได้ค้างแรมที่นั่น และผู้ใดที่ไม่ค้างแรมที่นั่นโดยไม่มีเหตุจำเป็น แท้จริงเขาได้ละทิ้งส่วนหนึ่งจากสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ของการประกอบศาสนกิจหัจญ์และจำเป็นที่เขาต้องพลีสัตว์ (แพะ แกะ อูฐ หรือวัว) พร้อมกับการเตาบะฮฺ(การสารภาพผิด) และผู้รู้บางท่านเห็นว่าการค้างคืนและการละหมาดศุบฮฺที่มุซดะลิฟะฮฺถือว่าเป็นประการหนึ่งของการประกอบศาสนกิจหัจญ์ เช่นเดียวกับการพำนักอยู่ในทุ่งอะเราะฟะฮฺ เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

﴿فَإِذَآ أَفَضۡتُم مِّنۡ عَرَفَٰتٖ فَٱذۡكُرُواْ ٱللَّهَ عِندَ ٱلۡمَشۡعَرِ ٱلۡحَرَامِۖ ﴾ [البقرة: ١٩٨] 

ความว่า “ครั้นเมื่อพวกเจ้าได้หลั่งไหลกันออกจากอะเราะฟะฮฺแล้ว ก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ณ อัลมัชอะริลฮะรอม (มุซดะลิฟะฮฺ)” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 198 )

 

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำให้มุซดะลิฟะฮฺเท่ากันกับทุ่งอะเราะฟะฮฺ เมื่อครั้งที่ท่านได้กล่าวว่า

«وَجَمْعٌ كُلُّهَا مَوْقِفٌ» [الترمذي برقم 885]

ความว่า “และทุ่งมุซดะลิฟะฮฺทั้งหมดนั้นคือสถานที่หยุดพำนัก” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ หน้า 163 หะดีษเลขที่ 885 – ดู อัช-ชัรหุล มุมติอฺ โดยเชค อิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ)

 

และมีบันทึกโดยของอบูดาวุด จากหะดีษอุรวะฮฺ อัฏ-ฏออีย์ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ شَهِدَ صَلَاتَنَا هذِهِ ، وَوَقَفَ مَعَنَا حَتَّى نَدْفَعَ ، وَقَدَ وَقَفَ بِعَرَفَة قَبَلَ ذلِكَ لَيْلاً أَوْ نَهَاراً فَقَدْ أَتَمَّ حَجَّهُ ، وَقَضَى تَفَثَهُ» [الترمذي برقم 891]

ความว่า “ผู้ใดได้ทำละหมาดนี้ของเรา ( ละหมาดศุบฮฺที่มุซดะลิฟะฮฺคืนวันที่เชือดสัตว์ ) และอยู่กับเราจนกระทั่งจะออกไป (สู่มินา) โดยที่ก่อนหน้านั้นเขาก็ได้พำนักอยู่ที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺทั้งกลางคืนและกลางวัน แท้จริงเขาได้ทำให้หัจญ์ของเขาสมบูรณ์แล้ว และเขาก็ชำระจากฝุ่นที่เปรอะเปื้อน (เมื่อเสร็จจากพิธีหัจญ์เป็นที่อนุญาตให้ตัดเล็บและชำระร่างกายตามปกติได้)” ( สุนัน อัต-ติรมีซีย์ เล่ม 3 หน้า 239 หะดีษเลขที่ 891 )

 

ประการที่แปด : มีผู้ประกอบศาสนกิจหัจญ์บางคนมอบหมายให้ผู้อื่นขว้างเสาหินแทนตนเอง ทั้งที่เขามีความสามารถทำได้ เพื่อให้รอดพ้นจากความหนาแน่น และเพื่อให้พ้นจากความยากลำบากในการปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าว ลักษณะเยี่ยงนี่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

﴿ وَأَتِمُّواْ ٱلۡحَجَّ وَٱلۡعُمۡرَةَ لِلَّهِۚ ﴾ [البقرة: ١٩٦] 

ความว่า “และพวกเจ้าจงทำให้สมบูรณ์ซึ่งการทำหัจญ์ และการทำอุมเราะฮฺเพื่ออัลลอฮฺเถิด” ( อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 196 ) 

 

ชัยคฺ อับดุลอะซีซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้ถูกถามเกี่ยวกับการมอบหมายให้ทำแทนแก่ผู้ป่วย สตรีที่ไม่สามารถขว้างเสาหิน ดังเช่น หญิงมีครรภ์ คนอ้วน คนอ่อนแอ ท่านจึงตอบว่า “ อนุญาตให้ผู้อื่นทำแทนได้ “ ( ฟะตาวา อัล-หัจญ์และอุมเราะฮฺ หน้า 111-112 ) ส่วนสตรีที่แข็งแรงสามารถทำด้วยตัวเองได้ นางต้องขว้างเสาหินด้วยตัวเอง และผู้ใดไม่สามารถขว้างในตอนกลางวันได้ก็ให้ขว้างในตอนกลางคืน.

 

ประการที่เก้า : มีบางส่วนจากผู้ประกอบพิธีหัจญ์ เมื่อต้องการตัดผม ก็ตัดเพียงไม่กี่เส้น หรือตัดข้างหนึ่งแล้วเว้นไว้อีกข้าง และที่ถูกต้องที่จำเป็น ( วาญิบ ) สำหรับผู้ประกอบพิธีหัจญ์ คือ สำหรับผู้ชายเขาจะต้องโกนทั้งศีรษะหรือไม่ก็ตัดให้สั้นทั้งศีรษะ ส่วนผู้หญิงก็ให้ขลิบผมเปียของนางปริมาณเท่ากับข้อนิ้วมือด้านบนสุดเพียงเท่านั้น .

            และที่ดีที่สุดสำหรับผู้ชาย คือ ให้โกนหรือตัดโดยเริ่มจากด้านขวาของศีรษะ

 

ประการที่สิบ :  มีบางส่วนจากผู้ประกอบพิธีหัจญ์ เมื่อถอดชุดอิหฺรอมครั้งแรก จากนั้นก็ได้โกนเคราหรือขลิบให้สั้น ชัยคฺนาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า “การฝ่าฝืนลักษณะนี้นับเป็นที่แพร่หลายในบรรดามุสลิมยุคปัจจุบัน อันเนื่องจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา (กุฟฟาร) ส่วนใหญ่แล้วมีอำนาจเหนือประเทศมุสลิม และนำเอาพฤติกรรมนี้เข้าสู่ประเทศดังกล่าว ในขณะที่บรรดามุสลิมเองก็หลับหูหลับตาปฏิบัติตามพวกเขาด้วย ทั้งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำชับห้ามปรามเรื่องดังกล่าว ดังหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«خَالِفُوا الْمُشْرِكِيْنَ ، احْفُوْا الشَّوَارِبَ وَأْوَفُوْا اللِّحَى» [البخاري برقم 5892، ومسلم برقم 259]

ความว่า : พวกท่านจงทำให้แตกต่างจากบรรดาผู้ตั้งภาคี พวกท่านจงขลิบหนวดและเลี้ยงเคราเถิด" (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ หน้า 1148 หะดีษเลขที่ 5892, เศาะฮีหฺมุสลิม หน้า 129 หะดีษเลขที่ 259)

และในพฤติกรรมอันน่าตำหนินี้แฝงไปด้วยการฝ่าฝืนอีกหลายประการ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง : เป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชัดเจนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในคำสั่งที่กำชับให้เลี้ยงเครา

สอง : เป็นการเลียนแบบต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

สาม : ดัดแปลงการสรรค์สร้างของอัลลอฮฺ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามชัยฏอน ( มารร้าย ) ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า

﴿ وَلَأٓمُرَنَّهُمۡ فَلَيُغَيِّرُنَّ خَلۡقَ ٱللَّهِۚ ﴾ [النساء : ١١٩] 

ความว่า “( ชัยฏอนได้กล่าวว่า) และแน่นอนยิ่งข้าพระองค์จะใช้พวกเขาแล้วแน่นอนพวกเขาก็จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้าง” ( อัน-นิสาอ์ อายะฮฺที่ 119 )

 

สี่ : เป็นการเลียนแบบผู้หญิง แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สาปแช่งผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว .

และสิ่งที่ผู้เคร่งครัดเรื่องศาสนาได้เห็นประจักษ์ ก็คือ การที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์จำนวนมากเลี้ยงเคราอันเนื่องจากต้องครองชุดอิหฺรอม แต่เมื่อถึงเวลาต้องเปลื้องชุด แทนที่จะโกนศรีษะตามที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กำชับไว้ พวกเขากลับโกนเคราซึ่งท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำชับให้ปล่อยไว้ ดังนั้น “อินนา ลิลลาฮฺ วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน” (คำกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ เมื่อเกิดการสูญเสีย)

 

ขอจากอัลลอฮฺ ให้พระองค์ทรงตอบรับหัจญ์ของมวลมุสลิม รวมทั้งการงานของพวกเขา และให้พระองค์โปรดอนุมัติแก่พวกเขาในทุกๆ ความดีงามด้วยเทอญ.

 

 

.......................................................................................

 

แปลโดย :  อิสมาอีล ซุลก็อรนัยน์

ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ

 

คัดลอกจาก : http://IslamHouse.com/722910

 

 

 

Maintained by: e-Daiyah Group (1429 H - 2008).